"...ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศรับมือกับ COVID-19 คนในพื้นที่เหล่านั้นยังต้องทนทุกข์กับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในโลก แม้สถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อฝนมา แต่อีกไม่กี่เดือนความเลวร้ายก็จะกลับมาอีก จะต้องแก้ปัญหาที่สมุฏฐานแบบคิดนอกกรอบ กล้าหาญ เช่น กำหนดภายใน 10 ปีรถยนต์บนถนนต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หรือการกำหนดนโยบายปลูกพืชอุตสาหกรรมบางชนิดใหม่ทั้งระบบ..."
จนถึงวันที่ COVID-19 พาเพื่อน The Great Depression มาเยือน ผมไม่คิดอีกต่อไปว่าการปฏิรูปตามแผนปฏิรูปประเทศแบบเดิมประเภท 11 ด้านมีรวมกันเป็นร้อย ๆ แผนและกำหนดให้ทำพร้อมกันไปจะประสบความสำเร็จแม้เพียงแค่เบื้องต้นภายในปี 2566 อันเป็นเวลาครบ 5 ปีที่แผนการปฏิรูปประเทศประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกประเด็น
ออกมาทำโดยเร่งด่วน
ภายในเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่เต็ม 3 ปีจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศเห็นผล
การเลือก Big Rock ที่รัฐบาลชุดนี้มีดำริไว้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2562 จึงควรเป็นเรื่องใหญ่ประเภท ‘หัวกระสุน’ หรือ ‘หัวรถจักร’ ที่เมื่อเดินหน้าไปแล้วจะเป็นการลากจูงขบวนรถโดยสารการปฏิรูปประเด็นอื่นตาม ๆ ไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ข้อเสนอนี้ตั้งใจจะใช้นำเสนอในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อถึงวาระคณะรัฐมนตรีรายงานผลการปฏิรูปประเทศรอบ 3 เดือนและรอบ 1 ปี แต่เมื่อ COVID-19 แตะปุ่ม ff- fast forward ให้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงเร็วจี๋เช่นนี้ จะมัวแต่รอวันเวลานั้นอีกเดือนเศษ ๆ หาได้ไม่ ขอนำเสนอต่อสาธารณะ ณ ที่นี้ก่อน
การปฏิรูปใหญ่ที่จะเป็น ‘หัวรถจักร’ ได้ในมุมมองล่าสุดของผมมีดังนี้...
1. กลไกพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน
2. กลไกพิเศษเพื่อยกเลิกกฎมหมายที่ล้าสมัยหมดความจำเป็นและสร้างภาระแก่การใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพของประชาชน (Regulatory Guillotine)
3. ปฏิรูปตำรวจ
4. ปฏิรูปการศึกษา
5. การแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าและมลพิษ PM 2.5
ประเด็นที่ 1 เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดดังที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว
ประเด็นที่ 2 หลักการของ Regulatory Guillotine คือกลไกและกระบวนการพิจารณากฎหมายจำนวนมากในครั้งเดียว เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย หรือปรับแก้ให้สะดวกต่อการปฏิบัติตาม โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กฎหมายใดที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนให้ยกเลิกพร้อมกันทันที ส่วนกฎหมายที่จำเป็นแต่ไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปจะถูกปรับทอนความยุ่งยากซับซ้อนลง วิธีการนี้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในสวีเดน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม เป็นอาทิ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ กฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนใหญ่ไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระในการบังคับใช้ต่อภาครัฐเองและสร้างภาระต่อประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการในการปฏิบัติตาม การทบทวนและปรับปรุงโดยกลไกและกระบวนการพิเศษจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน และจะปล่อยให้อยู่ในการตัดสินใจของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้
รัฐบาลชุดที่แล้วตั้งหลักเรื่อง Regulatory Guillotine อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2561 และเริ่มงานบางด้านจนมีสัมฤทธิผลเห็นชัดทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก (Ease of doing business) ของประเทศไทยดีขึ้น 6 อันดับในปี 2562 แต่หลังจากนั้นดูเหมือนงานในภาพรวมสะดุดหยุดลง
ประเด็นที่ 3 งานตำรวจคือข้อโซ่แรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด หากยังมีปัญหาจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ส่งผลให้ความขัดแย้งที่เกิดจากความรู้สึกและความเชื่อที่ว่ากลุ่มประชาชน 40 % ล่างได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบานปลาย
ประเด็นที่ 4 มองในระยะยาวแล้วคือรากฐานของปัญหาทั้งมวล ก่อนหน้านี้อันดับการศึกษาของประเทศไทยก็ตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากแล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์ COVID-19 ที่จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ค่อนข้างมาก หากไม่เร่งปฏิรูปโดยด่วน จะยิ่งถูกทิ้งห่าง
ประเด็นที่ 5 เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเกิดขึ้นทุกปี รุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศรับมือกับ COVID-19 คนในพื้นที่เหล่านั้นยังต้องทนทุกข์กับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในโลก แม้สถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อฝนมา แต่อีกไม่กี่เดือนความเลวร้ายก็จะกลับมาอีก จะต้องแก้ปัญหาที่สมุฏฐานแบบคิดนอกกรอบ กล้าหาญ เช่น กำหนดภายใน 10 ปีรถยนต์บนถนนต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หรือการกำหนดนโยบายปลูกพืชอุตสาหกรรมบางชนิดใหม่ทั้งระบบ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ 1, 3 และ 4 สามารถทำโดยรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงให้เป็นการเปิดประเด็นทางการเมืองใหม่ ๆ ขึ้นมาคู่ขนานและแซงหน้าประเด็นทางการเมืองเดิม ๆ ได้อีกต่างหาก
ถ้าร่างพระราชบัญญัติเสร็จสมบูรณ์สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 2-3 ปี ก็ถือว่าหัวรถจักรเดินหน้าออกจากสถานี ลากจูงการปฏิรูปด้านอื่นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ส่วนประเด็นที่ 2 และ 5 ในเบื้องต้นสามารถทำได้ทันทีโดยมาตรการทางการบริหาร
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
4 พฤษภาคม 2563
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2939833952727206&id=100001018909881