"...ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวจะบัญญัติให้ สนช. ทำหน้าที่ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้บัญญัติให้สมาชิก สนช. ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นการรับรองสถานะของ สนช. และสมาชิก สนช. อยู่ในตัว ดังนั้น อดีต สมาชิก สนช. จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ..."
กรณีที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ ( ป.ป.ช.) และวุฒิสภาวินิจฉัยว่า ตำแหน่ง สนช. ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในลักษณะ ส.ส.หรือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญเพียงกำหนดให้ สนช.ในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น เป็นเพียงตำแหน่งเฉพาะกิจ แต่ไม่ถือเป็นตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว. อีกทั้งตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 ระบุชัดเจนว่า สนช. ไม่อยู่ในข่ายที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนดังกล่าวได้ นั้น
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 263 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้ สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และให้ สนช. และสมาชิก สนช.สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวจะบัญญัติให้ สนช. ทำหน้าที่ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้บัญญัติให้สมาชิก สนช. ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นการรับรองสถานะของ สนช. และสมาชิก สนช. อยู่ในตัว ดังนั้น อดีต สมาชิก สนช. จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งโดยปกติเป็นประชาชนที่มาจากการแข่งขันในการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ไม่เหมือนสมาชิก สนช. ซึ่งส่วนมากแต่งตั้งจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 แม้สมาชิก สนช จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายน้อยกว่า ส.ส. หรือ ส.ว. เล็กน้อย ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ
“ส่วนที่มีข่าวว่า คณะกรรมการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติว่า อดีตสมาชิก สนช. มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับการสรรหาเป็น กสม. เพราะยังพ้นหน้าที่สมาชิก สนช.ไม่เกิน 10 ปี ด้วยเหตุผลใดและด้วยคะแนนเสียงเท่าใด ผมไม่ทราบ แต่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย แม้กฎหมายจะบัญญัติต่อไปว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด (มาตรา 16 วรรคหนึ่ง) ปัญหานี้พึงได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจ” ประธาน กสม. กล่าวทิ้งท้าย.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/