"...ความพยายามเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนคำว่า Master/Slave ไปใช้คำอื่นที่เหมาะสมกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการดำเนินการมาบ้างแล้วเป็นระยะๆก่อนหน้านี้และบางบริษัทมีการใช้คำหลายคำทดแทนคำว่า Master/Slave เช่นการใช้คำว่า Primary/Secondary(ปฐมภูมิ/ทุติยภูมิ) หรือ Primary/Replica(ปฐมภูมิ/ชุดจำลอง) หรือ Master/Minion (นาย/ลูกน้อง) หรือ Controller/Controlled (ควบคุม/ถูกควบคุม) หรือ Leader/Follower(ผู้นำ/ผู้ตาม) เป็นต้น แต่คำเหล่านี้ยังถูกใช้อยู่ในวงจำกัดและยังไม่ได้มีการรณรงค์เพื่อให้หยุดใช้คำว่า Master/Slave รวมทั้งคำอื่นๆที่แสดงการเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกันอย่างกว้างขวางมากเท่าที่ควร..."
ชื่อของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงในการจับกุมจากตำรวจผิวขาวที่เมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตากลายเป็นชื่อที่รู้จักไปทั่วโลกในชั่วเวลาข้ามคืน การเสียชีวิตของ ฟลอยด์ทำให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างทั่วสหรัฐอเมริกาและบางสถานที่กลายเป็นการประท้วงที่รุนแรง ผสมด้วยการปล้นสะดมและเผาทำลายทรัพย์สิน
ไม่เพียงแต่คนอเมริกันเท่านั้นที่ไม่พอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนหลายประเทศทั้งในยุโรป เอเชียและแอฟริกา ต่างออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับฟลอยด์ รวมทั้งต่อต้านเรื่องการเหยียดผิวซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มสร้างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้
การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีราวกับไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกชนชั้นและการเลือกปฏิบัติระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสีในประเทศที่มักเรียกตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพซึ่งขัดกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
การเสียชีวิตของฟลอยด์นำไปสู่การโค่นทำลายอนุสาวรีย์และรูปปั้นหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสและการกดขี่คนผิวสี ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้ความทะนงตนในความเป็นนายและการแบ่งแยกชนชั้นที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่อดีตของคนกลุ่มใหญ่ถูกท้าทายด้วยความรู้สึกของความเป็นทาสและความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนอเมริกันและคนทั้งโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ภาษาที่มีความหมายแสดงนัยสำคัญระหว่าง “นาย “ (Master) กับ “ทาส" (Slave) ที่กลายเป็นคำแสลงหูและเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในระหว่างการประท้วงถึงความเหมาะสมต่อการนำคำดังกล่าวมาใช้งาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการเรียกชื่ออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ประเภท เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม ในความหมายที่อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งในภาษาเทคนิคเรียกอุปกรณ์ที่จับคู่เพื่อทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ว่า อุปกรณ์ “มาสเตอร์” ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุม” กับอุปกรณ์ “สเลฟ” ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ผู้ถูกควบคุม” (Master/Slave) หรือถ้าแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยตรงๆก็คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น “นาย” กับอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น “ทาส” นั่นเอง
