"...กล่าวโดยรวม โลกยุคหลังโควิด นั้นน่าจะเป็นโลกที่ในความคิดและการปฏิบัติ “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือ เป็นโลกยุค “หลังตะวันตก” ไปในตัว เพราะขณะนี้หมดเวลาแล้วที่ฝ่าย “ตะวันตก” จะเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว สั่งสอนและให้ความรู้แต่ฝ่ายเดียว ฝ่าย”ตะวันออก” นั้นจะสำคัญขึ้น มีอะไรดีๆ มอบแก่โลก แม้แต่ในด้านอุดมคติและแนวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ด้วย พูดอีกอย่างได้ว่า โลกมีทีท่าว่าจะออกจากแนว “ตะวันตกนิยม” แท้ๆ หรือ “ตะวันตกนิยมสุดขั้ว” ไปสู่กรอบใหม่ ที่ไม่ปฏิเสธตะวันตก แต่สนใจที่จะดึงเอา เลือกเอา ซึ่งสิ่งทีดี สิ่งที่มีคุณค่า จากโลกตะวันออกมาผสมด้วย ซึ่งผมจะเรียกกรอบความคิดใหม่นี้ว่า “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “ Post-Westernism” ซึ่งขอย้ำ ณ ที่นี้ว่า ไม่ได้หมายความเราจะทิ้ง “ตะวันตก” ไปเสียหมด หากแต่จะกล้ารับเอาอะไรที่ดี ที่เหมาะสม ที่ถูก ต้องของ “ตะวันออก” เข้ามาผสมผสานด้วย จึงจะทำให้อยู่กับวิกฤตและฝ่ามันไปได้..."
ถามว่าหลังเหตุการณ์โควิด-19 โลกจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไร ? ในความเห็นผม ยุคหลังโควิด-19 (Post-Covid-19) น่าจะเป็นยุคที่โลกตะวันออกจะเริ่มก้าวข้ามตะวันตก (Post-Western) ไปด้วย ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น?
ก่อนอื่น ในทางวิทยาศาสตร์เอง คือไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา ศ นพ ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งจุฬาฯ ผู้เป็นหัวกะทิในเรื่องโรคอุบัติใหม่ สรุปไว้น่าฟังว่า “ ที่เราเอาตัวรอดมาจากโควิด-19 ได้ ก็เพราะไม่เชื่อความรู้เก่าของฝรั่ง” หากแต่เรา “มองไปที่จีนอย่างตั้งใจ จริงจัง ถอดความรู้และบทเรียนจากเขามาเป็นสำคัญ” ขอขยายความว่า วงการตะวันตกนั้นบอกเราไว้ว่า เจ้าโควิดเที่ยวนี้ ก็คงคล้ายไข้หวัด และ สอนเราว่า มันติดเชื้อจากสัตว์สู่คน” แต่จีนกลับเชื่อว่ามันร้ายแรงกว่าไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่มาก เพราะติดจากคนสู่คนได้ด้วย และมีหลักฐานชี้ว่าเจ้าเชื้อนี้ยังกลายพันธ์ได้รวดเร็ว” เสียด้วย
ผลลัพธ์ : การปฏิบัติที่ผ่านไปชี้ว่าจีนนั้นมองอะไรได้ “ใหม่กว่า” และ “ถูกต้องกว่า” หมอและอาจารย์ “ฝรั่ง” ถามว่าแล้วไทยนั้น ทำอย่างไร ? ตอบว่าแม้เราจะคล้อยไปทางจีน แต่ก็หาเดิน ”ตามจีน” ไม่ คือไม่ได้ปิดล้อมหรือกักกันอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” ศ นพ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บอกว่า การปิดเมือง ปิดประเทศ แบบไทย คือ “ปิดแบบ รั่วๆ หรือ ปิดเป็นหลัก แต่ก็ปล่อยบ้าง” นั่นคือ เราไม่ยอมปล่อยปละแบบตะวันตก ต่อสู้กับโควิด-19 ตามแบบของเรา เต็มที่ แต่ก็เดิน “สายกลาง” ซึ่งได้ผลเช่นกัน แต่ ความสำเร็จของเรานั้น เริ่มต้นที่วงการสาธารณสุขเรานั้น ไม่เป็น “ตะวันตกจ๋า” ท่านหันหน้าออกจากตำราฝรั่ง ผินหน้าไปสู่จีน รับความรู้และแง่คิดดีๆ ของจีน แต่ท่านก็ตัดสินใจทำแบบไทยๆ
