"...คำแนะนําในการนําเสนอข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย สิ่งที่ควรปฏิบัติ 1) เป็นสื่อกลางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ ให้กําลังใจในการเผชิญความทุกข์ร่วมกัน 2) ให้ข้อมูลช่องทางให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ การให้คำปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต บุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ 3) ให้ข้อมูลความรู้จากแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องแก่สังคมเกี่ยวกับสัญญาณเตือนบุคคลที่อยู่ในภาวะเครียดกดดันที่มีแนวโน้มที่จะก่ออันตราย และการช่วยเหลือเบื้องต้น 4) ให้คำแนะนําในการผ่อนคลายตนเองจากความกดดันในการติดตามข่าวสาร เช่น ไม่ใช้เวลามากเกินไปในการรับชม เบนความสนใจไปเรื่องอื่นบ้างและไม่ติดตามเพจที่ใช้ถ้อยคํารุนแรง 5) การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกําลังใจในกลุ่มผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6) คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต มีความตระหนักระมัดระวังการนําเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น เยาวชนและครอบครัวผู้มีความเจ็บป่วยทางจิต..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : พ.อ. หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามท้ายประกาศราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ 3/2563 เรื่อง ข้อเสนอแนะสำหรับเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญบริเวณศูนย์การค้าและพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมา ฉบับลงวันที่ 11 ก.พ. 2563 แสดงความเสียใจและข้อแนะนำต่อกรณีเหตุการณ์รุนแรงบริเวณศูนย์การค้าและพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
รายละเอียดปรากฏดังต่อไปนี้
อาศัยอำนาจตามความในหมวด 1 ข้อ 3 (10) แห่งข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2538 และมติคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีมติให้เผยแพร่คำแนะนําข้อเสนอแนะสำหรับ เหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญบริเวณศูนย์การค้าและพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมา
จากเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นบริเวณศูนย์การค้าและพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวและญาติของ ผู้เสียชีวิต ตลอดจนผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ส่งผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม
ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพจิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะใน กรณีดังกล่าว ประกอบด้วย
1. คำแนะนําในการนําเสนอข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย
2. โรคเครียดภายหลังภยันตราย (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) กับการดูแลตนเอง และผู้ใกล้ชิด
3. การดูแลตนเองสำหรับบุคคลทั่วไปที่รับรู้เหตุการณ์ร้าย
1. คำแนะนําในการนําเสนอข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
1) เป็นสื่อกลางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ ให้กําลังใจในการเผชิญความทุกข์ร่วมกัน
2) ให้ข้อมูลช่องทางให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ การให้คำปรึกษาทางอินเตอร์เน็ต บุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้
3) ให้ข้อมูลความรู้จากแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องแก่สังคมเกี่ยวกับสัญญาณเตือนบุคคลที่อยู่ในภาวะเครียด กดดันที่มีแนวโน้มที่จะก่ออันตราย และการช่วยเหลือเบื้องต้น
4) ให้คำแนะนําในการผ่อนคลายตนเองจากความกดดันในการติดตามข่าวสาร เช่น ไม่ใช้เวลามากเกินไปในการรับชม เบนความสนใจไปเรื่องอื่นบ้างและไม่ติดตามเพจที่ใช้ถ้อยคํารุนแรง
5) การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกําลังใจในกลุ่มผู้อยู่ในเหตุการณ์
6) คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต มีความตระหนักระมัดระวังการนําเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น เยาวชนและครอบครัวผู้มีความเจ็บป่วยทางจิต
7) ลดช่วงเวลาการนําเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ให้น้อยลง จํากัดการนําเสนอข่าวแบบรายงานสดหรือทันทีที่เกิดเหตุ เพราะอาจกลายเป็น “ความตื่นเต้น” ของการติดตามข่าว ลดการเสนอข่าวแบบเร้า อารมณ์ อาจนําเสนอข่าวในรูปของแถบอักษรข่าววิ่ง เพื่อช่วยลดความสนใจในเหตุการณ์ซึ่งอาจมีผลทําให้ลดพฤติกรรมเลียนแบบ
8) ระมัดระวังการนําเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการจําลองเหตุการณ์ ซึ่งต้องไม่เกินกว่าความเป็นจริง มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ
1) ให้ความสำคัญกับผู้ก่อเหตุ เอ่ยชื่อซ้ำ ๆ ลงภาพผู้กระทำและเหยื่อ วิเคราะห์ตัวตน ปูมหลังรวมทั้งครอบครัวของผู้ก่อเหตุ
2) นําเสนอขั้นนตอน หรือเหตุผลของการกระทำอย่างละเอียด
3) เปิดคลิปเหตุการณ์วนไปวนมา
4) นําเสนอบรรยายรายละเอียดของพฤติกรรมของผู้กระทำ ทั้งก่อน ระหว่างเหตุการณ์ และภายหลังเหตุการณ์ เช่น การเตรียมการ อาวุธที่ใช้ วิธีการในการต่อสู้ อาจกลายเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับ ผู้เลียนแบบ ควรเน้นที่เหตุการณ์มากกว่าพฤติกรรมของผู้กระทำ ยิ่งกล่าวถึงน้อย โอกาสที่จะถูกเลียนแบบก็จะน้อยลง
5) เสนอภาพข่าวและภาษาที่มีลักษณะอุดจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยองซ้ำเติมความทุกข์โศก หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
6) การสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุหรือญาติในลักษณะที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วม ซึ่งจะก่อความเครียดและรบกวนการฟื้นตัวทางจิตใจของเขา
7) นําเสนอข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจในการให้ข้อมูลหรือผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเหตุดังกล่าว โดยการคาดเดาเหตุการณ์ หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเหตุการณ์นั้น ๆ
8) นําเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการเปิดเผย ข้อมูล รายละเอียดการปฏิบัติภารกิจอันจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
2. โรคเครียดภายหลังภยันตราย (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) กับการดูแลตนเองและผู้ใกล้ชิด
อาการของโรคเครียดภายหลังภยันตราย ประกอบด้วย 3 อาการหลัก และระยะเวลานานเกินกว่า 1 เดือน ดังนี้
1) มีพฤติกรรมนึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำ ๆ นึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำ ๆ ฝันร้ายถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำ ๆ และเห็นภาพเหตุร้ายเหมือนภาพติดตาซ้ำ ๆ ในขณะตื่น
2) มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ สิ่งเร้า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือ สถานที่ สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์นั้นที่จะกระตุ้นให้นึกถึง จนเกิดอาการตื่นตระหนก ผวา วิตกกังวล และ ทำให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำ ๆ รุนแรงมากขึ้น
3) มีอาการตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก มองโลกและตนเองใน แง่ลบ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง บางรายอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกซึมเศร้า หดหู สิ้นหวัง หรือ การคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง
หมายเหตุ เมื่อเกิดอาการใน 3 ข้อนี้ นานเกินกว่า 1 เดือน จำเป็นต้องพบจิตแพทย์ เนื่องจากโรคเครียดภายหลังภยันตราย เป็นอาการที่ส่งผลกระทบกับจิตใจและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอย่างมาก
การดูแลตนเอง และ ผู้ใกล้ชิดเมื่อเกิดภาวะโรคเครียดภายหลังภยันตราย ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สําคัญ ดังนี้
1. การดูแลด้านจิตใจ