การที่คำว่า “นาย” กับ “ทาส” ได้ถูกนำไปใช้ในวงการเทคโนโลยีสะท้อนถึงความต้องการการแสดงออกทางสถานะของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งกับสิ่งที่มีชีวิตด้วยกัน เช่น มนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงเทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งไร้ชีวิตอีกด้วย
คำว่า “นาย” กับ “ทาส” ที่ถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาและได้ถูกบันทึกลงใน คู่มือ มาตรฐาน บทเรียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ จึงเป็นการถ่ายทอดภาษาที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมไปยังผู้คนในประเทศของผู้ผลิตเทคโนโลยีเอง รวมไปถึงประเทศอื่นๆผ่านเทคโนโลยี โดยผู้ใช้เทคโนโลยีที่รับภาษาเหล่านี้ไปใช้งานอาจคิดไม่ถึงว่าถ้อยคำเหล่านี้คือการตอกย้ำถึงความเป็น “ทาส” และความเป็น “นาย” ที่สังคมไม่ปรารถนาและไม่เป็นที่ยอมรับ
นับตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา สิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกามากกว่า 67,000 รายการมีคำว่า Master/Slave ปรากฏอยู่ในเทคโนโลยีที่หลากหลาย เป็นต้นว่า อุปกรณ์สายอากาศ การเข้ารหัส(Encoding) และชุดประกอบทางลาดขึ้น-ลงของยานยนต์ (Vehicle ramp assembly) ฯลฯ นอกจากนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคอมพิวเตอร์และโครงข่ายโทรคมนาคมก็มีการทำงานในลักษณะที่เรียกว่า Master/Slave อยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน
วงการเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม ของเมืองไทยมักเรียกอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมและอุปกรณ์ที่ถูกควบคุมประเภท Master/Slave ด้วยคำต่างๆหลายคำด้วยกัน เป็นต้นว่า เรียกทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษว่า “มาสเตอร์/สเลฟ” หรือหากเป็นภาษาไทยมักจะเรียก “อุปกรณ์แม่/อุปกรณ์ลูก” หรือ “อุปกรณ์หลัก/อุปกรณ์รอง” หรือ “อุปกรณ์หลัก/อุปกรณ์ย่อย” และยังไม่เคยได้ยินคนไทยคนไหนเรียกอุปกรณ์ประเภทนี้ในภาษาไทยว่า “นาย” กับ “ทาส” ตามความหมายของภาษาอังกฤษที่เป็นคำศัพท์ต้นทาง
ดังนั้นการใช้ภาษาที่ถ่ายทอดมากับเทคโนโลยีที่ซื้อหามาจากต่างประเทศในเชิงดูถูกเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างความรู้สึกอึดอัดต่อการใช้คำดังกล่าวต่อคนไทยมากนัก อาจเป็นเพราะว่าคำทั้งสองเป็นคำภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของคนไทย คนทั่วไปจึงไม่รู้สึกระคายหูเท่ากับเจ้าของภาษาและคนไทยเองมักเรียกคำเหล่านี้ทับศัพท์จากคำภาษาอังกฤษ ต่างจากเจ้าของภาษาที่คงมีความอึดอัดใจอยู่ไม่น้อยเมื่อต้องใช้หรือพบเห็นคำเหล่านี้ในอาชีพของตัวเองอยู่ทุกวัน
นอกจากนี้การที่คนไทยรู้จักเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมโดยการเลี่ยงไปใช้คำว่า “อุปกรณ์แม่ กับ อุปกรณ์ ลูก” หรือคำอื่นๆ ที่แสดงถึงการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์สองชิ้น จึงให้ความรู้สึกที่อ่อนโยนและเป็นมิตรมากกว่าคำภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า มาสเตอร์ ที่แปลว่า “นาย” กับ สเลฟ ที่แปลว่า “ทาส” ซึ่งเป็นคำที่ส่อไปในทางสร้างความไม่เท่าเทียม แม้ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในกับเทคโนโลยีก็ตาม
ในปี 2003 เทศมณฑลของลอสแอนเจลิส (The County of Los Angeles ) แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ขอให้ โรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้รับเหมาช่วง หยุดใช้คำว่า Master/Slave กับสินค้าและชื่อกำกับต่างๆ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความอ่อนไหวต่อผู้คนภายในพื้นที่ของตัวเอง
การเรียกร้องนี้สอดคล้องกับความเห็นของประธานบริษัท The Global Language Monitor ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับภาษา ที่เห็นว่า คำว่า Master/Slave เป็นตัวอย่างการจับคู่คำที่แย่ที่สุดที่มีการนำมาใช้งานและเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” (Political Correctness : PC) ซึ่งหมายถึง ทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่อง ทางร่างกาย ฯลฯ อย่างสิ้นเชิง
ความพยายามเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนคำว่า Master/Slave ไปใช้คำอื่นที่เหมาะสมกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการดำเนินการมาบ้างแล้วเป็นระยะๆก่อนหน้านี้และบางบริษัทมีการใช้คำหลายคำทดแทนคำว่า Master/Slave เช่นการใช้คำว่า Primary/Secondary(ปฐมภูมิ/ทุติยภูมิ) หรือ Primary/Replica(ปฐมภูมิ/ชุดจำลอง) หรือ Master/Minion (นาย/ลูกน้อง) หรือ Controller/Controlled (ควบคุม/ถูกควบคุม) หรือ Leader/Follower(ผู้นำ/ผู้ตาม) เป็นต้น แต่คำเหล่านี้ยังถูกใช้อยู่ในวงจำกัดและยังไม่ได้มีการรณรงค์เพื่อให้หยุดใช้คำว่า Master/Slave รวมทั้งคำอื่นๆที่แสดงการเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกันอย่างกว้างขวางมากเท่าที่ควร
การเสียชีวิตของ ฟลอยด์ จึงเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้คนในวงการเทคโนโลยีตื่นตัวต่อการใช้ภาษาที่ล่อแหลมต่อการสื่อถึงการกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและมีผู้คนจำนวนไม่น้อยขานรับต่อเรื่องดังกล่าว รวมทั้งมีการเสนอให้ใช้คำที่เหมาะสมกับโปรแกรมซอฟท์แวร์ของบริษัทบางแห่ง เป็นต้นว่า
- เปลี่ยนคำว่า Master (นาย) เป็น Main(ส่วนสำคัญ)
- เปลี่ยนคำว่า Blacklist (บัญชีดำ) เป็นคำว่า Block list หรือ Deny list (บัญชีต้องห้าม)
- เปลี่ยนคำว่า Whitelist (บัญชีขาว) เป็นคำว่า Allow list หรือ Safe list หรือPermitted license (บัญชีปลอดภัย/บัญชีอนุญาต)
นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการเปลี่ยนคำอื่นๆที่น่าจะเข้าข่ายแสดงความดูถูกเหยียดหยามทางเพศ สีผิวหรือความด้อยทางร่างกาย เช่น ใช้คำว่า แฮกเกอร์จริยธรรม(Ethical hacker) แทนคำว่า แฮกเกอร์หมวกขาว(White hat hacker) และแฮกเกอร์ไร้จริยธรรม(Unethical hacker) แทนคำว่า แฮกเกอร์หมวกดำ(Black hat hacker) เป็นต้น
การรณรงค์ให้มีการใช้คำที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่อาจนำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามผิวสีและการกดขี่ข่มเหงผู้คน เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันทางสังคมของผู้คนทั่วโลก ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในหมู่นักพัฒนาเทคโนโลยีที่เริ่มเข้าใจปัญหาสังคมและไม่เพิกเฉยต่อการเรียกร้องที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าคำบางคำที่ใช้กับซอฟแวร์หรือเทคโนโลยีบางอย่างนั้นไม่ได้มีความหมายใดๆที่เชื่อมโยงกับความเป็นทาสแม้แต่น้อยและอาจสร้างความสับสนให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีอีกด้วย อย่างไรก็ตามกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมและการเรียกร้องให้มีการยุติการแบ่งแยกผิวสีและชนชั้นที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเกือบทุกวงการนั้นนับเป็นความพยายามที่ควรได้รับการตอบสนองในทางบวกเพราะเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับความเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะมีความยุ่งยากซับซ้อนและอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผลก็ตาม
อ้างอิงจาก :
1. https://en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_the_United_States
2. https://www.wired.com/story/tech-confronts-use-labels-master-slave/
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Master/slave_(technology)
4. https://www.seattlepi.com/national/article/Master-slave-named-most-politically-incorrect-1161133.php
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.mprnews.org/story/2020/05/29/protests-over-killing-of-george-floyd-spread-across-the-nation