ก็นี่แหละที่ชี้ว่า วงการสาธารณสุขและแพทย์ของเรา เดินหนทางที่เป็นอิสระมากขึ้น ได้ไป “ไกล” กว่าฝรั่ง “ ข้ามพ้น” ฝรั่งไป ไม่น้อย (เรียกว่าท่านได้ เป็น Post-Western แล้ว ) แน่นอน ที่ว่า”ก้าวข้าม” หรือ “ไปให้ไกลกว่า” นั้น ไม่ได้แปลว่า “คัดค้าน” หรือ “ต่อต้าน” ตะวันตก (คนที่ เป็น หรือ ที่คิด แบบ Post-Western นั้น ไม่ใช่คนที่คิดหรือทำแบบ Anti-Western) เรายอมรับของดี และเหมาะสมจากเขา แต่ ก็กล้าที่จะก้าวข้ามหรือไปให้ไกลกว่าได้ หรือ ออกนอกกรอบตะวันตกในระดับที่พอดีและไปรับเอาความคิด ประสบการณ์ และ กระบวนทัศน์ “ตะวันออก “ ทั้งตะวันออกแห่งอดีต และตะวันออกที่เป็นปัจจุบัน มาปรับใช้ มาคิด-ทำ ร่วมกับทฤษฎีและการปฏิบัติแบบตะวันตก ที่ผสมผสานกันไปก็มี ที่หนุนเสริมกันไปก็มี ที่แย้งกันไปก็ได้ ที่ต่อสู้กันไปก็ได้ แต่ล้วนคิด-ทำอย่างสร้างสรรค์
นอกจากเรื่อง “มดหมอ” แล้ว ระบาดโควิด-19 เที่ยวนี่ยังทำให้อุดมคติ หรือ แบบฉบับ ในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกตะวันตก ถูกสั่นคลอน และท้าทาย โควิด-19 นั้นท้าทายโลกาภิวัตน์มาก กล่าวได้ว่า เป็น disruption ต่อโลกาภิวัตน์เลย ก็ว่าได้ เพราะตะวันตกนั้น โดยทั่วไปเชื่อว่า ผลประโยชน์เฉพาะตน เฉพาะส่วน หรือเฉพาะชาติ (ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า private benefits ) ที่มีการแข่งขันกันด้วยแล้วไซร้ จะนำมาซึ่งเรื่องดี คือผลประโยชน์ของส่วนรวม (หรือ public interest ) โดยมี “มือ”ที่ “มองไม่เห็น” มาทำให้เกิดขึ้นเอง
แล้วความจริงล่ะ ? การระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้เห็นว่า ชาติต่างๆ (ที่ถือ เป็น private benefits ) นั้นขัดแย้งกันเหลือเกิน มีตั้งแต่โจมตีกันว่าใครเป็นคนปล่อยไวรัส หรือ อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน แม้ในต่างประเทศนั้น รัฐบาลอเมริกันก็ห้ามขายไปประเทศอื่น ให้ขายหรือส่งต่อให้บริษัทอเมริกันเท่านั้น เราซึ่งเคยสั่งซื้อวัคซีน ยา หน้ากาก ชุด PPE จากต่างประเทศอย่างสะดวก บัดนี้ ในยุคที่โควิดบุกโจมตี ของข้างต้นหาซื้อได้ยาก หรือ ซื้อไม่ได้ ก็มี ทั้งที่มีเงินทองพอซื้อ แสดงว่าระบบที่อาศัยตลาด (market) แบบตะวันตก แต่ใดมา บัดนี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ public interest ของโลกเกิดได้
ในยามที่วิกฤตใหญ่ของโลกมาเยือนนั้น ตลาด หรือ ตลาดโลก จะถูกรัฐ โดยเฉพาะมหาอำนาจแทรกแทรง เป็นเศรษฐกิจที่ถูกรัฐจัดการจนตลาดแทบหมดความหมาย อาจเรียกได้ว่าเป็น managed global capitalism หรือ เป็นระบบ “พาณิชยนิยมใหม่” (Neo-Mercantilism) ที่รัฐเข้ามาชี้นำ-จัดการเศรษฐกิจอย่างหนัก ขมักเขม้นปกป้องอุตสาหกรรมหลัก กีดกันสินค้านำเข้า เป็น “ชาตินิยม” ทางเศรษฐกิจชัดเจน ยอมรับระบบตลาดก็เพียงแต่น้อย ทั้งไม่รับอุดมคติโลกาภิวัตน์ รัฐบาลจะมุ่งสร้างความเพียงพอ ความเข้มแข็ง และขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ของเศรษฐกิจชาติเป็นสำคัญ โมเดลทางเศรษฐกิจแบบนี้ อย่าประมาท อาจกลับมาเป็นกระแสหลักได้ สืบต่อจากที่โควิดระบาดไปทั่วโลก
