"...คำศัพท์ไทยที่ใกล้เคียงกับ “new normal” คงจะเป็น “ปทัสถานใหม่” ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า “แบบแผนใหม่สำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ” แต่หากแปลตรง ๆ คงแปลว่า “ความปกติในรูปแบบใหม่”หรือที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ใช้คำว่า “ความปกติที่ไม่เคยปกติ” หมายถึงวิถีการดำรงชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่เกิดใหม่ เนื่องมาจากธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การค้นพบพลังงานไฟฟ้า การเข้าสู่ยุคโลกคอมพิวเตอร์ แต่ที่จริงสาเหตุหลักที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป หรือ new normal มากที่สุด เห็นจะเป็นกฎกติกาที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา..."
สวัสดีครับ วันอาทิตย์ถือเป็นวันพักผ่อนที่ผมมักจะตื่นสายเป็นพิเศษ แต่สัปดาห์นี้ต้องตื่นเร็วขึ้นเพื่อไปจองคิวร้านตัดผม
ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเป็นวันแรก แม้ว่าจะไปถึงร้านก่อนเวลาเปิดกว่าครึ่งชั่วโมง แต่พบว่ามีลูกค้ามานั่งคอยที่เก้าอี้หน้าร้านหลายคนแล้ว พอถึงคิวผมต้องล้างมือด้วยเจล กัลบกซึ่งสวมใส่ face shield ไม่พูดพล่ามทำเพลงจับกรรไกรตัดผมเสียงดังสวบ ๆ แล้วเอาปัตตาเลี่ยนมาไถผมตกแต่งเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการภายใน 20 นาที โดยที่ผมไม่ได้โอกาสงีบหลับเหมือนครั้งก่อน ๆ เรียกว่าต้องรีบเร่งเพราะมีลูกค้ารออยู่อีกหลายคน ผมดูตัวเองผ่านกระจกเห็นใส่หน้ากากยังอดขำไม่ได้ เพราะเป็นบรรยากาศแปลกใหม่ ในศัพท์ new normal ที่กำลังฮิต ถึงกับต้องถามว่า “เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร?” หากมนุษย์ต่างดาวได้กลับมาบนพื้นโลกคงจะประหลาดใจ เพราะเห็นพวกตัวเองมาอยู่ก่อนแล้ว
คำศัพท์ไทยที่ใกล้เคียงกับ “new normal” คงจะเป็น “ปทัสถานใหม่” ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า “แบบแผนใหม่สำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ” แต่หากแปลตรง ๆ คงแปลว่า “ความปกติในรูปแบบใหม่”หรือที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ใช้คำว่า “ความปกติที่ไม่เคยปกติ” หมายถึงวิถีการดำรงชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่เกิดใหม่ เนื่องมาจากธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การค้นพบพลังงานไฟฟ้า การเข้าสู่ยุคโลกคอมพิวเตอร์ แต่ที่จริงสาเหตุหลักที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป หรือ new normal มากที่สุด เห็นจะเป็นกฎกติกาที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา
ประเทศจีนเป็นตัวอย่างของการเกิด new normal ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเพราะเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่มีการปฏิวัติเข้าสู่ระบบสังคมนิยมในปี 1949 ภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่ชูนโยบายก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่(Great Leap Forward) รวมถึง การปฏิวัติวัฒนธรรม (culture revolution) ในรูปแบบที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้ประเทศเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่รัฐเป็นเจ้าของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในเวลานั้นคือ การเป็นลูกจ้างในโรงงาน ทุกเช้าจะต้องตื่นตามเสียงนกหวีดทำงานตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเสียงนกหวีดแจ้งให้เลิกงาน ได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารซึ่งรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ ไม่มีสิ่งใดเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หากเป็นเกษตรกร จะไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รัฐจัดหาเครื่องมือการเกษตรให้ ข้าวทุกเมล็ด
ต้องตกเป็นของรัฐ
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในเวลานั้นคือ การเป็นลูกจ้างในโรงงาน ทุกเช้าจะต้องตื่นตามเสียงนกหวีด ทำงานตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเสียงนกหวีดแจ้งให้เลิกงาน ได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารซึ่งรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ ไม่มีสิ่งใดเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หากเป็นเกษตรกร จะไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รัฐจัดหาเครื่องมือการเกษตรให้ ข้าวทุกเมล็ดต้องตกเป็นของรัฐ
แต่เหตุการณ์คืนหนึ่งในหมู่บ้านเสี่ยวกัง (Xiaogang) หมู่บ้านชนบททางตะวันออกของประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนจีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ นำไปสู่การเกิด new normal บุกเบิกหนทางให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในทุกวันนี้
เสี่ยวกังเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กไม่แตกต่างจากหมู่บ้านส่วนใหญ่ ประชากรมีอาชีพทำนา อยู่ภายใต้กฎกติกาของรัฐผลผลิตในทุก ๆ ปีไม่เคยเพียงพอแม้แต่จะประทังชีวิต ประกอบกับสภาพอากาศไม่เป็นใจ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจนคนในหมู่บ้านต้องร่อนเร่ไปตามยถากรรมเพื่อขออาหารมาเลี้ยงดูครอบครัว1/
ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาวปี 1978 ชาวนา 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกัง ได้มารวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งพื้นบ้านยังเป็นดิน กำแพงก่อด้วยดินเหนียว หลังคาปูด้วยหญ้าฟาง เย็น จิงชาง (Yen Jingchang) หนึ่งในผู้นำซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เล่าว่า ในยุคนั้นทุกอย่างเป็นทรัพย์สินของรัฐ การประชุมหมู่บ้านในคืนวันหนึ่ง ลูกบ้านถามว่า “ฟันที่อยู่ในปากผมเป็นของใคร?” ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์รีบตอบสวนกลับทันควันว่า “อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของคุณเป็นของรัฐ”
ดังนั้น รัฐจะนำผลผลิตทั้งหมดมาจัดสรรอย่างเท่าเทียม จิงชางเล่าต่อว่า จึงไม่แปลกที่บรรยากาศการทำงานในสมัยนั้นเป็นแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีแรงจูงใจพิเศษอะไรที่จะต้องออกไปทำงานก่อนที่นกหวีดส่งสัญญาณเริ่มงานจะดังขึ้น2/ การรวมตัวของชาวนา 18 คนครั้งนั้นไม่ได้ขออนุญาตจากทางการ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่พวกเขาพร้อมที่จะเสี่ยงเพราะไม่อาจทนต่อความเป็นอยู่ในแบบนี้ได้อีกต่อไป คนทั้งหมดได้ตัดสินใจที่จะทำสัญญาร่วมกันจิงชางลงมือเขียนข้อตกลงบนแผ่นกระดาษด้วยปากกาพู่กัน อาศัยแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือข้อความในสัญญาระบุว่า “เราตกลงที่จะแบ่งที่ดินของชุมชนให้แต่ละครอบครัวอย่างลับ ๆ ทุกครอบครัวจะต้องผลิตตามโควตาของรัฐบาล แต่ส่วนเกินสามารถเก็บไว้ในครัวเรือนได้ หากข้อตกลงฉบับนี้ถูกเปิดเผย และใครคนใดคนหนึ่ง
ในสัญญานี้ถูกขังคุกหรือประหารชีวิต คนอื่นในกลุ่มจะต้องดูแลบุตรของเขาจนกว่าจะอายุ 18 ปี”1/ นี่คือข้อตกลงที่ขัดกับหลักการที่รัฐบาลได้กำหนดไว้อย่างสิ้นเชิง เสี่ยงต่อการถูกทำโทษถึงขั้นประหารชีวิต หากถูกจับได้ จิงชางได้เก็บสัญญานี้ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ใต้หลังคาบ้านของเขา และแล้ว new normal ได้เริ่มต้นขึ้นในหมู่บ้าน ทุกคนรีบตื่นแต่เช้าไปทำนาในบริเวณพื้นที่ที่ตนเองได้รับการจัดสรรตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น มีการแข่งขันกันอย่างเงียบ ๆ เปรียบเทียบกันว่าใครสามารถปลูกข้าวได้มากกว่ากัน ปรากฏว่า ผลผลิตในปีนั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก
ได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก
ผลผลิตที่สูงขึ้นดังกระฉ่อนไปทั้งจังหวัด แต่ไม่เล็ดลอดสายตาของทางการ ชาวนาทั้ง 18 คนถูกสอบสวนและสารภาพว่าได้ทำข้อตกลงดังกล่าวจริง แต่เหมือนฟ้าประทาน พวกเขารอดชีวิตมาได้เพราะเกิดการเปลี่ยนผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้มีนโยบายเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากระบบรวมศูนย์มาสู่ระบบเปิดเสรีภายใต้นโยบายเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมใหม่” เติ้ง เสี่ยวผิง ได้นำรูปแบบการจัดสรรและการทำงานของชาวนาในหมู่บ้านเสี่ยวกังมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ ท่านประธานเติ้งกล่าวว่า “ไม่สำคัญ ว่าแมวดำหรือแมวขาว
หากจับหนูได้เป็นพอ” (It doesn’t matter if the cat is black or white, as long as it catches mice.)
นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแบบก้าวกระโดด ประชากรกว่า 500 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ปัจจุบันสัญญาชาวนา 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกังถูกจัดเก็บไว้ในพิพิพิธภัณฑ์ในเมือง พร้อมกับมีการนำเรื่องราวบรรจุไว้ในตำราเรียนสำหรับเด็กชาวจีน New Normal ตามรูปแบบเสรีนิยมใหม่ ได้สร้างวิถีชีวิต รูปแบบ และวัฒนธรรมใหม่ให้กับสังคมจีน ขณะเดียวกันก็เกิดความนิยมชมชอบและหลงใหลใน “วัตถุนิยม” เกิดการชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัวเราและของเรามากขึ้น Weekly Mail ฉบับหน้า ผมจะพาพวกเราไปเยี่ยมหมู่บ้านเสี่ยวกังเพื่อดูว่า วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงเวลา 42 ปีที่ผ่านมา
รณดล นุ่มนนท์
5 พฤษภาคม 2563
แหล่งที่มา:
1/ The Momentum. 2020. สัญญาลับชาวนา จุดเปลี่ยนประเทศจีนสู่ยุคทุนนิยม. [online] Available at:
<https://themomentum.co/china-rural-reform/> [Accessed 3 May 2020].
2/ https://www.npr.org/sections/money/2012/01/20/145360447/the-secret-document-that-transformed-china