"...พูดตามตรง ในเบื้องต้นจะต้องไม่ใช่แค่งบประมาณเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมให้รัฐบาลและส.ส.ในพื้นที่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในทางปฏิบัติที่เป็นจริงเขาห่วงกัน ต่อมาคือต้องไม่เป็นการใช้อย่างเบี้ยหัวแตก หรือใช้เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป แบบว่าใช้หมดแล้วหมดไปไม่เหลือไว้เป็นฐานโครงสร้างให้ต่อยอด หรือไม่ก็ใช้ในโครงการแบบคุณพ่อรู้ดีที่หน่วยราชการกำหนดให้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ชุมชนทำ..."
ในจำนวนยอดเงินที่จะใช้กู้วิกฤตครั้งนี้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท มีอยู่จำนวน 4 แสนล้านบาทที่น่าจับตาและติดตามเป็นพิเศษ หากย้อนดูตามแผนภูมิที่เผยแพร่ออกมาพร้อมมติคณะรัฐมนตรีก็จะอยู่ในช่องที่ 2 จากซ้าย
เงิน 4 แสนล้านบาทนี่น้อง ๆ 'งบลงทุน' ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณแต่ละปีเลยนะครับ
(งบลงทุนปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ 6.55 แสนล้านบาท)
เงินจำนวนนี้จะได้มาจากพระราชกำหนดอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินมาใช้นอกงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทนี้ได้รับการกำหนดแยกชัดเจนไปเลยว่าจะลงไป 'ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม' ในระดับ 'พื้นที่' ในชุมชนทั่วประเทศโดยตรง
ที่ว่าน่าจับตาก็คือวิธีการใช้เงินและการกำกับตรวจสอบการใช้เงินส่วนนี้
โดยหลักคือจะทำอย่างไรให้ถึงชาวบ้านในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จริงสามารถต่อยอดได้
พูดตามตรง ในเบื้องต้นจะต้องไม่ใช่แค่งบประมาณเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมให้รัฐบาลและส.ส.ในพื้นที่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในทางปฏิบัติที่เป็นจริงเขาห่วงกัน ต่อมาคือต้องไม่เป็นการใช้อย่างเบี้ยหัวแตก หรือใช้เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป แบบว่าใช้หมดแล้วหมดไปไม่เหลือไว้เป็นฐานโครงสร้างให้ต่อยอด หรือไม่ก็ใช้ในโครงการแบบคุณพ่อรู้ดีที่หน่วยราชการกำหนดให้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ชุมชนทำ
และแน่นอน ต้องอย่าให้มีการโกง หรือแม้แต่การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
ตรงนี้ตัวช่วยสำคัญที่คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้เงินกู้ก้อนนี้ทั้งก้อน 1 ล้านล้านบาท
ต้องไม่ลืมและทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานให้ตรงกันเสียก่อนนะครับว่าเงินกู้ที่มาจากพระราชกำหนดลักษณะนี้เป็นเงินนอกงบประมาณแผ่นดิน กล่าวคือนอกจากทีี่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี กระทรวงการคลังใช้อำนาจกู้เงินตามพระราชกำหนดได้มาแล้วไม่ต้องส่งเข้าระบบ ตั้งบัญชีแยกไว้เฉพาะกิจ เพื่อให้หน่วยราชการเบิกไปใช้ตามโครงการที่รัฐบาลกำหนดได้เลย และรายการการใช้เงินตามโครงการก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและอนุมัติจากรัฐสภาอย่างเข้มข้นเป็นรายการ ๆ เหมือนกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปี โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยกระดับเข้มข้นขึ้นมากในมาตรา 144 วรรคสอง/สาม/สี่ที่ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีห้ามรัฐมนตรีและสมาชิกทั้งสองสภารวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ หากฝ่าฝืนมีโทษถึงพ้นจากตำแหน่งและถูกเรียกเงินคืน คงจะจำกันได้ว่าท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์เคยคุยนักคุยหนาว่านี่แหละรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดจะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
เป็นระเบียบฯที่ฝ่ายบริหารกำหนดโดยไม่ผ่านรัฐสภา
ระเบียบฯ นี้ไม่ได้อยู่ในตัวพระราชกำหนดโดยตรง แม้โดยปกติรัฐบาลอาจจะแนบระเบียบฯมาให้รัฐสภาพิจารณาเป็นเอกสารประกอบในวาระพิจารณาพระราชกำหนดที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่สมาชิกรัฐสภาก็คงได้แค่ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลนำไปแก้ไขเท่านั้น
ในเบื้องต้นนี้จึงอยากให้ระเบียบฯนี้เข้มข้น
อย่างต่ำ ๆ ต้องไม่แพ้เกณฑ์การใช้เงินในงบประมาณครับ
ถ้าเป็นไปได้ ควรพิจารณานำกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 144 มาประยุกต์บรรจุไว้ทั้งหมด หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจตรวจสอบของสมาชิกสภาทั้งสอง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ
จึงกราบเรียนเสนอมาด้วยความเคารพในระหว่างที่ยังไม่เห็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนี้
หวังว่าคงได้รับการพิจารณาตามสมควร
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
9 เมษายน 2563
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2881493718561230&id=100001018909881