"...มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า พวกนี้ยุ่งอะไรนักหนา ทำไมต้องมีเชฟทำอาหารด้วย หมอกินอะไรๆ ก็ได้ เพราะไม่มีเวลาจะกินอยู่แล้ว แค่มีให้กินทุกมื้อก็พอแล้ว สองความคิดสองขั้วขัดกันอยู่เสมอ ผู้ทำโครงการ Chef Charity เดินหน้าต่อไป เพราะอยากให้คนเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจที่หน้างาน ได้อาหารที่ดี..."
“อยากได้เชฟ และผู้ช่วยเชฟ ครับ หาเชฟอาสาสมัครได้ไหมครับ จะต้องเปิดครัวที่รามาบางพลี ทำอาหารให้หมอและพยาบาลหน้าด่านเรื่องโควิด ด่วนเลยครับ” หนุ่มรุ่นหลานที่ดูแลงาน operation ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ (หนุ่ม O) โทรมาหาในฐานะคนคุ้นเคย
วันนั้น วันพฤหัสที่ 19 มี.ค. 2563 รู้กันแล้วว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ (ขอเรียกย่อๆ ว่า รามาจักรี) จะเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด-19 ในภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ
ประโยคเดียวนั้น ทำให้นั่งหมุนโทรศัพท์ถึงเจ้าของโรงแรมที่รู้จัก แห่งที่หนึ่งบอกว่า ช้าไปสองสัปดาห์ เพิ่งปิดปรับปรุงโรงแรม ส่งเชฟกลับบ้านไปแล้ว แห่งที่สองรับปากจะไปดูความเป็นไปได้ แล้วเงียบไป แห่งที่สามบอก “เพ็ญ” ที่เคยทำกิจกรรมการกุศลร่วมกันมา เธอคนนี้มีเครือข่ายมากมาย (ภาษาฝรั่งว่า resourceful)
“ได้พี่ เดี๋ยวหาให้ เชฟที่ร้านอาหารปิดตอนนี้มีหลายคน”
ไม่รู้เลยว่า โทรศัพท์ที่สามนี้คือสายรุ้งสดใส ทอดจากเชฟ ไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาจักรี เธอคุ้นกับเชฟในสมาคมเดอะเชฟ เธอสนับสนุนโครงการ Chef Charity จัดงานประจำปีหาเงินทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ เธอมีลูกชายจบการโรงแรม + เพื่อนลูกชายที่ไปฝึกงานตามหลักสูตรที่สวิตเซอร์แลนด์ + เพื่อนร่วมงานอีกคน รวมกันเป็น ส้ม แอน แอปเปิล ประสานมือกันลุย
“พี่” ที่เริ่มโครงการ โทรแล้วก็แค่คอยฟังความคืบหน้า ในขณะที่ “เพ็ญ” ทุ่มเวลาปั้นโครงการ “Chef Charity for Rama” จัดทีมงาน และประสานงานรอบด้านเพื่อให้งานเดินอย่างไร้รอยต่อ ระหว่างเชฟเอกชน กับโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย
ทำงานเป็นทีม: ช่วยกันคิด แบ่งกันทำ
วันจันทร์ที่ 23 ทางสำนักงานของหนุ่ม O ก็ตอบรับให้ดำเนินการโครงการ Chef Charity ทีมงานไปดูครัว และกำหนดกระบวนการทำงานคร่าวๆ ก่อนแยกย้ายกันไปจัดเตรียมงานในส่วนของตน
โรงครัวของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สร้างสำหรับรับผู้ป่วยใน 800 เตียง ทำอาหารขายให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วย และส่งอาหารไปให้อาคารเทพรัตน์ฯ ของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่พญาไทด้วย สร้างเสร็จเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2560โดยก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด โรงครัวทำอาหารให้ผู้ป่วยในของรามาบางพลีที่เพิ่งเปิดเท่านั้น
ข้อเด่นคือโรงครัวนี้สร้างหลังจากสำรวจและดูงานเคเตอริ่งของบางกอกแอร์เคเตอริ่งมาแล้ว จึงเป็นครัวที่ได้มาตรฐานระดับสากล และใหม่เอี่ยม จนกระทั่ง “ส้ม (ช) +ส้ม(ญ)” ชวนเชฟมาเพิ่มด้วยความสบายใจ ยิ่งมีเชฟเป้ (กฤษณะ) ช่วยชวนต่อ เชฟอาสายิ่งเพิ่มขึ้น
ภายในวันที่ 27 มี.ค. รายชื่อเชฟก็พร้อมและแต่ละคนก็ไปตามทีมงานของตนมา บางคนมีสปอนเซอร์ออกค่าพาหนะเดินทางให้ด้วย เพราะโรงพยาบาลรามาจักรีฯ อยู่ไกลลิบ
วันเสาร์ที่ 28 มี.ค. ทีมเชฟจิตอาสา ไปชมสถานที่ เห็นครัวแล้วอยากถ่ายรูปมาอวดมากๆ แต่ว่าเจ้าของสถานที่เขาหวง เป็นอันว่าเราจะชมแต่รูปอาหารจากครัวนี้ก็แล้วกัน
วันที่ 1 เม.ย. เป็นวันเริ่มงาน โดยเชฟและทีมจะเข้าไปเตรียมของตอนบ่ายวันที่ 31 มี.ค. พัก 1 คืนล่วงหน้า แล้วลุกขึ้นมาเตรียมอาหารเช้าวันแรกให้เสร็จพร้อมเสิร์ฟเวลา 6.00 น.
