"..มาตรการที่จะสร้างอนามัยและความปลอดภัย (Healthy & Safety) จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กัน เพราะดูจากตัวเลขสุดท้ายของผู้เสียชีวิตบนถนน ก็ยังคงเป็นการตายจาก “อุบัติเหตุทางถนน“ เป็นหลัก (เฉลี่ย 48.92 คน/วัน) และในช่วงเดียวกันที่เริ่มมีการระบาด ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,026 ราย..."
แม้รัฐบาลจะประกาศไม่หยุดเทศกาลสงกรานต์ 2563 ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ ทั้งการปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงงานบางแห่ง แหล่งพบปะชุมนุมต่าง ๆ ทำให้กลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ต้องทยอยเดินทางกลับเพราะไม่มีรายได้และประสบความลำบากในการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ดังจะเห็นจากข่าวที่สถานีขนส่งแห่งที่สอง (หมอชิต) มียอดเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากวันละ 5 หมื่นคน เป็น 60,000-70,000 คน/วัน https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3801084
ข้อมูลจากบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางช่วงสงกรานต์กว่า 190,000 คน ซึ่งวันนี้เป็นวันที่มียอดจองตั๋วเต็มเร็วที่สุดและเป็นวันทำงานวันสุดท้ายก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ ตลอดเทศกาล คาดว่า จะมีประชาชนมาใช้บริการสูงสุด 900,000 คน ได้เตรียมเปิดเดินขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารเพิ่มเติมจากขบวนประจำอีก 18 ขบวน แบ่งเป็นเที่ยวไป ระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย. 2562 จำนวน 8 ขบวน และเที่ยวกลับระหว่างวันที่ 15-17 เม.ย. 2562 จำนวน 10 ขบวน รองรับการเดินทางของผู้โดยสารสูงสุดถึง 100,000 - 120,000 คนต่อวัน https://www.js100.com/en/site/news/view/71031
ทางด้าน กรมการขนส่งทางบก ได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) https://www.dlt.go.th/th/public-news/view.php?_did=2576 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึง การดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้เพิ่มมาตรการ ด้านใบอนุญาตขับรถ อาทิ จำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการด้านใบอนุญาตขับรถไม่เกิน 50 คนต่อรอบ จัดที่นั่งเว้น 1 ที่นั่ง หรือเว้นระยะระหว่างคนอย่างน้อย 1 เมตร ทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์การทดสอบที่ต้องสัมผัสร่างกาย เช่น รถที่ใช้ทดสอบ เครื่อง E-exam และเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายหรือสายตา ด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการทดสอบและจะเริ่มทดสอบคนต่อไป
ในขณะที่ โควิด-19 เป็นภัยที่น่ากลัวทั้งจากยอดผู้ติดเชื้อที่กระจายไปอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด แต่ที่ลืมไม่ได้คือ “ภัยเงียบ” ที่มีอยู่ทุกวันบนถนน เห็นได้จากตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา 1มค.-24 มีค. (ระยะเวลา 84 วัน) มีผู้ติดเชื้อสะสม 827 ราย (เฉลี่ย 9.84 ราย/วัน) เสียชีวิตจากโควิด 4 ราย ส่วน “อุบัติเหตุทางถนน“ มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาถึง 262,957 คนและเสียชีวิต 4,026 ราย (หรือเฉลี่ยต่อวัน มีผู้บาดเจ็บ 3,130.44 คน/วัน และเสียชีวิต 47.92 คน/วัน) (ข้อมูลจาก http://www.thairsc.com/ ณ วันที่ 25 มี.ค.2563)
เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ภาครัฐจะมีมาตรการให้ประชาชนอยู่ที่บ้าน ลดการเดินทาง แต่ยอดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก็ไม่ได้ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนยังคงมีการเดินทาง ในขณะที่การปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็ทำได้จำกัด ทำให้เกิดความเสี่ยงสำคัญบนถนน ได้แก่
- มีการใช้รถส่วนบุคคลโดยเฉพาะจักรยานยนต์ แต่ยังคงไม่สวมหมวกนิรภัย (มีบางรายขี่ จยย. ใส่หน้ากากอนามัยแต่ไม่สวมหมวกกันน๊อก)
- รถยนต์ทำความเร็วได้มากขึ้น เกิดความเสี่ยงจากการ “ขับเร็ว”
โดยสรุปแล้ว มาตรการที่จะสร้างอนามัยและความปลอดภัย (Healthy & Safety) จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กัน เพราะดูจากตัวเลขสุดท้ายของผู้เสียชีวิตบนถนน ก็ยังคงเป็นการตายจาก “อุบัติเหตุทางถนน“ เป็นหลัก (เฉลี่ย 48.92 คน/วัน) และในช่วงเดียวกันที่เริ่มมีการระบาด ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,026 ราย