แอปพลิเคชันหลายประเภทเป็นสื่อที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์และชักนำให้เกิดการเสพติดทางพฤติกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารโดพามีน(Dopamine) ในสมองซึ่งเป็นสารสร้างความสุข การหลั่งสารโดพามีนจึงทำให้มนุษย์มีความพึงพอใจอันเป็นผลจากการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและได้รับรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน
เมื่อผู้คนต้องอยู่ในภาวะถอยห่างจากสังคมอันเนื่องมาจากพิษของโควิด-19 โลกออนไลน์คือสื่อที่จำเป็นสำหรับการติดต่อสื่อสารและการทำงานทางไกลในยามวิกฤติ ทำให้คนทั้งโลกนับพันล้านคนต้องใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่าปกติ
จากข้อมูลพบว่า คนไทยใช้เวลาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน WiFi บนสมาร์ทโฟน มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน WiFi ในเดือน มี.ค. 2563 เพิ่มขึ้นจาก 39.8% เป็น 41.5% ( สำรวจ ตั้งแต่ 2 มี.ค.63 -22 มี.ค. 63) นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงเวลาเดียวกันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในทุกทวีปมีการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ขณะที่โควิดกำลังระบาด มี “แอปพลิเคชัน” (Application) หลากหลายรูปแบบผุดขึ้นมาบนโลกออนไลน์ราวกับดอกเห็ดเช่นกัน แอปพลิเคชัน จำนวนมากถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการให้ความรู้ ให้ข้อมูลและแนะนำวิธีต่อสู้กับไวรัสโควิด ในเวลาเดียวกันแอปพลิเคชันจำนวนไม่น้อยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนเข้าไปใช้โดยหวังผลทางใดทางหนึ่งโดยการฉกฉวยจังหวะที่ผู้คนใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่าช่วงเวลาปกติ จนดูเหมือนว่า แอปพลิเคชัน ต่างๆที่ถูกพัฒนาขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาบนโลกออนไลน์มีมากจนเกินความจำเป็นและกลายเป็นขยะบนเครื่องโทรศัพท์ที่คอยรบกวนเวลาและสมาธิจนยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
จากข้อมูลการสำรวจโดยทั่วไปพบว่า แอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์ราว 30 เปอร์เซ็นต์ถูกติดตั้งเอาไว้โดยไม่มีการใช้งาน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ใช้โทรศัพท์มีการติดตั้งแอปพลิเคชันจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนราว 12 แอปพลิเคชัน แต่มีการลบแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ออกเพียง 10 แอปพลิเคชัน ดังนั้นในแต่ละเดือนจึงมีแอปพลิเคชันสะสมอยู่บนเครื่องโทรศัพท์อยู่เสมอ หากไม่มีการลบแอปพลิเคชันส่วนเกินเหล่านี้ออกไปอาจมีผลกระทบต่อการใช้งานของโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตได้
จากการทดสอบการติดตั้งแอปพลิเคชัน 66 ชนิดบนระบบปฏิบัติการของแอนดรอยด์ พบว่าแอปพลิเคชันจำนวนถึง 54 ชนิด มีการใช้ ทราฟฟิคของอินเทอร์เน็ตราว 22Mb ต่อวันโดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่ได้แตะต้องแอปพลิเคชันเหล่านี้เลย
แอปพลิเคชันต่างๆที่มีอยู่ดาษดื่นและยังถูกสร้างขึ้นอีกนับไม่ถ้วนในแต่ละวันนั้น มีทั้งแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นและแอปพลิเคชั่นที่ขโมยเวลาอันมีค่าของเราไป เพราะทำให้เราต้องใช้เวลาชำเลืองมองจอโทรศัพท์หรือหักห้ามใจไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปเล่นกับแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ตลอดทั้งวัน
