"...เพื่อนๆและผู้ให้กำลังใจหมอทั้งหลาย ขออย่าให้กำลังใจแต่ปาก ช่วยกันไปตามเงิน ตามของ ตามอำนาจ ให้ถูกจุดได้เลย ใครรู้จักใครที่กระทรวงสาธารณสุข บอกเจ้าหน้าที่รอบๆ กระทรวงหน่อยว่า คราวนี้โควิด มาเหนือกฎหมาย ก็ต้องทำงานแหวกกฎหมายเดิม..."
คราวนี้โลกเราเจอโรคระบาดแบบที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในชั่วชีวิต มาท้าทายมนุษยชาติ ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ วิกฤตในลักษณะนี้กระตุ้นให้หาทางจัดการกับปัญหาแบบนอกรูปแบบปกติ แบบที่อาจไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตนี้ด้วยก็ได้ ดังที่เห็นประเทศต่างๆ ต่างก็ทดลองวิธีของใครของมันอยู่ ต่างก็เรียนรู้ข้อผิดพลาดของกันและกัน และทำไปในขอบเขตและความสามารถที่ผู้บริหารแต่ละประเทศมีอยู่ ในกรอบวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่แตกต่างกัน
แล้วเราจะได้เห็นเองว่าประเทศใดประสบความสำเร็จมากน้อยกว่ากัน ตรงไหน อย่างไร
ที่แน่ๆ ก็คือ บางชาติคิดเร็ว ทำเร็ว (ทำโดยสุจริตจริงจังในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตน แต่จะดีหรือไม่ ไว้วัดกันทีหลัง) ดังที่ Zou Yue หัวหน้านักข่าว ประจำปักกิ่งของ CGTN กล่าวว่า “Desperate time asks for desperate measures” (ยามเข้าตาจน ก็ต้องใช้มาตรการแบบเข้าตาจน) เวลาไม่รอท่า ทุกวันความเสียหายยิ่งเพิ่ม และผู้อยู่แนวหน้าเริ่มอ่อนแรง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาต้องเร็วและเด็ดขาด ถึง “แหกคอก” ก็ต้องทำ เพราะคับขันอย่างยิ่ง
กลับมามองประเทศไทย เราได้ยินแต่คำปลอบประโลมประชาชนว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ได้ยินคำหวานๆ ที่โรยให้หมอและพยาบาลแนวหน้า โดยไม่มีใครมุ่งเข้าไปช่วยจัดการในจุดที่กองกำลังเสื้อขาวต้องการมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับสิ่งประหลาด นั่นก็คือการส่งกำลังบำรุง (ทั้งคน เงิน และอาวุธ) ที่จำเป็นอย่างพอเพียง เพื่อให้สามารถรบได้โดยไม่ต้องพะวงหลัง ไม่ต้องเสียเวลารอ และไม่ต้องอ้อนวอนร้องขอ ไม่ต้องใจหายใจคว่ำว่าจะต้องรบมือเปล่าและบาดเจ็บล้มตาย ในขณะที่คนที่อยู่แนวหลังที่มีหน้าที่ส่งกำลังบำรุง กำลังค่อยๆ เลื่อนกระดาษผ่านไปทีละโต๊ะๆ เพื่อพิจารณา แก้ไข ท้วงติง กระดึ๊บๆ อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว bureaucracy กลายเป็น “bureau-crazy” ไม่มีใครตอบได้ว่า อีกนานแค่ไหนจึงจะถึงโต๊ะที่จะต้องเซ็นอนุมัติ ทั้งๆ ที่การเซ็นอนุมัติก็แค่ยกปากกามาขีดแกรกเดียว
เรามีปัญหาเรื่องระบบราชการ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งกำลังบำรุงอย่างรุนแรง ในสถานการณ์คับขันเยี่ยงเวลานี้ ดิฉันเห็นว่า ใครที่มัวแต่ต้วมเตี้ยมเปิดตำราเก่า หรือกางกฎระเบียบที่เคยใช้ในยามปกติ ควรจับไปขังไว้ (พูดจาให้เห็นภาพ) แล้วหาคนใหม่มาทำแทนทันที
