นักวิชาการเสนอมาตรการระยะยาว ช่วยเหลือเเท็กซี่ รับผลกระทบโควิด-19 ดึงเข้าสู่ระบบเเอพพลิเคชั่น ปรับเปลี่ยนรูปเเบบจากวิ่งขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มออฟชั่นรับจ้างช้อปปิ้ง เทียบมอเตอร์ไซค์ เผยเยียวยา 5 พัน อาชีพอิสระ ไม่เพียงพอ เเนะยึดตามค่าเเรงขั้นต่ำ ตอบโจทย์ลดคนเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่
สถานการณ์เเพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด -19 ในขณะนี้ กำลังส่งผลกระทบต่ออาชีพต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ ระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะเเท็กซี่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ผู้ขับขี่รถเเท็กซี่ต้องตัดสินใจลดการวิ่งบริการ ร้ายเเรงไปกว่านั้น คือ หยุดวิ่งบริการ ทำให้ขาดรายได้ เเม้จะมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐเเล้วก็ตาม
ผศ. ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เเละผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันออกเเบบอนาคตประเทศไทย ชวนสะท้อนปัญหาเเละเเนวทางเเก้ไขอย่างยั่งยืน
ดร.สุทธิกร วิเคราะห์กับสำนักข่าวอิศรา ว่าการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งกระทบอย่างมากต่อผู้ขับรถเเท็กซี่ เพราะมีผู้โดยสารจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากปรากฏการณ์ทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ทั้งยังมีการประกาศปิดสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการบางเเห่ง อย่างไรก็ดี เมื่อมองต่อในเชิงธุรกิจ เชื่อว่า เเม้ผู้ขับเเท็กซี่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว เเต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้หลากหลายได้ จากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้น เเละไม่อยากออกไปจับจ่ายสินค้าให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เเละความไม่สะดวกสบายต่างๆ เช่น ถึงเเม้ไปห้างก็ซื้อได้เเค่อาหารเเละของจำเป็นไม่กี่อย่าง ดังนั้น เเนวทางให้ผู้ขับรถเเท็กซี่ปรับมาขับขนส่งสินค้าเเทน ผ่านระบบเเอพพลิเคชั่น เหมือนไลน์เเมนหรือเเกร็บฟู๊ดที่ขนส่งผ่านมอเตอร์ไซค์ ทั้งยังอาจรับจ้างขนของจากออฟฟิศมาสำหรับทำงานที่บ้าน เช่น ปริ๊นเตอร์ คอมพิวเตอร์
"ผมได้ยินจากผู้ให้บริการเเกร็บฟู๊ดว่า คนใช้มอเตอร์ไซค์ให้บริการตอนนี้มีงานยุ่งมาก วิ่งวุ่น เเละหลายพื้นที่หาผู้ให้บริการไม่ได้เพียงพอโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ดังนั้น เเอพพลิเคชั่นอย่าง LINE MAN LINE TAXI GRAB GET ควรเปิดให้เเท็กซี่เข้ามาทำงานอย่างนี้ให้ได้ด้วย"
อาจารย์เห็นว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าเเละอาหารในเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นมอเตอร์ไซค์เสมอไป เเต่รถเเท็กซี่สามารถตอบโจทย์ในการขนส่งสินค้าบางชนิดได้เเละมีข้อได้เปรียบ คือ ขนส่งได้มากกว่า
ในมุมมอง ดร. สุทธิกร เชื่อว่า ผู้ขับรถเเท็กซี่สามารถทำธุระเเทนเราหรือช่วยช้อปปิ้งได้ เเต่อาจต้องจัดอบรมการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสฯ ทั้งเรื่องการรักษาสุขอนามัยเพื่อการรับส่งสินค้าอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเเอพพลิเคชั่นนั้น ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเเท็กซี่ประมาณ 8-9 หมื่นคัน อยู่ในระบบเเอพพลิเคชั่นเเล้วประมาณ 3 หมื่นคัน