ในมุมมองของผู้ใช้งานอาจแบ่ง แอปพลิเคชัน บนเครื่องโทรศัพท์มือถือ ออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1. แอปพลิเคชัน ประเภทเครื่องมือ(Tool apps.) - เป็นแอปพลิเคชั่นประเภทอำนวยความสะดวกและช่วยให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้คนง่ายขึ้น เป็นต้นว่า แผนที่ กล้องถ่ายรูป พยากรณ์อากาศ โทรศัพท์ ตารางนัดหมาย ฯลฯ แอปพลิเคชั่นเหล่านี้จึงจัดอยู่ในประเภท แอปพลิเคชันที่มีประโยชน์
2. แอปพลิเคชั่นประเภทอาหารขยะ(Junk food apps.) - เป็นแอปพลิเคชั่นประเภทที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันสนุกสนานมีสีสันและอาจทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็หลอกล่อให้เราเข้าไปติดกับดักจนยากที่จะหยุดใช้งานได้เช่นกัน เป็นต้นว่า โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันสำหรับช็อปปิ้ง เกมต่างๆ ฯลฯ แอปพลิเคชันประเภทนี้จึงให้ทั้งประโยชน์และอาจทำให้เราสูญเสียเวลาไปโดยไม่รู้ตัวหากไม่รู้จักสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งที่จะได้รับจากแอปพลิเคชันประเภทนี้กับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
3. แอปพลิเคชันประเภทสล็อตแมชชีน (Slot machins apps.) - เป็นแอปพลิเคชัน ประเภทที่นอกจากจะไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังเป็นแอปพลิเคชั่นที่ทำให้เราต้องเสียเวลาและเสียสมาธิจากการที่ต้องหันไปใส่ใจต่อการหลอกล่อของแอปพลิเคชันประเภทนี้เกือบตลอดเวลาอีกด้วย เป็นต้นว่า โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันหาคู่ การพนันออนไลน์ เกมออนไลน์ ฯลฯ รวมไปถึง แอปพลิชันปลอมทุกรูปแบบที่แฝงมากับโลกออนไลน์เพื่อแสวงผลประโยชน์จากผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จากกลโกงของมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
4. แอปพลิเคชันประเภทสร้างความสับสน (Clutter) - การสร้างแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินความสามารถของผู้ที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ดังนั้นแต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงานจึงสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมามากมายเพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการของตัวเองและโน้มน้าวให้ผู้ใช้เข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อมาติดตั้งในเครื่องโทรศัพท์ รวมถึงแอปพลิเคชันจำนวนมากที่ถูกติดตั้งมาจากบริษัทผู้สร้างระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ แม้ว่าแอปพลิเคชันประเภทนี้อาจจะไม่ได้ขโมยเวลาของเราไปแต่ก็ไม่ได้ยกระดับความเป็นอยู่ของเราให้ดีขึ้นและแอปพลิเคชันบางประเภทใช้งานไม่ได้ผล เมื่อเวลาผ่านไปแอปพลิเคชันเหล่านี้มักไม่ได้ถูกใช้งานและไม่ได้ถูกลบออกไปจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่รกรุงรังที่ควรลบทิ้งไปแทนที่จะเก็บไว้บนเครื่องโทรศัพท์ให้สิ้นเปลืองหน่วยความจำโดยไม่จำเป็น
5. แอปพลิเคชันอรรถประโยชน์ (Utility apps) - คุณสมบัติของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้นักพัฒนาเทคโนโลยีสามารถต่อยอดและพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อประโยชน์ทางการค้าและประโยชน์อื่นใดบนแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วยการสร้างแอปพลิเคชันเพื่อดึงดูดความสนใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เห็นโฆษณาจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์และผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ถึงประโยชน์ของแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ที่ตัวเองพัฒนาขึ้น ทั้งๆที่แอปพลิเคชันจำนวนมากทำงานได้ไม่สมราคาคุยหรือไม่เข้ากับพฤติกรรมมนุษย์ ตัวอย่างของ แอปพลิเคชันอรรถประโยชน์ได้แก่ แอปพลิเคชันสำหรับฟิตเนส แอปพลิเคชันไฟฉาย แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์กับเครื่องซักผ้า เป็นต้น
