"...ถามว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นผู้จ่ายในการเยียวยาประชาชนกลุ่มมั่งมีในกรณีพันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน คำตอบคือประชาชนทุกกลุ่มเป็นผู้จ่ายครับ ! ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกลุ่มยากไร้และกลุ่มกลาง ๆ ที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลมายาวนานเช่นกันแต่ไม่มีเงินเหลือเก็บให้ไปได้รับการเยียวยาจากการซื้อพันธบัตรได้ !!..."
วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์พิเศษรุ่น ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ของกระทรวงการคลัง วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท เฉพาะช่วง 7 วันแรกนี้เปิดขายให้เฉพาะบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน
เป็นส่วนหนึ่งของการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
เป็นพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปเกือบ 3 เท่าโดยประมาณ
เป้าหมายนอกจากเพื่อนำเงินมาใช้ในช่วงมหาวิกฤตของประเทศตามพ.ร.ก.แยกเป็น 3 ก้อน - (1) จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท (2) เยียวยาประชาชนกลุ่มรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต 5.5 แสนล้านบาท และ (3) ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน 4 แสนล้านบาท - แล้ว จากการแถลงของรัฐมนตรีคลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีอีก 2 เป้าหมายที่ผมสรุปได้ และคิดว่าน่าสนใจมาก
หนึ่ง - “เป็นการสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย”
สอง - “เป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ”
เป็นการเยียวยาประชาขนกลุ่มมั่งมีเงินเหลือพอให้ลงทุนระยะยาวได้ !
ก็ไม่ผิดหรอกที่รัฐบาลจะต้องเยียวยาทุกกลุ่ม
ทั้งยากไร้และมั่งมี
แต่รัฐบาลต้องเตรียมตอบคำถามให้ดี ๆ นะครับในการเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มนั้น ‘สมดุล’ กันดีแล้วแน่นะ โดยต้องตอบคำถามให้ได้อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างผิวเผินเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเชื่อมโยงพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับเข้าด้วยกัน
อย่างเช่นในกรณีเยียวยากลุ่มมั่งมีกรณีพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันนี้ เมื่อนำไปประกอบกับพระราชกำหนดฉบับที่ 3 ให้แบงก์ชาติตั้งกองทุน BSF เอาเงินของประชาชนทั้งชาติ 4 แสนล้านมาซื้อหุ้นกู้ในตลาดแรก แปรหนี้ภาคเอกชนให้เป็นหนี้ภาครัฐ ซึ่งก็คือการดูแลกลุ่มทุนใหญ่และนักลงทุนกลุ่มมั่งมีมาก ๆ แล้ว มีคำถามให้รัฐบาลต้องตอบมากทีเดียวครับในประเด็น ‘สมดุล’ แห่งการช่วยเหลือนี้
ถามว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นผู้จ่ายในการเยียวยาประชาชนกลุ่มมั่งมีในกรณีพันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน
คำตอบคือประชาชนทุกกลุ่มเป็นผู้จ่ายครับ !
ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกลุ่มยากไร้และกลุ่มกลาง ๆ ที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลมายาวนานเช่นกันแต่ไม่มีเงินเหลือเก็บให้ไปได้รับการเยียวยาจากการซื้อพันธบัตรได้ !!
จ่ายทางไหน ?
ก็จ่ายทางภาษีอากรที่เสียให้รัฐบาลโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง อย่าลืมว่าคนยากไร้หรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ให้ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากการอุปโภคบริโภคกันทุกคนนะครับ
ภาษีเหล่านี้เป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปตั้งงบประมาณแผ่นดินประจำปี
ส่วนสำคัญที่บังคับไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็คืองบประมาณชำระคืนเงินกู้ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ซึ่งก็รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันดอกเบี้ยสูงนี้ด้วย เมื่อต้องจ่ายในส่วนนี้มาก ก็จะไปลดงบประมาณในส่วนลงทุนให้น้อยลง ลดลงมากไปก็ต้องหาเงินมาเติม ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทาง คือ เก็บภาษีเพิ่ม หรือกู้เงินเพิ่ม ซึ่งก็ต้องมีงบประมาณใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มในปีต่อ ๆ ไป
นี่คือวัฏจักรเกลียวสว่านที่สุดท้ายปลายสว่านก็มีลงที่ประชาชนโดยรวมทุกกลุ่มอยู่ดี
ทั้งประชาชนโดยรวมทุกกลุ่มในวันนี้ และประชาชนโดยรวมทุกกลุ่มในอนาคตต่อไปตลอด 5 - 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนคนรุ่นใหม่ในวันนี้ที่ในวัยทำงานของพวกเขานอกจากจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่แล้วยังมีภาระภาษีและภาระงบประมาณแผ่นดินด้านลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นไม่มากมาเป็นตัวสร้างความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก
ที่สุดแล้ว จะกลับมายังจุดสำคัญที่ว่า แล้วเงินกู้นอกงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วน 4 แสนล้านบาท เอาไปทำโครงการที่จะผลิดอกออกผลจริงหรือไม่ รั่วไหลหรือไม่ เป็นเบี้ยหัวแตกหรือไม่
และที่สุดของที่สุดจริง ๆ ตอบเรื่อง ‘สมดุล’ ของการช่วยเหลือคนทุกกลุ่มให้ได้
สังคมใดไร้ ‘สมดุล’ สังคมนั้นยืนได้ไม่มั่นคงครับ
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
14 พฤษภาคม 2563
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2963418937035374&id=100001018909881