ถามถึงมาตรการเยียวยาระยะสั้นของรัฐบาล 5,000 บาท เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งรวมถึงผู้ขับรถเเท็กซี่ด้วยนั้น ดร. สุทธิกร ชวนคิดในอีกเเง่มุมหนึ่ง โดยนำไปเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์หรือเเคนาดา พบว่าทั้งสองประเทศมีการให้เงินเยียวยาเเก่อาชีพอิสระสูงมาก โดยประเทศเเคนาดา ให้มากถึง 2,000 ดอลลาร์เเคนาดา/เดือน หรือ 46,180 บาท /เดือน ตามอัตราค่าเเรงขั้นต่ำ หรือประเทศสิงคโปร์ ให้มากถึง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ /เดือน หรือ 20,000 บาท/เดือน เเละให้ต่อเนื่องถึง 9 เดือน
อาจารย์เห็นว่า หากไทยผลักดันมาตรการเยียวยา โดยยึดตามอัตราค่าเเรงขั้นต่ำ อาชีพอิสระจะได้รับราว 7,000-8,000 บาท /เดือน (คำนวณจากเวลาทำงาน 22 วันต่อเดือน) เชื่อว่าจะตอบโจทย์ได้ เเต่มาตรการเยียวยา 5,000 บาทนั้น กลับมองว่า ไม่เพียงพอ เพราะบางครอบครัวมีภาระต้องรับผิดชอบมาก
ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวว่าเงินจะหายไปไหน เนื่องจากการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนั้น พบว่ามีเเนวโน้มนำเงินไปใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ยารักษาโรค การศึกษา จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศเป็นหลัก
"หากกำหนดอัตราให้ล้อกับค่าเเรงขั้นต่ำของเเต่ละพื้นที่ได้ คิดว่าจะช่วยให้เหมาะสมกับความต้องการจริงในเเต่ละพื้นที่เเละเเก้ปัญหาบางอย่าง เช่น หากคนหนึ่งได้รับเงิน 5,000 บาท ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจกลับบ้านในต่างจังหวัด เเต่หากให้ตามอัตราค่าเเรงขั้นต่ำประมาณ 8,000 บาท อาจอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเเก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายของคนที่พาเชื้อไวรัสฯ กลับไปด้วย ดังนั้น ถ้าจะดึงให้อยู่กับที่ ต้องจ่ายตามค่าเเรงขั้นต่ำตามพื้นที่"
พร้อมกับเสนอให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเเก้ปัญหาในเรื่องการจ่ายเงิน ยกตัวอย่าง ปัจจุบันพบว่า มีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 45 ล้านเครื่อง เฉพาะคนลงทะเบียนรับเงินเยียวยาในช่วงเเค่สามวันเเรกก็มากกว่า 12 ล้านคนเเล้ว ซึ่งเเสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้ใช้สมาร์ทโฟน หากอยากดึงให้อยู่ในระบบ ไม่กลับถิ่นฐาน เเละจ่ายเงินให้ทันที รัฐต้องทำเเอพพลิเคชั่นขึ้นมาให้ประชาชนดาวน์โหลด จากนั้นจะโอนเงินเข้าเเอพพลิเคชั่นเป็นรายวัน เเต่มีข้อเเม้ว่า เมื่อลงทะเบียนทำงานที่ไหน จะได้รับเงินตามอัตราค่าเเรงเเรงขั้นต่ำในพื้นที่นั้น โดยผู้ใช้ต้องเปิดโลเคชั่นในเเอพฯเพื่อยืนยันการอยู่ในพื้นที่ก่อนรับเงินรายวัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่
ดร.สุทธิกร ยังมองไปในอนาคตกับการอุดช่องโหว่ของปัญหา โดยใช้มาตรการระยะยาว ว่ารัฐต้องสร้างระบบประกันรายได้ให้ครอบคลุมกับผู้มีอาชีพอิสระ เเม้ปัจจุบันไทยมีระบบประกันสังคมในมาตราอื่น ๆ นอกเหนือจากมาตราปกติเเล้ว ซึ่งทำให้ผู้มีอาชีพอิสระสามารถจ่ายสมทบเองได้ เเต่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐควรช่วยสมทบเงินให้มากขึ้น เเล้วเงินก้อนนี้ไม่ได้หนีไปไหน เเต่เป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉินของรัฐหรือของประเทศ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสฯ ในเวลานี้ สามารถให้นำเงินจำนวนนี้ที่ออมไว้ในนามประกันสังคมหรือประกันรายได้ของเเต่ละบุคคลมาใช้ได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ภายหลังวิกฤต ผู้ขับเเท็กซี่จะมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มมากขึ้น ในหลากหลายรูปเเบบ โดยไม่จำเป็นต้องขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว เพราะเเอพพลิเคชั่นสามารถทำให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้นในเเต่ละวันเเละลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเชื้อเพลิง เลิกขับตระเวนหาผู้โดยสารไปเรื่อย ๆ เเต่เปลี่ยนมาจอดรอผู้โดยสารเรียกผ่านเเอพพลิเคชั่นเเทน นอกจากประหยัดค่าเชื้อเพลิงเเล้ว ยังช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ด้วย