“แอน” รับหน้าที่คุมสต๊อกวัตถุดิบเข้าออกทั้งหมด และประสานงานกับเชฟ เพื่อให้มีวัตถุดิบพร้อมสำหรับเมนูในแต่ละวันที่กำหนดไว้ แต่ถ้าได้วัตถุดิบเพิ่มมาโดยไม่คาดล่วงหน้า เชฟก็จะคิดเมนูโดยดูวัตถุดิบที่มีอยู่ในสต๊อกด้วย คนของสำนักงานหนุ่ม O เป็นผู้ประสานงานทุกด้าน เพราะเป็นคนในของรามา และรามาบางพลี “แอน” เคยฝึกงานที่ Vatel เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่เธอไปหาอาจารย์เพื่อหารุ่นน้องมาช่วยงาน อาจารย์เห็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัว ก็ขอส่งนักศึกษามาฝึกงานด้วยเลย
“แอปเปิล” ประสานงานทั่วไป ทั้งงานบริจาคเงิน บริจาคของ คู่กับ “แป๋ว”
“เพ็ญ” หาคนวางระบบการเงิน แยกบัญชีเงินบริจาคที่จะได้มาสำหรับโครงการนี้ เตรียมทำบัญชีรายรับรายจ่ายละเอียด เพื่อความโปร่งใส ถ้าเงินบริจาคเหลือใช้ตอนปิดโครงการ ก็จะโอนเงินที่เหลือทั้งหมดเข้ามูลนิธิรามาธิบดี
ช่วงสัปดาห์แรก เชฟจะเตรียมอาหารตามเมนูที่พนักงานในสำนักงานของหนุ่ม O ได้จัดไว้แล้วเพราะจัดซื้อวัตถุดิบไว้แล้ว สัปดาห์ถัดไปจึงจะเริ่มเมนูและวัตถุดิบใหม่ เชฟและทีมงานจะทำอาหารจำนวนประมาณ 500 กล่องสำหรับแต่ละมื้อ (เช้า เที่ยง เย็น ดึก) เพิ่มลดตามจำนวนแพทย์และบุคลากร ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์ระบาดอีกทอดหนึ่ง
ระหว่างอาหารอร่อย กับอาหารกินแก้หิว
มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า พวกนี้ยุ่งอะไรนักหนา ทำไมต้องมีเชฟทำอาหารด้วย หมอกินอะไรๆ ก็ได้ เพราะไม่มีเวลาจะกินอยู่แล้ว แค่มีให้กินทุกมื้อก็พอแล้ว สองความคิดสองขั้วขัดกันอยู่เสมอ
ผู้ทำโครงการ Chef Charity เดินหน้าต่อไป เพราะอยากให้คนเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจที่หน้างาน ได้อาหารที่ดี ถูกสุขลักษณะ ถูกหลักโภชนาการ และอร่อยด้วย การปรุงอาหารอร่อยๆ ให้บุคลากรทางการแพทย์กิน เป็นวิธีขอบคุณแบบหนึ่ง
หน้าที่ของเชฟ Executive Chef วางแผนทุกอย่างตั้งแต่คิดเมนูอาหาร จัดกระบวนการผลิต คุมคุณภาพ จนของเสร็จพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค
คุณสมบัติของเชฟ เชฟอาสา มาพร้อมมีดเชฟส่วนตัว ที่คมกริบ หั่นเนื้อ เนื้อไม่เยิน จบงาน ล้าง เช็ด อบฆ่าเชื้อ
ขอยกตัวอย่าง เชฟเพียง 2 คน คือ เชฟ Alex ทำงานโรงแรม 5 ดาว ในเมืองไทย และล่าสุดเป็นเชฟและที่ปรึกษาด้านอาหารและโรงแรมที่มัลดีฟส์ กับเชฟกฤษณะ เรียนจบได้ Grand Diploma จาก Le Cordon Bleu Culinary College ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทำงานห้องอาหารระเบียงน้ำ ห้องอาหารบ้านพระจันทร์ กทม.