คำถามข้อ 1. ใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ตอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอำนาจที่มีตามกฎหมาย (แต่ตอนนี้อำนาจอยู่ที่ไหนไม่ได้ไปตามดู) เพราะรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติที่ออกมา เมื่อ พ.ศ. 2558 และเพิ่งประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อ 26 ก.พ. 2563 นี่เอง
คณะกรรมการนี้มีปลัดกระทรวงหรือบุคคลเทียบเท่าอีก 9 กระทรวงเป็นคณะกรรมการ อธิบดีต่างกระทรวงรวม 9 กรม รวมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีผู้แทนองค์กรแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน อย่างละ 1 อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนาวยการสำนักระบาดวิทยา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมแล้ว 26 คน นับว่าพลังสูงทีเดียวในแง่ยศตำแหน่งกรรมการ และการครอบคลุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (หรืออาจจะมากเกินจนเดินไม่ได้)
ในแง่เครือข่าย ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะมีคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ในทีมด้วย
ในแง่อำนาจก็มีมากมาย คือประกาศเขตติดโรคได้ทั้งในและนอกราชอาณาจักร สั่งกักกันตัวได้ โดยผู้เดินทางเข้ามาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เจ้าของยานพาหนะก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู รักษาพยาบาลบุคคลที่เข้าข่าย เจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ (รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง) มีอำนาจดำเนินการได้เองในพื้นที่ เพื่อห้ามโรคแพร่และป้องกันการแพร่ระบาด แล้วยังเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ปรับได้ถ้าไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการ
ก็อยากได้ฟังข้อมูลว่า เคยใช้อำนาจนี้หรือยัง
2. เงินอยู่ไหน ใครรู้บ้าง
ด้านการเงินเกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ คณะกรรมการที่กล่าวมาแล้วเป็นผู้เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการจ่ายเงินชดเชย ค่าทดแทน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ป้องกัน และควบคุมโรค โดยนัยนี้ เมื่อกระทำการลงไปตามหน้าที่ รัฐบาลย่อมต้องหาเงินมาให้จ่าย
ในกรณีฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขมีงบกลางกว่าพันล้านบาท แต่จะใช้เมื่อไร อย่างไร ก็แล้วแต่จะพิจารณาตามกระบวนการพิจารณา แม้จะต้องใช้เวลาเพื่อความเป็นธรรมและรอบคอบ แต่ต้องรู้ว่า there is no decision without trade off โดยเฉพาะในยามศึกสงคราม ความเร็วสำคัญมาก เพราะรอช้ากว่าอาวุธและอุปกรณ์จำเป็นจะมาถึง แนวหน้าอาจต้านศึกไม่อยู่แล้วก็ได้