ส่วนผู้ประกอบการให้เช่ารถเเท็กซี่นั้น อาจารย์บอกว่า ทุกธุรกิจเวลานี้ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันเเละกันอยู่เเล้ว ถ้าผู้ขับขี่อยู่ไม่ได้ อู่ก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจมีมาตรการเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเเบบมีส่วนลดให้เเท็กซี่ จะได้ไม่ต้องนำรถมาคืนอู่ อู่จะประหยัดค่าเเรง ไม่ต้องจ้างคนมาเฝ้าดูเเลการรับส่งรถเเท็กซี่อีกด้วย
อาจารย์สุทธิกร ยังเสนอให้ภาครัฐทุ่มงบประมาณเข้ามาช่วยในภาคเศรษฐกิจเเละสังคมให้มากกว่านี้ นอกเหนือจากการโยกงบกระทรวงละ 10% ที่อาจจะยังไม่พอ รัฐบาลสามารถกู้ภายในประเทศเพื่อทุ่มเงินได้มากกว่านี้ เพราะความจริงไทยมีสัดส่วนเงินกู้ต่อจีดีพี เพียงร้อยละ 40 ซึ่งต่ำมาก "ประเทศไทยมีปริมาณเงินออมสูง มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ" เราไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ถ้าคำนวนคร่าวๆ ตามเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่ทำกันประมาณ 10% ของ GDP ไทยเราสามารถตั้งเป้างบกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท
อาจารย์สุทธิกรฝากประเด็นสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีต้นตอมาจากปัญหาในภาคเศรษฐกิจ การเเก้ปัญหาโดยเครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นเหมือนเเค่การรักษาตามอาการ ไม่ใช่การเเก้ปัญหาถึงต้นตอ ซึ่งต้นตอจริง ๆ คือปัญหาการระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งการออกมาตรกรที่จำเป็นควบคุมการระบาดได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างสาหัส ประเทศเราควรดูตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่เน้นการตรวจโรคเเละควบคุมผู้ติดเชื้อไม่ให้เเพร่เชื้อต่อ ซึ่งเกาหลีใต้ใช้เวลาไม่ถึงเดือนสามารถตรวจผู้ต้องสงสัยได้ประมาณ 400,000 คน หรือตกวันละมากกว่า 10,000 คน การตรวจอย่างเต็มที่นี้ส่งผลให้เกาหลีใต้สามารถควบคุมโรคได้อย่างอยู่หมัด ซึ่งหลายๆ ประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาก็เริ่มตั้งเป้าที่จะเน้นการตรวจให้ได้มากขึ้นเเละเตรียมนำเข้าชุดตรวจเเบบเร็วจากเกาหลีใต้ ตราบใดที่ไม่มียารักษาหรือวัคซีนต่อให้ประเทศไทยเราควบคุมการระบาดครั้งนี้ได้ในเดือนเมษายน ถ้าปราศจากการตรวจโรคที่ครอบคลุมรวดเร็ว เมื่อเกิดมีผู้ป่วยใหม่เเค่เพียงคนเดียวก็สามารถเเพร่เชื้อให้เกิดคนติดเชื้อเป็นพันคนได้ในเวลาไม่ถึงเดือน ประเทศเราคงไม่สามารถจะออกมาตรการปิดประเทศอย่างนี้ทุกๆ รอบการระบาดได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระหว่างรอวิธีการรักษาเเละวัคซีนที่มีประสิทธิภาพคือการสร้างศักยภาพของประเทศในการตรวจวินิจฉัยให้ได้อย่างครอบคลุมเพียงพอ พร้อมไปกับการกำหนดเเนวทางควบคุมผู้ที่ตรวจพบเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างศักยภาพในการตรวจ Covid-19 จะมีค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ต้องใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในรอบถัดไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage