"...ผลแสดงจำนวนการใช้ถนนลดลง ทันทีที่มีคำสั่งห้ามผู้คนออกจากเคหะสถาน มีทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กับผลพลอยได้ว่าจำนวนรถชนกันบนถนนลดลง คนเสียชีวิต บาดเจ็บพิการจึงน้อยลงไปด้วย ปรากฏการณ์นี้เป็นปัจจัยแทรกเข้ามาในวงความปลอดภัยทางถนนอย่างชัดเจน แต่เรื่องความปลอดภัยทางถนนก็ยังถูกมองข้าม เพราะในแวดวงระบบขนส่งเองยังมองเป็นเรื่องแคบๆ ไปสนใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลภาวะทางเสียง ลดอากาศพิษ หรือค่า PM 2.5 ทั้งที่น่าจะเป็นโอกาสในการปรับระบบการขนส่ง เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกันหลังโรคระบาดจบลง โดยเฉพาะสร้างทางเลือกการเดินทางให้กับอนาคต อย่างระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ การขนส่งทางน้ำ และระบบขนส่งมวลชนด้วยรถโดยสารสาธารณะที่รวดเร็ว..."
จริงช่วงวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ของทุกปี เป็นเวลาแห่งความกังวล เวลาที่คนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนต้องลุ้นระทึกถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตบนถนน ทั้งช่วงก่อนหน้าและหลังสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเดินทางไปกลับภูมิลำเนารวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละครอบครัว ยกเว้นปีนี้ที่คนทั้งโลก นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ และคนไทยด้วยกันเอง ต้องทุลักทุเลอยู่กับการจัดการป้องกันตัวเองจากโรคระบาดไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 แล้วก็ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทุกคนต้อง “อยู่บ้านเพื่อชาติ” ปรับตัวกับการทำงานแบบออนไลน์
จากการหาข้อมูลออนไลน์ทำให้ได้เจอกับ blogger ดังๆ ที่มีความรู้หลายคน ล่าสุดเมื่อค้นหาในกูเกิ้ลถึงเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับ ความปลอดภัยทางถนน” ปรากฏบทความของ blogger ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกท่านหนึ่ง เด้งขึ้นมาเป็นอันดับแรกและก็ดึงความสนใจดีทีเดียว (อ้างอิง https://blogs.worldbank.org/transport/can-covid-19-teach-us-something-road-safety-epidemic )
Dr.Soames Job, BA (Honours 1), PhD, GAICD, FACRS ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนของธนาคารโลก เขียน blog ไว้เมื่อ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นประเด็นถามว่า เจ้าโควิด-19 สอนอะไรเราบ้างสำหรับการแพร่ระบาดด้านความปลอดภัยทางถนน เขาบอกว่า ขณะที่ทุกประเทศกำลังดิ้นรนหาทางออกกับโควิด-19 กลับเกิดแนวคิดสำคัญยิ่งกับวิกฤติสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ค้างคามาเป็นทศวรรษ โดยยกความสำคัญกับโรคระบาดและการเสียชีวิตบนถนนไว้เกือบจะพอๆ กัน ทั้งในด้านความโศกสลด การสูญเสีย ความทรมาน การเสียชีวิต ผลกระทบวิบากทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประเทศรายได้สูง-ปานกลาง-ต่ำ ต่างเข้าสู่การระบาดของโควิด-19 กันถ้วนหน้า ณ วันนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 1.2 แสนคน ติดเชื้อทะลุ 2 ล้านคน ขณะที่ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนน 1.35 ล้านคน บาดเจ็บทั่วโลก 50 ล้านคน
ในบล็อกเขียนถึงความน่ากลัวจากการเสียชีวิตเพราะเชื้อโรค เทียบกับการเสียชีวิตและการบาดเจ็บรุนแรงจากการชน ไว้อย่างน่าสนใจ ถึง 6 ข้อด้วยกัน ซึ่งอาจนำมาเป็นบทเรียนการต่อสู้ของชีวิตผู้คน และจัดการทุกข์ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
ข้อ (1) ผลแสดงจำนวนการใช้ถนนลดลง ทันทีที่มีคำสั่งห้ามผู้คนออกจากเคหะสถาน มีทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กับผลพลอยได้ว่าจำนวนรถชนกันบนถนนลดลง คนเสียชีวิต บาดเจ็บพิการจึงน้อยลงไปด้วย ปรากฏการณ์นี้เป็นปัจจัยแทรกเข้ามาในวงความปลอดภัยทางถนนอย่างชัดเจน แต่เรื่องความปลอดภัยทางถนนก็ยังถูกมองข้าม เพราะในแวดวงระบบขนส่งเองยังมองเป็นเรื่องแคบๆ ไปสนใจเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลภาวะทางเสียง ลดอากาศพิษ หรือค่า PM 2.5 ทั้งที่น่าจะเป็นโอกาสในการปรับระบบการขนส่ง เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกันหลังโรคระบาดจบลง โดยเฉพาะสร้างทางเลือกการเดินทางให้กับอนาคต อย่างระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ การขนส่งทางน้ำ และระบบขนส่งมวลชนด้วยรถโดยสารสาธารณะที่รวดเร็ว
ข้อ (2) กลับมาคิดถึงวิถีชีวิตการทำงาน การเดินทาง และสาธารณูปโภค หลายหน้าที่การงานไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ แต่กระนั้นก็ตามได้มีตัวอย่างให้เห็นไม่ว่า จะเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ กับอีกหลายงานที่ทำส่งกันทางออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพมากกว่าการเดินทางไปทำงานแบบเดิมๆ เสียอีก เป็นไปได้ว่าเราอาจได้ปรับการพูดคุยกันในวงประชุมจาก 5 วันต่อสัปดาห์ เหลือ 2 วันต่อสัปดาห์ โดยประสิทธิภาพของงานยังสำเร็จได้เหมือนเดิม จึงเป็นโอกาสกลับมาคิดรูปแบบเฉพาะของการทำงานผ่านระบบออนไลน์ กระทั่งรูปแบบเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์พื้นที่ทำงาน การศึกษาเรียนรู้ การขับเคลื่อนระบบการค้าปลีก ซึ่งกระทบต่อระบบขนส่งอย่างแน่นอน หากรูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป การใช้ขนส่งสาธารณะลดลง แต่ขณะเดียวกันหากไม่มีนโยบายเข้ามาแทรกแซง คนจะหันไปใช้พาหนะส่วนตัวกันมากขึ้น เพราะรถไม่ติด ถนนโล่ง ดังนั้น อาจต้องมีการออกแบบถนนใหม่ให้เล็กลง เหมาะกับยวดยานขนาดเล็กเพื่อความปลอดภัย
ข้อ (3) ให้ธำรงไว้ซึ่งคุณค่า ความล้มเหลวจากงานด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนมีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากมาย ไม่ได้หมายความว่าผู้เกี่ยวข้องลดความพยายามการทำงานลง ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักหรือกระทั่งวิกฤติอื่นๆ แต่เรายังต้องรักษาคุณค่าของชีวิตมนุษย์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียจากการชนบนถนนหรือโรคภัย ต้องถือว่า “การสูญเสียชีวิตหนึ่งชีวิตคือความสูญเสียที่มากล้น”
ข้อ (4) ร่วมมือสร้างระบบรับผิดชอบที่เชื่อถือได้แทนการโน้มน้าวเป็นรายบุคคล เรามักถูกป้อนข้อมูลว่าการเสียชีวิตบนถนน หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตด้วยโควิด-19 เป็นเหตุผลความรับผิดชอบระดับปัจเจกบุคคล มีหลายครั้งที่นักการเมืองโทษว่าเหตุที่เกิดขึ้น มาจากความไร้สำนึกผิดชอบของบุคคลซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่าลืมว่าพวกเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ บางครั้งอาจคาดการณ์ความเสี่ยงผิดมีการทำพลาด ซึ่งแตกต่างไปตามเหตุการณ์หรือการตัดสินใจเฉพาะหน้า กรณีโควิด-19 ก็เช่นกัน ด้วยความที่มนุษย์เราอยู่เป็นสังคม