ฉะนั้น หลังจากนี้ รัฐที่สนใจ น่าจะมีการสร้างให้ทุนนิยมหรือระบบตลาด ของตนมีสาระ และเป้าหมาย ในทางสังคมด้วย แทนที่จะยอมให้มีแต่การแข่งขันล้วนๆ เช่น เป็นไปได้ไหมที่จะมีทุนนิยม “เพื่อคนยากจน หรือ คนด้อยโอกาส” หรือ มีทุนนิยมที่ “เอื้อหนุนสิ่งแวดล้อมที่ดี” หรือ มีกระทั่งทุนนิยม”เพื่อสุขอนามัยโลก” หรือ ทุนนิยมที่เปิดให้มี “เศรษฐกิจพอเพียง”เคียงคู่กันไป การคิดแบบนี้ทำนองนี้จะทำให้เราออกจาก กระบวนทัศน์เดิม
ในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น แนวคิดตะวันตกอย่าง “เสรีนิยม” และ ”ประชาธิปไตย”เมื่อวัดจากการสู้ภัยโควิด ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสักเท่าไร การแก้ปัญหายามวิกฤตนั้น ความจริงแล้ว ชาติที่ทำได้สำเร็จ ไม่ใช่ “แม่แบบ” ของระบอบประชาธิปไตย เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ประเทศเหล่านี้ดูแล้วล้วนแต่ “พ่ายแพ้” หรือ “บาดเจ็บอย่างหนัก” จากสงครามโควิด-19
แม้แต่ความเข้มแข็ง ชอบธรรม หรือความดีของอุดมการณ์ “เสรีนิยม” ก็ควรคิดทบทวนใหม่ แต่ไหนแต่ไรมาสำนัก “เสรีนิยม” นั้น มองว่า สังคมอันประกอบไปด้วยปัจเจกชนนั้นเป็นจุดก่อกำเนิดของรัฐ การมีรัฐนั้น จะต้องตอบสนองต่อปัจเจกชน และสิ่งที่คนตะวันตกหวงแหนที่สุด ต้องการเป็นที่สุด ก็คือ “ความเป็นส่วนตัว” และ “สิทธิ เสรีภาพ “ สำนักเสรีนิยมจึงได้สอนว่ารัฐนั้นต้องแทรกแซงหรือบงการสังคมให้น้อยที่สุด
ทว่า ในความเป็นจริง ครั้นเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลล้วนจำต้อง “lockdown” เมือง และ ประเทศ ผู้คนตะวันตกในหลายประเทศ จำนวนไม่น้อย ทนไม่ได้ ชุมนุมประท้วงการ”ปิดเมือง” และพูดถึงขนาดว่า “จะมีคนตายไปบ้างก็ไม่เป็นไร” และ “อะไรจะเกิด ก็ช่าง เศรษฐกิจจะต้องดำเนินต่อไป”
เกือบจะตรงข้าม ในด้านตะวันออกของโลก ความคิดดั้งเดิม ที่ไม่ถูกครอบงำด้วยคติเสรีนิยมเสียทั้งหมด ทำให้ผู้คนยังสนใจเพื่อนบ้าน สนใจและห่วงใยในญาติพี่น้อง เห็นใจ สงสารคนในชาติ พร้อมกันนั้น ก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้กำลังใจ ช่วยเหลือ คนอื่น พากัน “ยอมเจ็บ” ในเรื่องการงาน เรื่องอาชีพ และ ธุรกิจ ยอมสูญเสียเสรีภาพ ชั่วขณะ กักตัวเองในบ้าน ส่วนรัฐเองนั้น ก็แสดงบทบาท มีการสั่งการ บังคับ เพื่อจะปกป้องชีวิตผู้คน รัฐบาลไทยดูจะทำอะไรได้ค่อนข้างเต็มที่ ไม่ถูกพันธนาการไว้ด้วยข้ออ้าง หรือ ข้อห้าม อันสืบเนื่องมาจาก “สิทธิเสรีภาพ” มากนัก
ความจริงสังคมไทยก็สนใจและกังวลเรื่องสิทธิและเสรีภาพอยู่พอควร แต่ก็ไม่เท่ากับที่เป็นไปในตะวันตก และในการปฏิบัติ ไทยมีแนวทางของตนเองในการสู้โควิด-19 ที่ค่อนข้างจะได้ผล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แนวการเมือง และสังคมในโลกเรานี้ ก็ใช่จะมีแต่เพียง “เสรีนิยม”สุดขั้ว หรือ “ประชาธิปไตย” สุดขั้ว เท่านั้น มีความแตกต่างกันในแต่ละที่ แต่ละส่วนของโลก มีแนวทางและส่วนผสมจากหลายแหล่ง ที่ผสมผสานได้ด้วยตนเอง แต่ละที่ทำเอง ได้มากขึ้น