แม้ว่าแอปพลิเคชันประเภทนี้จะมีประโยชน์อยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นเหมือนกับแอปพลิเคชันประเภทเครื่องมือและแอปพลิเคชันอรรถประโยชน์จำนวนมากไม่มีการถูกใช้งานหรือมีการใช้งานน้อยมากในรอบหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ไร้ประโยชน์ไป
6. แอปพลิเคชันที่ลบไม่ได้(Undeletable apps) – แอปพลิเคชันจำนวนหนึ่งถูกสร้างมาจากผู้ผลิตโทรศัพท์และพันธมิตรและไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้เพราะถูกกำหนดมาจากผู้ผลิตให้ถูกติดตั้งแบบถาวรในเครื่องโทรศัพท์ หากไม่มีการใช้งานควรย้ายแอปพลิเคชันเหล่านี้ออกไปจากหน้าจอหลักเพื่อลดความสับสนในการใช้งาน
แอปพลิเคชันต่างๆที่ปรากฏบนจอให้เราเห็นขณะที่เรากำลังใช้เครื่องมือสื่อสารจนทำให้ผู้คนเสพติดกันจนโงหัวไม่ขึ้นนั้น เกิดจากการออกแบบอย่างแยบยลของผู้ออกแบบแอปพลิเคชันร่วมกับการออกแบบฟังชั่นของโทรศัพท์ที่พยายามดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาใช้แอปพลิเคชันนั้นๆให้มากที่สุดและนานที่สุด โดยการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์(Computer science) กับศาสตร์ทางจิตวิทยา(Psychology) ซึ่งเรียกรวมกันเป็นคำเดียวว่า แคปโตโลยี (Captology) ซึ่งเป็นวิธีจูงใจด้วยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ด้วยการกระตุ้นสมองของมนุษย์เพื่อให้ร่างกายกระทำพฤติกรรมบางอย่างตามที่ผู้ออกแบบโทรศัพท์หรือแอปพลิเคชันต้องการ
แอปพลิเคชันหลายประเภทเป็นสื่อที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์และชักนำให้เกิดการเสพติดทางพฤติกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารโดพามีน(Dopamine) ในสมองซึ่งเป็นสารสร้างความสุข การหลั่งสารโดพามีนจึงทำให้มนุษย์มีความพึงพอใจอันเป็นผลจากการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและได้รับรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน
โดพามีนจะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขเสมอเมื่อใดก็ตามที่สมองหลั่งสารนี้ออกมา ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการปล่อยสารโดพามีนในสมองจึงเป็นเหมือนรางวัลที่เราได้รับและมีความคาดหวังว่าจะได้รับรางวัลนี้ในครั้งต่อๆไปจนทำให้เราเข้าไปอยู่ในวงจรพฤติกรรมที่ต้องการรางวัลอย่างไม่มีวันจบสิ้นไม่ต่างจากพฤติกรรมการเสพยาเสพติดที่สมองมีการตอบสนองในลักษณะเดียวกัน
การโน้มน้าวโดยการใช้วิทยาการทางคอมพิวเตอร์และจิตวิทยาเพื่อควบคุมการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์(Brain hacking) เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม จึงไม่ต่างจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์(Computer hacking) โดยเหล่าแฮกเกอร์สายดำนั่นเอง
สัญญาณสามประการที่บอกว่าเรากำลังเล่นอยู่กับแอปพลิเคชันประเภทที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเสพติดโดยไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเล่นกับแอปพลิเคชันประเภท อาหารขยะและสล็อตแมชชีน ได้แก่
๏ รู้สึกได้ถึงความคาดหวังบางอย่างจากการเล่นกับแอปพลิเคชันประเภทนี้
๏ เมื่อเล่นแล้วยากที่จะหยุดได้
๏ เมื่อเล่นจบแล้วมีความรู้สึก ผิดหวัง ไม่พอใจ หรือ ไม่สบอารมณ์ จากผลที่ได้รับ
