หมายเหตุ : บทความเรื่อง โควิด-19 กระทบใคร กระทบอย่างไร พวกเขารับมือไหวไหม เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”
ท่ามกลางความผ่อนคลายทั้งทางกายและทางใจจากมาตรการ ‘เปิดเมือง’ ที่ทำมาแล้วสองระยะ คือ ระยะแรก เริ่มเมื่อวันที่ 3พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในระยะนี้ รัฐบาลได้ผ่อนคลายให้ ‘ธุรกิจสีขาว’ ที่เคยถูกปิดหรือจำกัดการให้บริการ เช่น ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือตลาดนัด เป็นต้น กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง และระยะสอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม โดยในระยะนี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้ เปิดธุรกิจ "กลุ่มสีเขียว" เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารให้นั่งรับประทานในร้านได้ แต่เนื่องจากยังมีความเสี่ยงของการระบาดรอบสอง จนอาจนำไปสู่การกลับมาเข้มงวดหรือ ‘ปิดเมืองใหม่’ อีกรอบ เราจึงควรทำความเข้าใจว่า การปิดเมืองช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรบ้าง กระทบใครมากกว่า และกระทบอย่างไร ความเข้าใจนี้จะช่วยให้เราทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจว่าควรจะช่วยเหลือใครบ้าง ช่วยอย่างไร และการตัดสินใจว่า หากต้องปิดเมืองอีกรอบควรจะปิดแบบไหน ปิดเฉพาะบางพื้นที่ หรือปิดหมด เป็นต้น
เพื่อสร้างความเข้าใจดังกล่าวสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจออนไลน์สองครั้ง ครั้งแรกเป็นการสำรวจผลกระทบด้านสังคม (จำนวนตัวอย่าง 43,338 สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 เมษายน 2563) และครั้งที่สองผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (จำนวนตัวอย่าง 27,986 สำรวจระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563) มีผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นการสำรวจออนไลน์ทำให้ได้รับแบบตอบรับจำนวนมากจากผู้มีการศึกษาสูงและเกือบครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจทำให้ผลการสำรวจเอนเอียงไปพอควร เช่น ข้าราชการจะไม่มีปัญหาตกงานหรือมีรายได้น้อยลง ดังนั้นผลการสำรวจที่จะเสนอต่อไปนี้ไม่ได้รวมผู้ตอบที่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐ
ผลการสำรวจสรุปได้ดังต่อไปนี้
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
· ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 73.2 มีรายได้ลดลงหลังเกิดการระบาด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 39.9 มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และพบว่า ผู้มีการศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ลดมากกว่าผู้มีรายได้สูง
· ร้อยละ 8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ย้ายที่อยู่ระหว่างการระบาด โดยคาดว่าเป็นการย้ายกลับภูมิลำเนา
· หากไม่นับกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐ พบว่าร้อยละ 16.2 กลายเป็นคนว่างงาน ในขณะที่ร้อยละ 1.7 ออกจากกำลังแรงงาน กล่าวคือ เคยทำงานก่อนการระบาดแต่หลังการระบาดก็ไม่ได้ทำงานและไม่พยายามหางานทำด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะทราบว่า ถึงแม้พยายามหางานทำก็ไม่สามารถหางานได้ สองตัวเลขนี้
รวมกันคิดเป็นร้อยละ 17.9 ของแรงงานที่เคยมีงานทำก่อนการระบาดซึ่งหากคิดเป็นจำนวนคนก็จะได้กว่า 6 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้ พบว่า แรงงานรับจ้างทั่วไป หรือที่ทำงานแบบไม่ประจำตกงานมากสุด
· ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยปิดกิจการลงหรือลดขนาดกิจการ เช่น ร้อยละ 14 ของธุรกิจที่เคยมีลูกจ้างเกิน 10 คนได้ทำการปิดกิจการ อีกร้อยละ 12 ลดจำนวนลูกจ้างเหลือน้อยกว่า 10 คน มีเพียงร้อยละ 65 เท่านั้นที่ยังคงเปิดกิจการต่อด้วยจำนวนลูกจ้างเกิน 10 คน สภาพเช่นเดียวกันนี้เกิดกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (กล่าวคือมีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน และไม่มีลูกจ้าง)
· ในขณะเดียวกันมีคนเคยว่างงานหรืออยู่นอกกำลังแรงงานจำนวนหนึ่งต้องพยายามกลับมาหางานทำ แต่ก็มักจะหางานทำไม่ได้
· กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าถูกกระทบจากโควิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ถูกพักงาน เลิกจ้าง ยอดขายลดลง หรือปิดกิจการ และระบุว่าทุกมาตรการ ‘ปิดเมือง’ ของรัฐบาลมีผลกระทบต่อการทำมาหากินทั้งสิ้น ไม่ว่าการปิดร้านค้า การจำกัดไม่ให้นั่งกินข้าวในร้านอาหาร เคอร์ฟิว การให้ทำงานจากบ้าน การจำกัดการเดินทาง
ความสามารถในการรับมือและมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ
· 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ไม่สามารถปรับตัวรับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างทั่วไป กลุ่มทำงานไม่ประจำ หรือประกอบธุรกิจโดยไม่มีลูกจ้างจะปรับตัวได้น้อยที่สุด
· เกินกว่าครึ่งตอบว่าไม่สามารถอยู่ได้โดย ‘ไม่ลำบากเกินไป’ หากสถานการณ์ลากยาวเกิน 3 เดือน ถ้านับจากวันที่ตอบแบบสอบถามคือช่วงเดือนเมษายน ก็หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะพอประคับประคองไปได้ถึงเดือนกรกฏาคมนี้เท่านั้น แน่นอนว่าการกลับมาเปิดเมืองจะทำให้สภาพนี้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะดีขึ้นเท่าไร
· ส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ ตามด้วยการให้เป็นเงินสด (เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน)
· ผู้ตอบส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น ไม่ได้เงิน 5,000 บาท (คาดว่าเป็นเพราะช่วงที่ทำแบบสอบถามการจ่ายเงินเพิ่งเริ่มต้น) ไม่ได้สินเชื่อ เป็นต้น
ผลกระทบด้านสังคม
· โควิด-19 ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างกว้างขวางและรุนแรง โดยมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49 ) ระบุว่าความวิตกกังวลนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก
· ผลกระทบมากสุดคือความไม่สะดวกในการเดินทาง โดยคาดว่าหมายถึงการไม่อาจไปทำงานหรือไปเรียนได้ ตามมาด้วยความไม่สะดวกในการรับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย
· ผู้ตอบแบบที่เป็นครัวเรือนที่มีเด็กวัยเรียน มีจำนวนเกือบครึ่ง (ร้อยละ 46) ตอบว่า ไม่พร้อมที่จะเรียนระบบออนไลน์ เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือแท๊บเล็ต มากที่สุด เหตุผลรองลงมา เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเวลาในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์
แม้การสำรวจนี้จะไม่ได้มีการกระจายตัวอย่างตามหลักสถิติเพราะเป็นการสำรวจแบบออนไลน์ที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครตอบ แต่เชื่อว่า ข้อค้นพบข้างต้นตรงกับ ‘ความรู้สึก’ ของพวกเราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของผลกระทบที่ใหญ่มาก (คนว่างงานเกิน 6 ล้านคน) ขยายตัวในวงกว้างไปทุกสถานะอาชีพ ทุกขนาดกิจการ และกระทบผู้มีรายได้
น้อยมากกว่า คนจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวได้ และมีสายปานสั้นมาก ก่อให้เกิดความวิตกกังวลระดับรุนแรง และมีผลกระทบด้านสังคมอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
นัยเชิงนโยบาย
ผลการสำรวจนี้มีนัยเชิงนโยบายสี่ประการ คือ
ประการแรก เราต้องลดความจำเป็นในการ ‘ปิดเมืองรอบสอง’ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น โดยการลงทุนยกระดับความสามารถในการตรวจเชื้อ ติดตามและสอบสวนโรค กักกัน เพื่อให้สามารถรับมือในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งเป็นการ ‘ตัดไฟแต่ต้นลม’ จากผลการประมาณการของทีดีอาร์ไอ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ถ้าเราเพิ่มศักยภาพในการตรวจเชื้อให้เป็น 50,000 ตัวอย่างต่อวัน จะทำให้เรายังคงรักษาระดับการเปิดเมืองเช่นในปัจจุบันได้ นอกจากนี้มาตรการรณรงค์ให้คนเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดก็จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นต่อไป
ประการสอง ภาครัฐต้องหมั่นปรับปรุงนโยบายเยียวยารวมทั้งกระบวนการดำเนินการเพื่อให้การเยียวยาเป็นไปอย่างทั่วถึง ไม่ตกหล่น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
ประการสาม ควรมีนโยบายที่เอื้อให้ประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ยาวนานขึ้น เช่นการปรับเวลาการทำงาน การเปลี่ยนอาชีพ เป็นต้น
ประการสี่ ควรมีการเยียวยาด้านจิตใจด้วยเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดอันเป็นผลมาจากผลกระทบโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้มากนัก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/