"...ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ การที่คนข้างบนไม่รู้ความจริงของสังคมข้างล่าง หรือความจริงของแผ่นดินไทย หรือที่พระเจ้าอยู่หัวร.9 ทรงเรียกว่า “ภูมิสังคม” หรือ สังคมที่ติดแผ่นดิน เพราะการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงของประเทศเป็นตัวตั้ง เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ เมื่อไม่ถูกต้องประเทศก็วิกฤตและออกจากวิกฤตไม่ได้..."
ผมสนับสนุนบทบาทของภาคธุรกิจ เพราะประเด็นใหญ่ของการแก้ปัญหาเชิงวิกฤติชาติ คือการจัดการที่ดี ภูมิปัญญาในการจัดการเกือบจะหายไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง เพราะระบบการศึกษาที่ผิด ที่ดำเนินมา 100 ปีเศษ เหลือภาคธุรกิจที่มีผู้นำเก่งๆ ที่มีวิสัยทัศน์และสมรรถนะในการจัดการ ฉะนั้นภาคธุรกิจจึงควรเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศไทย
ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นภูมิปัญญาติดแผ่นดิน
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ การที่คนข้างบนไม่รู้ความจริงของสังคมข้างล่าง หรือความจริงของแผ่นดินไทย หรือที่พระเจ้าอยู่หัวร.9 ทรงเรียกว่า “ภูมิสังคม” หรือ สังคมที่ติดแผ่นดิน เพราะการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงของประเทศเป็นตัวตั้ง เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ เมื่อไม่ถูกต้องประเทศก็วิกฤตและออกจากวิกฤตไม่ได้
ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นคนฉลาดที่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย
คนข้างล่างเขามีประสบการณ์จริงจากการลองผิดลองถูก ไม่ใช่เป็นแต่ความคิด ทฤษฎี การคาดเดา และวาทกรรมเหมือนคนข้างบน แต่เขารู้ว่าอะไรได้ผลไม่ได้ผล เขารู้ว่าการแก้ความยากจนนั้นทำอย่างไร แต่คนข้างบนไม่เคยเรียนรู้จากเขา เพราะคนข้างบนดูถูกคนข้างล่าง จึงแก้ความยากจนไม่ได้ หรือทำให้ยากจนและเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะ “อวิชา”
ปราชญ์ชาวบ้านเขารู้จากประสบการณ์ว่า ถ้ามีที่ดินทำกินและมีสระน้ำประจำครอบครัวที่เก็บน้ำได้ทั้งปี จะหายจน หลุดหนี้หลุดสิน ปราชญ์ชาวบ้านฝรั่งอย่างนายมาร์ติน วีลเลอร์ ที่มาอยู่หมู่บ้านคำปลาหลาย พ่อบุญทันก็รู้ ใครๆ ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายคนก็รู้ การมีสระน้ำประจำครอบครัวที่เก็บน้ำได้ทั้งปี ทำหน้าที่เชื่อมโยงหลายอย่าง เช่น ทำให้เลี้ยงปลาได้ ปลูกผักสวนครัวได้นานาชนิดเหลือกินขายได้ ปลูกผลไม้ ปลูกไม้ยืนต้น ทำให้ความชุ่มชื้นกลับคืนมา เป็นแหล่งอาหารและเชื้อเพลิง สามารถเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ขี้ไก่เป็นอาหารปลา สระน้ำมีปลาเป็นร้อยเป็นพันตัว กินเองอย่างมากก็คนละตัวสองตัว สามารถขายปลาได้หลุดหนี้หลุดสิน การมีสระน้ำประจำครอบครัวกันทุกๆ บ้าน ยังช่วยให้เก็บน้ำได้ปริมาณมาก ป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน และป้องกันความแห้งแล้งในฤดูแล้ง ดีกว่าและถูกกว่าการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ นี้ที่เรียกว่าการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก การมีสระน้ำประจำครอบครัวจึงทำให้ธรรมชาติกลับคืนสู่สมดุลเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตที่ดีของมนุษย์
การติดกับความคิด ทำให้คนข้างบนไม่เห็นความจริงเหล่านี้ แม้พระเจ้าอยู่หัวร.9 ซึ่งทรงมีอัจฉริยภาพพิเศษและเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย จะทรงพร่ำบอกความจริงในรูปต่างๆ คนข้างบนก็ออกจากการติดกับความคิดไม่ได้ จนประเทศวิกฤตและโควิดมาเยือน
สภาวะจนตรอก จะบังคับให้กลับหลังหัน เพราะไปต่อไปทางเดินไม่ได้ ดรอกนั้นมันตันเสียแล้ว
ฉะนั้นต้องถือโอกาสวิกฤตโควิดขณะนี้บุกตะลุย จัดสรรที่ทำกินให้คนจน และระดมขุดสระน้ำประจำครอบครัวทั่วประเทศ
ขุดฟรี หรือจ้างขุดแล้วแต่กรณี ค่าจ้างขุดประมาณสระละ 1,500 – 3,000 บาท ถ้าก้นสระเป็นดินทรายเก็บน้ำไม่อยู่ให้เอายางพารามาทาฉาบ รีบทำขณะนี้ พอฤดูฝนฝนมาก็จะเริ่มมีกินมีใช้
การแจกเงินจะหยุดได้ภายใน 3 เดือน ขณะที่ยังอดอยากขาดแคลน
เมื่อชาวบ้านมีที่ทำกินและมีสระน้ำประจำครอบครัว ก็จะมีภูมิคุ้มกัน คือ มีบ้านอยู่ มีอาหารกิน มีครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง (บอคช.) ถึงอะไรๆ จะพลิกผันวิกฤติอย่างไรๆ คนไทยก็จะไม่เป็นไร เพราะมีภูมิคุ้มกัน มีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังที่พระเจ้าอยู่หัวร.9ตรัสว่า
“ขอให้เราพออยู่พอกิน และมีไมตรีจิตต่อกัน”
วิสัยทัศน์ของพระเจ้าอยู่หัวร.9 กับของปราชญ์ชาวบ้านตรงกัน และควรเป็นที่ปรึกษาที่ดีของประเทศไทย
ภาพประกอบ : เวทีทัศน์ ใช้วิจัยขับเคลื่อน ‘แม่กำปอง’ สู่ท่องเที่ยวชุมชน บอกเล่าตามแบบฉบับ ‘ป้อหลวงธีรเมศร์