1.1 งดการรับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ที่ยิ่งกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ร้าย ในทุกช่องทาง
ควรงดสื่อโซเชียล รายการข่าวต่าง ๆ รวมถึงการงดการพูดคุยซักถามถึงเหตุการณ์ที่ยิ่งกระตุ้นให้นึกถึง เพราะจะกระตุ้นให้อาการเครียดเป็นมากขึ้น และไม่ส่งผลดีอะไร
1.2 การกลับมาดูแลฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจอย่างเหมาะสม
การทำกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การออกกําลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี ต่อสุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจที่รู้สึกสบายใจ การทำกิจกรรมดี ๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง โดยงดการพูดถึงเหตุการณ์ร้ายนั้น และการมีเวลาหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การทำกิจกรรมผ่อนคลายบําบัด เช่น การผ่อนคลายด้วยการฟังเพลงบรรเลงที่ช่วยให้ ใจสบาย การทำโยคะ การผ่อนคลายด้วยการรับรู้ลมหายใจเข้า-ออก (exercise breathing) เป็นต้น
1.3 การรับฟัง อย่างเปิดใจ และเข้าใจ
การเปิดใจรับฟังด้วยความเห็นใจ และเข้าใจ เป็นต้นทางของการเยียวยาใจที่ดีกับทั้งกับคนรอบข้าง และกับคนในสังคม มีแนวทางดังนี้
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
- รับฟังอย่างใส่ใจ
- รับฟังด้วยความเคารพในกันและกัน
- รับฟังโดยไม่ตัดสิน
- รับฟังอย่างไม่มีอคติ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ
- การตําหนิติเตียนกัน เช่น เตือนแล้วไม่เชื่อเลยต้องไปเจอเหตุการณ์นี้
- การให้คำแนะนํา สั่งสอน ทั้งที่ยังไม่ได้รับฟัง และ ยังไม่ได้เข้าใจความรู้สึกเขา เช่น อย่าเครียด คิดมากไป ทำใจสบายๆ เดี๋ยวก็หายเครียด หรือ สู้สู้ อย่าอ่อนแอ เป็นต้น
1.4 การแสดงความรัก ความห่วงใย และการให้กําลังใจ
การแสดงความรัก ความห่วงใย และ การให้กําลังใจ ด้วยคําพูด สีหน้า แววตา การแสดงออกที่ส่ง ความรู้สึกดีๆ ความรัก ความห่วงใย เช่น รอยยิ้ม การสัมผัส การโอบกอด การถามไถ่ทุกข์สุข จากใจที่มีความรัก ความห่วงใย เป็นพลังที่ดี ที่ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลําบากนี้ไปได้
1.5. การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อร่างกายเริ่มแข็งแรง แนะนําการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ จะทำให้อาการทางจิตใจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
2. การพบจิตแพทย์
เนื่องจากอาการนี้เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่กับการดูแลจิตใจตนเองและผู้ใกล้ชิด จะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สร้างความปลอดภัย ลดความ เสี่ยงอันตรายที่เกิดขึ้นจากอาการได้ การรักษาประกอบด้วยการทำจิตบําบัด ร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาและบรรเทาอาการ
3. การดูแลตนเองสำหรับบุคคลทั่วไปที่รับรู้เหตุการณ์ร้าย
1. ลดหรืองดการเสพข่าวสาร
การเสพข่าวสารที่เป็นเหตุการณ์ร้ายซ้ำ ๆ จะกระตุ้นความคิดให้วนเวียนกับเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำ ๆ ส่งผล ให้จิตใจเศร้าหดหู เจ็บปวด โกรธแค้น ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของผู้เสพข่าว การลดหรืองด การเสพข่าวสารจะส่งผลดีต่อจิตใจที่ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับความคิดและอารมณ์ด้านลบตลอดเวลาโดยไม่จําเป็น
2. หากิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะสมต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจในรูปแบบอื่น นอกจากการเล่น Social media หรือ เสพข่าวสาร
ควรมีการผ่อนคลายอารมณ์ในรูปแบบอื่น ที่ทำให้จิตใจเบิกบานผ่อนคลาย ส่งผลดีกับสุขภาพกายและใจ เช่น การออกกําลังกาย การอ่านหนังสือเล่มโปรด การดูหนัง ฟังเพลง การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว พูดคุย ในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องเหตุการณ์ร้าย เป็นการได้ผ่อนคลายที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งเป็นการได้สร้างสัมพันธภาพ และการปลอบขวัญกันภายในครอบครัว