เงินที่น่าจะ reallocate ได้ จากเงินค่ารักษาพยาบาลของทั้งประเทศที่ส่งงบประมาณไปให้ สปสช. จัดสรร ปีนี้ สปสช. ได้งบจ่ายรายหัวประชากรมา คิดเป็นยอดรวมกว่า 190,000 ล้านบาท คิดเป็นไตรมาสก็ไตรมาสละเกือบ 50,000 ล้านบาท งบนี้ถ้าจัดสรรใหม่แบบ unconventional โดยคิดว่าประเทศนี้จำศีล ไม่มีประชาชนมารับการรักษาพยาบาลกรณีปกติเลยสัก 3 เดือน แล้วตัดงบออกมา 1 ไตรมาส เอาไปจัดสรรใหม่เพราะเหตุการณ์ผิดปกติ ก็จะมีเงินมาใช้สำหรับโรงพยาบาลและกิจกรรมต่างๆ อันเนื่องจากโควิด-19 เป็นเงิน 50,000 ล้านบาท ทุกคนที่อยู่หน้างานคงทำงานอย่างสบายใจ แต่จะทำอย่างนี้ได้ต้องข้ามอุปสรรคอีกหลายด่าน แต่ถ้าอุปสรรคมากนัก ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ เอางบประมาณคืนไปจาก สปสช. แล้วส่งให้คณะกรรมการฯ ที่ดูแลเรื่องโรคระบาดไปจัดสรรเลย
ในเวลานี้ สปสช. พูดแค่จำนวนหลักพันล้านบาทเท่านั้น เรื่องยังกระดึ๊บๆ เพราะ ต้องนำไปผ่านใครต่อใคร อย่างน้อยๆ ก็ 3 – 4 ด่าน คือ คณะกรรมการ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข (รมต. เป็นประธาน สปสช.) ซึ่งต้องไปผ่านหน้าห้อง และฝ่ายกฎหมาย (ถ้า รมต. ส่งไป) แล้วก็น่าจะมี สำนักงบประมาณ ถ้าใช้งบผิดจากที่เคยใช้ แล้วตามมาด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตรวจย้อนหลัง “ดุ”ย้อนหลัง จนเหล่าหมอๆ กลัวจัด คนเสนอก็ค่อยๆ เสนอไปทีละขั้นๆ ไม่กล้าข้ามหน้าข้ามตา ข้ามหน่วยงาน ข้ามระดับ เพื่อลัดคิว ไม่รู้ว่าถ้าคิดจะเปลี่ยนวิธีจัดสรรเงิน 5 หมื่นล้าน จะนานแค่ไหน
นี่คือการทำงานราวกับว่าประเทศนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ที่โอกาสรอดหรือไม่รอดยังไม่มีใครกล้าฟันธง คนพิจารณาไม่ฉุกเฉินด้วย คงใช้กระบวนการดั้งเดิมเพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พลาดพลั้งและมีความผิด การรักษาตัวกลัวผิดคืออุปสรรคหลักในเวลานี้ แทนที่แต่ละฝ่ายจะร่วมกันคิด แล้วพร้อมใจกันต่างคนต่างลุยให้งานสำเร็จ
สรุป เงินมีแต่ยังเอาออกมาไม่ได้ จะมีวิธีแก้ยังไงได้บ้างเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคด้านกระบวนการทำงาน จะปรับคนเพื่อปรับวิธีการ หรือปรับทัศนะในการทำงานจากเรื่องปกติ เป็นเรื่องเข้าตาจน ก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่ปรับอะไรเลย ประเทศเราจะรอดไหมนี่
ยังไม่คิดถึงว่า ในท้ายที่สุดต้องมีงบประมาณมาเพิ่มจากรัฐบาล เพื่อให้ระบบสุขภาพเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ายามเข้าตาจนไปแล้ว
3. เห็นแต่มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่ไม่ได้มีมาตรการดูแลคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจังๆ ถึงขั้นเสี่ยงตาย มันยังไงกันแน่
ถ้าบุคลากรทางการแพทย์หมดแรง โควิดไม่เลิกระบาด คนตกงานจะไม่ใช่แค่ตกงานชั่วคราวเท่านั้น แต่บางคนจะตกงานถาวรและมีโอกาสถึงตายสูงขึ้น
จากมาตรการที่ออกมาแล้ว 10 มีนาคม รัฐบาลผ่านคำแถลงของกระทรวงการคลัง มี “ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์” ผลัดละ 1,000 – 1,500 บาทต่อคน ส่วนมาตรการที่ออกตามมาในภายหลัง มีค่าตกงานให้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน
ถ้าเป็นคนใจอ่อนคงร้องว่า “โถ…” (ถ้าเป็นนักเลงต้องร้องว่า “..?…” )
ดิฉันขอยุแหย่ให้ผิดใจกันทางการเมืองว่า การแย่งเงินคราวนี้ พรรคพลังประชารัฐชนะขาด คว้างบประมาณไปแจกคนตกงานมากมาย ด้วยวิธีการที่ช่วยส่งเสริมให้คนตกงานมากขึ้นอีกด้วย ส่วนพรรคภูมิใจไทยทำให้ดิฉันผิดหวังยิ่งนัก เพราะทั้งๆ ที่กองกำลังนักรบอยู่กับพรรคนี้ และต้องการเงินมาช่วยสนับสนุนงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่งยวดก็เห็นๆ อยู่ กลับไม่สามารถทำให้คนคุมเงินเห็นความสำคัญแล้วส่งงบมาให้อย่างพอเพียงได้
ถึงตรงนี้คุณหมอที่ส่งไลน์เปรียบเทียบว่า ตอนนี้หมอรบอยู่แนวหน้า มีกองกำลังตำรวจและทหารช่วยหนุนหลัง และมีคำถามตามมาเป็นชุด ดังที่คัดมานี้
“หมอขอประกาศกฎอัยการศึกได้ไหม ให้แพทย์และพยาบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จได้ไหม”
“คนพูดเท็จจนทำให้สูญเสียบุคลากรที่จะทำงานไป คุณต้องรับผิดชอบต่อสังคม ถูกปรับ ถูกจับ ถูกขัง ก็ว่าไปตามเรื่อง เพื่อไม่ให้คนอื่นทำตาม”
“คนที่มาโวยวายในโรงพยาบาลอยากจะตรวจทั้งที่ไม่มีข้อบ่งชี้ ทรัพยากรจะตรวจเราไม่มี ก็ต้องมีมาตรการลงโทษที่เห็นผล”
“งบประมาณสู้โควิด มีไหมครับ เห็นมีแต่ รพ.ออกมาขอรับเงินบริจาค ยังไม่มีเงินพิเศษสักบาทมาถึงรพ.เลย ตอนนี้เงินล้านบาทต่อรพ.ยังไม่แน่ใจเลยครับว่าจะพอ แต่ตอนนี้บาทเดียวยังไม่ให้ เห็นออกข่าวปาวๆว่าสำคัญ แต่เอาเงินไปทำอะไรหมด”
“หมอตายไปเพราะสู้กับโควิด-19 ครอบครัวผู้อยู่หลังของเขาจะได้รับการดูแลอย่างไร”
คุณหมอคงได้คำตอบแล้ว เพื่อนๆและผู้ให้กำลังใจหมอทั้งหลาย ขออย่าให้กำลังใจแต่ปาก ช่วยกันไปตามเงิน ตามของ ตามอำนาจ ให้ถูกจุดได้เลย
ใครรู้จักใครที่กระทรวงสาธารณสุข บอกเจ้าหน้าที่รอบๆ กระทรวงหน่อยว่า คราวนี้โควิด มาเหนือกฎหมาย ก็ต้องทำงานแหวกกฎหมายเดิม (แต่ไม่ทิ้งหลักกฎหมาย) ช่วยไปไหว้ศาลอดีตรัฐมนตรีและปูชนียบุคคลทางการแพทย์ในกระทรวงด้วย ให้ไปดลใจท่านรัฐมนตรีให้เลิกกลัวกระดาษ แล้วก็อาจหาญเสียทีให้สมกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการ สปสช.
ใครรู้จักใครที่ สปสช. ช่วยบอกว่า ไม่ต้องคิดมาก แบ่งงบมาเลย แบ่งและให้เบิกอย่างไม่ยุ่งยากซับซ้อน การใช้เงินเพื่อสุขภาพประชาชนในยามฉุกเฉิน ไม่ต้องกลัวผี ความโปร่งใสสุจริตและทุกอย่างอธิบายต่อสาธารณชนได้ คือเกราะกำบังคุณทุกคน
ใครรู้จักใครที่สำนักงบประมาณ โทรไปหาให้ช่วยปรับงบต่างๆ ที ด่วนๆ
ใครรู้จักใครที่ สตง. บอกให้ช่วยไปไฟเขียวกระบวนการที่เหมาะสมและเรียบง่ายให้ที อย่างด่วน และสัญญาจะไม่ไปจับผิดเขาย้อนหลังในกระบวนการที่เห็นพ้องกันแล้ว
ใครรู้จักใครที่กระทรวงการคลัง ช่วยไปขอร้องให้เพลาๆ มือในการแจกเงินคนไม่ทำงาน ช่วยส่งเงินมาให้คนที่เขาทำงานแบบไม่ได้หลับได้นอนให้มากกว่านี้ และคุ้มครองความเสี่ยงให้เขาด้วย เขาวุ่นวายทำงานไม่มีเวลามาฮึ่มๆ เดินขบวนกดดัน หรือถึงมีเวลาก็คงไม่มาอ้อนวอน คนเรามีศักดิ์ศรีและความนับถือตนเองต่างกัน
ขอให้ช่วยกันไขลานหอยทากเท่านั้นเอง