"...ระบบเศรษฐกิจองค์ 3 ที่บูรณาการกัน เป็นระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่ยุคหลังโควิด 19 เป็นระบบเศรษฐกิจองค์รวม เมื่อมีความเป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ต่างๆ เหมือนความเป็นคน ซึ่งเป็นองค์รวมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์เหนือส่วนย่อยที่มาประกอบกันเป็นคน..."
หมายเหตุ-ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เขียนบทความเรื่อง ‘ระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการฟื้นฟูประเทศสู่ยุคหลังโควิด-19’ ประเทศไทยและโลกวิกฤตเพราะระบบเศรษฐกิจที่ผิด
1.ระบบเศรษฐกิจที่ผิดเกิดจากฐานความคิดที่ผิด
ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แม้จะคิดและพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งระดับโลก และหลายคนได้รับรางวัลโนเบล อันทำให้คนเชื่อกันไปทั้งโลก แต่ผลของมันโดยเฉพาะใน 30 ปี ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่ามีปัญหาที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสุดๆ แบบที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ 99 : 1 คือ คน 1 เปอร์เซนต์ เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่อีก 99 เปอร์เซนต์ ไม่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมขณะนี้มีผลตามมาอย่างมหาศาล เป็นวิกฤตการณ์ปัจจุบันหรือวิกฤตการณ์โลก ที่ไม่สามารถก้าวข้ามได้ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ตามคำพูดที่ว่า "คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการที่ก่อให้เกิดปัญหานั้น"
ฐานการคิดที่ผิดคือ การคิดแบบกลไกและแยกส่วน ไม่ใช่การคิดแบบองค์รวม
องค์รวมคือโลกทั้งโลกเป็นองค์รวมเดียวกัน
เมื่อเป็นองค์รวมเดียวกัน แล้วคิดว่าระบบเศรษฐกิจคือการแข่งขันเสรีจะได้หรือ
เหมือนร่างกายทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน จะปล่อยให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดเลือดไปเลี้ยงไม่ได้ เพราะจะกระทบองค์รวมทั้งหมด
เพราะฉะนั้นระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นเสมือนระบบสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายอย่างทั่วถึงเป็นธรรม (ถูกต้อง)
ไม่ใช่ทุนนิยมเสรีอย่างที่คิดแบบกลไก และแยกส่วน
การคิดและทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ
2.เมื่อมีการเห็นอย่างถูกต้องว่าระบบเศรษฐกิจคืออะไร ก็สามารถออกแบบ (design)ได้
ทิฐิ แปลว่า การเห็น การเห็นอย่างถูกต้องเรียกว่า สัมมาทิฐิ ถ้าตรงข้ามก็เป็นมิจฉาทิฐิ สัมมาทิฐิ กำหนดสามารถพัฒนา มิจฉาทิฐิกำหนดมิจฉาพัฒนา เมื่อเราเห็นว่าประเทศทั้งหมดเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน และระบบเศรษฐกิจเป็นเสมือนระบบสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายอย่างทั่วถึงทันกาล จะให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดเลือดไม่ได้ เราก็สามารถออกแบบระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่ได้ เป็นระบบเศรษฐกิจสัมมาพัฒนา ที่ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
3.การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นวัตถุประสงค์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ ไม่ใช่จีดีพี
จีดีพีเป็นเพียงเครื่องวัดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ เพราะจีดีพีสูงไม่ได้หมายถึงความทั่วถึงเป็นธรรม การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่หมายถึงทั่วถึงเป็นธรรม จึงเป็นวัตถุประสงค์ของระบบสัมมนาเศรษฐกิจ
สัมมาชีพ หมายถึง อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้
(เบียดเบียนตนเอง หมายถึง เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง และสุขภาวะของครอบครัว)
สัมมาชีพ จึงเป็นดัชนีร่วมที่รวมเรื่อง เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และศีลธรรม เข้ามาด้วยกัน จึงเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีมาก เมื่อมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จึงทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขและศีลธรรมดี เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นที่ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 50 ปีก่อน และมีการพูดถึงในพระสูตรที่ชื่อว่า กฏทันตสูตร ที่บรรยายภาพสังคมที่มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ไว้อย่างวิจิตร ความว่า
“โภคทรัพย์จะเกิดขึ้นในท้องพระคลัง = เศรษฐกิจดี
ราษฎรจะไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ = ศีลธรรมดี
จะยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก” = ครอบครัวอบอุ่น
นั่นคือภาพของความร่มเย็นเป็นสุข ที่จะเกิดขึ้นจากการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เพราะฉะนั้นการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จึงเป็นวัตถุประสงค์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ ไม่ใช้จีดีพี จะต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์นี้ ที่ไม่ใช่การแข่งขันเสรีอย่างระบบเศรษฐกิจเก่า
4.ระบบเศรษฐกิจหลายเส้นทาง (Multiple pathways)
อะไรที่มีเส้นทางเดียว ถ้าเส้นทางนั้นตัน จะลำบากมากเกิดการจนตรอกเพราะไม่มีทางไป ระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบันเป็นระบบเส้นทางเดียว เวลามันตกต่ำแต่ละครั้งมีคนฆ่าตัวตายกันมาก เพราะจนตรอก ประเทศไทยก็มี ดังที่พ่อแม่ลูกพากันตายทั้งครอบครัว เด็กๆไม่มีโอกาสมีชีวิตต่อไปทั้งๆ ที่ไม่มีความผิดอะไรเลย แต่เป็นความผิดของระบบเศรษฐกิจที่โหดร้ายต่อชีวิต เพราะไม่ได้เอาชีวิตของคนทั้งหมดเป็นตัวตั้ง
ระบบร่างกายซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก ไม่มีวันใช้เส้นทางเดียวเพราะถ้าอุดตันมันจะตาย อย่างระบบสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายทุกส่วน ทุกส่วนของร่างกายจะต้องมีหลอดโลหิตหลายเส้นทางมาหล่อเลี้ยง ถ้าเส้นทางหนึ่งตัน เลือดยังมาหล่อเลี้ยงได้โดยเส้นทางอื่น เพราะจะปล่อยให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดเลือดไม่ได้ เพราะทุกส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมเดียวกัน
ฉะนั้น ระบบเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเป็นเศรษฐกิจองค์รวม จะต้องมีหลายเส้นทาง เพื่อการันตีว่าทุกส่วนของสังคมมีเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วถึงทันกาล
5.ระบบเศรษฐกิจ 3 เส้นทางที่บูรณาการกัน
ในที่นี้จะเสนอระบบเศรษฐกิจ 3 เส้นทางที่บูรณาการกัน บูรณาการกันเพื่อสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกในเมือง
ระบบเศรษฐกิจองค์ 3 ประกอบด้วย
(1) ระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกัน (บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9)
(2) ระบบเศรษฐกิจสังคมที่ทั่วถึงเป็นทำแบบ ยูนุส
(3) ระบบเศรษฐกิจมหภาคที่มีจิตสำนึกองค์รวม
ทั้ง 3 เปรียบเสมือนห่วง 3 ห่วง ที่คล้องกันตามรูป
และขยายความดังต่อไปนี้
(1) ระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกัน หมายถึงว่า ไม่ว่าจะเกิดเภทภัยใดๆ จากภายใน หรือภายนอกก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดจะมีภูมิคุ้มกันจากเภทภัยนั้นๆ โดย
“มีบ้านอยู่ มีอาหารกินอย่างพอเพียง มีครอบครัวอบอุ่น มีชุมชนเข้มแข็ง”
= บอคช. บ้าน อาหาร ครอบครัว ชุมชน
บอคช. เป็นความต้องการพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและความสุข
ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานต้องมีภูมิคุ้มกันที่อำนวยบอคช.ให้ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าโลกจะวิกฤติหรือผกผันอย่างใดๆ และระบบอย่างนี้จัดให้มีขึ้นได้ โดยให้ทุกชุมชนมีที่ดินอย่างพอเพียงที่สมาชิกทุกครอบครัวจะมีบ้านอยู่ และชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เหลือกิน โดยผลิตเพื่อทุกครอบครัวในชุมชนบริโภคอย่างพอเพียง เหลือขายจะทำอะไรอื่นๆ เพิ่มเติมก็ได้ แต่ครอบครัวต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น และชุมชนเข้มแข็ง นี้จะตรงกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของร.๙ ซึ่งต้องทำให้เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดจริงทั่วประเทศ
ระบบเศรษฐกิจนี้อาจเรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจชุมชนบนฐานการเกษตรพลังบวก Farm-based Community Economy Plus”
พลังบวกหมายถึงทำอะไรอื่นๆ เพิ่มเติมได้เต็มที่บนฐานที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงจะสุ่มเสี่ยงไปบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะมีภูมิคุ้มกันเป็นฐาน
ระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกันจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศเข้มแข็ง เป็นปัจจัยเอื้อให้เศรษฐกิจมหภาคแข็งแรง
(2) ระบบเศรษฐกิจสังคมที่ทั่วถึงเป็นธรรมแบบยูนุส
โมฮัมหมัดยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ ได้บุกเบิกตั้ง Grameen Bank หรือธนาคารเพื่อคนจน ค้นพบจากประสบการณ์จากการทำงานกับคนจนมาหลายสิบปีว่า คนเล็กคนน้อยคนยากคนจนมีศักยภาพที่จะสร้างงาน ถ้าได้รับการสนับสนุนด้านทุน เทคโนโลยี และการจัดการ เขาทำงานในหลายประเทศ และมีชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์หลายร้อยล้านคน จนเขามั่นใจว่า “โลกสามศูนย์” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คือ
ความยากจนเป็นศูนย์
การว่างงานเป็นศูนย์
การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
(ดูหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “โลกสามศูนย์” ของเขา)
การว่างงานเป็นศูนย์ เพราะประชาชนเป็นผู้สร้างงานเอง โดยเป็นผู้ประกอบการเอง ไม่ใช่รอคอยให้มีใครมาจ้างงาน เมื่อไม่มีใครจ้างจึง “ว่าง” มันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผิดประชาชนทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างงานเองจึงไม่มีการว่าง ระบบนี้จึงเรียกว่าระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีความทั่วถึงเป็นธรรม เพราะสังคมเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจเสียเองจึงทั่วถึงเป็นธรรม รัฐบาลสามารถทำได้โดยตั้ง “กองทัพเศรษฐกิจใหม่” โดยแจ้งบัณฑิตตกงานทั้งหมด โดยให้ศึกษาวิธีการของยูนุสอย่างเข้มข้น และกระจายกันออกปฏิบัติการกับประชาชนคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน ช่วยให้เขารวมตัวร่วมคิดร่วมทำหรือร่วมเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้ประกอบการ โดยดึงแหล่งเงินกู้ เทคโนโลยี และการจัดการ เข้ามาสนับสนุน
ระบบเศรษฐกิจสังคมที่ทั่วถึงเป็นธรรมนี้ ถ้าทำอย่างได้ผลเต็มประเทศ จะสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ความยากจนเป็นศูนย์ การว่างงานเป็นศูนย์ การปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ อย่างยูนุสว่า และเป็นการสร้างอารยธรรมใหม่ทีเดียว
(3) ระบบเศรษฐกิจมหภาคที่มีจิตสำนึกองค์รวม
ระบบเศรษฐกิจมหภาคมีพลังมหาศาล ประกอบด้วยทุนขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรม การจัดการ และกำลังคนที่มีความสามารถสูง เปรียบเสมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ จำเป็นสำหรับการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่จุลภาคหรือรัฐทำไม่ได้ ในยุคหลังโควิด-19 ต้องเปลี่ยนการคิดเชิงกลไกและแยกส่วนมาเป็นคิดแบบองค์รวม ระบบเศรษฐกิจมหภาคจิตสำนึกองค์รวมจะเป็นเสมือนหลอดเลือดใหญ่ ส่วนระบบเศรษฐกิจภูมิคุ้มกันและระบบเศรษฐกิจสังคมที่เน้นความทั่วถึงเป็นธรรมเปรียบเสมือนระบบเส้นเลือดฝอย ที่กระจายไปทุกซอกทุกมุมของร่างกาย เมื่อหลอดเลือดใหญ่ไปเชื่อมกับหลอดเลือดฝอย ก็จะมีทั้งแรงส่งและความทั่วถึงเป็นธรรม
ระบบเศรษฐกิจมหภาคที่ไปเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจจุลภาคอีก 2 ระบบอย่างเกื้อกูล จะช่วยทำให้ระบบย่อยแข็งแรงและทั่วถึงมากขึ้น และระบบย่อยซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐาน เมื่อรากฐานแข็งแรงย่อมรองรับให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคข้างบนมั่นคง
ระบบเศรษฐกิจองค์ 3 ที่บูรณาการกัน เป็นระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่ยุคหลังโควิด 19 เป็นระบบเศรษฐกิจองค์รวม เมื่อมีความเป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ต่างๆ เหมือนความเป็นคน ซึ่งเป็นองค์รวมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์เหนือส่วนย่อยที่มาประกอบกันเป็นคน
6.ระบบเศรษฐกิจใหม่จะทำให้บ้านเมืองลงตัว
ที่บ้านเมืองไม่ลงตัวเพราะคิดแบบแยกส่วน และทำแบบแยกส่วน
ระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่ เกิดจากการคิดแบบองค์รวมว่าประเทศไทยทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตสำนึกแห่งองค์รวมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ ให้คิดถึงประเทศไทยในฐานะองค์รวมเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ ที่มีการพัฒนาทั้ง 8 เรื่อง เชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน คือ
เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม - สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม - สุขภาพ – การศึกษา - ประชาธิปไตย
ไม่แยกกันเป็นเรื่องโดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างเช่น การศึกษาเป็นการท่องวิชาเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับอีก 7 เรื่อง อันทำให้ประเทศไทยอ่อนแอ การศึกษาควรจะบูรณาการอยู่ในอีก 7 เรื่อง
ประดุจมรรค 8 ที่เริ่มด้วย สัมมาทิฐิ และลงท้ายด้วยสัมมาสมาธิ มรรคทั้ง 8 ไม่ได้แยกกัน แต่อยู่ในกันและกัน ทางพระท่านเรียกว่ามรรคสมังคี
การพัฒนาทั้ง 8 หรือมรรค 8 แห่งการพัฒนา ก็ต้องเชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน หรือเป็นมรรคสมังคีเหมือนกัน การคิดและทำอย่างบูรณาการจะทำให้บ้านเมืองลงตัว เริ่มจากระบบเศรษฐกิจกระบวนทัศน์ใหม่ เป็นเทมเพลตให้การพัฒนาอื่นๆ เข้ามาเกาะเกี่ยวและเชื่อมโยงกัน