3. ดูแลจิตใจอย่างมีสติ
การเสพข่าวสารอย่างมีสติ รู้เท่าทันความคิด อารมณ์ ความคาดหวัง จะช่วยให้ความคิด อารมณ์และ ความคาดหวัง ไม่มารบกวนจิตใจมากจนเกินไป ความทุกข์หลายครั้งเกิดจากความคิดปรุงแต่ง หรือเกิดจากถูกอารมณ์ด้านลบ ครอบงำ เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า อารมณ์กังวล หรือ ทุกข์เพราะความคาดหวัง ดังนั้นการกลับมาตั้งสติ ตระหนักรู้ สภาพจิตใจและร่างกายจะช่วยให้รู้ว่าจิตใจ หรือร่างกายกําลังทุกข์อยู่ และทุกข์เพราะอะไร เช่นทุกข์เพราะคิดมาก ทุกข์ เพราะอารมณ์โกรธ ทุกข์เพราะผิดหวัง หรือ ทุกข์เพราะร่างกายกําลังย่ำแย่ เป็นต้น
การเข้าใจในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถดูแลจิตใจ และร่างกายได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการจัดการที่ต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ เช่นรับรู้ได้ว่าจิตใจกําลังเศร้าหดหู หรือร่างกายกําลังปวดศีรษะจากการเสพข่าวสาร เมื่อเกิดสติรู้ตัว ให้หยุดเสพข่าวสารนั้น
4. ไม่แชร์ภาพหรือข่าวเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น
การแชร์ภาพ หรือข่าวเป็นการกระตุ้นให้สังคมเกิดการวนเวียนอยู่กับความคิดและอารมณ์ด้านลบ อันไม่เกิดผลดีต่อผู้ใด นอกจากนี้เหตุการณ์ร้ายที่เป็นจุดสนใจของสังคมมาก สามารถส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งสนใจที่จะอยาก มีพฤติกรรมในแบบนั้นบ้าง การแชร์ภาพหรือข่าวซ้ำๆ อาจเป็นการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบทำให้เกิดความรุนแรง ในแบบเดียวกันขึ้นได้ ประชาชนและสื่อจึงต้องมีความตระหนักระมัดระวังในการส่งข่าวหรือข้อมูล
ดังนั้น ทุกคนสามารถช่วยกันรักษาสังคมนี้ได้ ด้วยการ งดการแชร์ภาพ บทความ หรือ ข้อความจาก เหตุการณ์ร้ายนั้น เพื่อไม่ให้พฤติกรรมนั้น กลายเป็นพฤติกรรมที่โดดเด่น โด่งดัง หรือ เป็นจุดสนใจ ที่จะดึงดูดให้คนบางกลุ่ม สนใจอยากทำตาม
5. การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรแสดงความเห็นด้วยความเคารพผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหมด ทั้งผู้ก่อเหตุ ครอบครัวผู้ก่อเหตุ ผู้เสียหาย และ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ
การแสดงความคิดเห็นควรเป็นไปแบบสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ให้ข้อคิดที่ดีเป็นประโยชน์ แก่ตนเองและสังคม งดการแสดงความเห็นที่ตําหนิติเตียน ตัดสิน ด่าทอ ในทุกฝ่าย เพราะการใช้ถ้อยคํารุนแรง จะยิ่งกระตุ้น และส่งผ่านความรุนแรงให้เกิดต่อเนื่องไปในสังคม รวมถึงสร้างบาดแผลทางใจได้อย่างมาก ไม่แพ้ความรุนแรงจาก การกระทำอื่น จึงสมควรระวัง และใส่ใจการแสดงความคิดเห็นต่อคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เราไม่ได้รู้จักเขาดีพอ
ในทางจิตวิทยาพบว่า การจัดการความรุนแรงด้วยความรุนแรง ไม่เคยให้ผลที่ดีในระยะยาวแต่กลับเป็น เหตุกระตุ้นให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรม เพราะได้สร้างรอยแผลใจจากความเจ็บช้ำ และความโกรธแค้น การร่วมสร้างสังคมที่ไม่มี โศกนาฏกรรมความรุนแรง จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน ด้วยการหยุดส่งต่อความรุนแรงไม่ว่าจะในรูปแบบใด ทั้งท่าที คําพูด ความเห็น ข้อความ บทความที่ไม่เคารพต่อกัน ที่ตัดสินกัน ที่ทำร้ายจิตใจกัน เพราะความรุนแรงหลายครั้งเริ่มต้น จากความเจ็บปวด เมื่อรู้สึกเจ็บปวดมาก ความเจ็บปวดนั้นจะกลายร่างเป็นความโกรธแค้นได้ในที่สุด
6. เรียนรู้จากเหตุการณ์
ทุกเหตุการณ์นํามาเป็นบทเรียนได้เสมอ การกลับมาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และช่วยกันเรียนรู้ ไม่กล่าวโทษใคร หรือฝ่ายใด แต่มาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ จะช่วยให้มีแนวทางที่ดีในการป้องกันปัญหาและ แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สังคมจะดีได้ต่อเมื่อทุกคนช่วยเหลือกันอย่างมีสติ มีความเข้าใจที่ดี ทั้งในการดูแลจิตใจ ตนเอง ครอบครัว คนใกล้ชิดและคนในสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/