"...อยากเสนอว่า ในทำนองเดียวกับญาติผู้เสียชีวิต ญาติวีรชนพฤษภา อยากให้ญาติของผู้สูญหายรวมตัวกัน เป็นคณะกรรมการญาติผู้สูญหาย และอาจจะจัดการเชิงรำลึก เชิงสังคม ไม่เฉพาะกรณีทนายสมชาย แต่รวมถึงกรณีคนอื่น ๆ ก็ได้"
วันที่ 11 มี.ค. 2563 เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จัดงานเนื่องในโอกาส 16 ปี หลังจากการบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย “ยังอยู่ในความทรงจำ ทวงความยุติธรรมที่หายไป” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวนำในเวทีรำลึกฯ ครั้งนี้ ว่า การสูญหายของ “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา บางคนอาจจำไม่ได้ว่าอะไรเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเริ่มต้นของการปะทุ ต่อสู้ หรือความขัดแย้ง รุนแรง ถึงตาย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังคงดำเนินต่อไป
“ทนายสมชาย” ต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะให้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาสามารถมีทนายความไปสู้ในชั้นศาลในกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการกลับไม่ยุติธรรม ทำให้ทนายสมชายสูญหายไป
ผอ.ศูนย์ศึกษาฯ ม.มหิดล มองว่าการครบรอบ 16 ปี ของการสูญหายไปในวันนี้ ลองถามว่า ถ้า “ทนายสมชาย” ยังมีชีวิตอยู่ จะมีอายุ 70 ปี และ 16 ปี คงจะทำประโยชน์ให้แก่สังคมและกระบวนการยุติธรรมได้ ทั้งนี้ กรณีนายธนากร เทียนชนะ ผู้พิพากษา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้เพื่อกระบวนการยุติธรรม แม้ไม่ได้ถูกทำให้สูญหาย แต่ยืนยันคำกล่าวของตนเองด้วยชีวิต
“ประเทศไทยมีผู้สูญหายเท่าไหร่นั้น จะว่าเยอะก็เยอะ น้อยก็น้อย ซึ่งตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติขึ้นทะเบียนไว้ ปี 2562 มีทั้งหมด 76 ราย แต่ความจริงมีมากกว่านี้ เพราะการสูญหายเป็นกลุ่มเกิดขึ้นสอดคล้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งไม่อาจย้อนกลับไปสมัยจอมพลเผด็จการคนก่อนได้”
เน้นเฉพาะเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ไม่ทราบ ไม่มีรายชื่อของผู้สูญหายในเหตุการณ์นั้น ใกล้เข้ามาอีก พ.ค. 2535 กำลังจะสร้างอนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม ริมถนนจักรพงษ์ ใกล้กับกรมประชาสัมพันธ์เดิม ญาติรวบรวมมีผู้เสียชีวิต 44 ราย รู้ชื่อเพียง 41 ราย อีก 3 ราย จะจารึกไว้ที่อนุสรณ์ฯ ว่า เป็นชายไม่ทราบชื่อ นอกเหนือจากนี้มีอีก 48 คน มีการตรวจสอบแล้วสูญหายไปเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์พฤษภา 2535
ต่อมาประมาณปี 2547 มีสงครามยาเสพติด เสียชีวิตอย่างเป็นทางการกว่า 2,000 ราย แต่สูญหายไป และมี 1 ราย ปรากฎชื่อ เป็นคนชนเผ่าละหู่ แต่มิได้มีการบันทึกไว้ ขณะที่ปัจจุบันอาจนึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยากในการนับจำนวนผู้สูญหาย เพราะหลายคนอพยพไปอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน หลายคนสูญหายไปแล้วและกรณีชัดเจนที่สุด คือ กรณี “ทนายสมชาย”
ผอ.ศูนย์ศึกษาฯ ม.มหิดล สรุปบทเรียนว่า คนที่ต่อสู้ คนที่รักความเป็นธรรม คนที่ปกป้องสิทธิตนเองและสิทธิผู้อื่น มักจะเป็นบุคคล “ตกเป็นเหยื่อ” เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของสังคมต้องปกป้อง เยียวยา เป็นหน้าที่ของรัฐปราบปรามการทำให้บุคคลสูญหาย
อย่างไรก็ตาม นางอังคณา (ภรรยา) และลูกทำสิ่งที่ประทับใจ เป็นวิธีตอบแทนบุญคุณของทนายสมชาย คือ ทำในสิ่งที่ทนายสมชายอยากทำ
ทั้งนี้ การเยียวยาบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ แต่อยากเห็นการเยียวยาโดยสังคมด้วย กรณี 14 ต.ค.2516 เรามีอนุสรณ์สถาน 14 ต.ค. 2516 หรือกรณีพฤษภา 2535 กำลังจะมีอนุสรณ์สถานฯ ที่พยายามมาหลายสิบปี
ตั้งคำถามว่า แล้วบุคคลที่สูญหาย 76 ราย ที่วันนี้ปรากฎให้เห็น ทำอย่างไร จึงอยากเสนอว่า ในทำนองเดียวกับญาติผู้เสียชีวิต ญาติวีรชนพฤษภา อยากให้ญาติของผู้สูญหายรวมตัวกัน เป็นคณะกรรมการญาติผู้สูญหาย และอาจจะจัดการเชิงรำลึก เชิงสังคม ไม่เฉพาะกรณีทนายสมชาย แต่รวมถึงกรณีคนอื่น ๆ ก็ได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/