เราอาจจะเผลอไม่ได้รักษาระยะห่าง หรือไปเยี่ยมเพื่อนที่มีเชื้อตัวนี้อยู่เพียงครั้งเดียว ก็อาจได้รับเชื้อนี้เข้ามา เมื่อเราพลาด นักการเมืองต้องเป็นคนเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ลดความสูญเสียทั้งต่อทรัพย์สินและชีวิต ในด้านอุบัติเหตุทำได้โดยเข้ามาช่วยหาแบริเออร์ป้องกันความรุนแรงจากการชน เข้ามาดูเรื่องยานพาหนะที่ปลอดภัย และกำหนดความเร็วที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเทียบเท่ากับตกตึก 19 ชั้น เอาเข้าจริง แค่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็แทบไม่รอดแล้ว ซึ่งการทำเช่นนี้คล้ายกับการออกนโยบายประกาศล็อกดาวน์เมือง เพื่อป้องกันการและตัดตอนการแพร่ระบาดโควิด-19 นั่นเอง
ข้อ (5) ยกให้เป็นมิติสำคัญทางการเมือง เราได้เรียนรู้ถึงประสิทธิภาพการกดดันของชุมชน กับการผลักดันเชิงเศรษฐกิจ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องที่ภาคการเมืองไม่ค่อยให้ความสำคัญ การหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน เป็นประเด็นชายขอบที่ไม่มีใครสนใจ เราจึงจำเป็นต้องรวมกันผลักดันนักการเมือง ให้รับผิดชอบความตายของเหยื่อบนถนน แทนที่จะมากล่าวโทษปัจเจกบุคคล นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ค่าใช้จ่ายต่อโรคระบาดและมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการปิดเมืองที่สูงมาก ทำให้เกิดเป็นกระแสการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญและแรงหนุนของโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลยกับค่าใช้จ่ายมูลค่าการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จากการเพิ่มความเร็วในการขับรถ
ข้อ (6) พัฒนาการป้องปรามพวกชอบแหกกฎให้เข้มงวดขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การตอบสนองต่อโควิด-19 เราสามารถเรียนรู้แล้วประยุกต์ใช้กับความปลอดภัยทางถนนได้ ภายใต้การบริหารจัดการประกาศ lockdown ที่เกิดมากขึ้น ช่วยลดการหลบหลีกการตรวจวัดผู้ติดเชื้อ และขยายวงไปสู่ระงับการรวมตัวคนในสังคม ผ่านการประกาศต่อสาธารณะอย่างทั่วถึงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้สามารถเอาไปปรับใช้กับการรณรงค์ลดการชนบนถนนได้ ผลงานวิจัยด้านการสื่อสารและบังคับใช้กฎหมายชี้ชัดว่า การทำแบบนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรม เพราะได้แรงกดดันทางสังคมมาช่วย เท่ากับมาส่งเสริมบรรทัดฐานทางสังคม หากเราบอกว่าคนที่ฝ่าฝืนการล็อกดาวน์ คือผู้ที่ทำให้เกิดเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ก็ไม่ต่างกับ กับการขับรถเร็วที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนใช้รถใช้ถนน
ข้อเขียนทั้ง 6 จาก blogger ของธนาคารโลกที่ให้ไว้ ผมคิดว่า ใต้วิกฤติกลับผุดโอกาสและอากาศให้กับงานด้านความปลอดภัยทางถนน ได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กันแล้ว ที่เห็นชัดๆ คือ เมื่อเราล็อกดาวน์คนเมา กำกับไม่ให้ขายสุราในช่วงสงกรานต์ 10-20 เมษายน จำนวนการเกิดเหตุกับผู้เสียชีวิตเพราะเมาแล้วขับ ลดไปเกือบถึง 100% ชัดเจนว่าเมื่อเราเอาคนเสี่ยงออกจากถนนได้ แม้จะขัดใจหรืออึดอัดบ้าง แต่ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยในช่วงสงกรานต์ดีขึ้น
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์
ผู้จัดการโครงการแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก
และรัฐบาลไทยด้านความปลอดภัยทางถนน