การเล่นกับแอปพลิเคชันประเภทนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะแอปพลิเคชันประเภทนี้แม้ว่าจะไม่ได้ถูกออกแบบให้เหมือนกับเครื่องสล็อตแมชชีนเสียเลยที่เดียว แต่ผลลัพธ์จากการเล่นกับแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่ต่างกับการเล่น สล็อตแมชชีน การติดตั้งแอปพลิเคชันประเภทนี้ไว้ในเครื่องโทรศัพท์จึงเป็นเสมือนการพกเครื่องสล็อตแมชชีนไว้ในกระเป๋าอยู่ตลอดเวลาและแอปพลิเคชันเหล่านี้มักจะสร้างสิ่งเร้าเพื่อดึงดูดใจให้ผู้เล่นต้องหยิบเครื่องโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเราจึงต้องหันไปหาเครื่องโทรศัพท์ทั้งวันโดยไม่รู้จักเบื่อ เพราะสมองของเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าการหันเข้าหาโทรศัพท์คือความคาดหวังรางวัลที่จะได้รับจากการเล่นกับโทรศัพท์และแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบดึงดูดให้เราเข้าไปใช้งานนั่นเอง
แอปพลิเคชันบางประเภทนอกจากจะสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้แล้ว ทั้งตัวแอปพลิเคชันเองและข้อมูลที่ต้องใช้กับแอปพลิเคชันคือตัวการสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของโทรศัพท์แย่ลง ต้องใช้หน่วยความจำมากขึ้น รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการคุกคามจากภัยทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้นด้วย
ผู้ใช้โทรศัพท์โดยทั่วไปอาจไม่ทราบว่าเมื่อใดก็ตามที่เราติดตั้งแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์และกดปุ่ม “ยอมรับ” โดยไม่ได้อ่านรายละเอียดและเงื่อนไข เป็นช่องทางให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โทรศัพท์ เป็นต้นว่า รายชื่อผู้ติดต่อโทรศัพท์ รายชื่อผู้ติดต่ออีเมล์ ข้อความที่มีการรับ-ส่ง รายชื่อร้านอาหาร สถานที่โปรด ภาพถ่าย ฯลฯ ไปใช้ประโยชน์โดยที่เราไม่รู้เลยว่าข้อมูลของเราจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือนำไปให้กับใครบ้าง ดังนั้นจึงเราจึงมักเห็นโฆษณาที่เราไม่รู้จักสอดแทรกขึ้นมาสร้างความหงุดหงิดบนจอเป็นระยะๆหรือมีการส่งข้อความทักทายจนดูเหมือนว่าถูกหลอกหลอนเมื่อเราเดินทางไปยังสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ราวกับว่ามีใครคนหนึ่งจับตาดูการเคลื่อนไหวของเราอยู่ทุกฝีก้าว การลบหรือจัดการกับแอปพลิเคชันบนเครื่องโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นความจำเป็นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยทางไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว
แอปพลิเคชันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันนานัปการ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแอปพลิเคชันจำนวนมากส่งผลในทางลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดทางพฤติกรรมแล้ว ข้อมูลต่างๆที่เรามอบให้กับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแลกกับความสะดวกสบายอาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในชีวิตหากเรารู้ไม่เท่าทันและไม่สามารถควบคุมตัวเองจากสิ่งล่อใจที่มากับแอปพลิเคชันที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้
อ้างอิง
1. https://www.thairath.co.th/news/tech/1816533
2. How to Break Up with Your Phone โดย Catherine Price
3. https://www.kaspersky.com/blog/my-precious-data-report-one/14093/
4. Your happiness was hacked โดย Vivek Wadhwa และ Alex Salkever
ภาพประกอบ
https://fusionofideas.com/blog/tag/dcs-mobile-app/