คุณสมบัติที่สำคัญมากของเชฟ คือความปลอดโรค เชฟทุกคนมีใบรับรองติดตัวอยู่ คนเป็นไวรัสตับอักเสบ และโรคติดต่ออีกบางอย่าง (รวมโควิด-19) ด้วย ทำอาชีพที่ต้องสัมผัสอาหารไม่ได้ เรื่องโรคติดต่อและเรื่องสุขอนามัยอื่นๆ ตั้งแต่การใส่ที่คลุมผม มีผ้าปิดปาก จำเป็นมาก ความเสี่ยงเรื่องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่ทำงานด้านโควิด-19 ป่วยพร้อมกันจากอาหาร เป็นความเสี่ยงที่ต้องป้องกัน ดังนั้น อาหารที่มาจากข้างนอกมาเลี้ยงหมอทั้งโรงพยาบาล แม้เข้าใจในความตั้งใจอันเป็นกุศลของผู้ให้ เมื่อไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยเหล่านี้ จะไม่กล้าส่งให้คนหน้างานรับประทาน ท่านที่ชอบทำบุญส่งอาหาร โปรดเข้าใจความเสี่ยงประเด็นนี้ด้วย
การเสิร์ฟอาหาร และภาชนะ
คุณโควิดมาทีเดียว นโยบายลดพลาสติกของรัฐบาล ไหลลงท่อไปเลย อาหารที่ส่งมาจากผู้ใจบุญล้วนเป็นอาหารมาในกล่อง ส่วนมากเป็นกล่องพลาสติกหรือกล่องโฟม ขยะท่วมท้น และภาชนะที่บุคลากรแนวหน้าหยิบจับ จัดเป็นขยะติดเชื้อ ดังนั้น จะส่งของไปให้โรงพยาบาล ควรคิดให้ครบตั้งแต่ต้นจนปลาย
แม้แต่การตักอาหารเสิร์ฟ หรือให้พนักงานนำภาชนะมาเอง ตามนโยบายลดพลาสติก ก็ต้องเลิกไปชั่วคราว เพราะไม่แน่ใจในจานชาม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานจากโรงครัวที่ไปช่วยตักอาหาร กับพนักงานที่ตรวจคัดกรองผู้ป่วย เมื่อไม่แน่ใจก็ต้องหันไปหากล่องอีกเช่นกัน
เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่อยาก “ทำบุญ”กับหมอ ได้โปรดคำนึงถึงด้วย ถ้าไม่แน่ใจ ส่งเงินไปดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลไหนก็ตาม และถ้าศรัทธาจริงๆ ทำแบบที่โครงการ เชฟ แชริตี้ ทำเพื่อโรงพยาบาลรามาฯ ได้เลย คิดว่าอีกหลายๆ โรงพยาบาลก็คงยินดี แต่ต้องทำความเข้าใจกับพ่อครัวแม่ครัวประจำให้ดีนะคะว่า เชฟเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปแย่งงาน แต่เข้าไปทำเพื่อหมอและพยาบาลและนักรบแนวหน้า จบงานแล้วเขาก็ไป คนที่อยู่ประจำ ถ้าเปิดใจ อาจจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของเชฟ ที่มาสอนให้แบบทำให้ดูถึงในครัว ซึ่งในยามปกติจะหาได้ที่ไหน
จากใจถึงใจ
“หมูเป็นหมู ผักเป็นชิ้นเป็นอัน ผัดผักเปล่าๆ ยังอร่อย ไม่มีผงชูรส”
“อร่อยค่ะ ขอบคุณเชฟนะคะ”
“ขอบคุณที่เห็นคุณค่าของพวกเรา”
ทีมงานน้ำตาร่วงด้วยความดีใจ
เติมพลังให้ทีมงาน : ติดตามกิจกรรมได้ใน Facebook: Chef Charity ติดต่อได้ใน inbox ของ Facebook
สมทบทุนช่วยโครงการ บัญชีรับเงิน: เชฟ แชริตี้ เพื่อโรงพยาบาลรามาธิบดี ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนพระราม 9 บัญชีสะสมทรัพย์ 215-0-92899-8
แต่อย่าเพิ่งผลีผลามโอนเงิน พวกเราอาจจะเป็นพวกสิบแปดมงกุฎก็ได้ ติดต่อคุยกันก่อน และบางท่านอาจจะสนใจแบบช่วยเหมาทั้งมื้อ /ช่วยวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ก็เลือกวิธีการได้ จะได้แน่ใจว่า ของได้ใช้จริง
เปิ้ล 080-329-2399 // แป๋ว 088-795-9324
ในยามวิกฤต นักท่องเที่ยวหายไปจากชายหาด สัตว์ที่ห่างหายจากหาดไปนานกลับมาว่ายน้ำเล่น ในยามวิกฤต เมื่อต้องการทำงานเร่งด่วนให้สำเร็จ บางคนโผล่ออกมาใช้ฝีมือจัดการงานที่จำเป็นจนลุล่วง เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติ พวกเขาก็คงจะเดินกลืนหายไปในกลุ่มชนดังเดิม
ที่มา : https://thaidialogue.wordpress.com/2020/04/02/chef-charity-for-rama/