"...หากหน่วยงานพัฒนาในประเทศ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ อยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลาง ที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค และช่วยรักษาสมดุลย์ความชื้นในภาวะโลกร้อน..."
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ถือเป็นต้นทุนทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 36% ของประเทศ, แคนาดา 40%, ญี่ปุ่น 67% เกาหลีใต้ 64% เป็นต้น
รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันมีการตั้งเป้าอย่างชัดเจนว่าจะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ที่ปรากฎในทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับ นโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ให้ถือเป็นนโยบายหลักด้านป่าไม้ของประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ 40% ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่เพียง 31% ของพื้นที่ประเทศ และในป่าที่เหลืออยู่นี้ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพียง 20% ของพื้นที่ประเทศ ดังนั้นนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ ให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดในแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนหลักประกอบนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งคณะทำงานกำลังดำเนินการร่างแผนแม่บทฯกันในขณะนี้
การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เช่นนี้ จึงทำให้เกิดความหวังของสังคมในหลายภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ กระแสสังคมเรื่องนี้ปรากฎชัดเจนมากใช่ช่วงไวรัสโควิด 19 ที่ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยกว่า 80% สนับสนุนนโยบายการปิดอุทยานแห่งชาติบางช่วงในแต่ละปี เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวที่เสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา หลังจากปรากฎชัดว่าในพื้นที่ที่ปิดการท่องเที่ยวช่วงโควิด สัตว์ป่าและสัตว์ทะเล ที่มีสถานภาพถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ของโลก เช่น ช้างป่า กระทิง ค่างแว่นถิ่นใต้ เต่ากระ เต่ามะเฟือง พยูน ออกมาปรากฎตัวในพื้นที่ที่เคยคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน และเป็นข่าวโด่งดังไปในสื่อนานาชาติหลายสำนัก
แต่เป็นที่น่ารันทดใจว่า หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาบางหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน ให้ความสำคัญแต่ด้านการพัฒนาด้านเดียว ได้พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนที่จะท่วมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการในระดับชาติหลากหลายคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือจะท่วมพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ต้องเสนอผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อขออนุมัติเพิกถอนจากความเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยขอยกตัวอย่างโครงการที่สำคัญๆ ที่กรมชลประทานพยายามผลักดันในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ถูกระงับหรืออยู่ในระหว่างให้กรมชลประทาน นำข้อเสนอกลับไปพิจารณา เพราะเป็นโครงการที่คณะกรรมการสรุปว่าจะทำความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า ดังนี้
1. โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เสนอคณะกรรมการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นเนื้อที่ 1,280 ไร่ ในปี 2560 และจะกระทบต่อการสูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 10,000 ต้น ซึ่งโครงการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในในรัฐบาลประยุทธ 1 คือ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้แสดงภาวะผู้นำ โดยนำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ สำรวจตำแหน่งที่ตั้งสันเขื่อนใหม่ เพื่อไม่ให้ท่วมป่าภูเขียว จนกระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
2. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบอน จังหวัดอุบลราชธานี เสนอคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในปี 2560 เพื่อขอเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นเนื้อที่ 280 ไร่ และจะทำให้สูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กว่า 4,600 ต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
3. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยูง ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เสนอคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ในปี 2560 ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเนื้อที่ 1,611 ไร่ โดยมีไม้ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ต้น ต้องถูกตัดออกหากได้สร้าง และยังทำให้สัตว์ป่าที่สำคัญ เช่น ชะนีมงกุฎ และลิ่นชวา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของโลกต้องสูญเสียถิ่นอาศัย ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
4. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ อำเภอปง จังหวัดพะเยา เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในปี 2562 ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 243 ไร่ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้องสูญเสียกว่า 4,400 ต้น และบริเวณน้ำท่วมยังเป็นแหล่งอาศัยหลักของนกยูงไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลก ซึ่งคณะกรรมการฯ อนุมัติในหลักการ และให้กรมชลประทานฯ กลับไปพิจารณาเสนอแนวทางลดกระทบต่อนกยูงไทย ให้ชัดเจนก่อน
5. โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี 2562 ขอใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จำนวน 2,097 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพป่าสมบูรณ์ และจะท่วมหมู่บ้านกะเหรี่ยงพุระกำ ที่ถือเป็นหมู่บ้านที่รักษาวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการสรุป ให้กรมชลประทานกลับไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจก่อนนอกจากนี้ ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ที่กรมชลประทาน กำลังเสนอ เพื่อก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่มเติม เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จังหวัดจันทบุรี ที่จะท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าอย่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ที่จังหวัดสระแก้ว ที่กำลังเสนอให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเนื้อที่ ประมาณ 4,000 ไร่ ทั้งๆที่พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และคณะกรรมการมรดกโลกเคยมีมติขอให้รัฐบาลระงับการสร้างเขื่อนนี้
โครงการเหล่านี้ มักอ้างถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าแก่ที่ถูกคิดไว้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ถูกนำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ โดยมิได้คำนึงว่าปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก ป่าไม้เหลือน้อย สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลกเหลือพื้นที่ป่าที่เป็นที่พึ่งพิงเพียงเล็กน้อยเพื่อดำรงชีวิต แต่แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกในปัจจุบัน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนในสังคมในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ จะมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์และคุณค่าทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ที่คงเหลืออยู่น้อยนิดเหล่านั้นอย่างมาก และจะพยายามร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ให้คงอยู่คู่สังคม และเอื้อประโยชน์คนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศ คนไทยทั้งประเทศด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตโดยรวม ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป พยายามฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยการรื้อทำลายเขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ และมีผลกระทบชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมกันกว่าหลายร้อยเขื่อน และหน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาจะมีความตระหนัก โดยไม่เสนอโครงการพัฒนาที่ทำลายพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งแล้ว เพราะถือเป็นการผิดกฎและกติกาของสังคมอย่างรุนแรง และอาจถูกต่อต้านจากคนในสังคมจนกระทั่งฟ้องร้องกันเป็นทางการจนเสียภาพลักษณ์ของหน่วยงานพัฒนาเหล่านั้น
สำหรับในประเทศไทย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมชลประทานพยายามเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับการอนุรักษ์มากว่า 20-50 ปี จึงทำให้ธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นสวรรค์ของ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า ตลอดจนกระทั่งเสือโคร่ง หากหน่วยงานพัฒนาในประเทศ ขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ อยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลาง ที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค และช่วยรักษาสมดุลย์ความชื้นในภาวะโลกร้อน และแสดงถึงความไม่แยแสต่อคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก พื้นที่มรดกโลก ที่คนทั่วโลกห่วงใย ซึ่งแนวทางการพัฒนายังเป็นอยู่เช่นอาจทำให้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ คงเป็นเสมือนเพียงกระดาษที่ขาดพลังขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ให้ประเทศไทยเป็นพัฒนาแล้วบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มั่งคั่งและเข้มแข็ง แต่ประเทศจะตกอยู่ในวังวันแห่งกับดักประเทศกำลังพัฒนาตลอดไป
ฝูงวัวแดง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ของโลก ถ่ายโดยกล้องดักถ่ายภาพในอุทยานแห่งชาติตาพระยา
ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน เสนอโดยกรมชลประทาน
ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