กล่าวโดยรวม โลกยุคหลังโควิด นั้นน่าจะเป็นโลกที่ในความคิดและการปฏิบัติ “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือ เป็นโลกยุค “หลังตะวันตก” ไปในตัว เพราะขณะนี้หมดเวลาแล้วที่ฝ่าย “ตะวันตก” จะเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว สั่งสอนและให้ความรู้แต่ฝ่ายเดียว ฝ่าย”ตะวันออก” นั้นจะสำคัญขึ้น มีอะไรดีๆ มอบแก่โลก แม้แต่ในด้านอุดมคติและแนวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ด้วย พูดอีกอย่างได้ว่า โลกมีทีท่าว่าจะออกจากแนว “ตะวันตกนิยม” แท้ๆ หรือ “ตะวันตกนิยมสุดขั้ว” ไปสู่กรอบใหม่ ที่ไม่ปฏิเสธตะวันตก แต่สนใจที่จะดึงเอา เลือกเอา ซึ่งสิ่งทีดี สิ่งที่มีคุณค่า จากโลกตะวันออกมาผสมด้วย ซึ่งผมจะเรียกกรอบความคิดใหม่นี้ว่า “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “ Post-Westernism” ซึ่งขอย้ำ ณ ที่นี้ว่า ไม่ได้หมายความเราจะทิ้ง “ตะวันตก” ไปเสียหมด หากแต่จะกล้ารับเอาอะไรที่ดี ที่เหมาะสม ที่ถูก ต้องของ “ตะวันออก” เข้ามาผสมผสานด้วย จึงจะทำให้อยู่กับวิกฤตและฝ่ามันไปได้
ตัวอย่างของความคิดแบบ “ก้าวข้ามตะวันตก “ (Post- Westernism) ที่กลั่นกรองเอาจากเหตุการณ์โควิด-19 ในไทยนั้น มีอะไรบ้าง ที่เป็นรูปธรรม ? ผมขอเสนอว่า อาจหมายถึงว่า หน่วยหลักของเศรษฐกิจไทย นั้น ควรมี “บ้านและชุมชน” อยู่ด้วย ซึ่งย่อมจะต่างไปจากความคิดตะวันตกพอควรที่เชื่อว่าหน่วยหลักเศรษฐกิจนั้น คือ โรงงาน หรือ ออฟฟิศ หรือ เมือง แต่ของไทยเรานั้น ควรจะเป็น บ้านและชุมชน ซึ่งอยู่ทั้งในเมืองและชนบท นั่นประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง คือแง่คิดตะวันออกนั้น มักจะเห็นผู้คนทั้งหลายเป็น”มนุษย์รวมหมู่” มากกว่าเป็น “มนุษย์ปัจเจก” แบบตะวันตก เรานั้นไม่ได้ชื่นชมการอยู่และการทำงานด้วยตนเองเท่านั้น แต่ชอบช่วยเหลือกัน ห่วงใยกัน สงสารกัน เราควรเห็นว่านี่เป็นของดี ของจริงของเรา และยอมรับว่า มันเป็นจุดแข็งของไทย
ผมยังคิดต่อด้วยว่า “ของดี” “ของเด่น” “เรื่องดี” “เรื่องน่าสนใจ” ของไทยนั้น นักวิชาการไทยต้องเร่งสร้างทฤษฏีขึ้นมาอธิบาย อย่าอาศัยทฤษฎีตะวันตกร่ำไป เสร็จแล้ว เผยแพร่ ส่งความรู้และทฤษฎีแบบไทย “ออกนอก” กันบ้าง เป็นเวลานานเต็มทีแล้ว ที่พวกเรายอมเป็นเพียงพวก “รับหรือนำเข้า” ความรู้ และทฤษฎีของฝรั่ง แต่หลังโควิด-19 นี้ เราควรจะมองความรู้ความคิดของไทย และตะวันออกอื่นๆ ทั้งที่มีมาแต่ดั้งเดิม ทั้งที่นำมาจากตะวันตกแล้วประยุกต์ใช้ในยุคสมัยใหม่ แต่มีข้อสรุปหรือทฤษฎีที่แตกต่างจากของ “ฝรั่ง” เจ้าของเดิมนั้น และเร่ง “ส่งออก” ความรู้ของเราไปให้โลกภายนอกได้รับรู้ด้วย
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
ที่มา : https://www.facebook.com/914519875360345/posts/2178162318996088/?d=n