"...ที่สำคัญน่าจะเป็นการพัฒนาให้คนในสังคมรู้เท่าทันข่าวลวง ด้วยการทำให้มีความรู้ ผ่านระบบและกระบวนการเรียนรู้ที่ดี คิดวิเคราะห์เป็น และที่สำคัญกว่านั้นคือ สอนให้คนในสังคมรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่หลงไปกับกิเลส ความกลัว ความอยาก ความโกรธขึ้งหมองใจสะอิดสะเอียน ที่มักเป็นจุดอ่อนของคนซึ่งแหล่งข่าวลวงนั้นชอบนำมาใช้เป็นหลุมพรางอย่างได้ผลเสมอมา..."
คำศัพท์เกี่ยวกับข่าวลวง (fake news)/ข้อมูลลวง (fake information) ที่เราควรทราบนั้น ผมอยากเน้น 2 คำหลักๆ คือ หนึ่ง "Misinformation" แปลแบบบ้านๆ ว่า ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ตามหลักการเหตุผล และ/หรือความรู้ที่มีอยู่ตามมาตรฐาน
สอง "Disinformation" หมายถึงข้อมูลลวงตามคำจำกัดความข้างต้นของ Misinformation แต่ได้รับการเผยแพร่โดยบุคคล กลุ่มบุคคล หรืออื่นๆ ไปเพื่อหวังผลบางอย่าง เช่น ขายของ หวังเงินตรา หวังชื่อเสียง หวังอำนาจ ฯลฯ ในสากลโลก หรือในสังคมรอบตัวยุคปัจจุบัน เรามักเห็นข่าวลวงกันอย่างดาษดื่น ที่ชัดมากคือ เรื่องที่เล่นกับความเกลียด ความกลัว ความโลภ ความอยาก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์
เรื่องสุขภาพมักถูกหยิบยกมาเล่นเสมอ และมักแฝงด้วยผลประโยชน์บางอย่างของคนที่แพร่ข้อมูลลวง ไม่ว่าจะเป็นการขู่ให้กลัวความแก่ ความพิการ อวัยวะเสื่อม สมองเสื่อม โรคเรื้อรัง ตลอดจนให้กลัวผลข้างเคียงจากยาแผนปัจจุบัน
พอขู่ซ้ำๆ ความกลัวย่อมบังเกิด ย่อมเป็นตัวบีบให้คนง่ายต่อการถูกหลอกด้วยการแพร่ข้อมูลลวงที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง และย่อมง่ายยิ่งขึ้น หากข้อมูลลวงนี้ถูกสร้างหรือเขียนขึ้นมาแบบจงใจให้ยากต่อการทำความเข้าใจ ใช้ศัพท์เทคนิคเยอะๆ หรือต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านมากๆ ด้านการวิจัย ย่อมทำให้คนไม่สามารถรู้เท่าทันได้ว่า ทดลองวิจัยมีกี่ระยะ และต้องไปถึงแค่ไหนจึงจะเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับมาใช้ในชีวิตอย่างได้ผลจริง
เราจึงไม่แปลกใจที่คนจำนวนมากจึงหลงเชื่อข่าวลวงงอมแงม เช่น อาหารเสริมป้องกันโรคอวัยวะเสื่อม สมองเสื่อม โรคเรื้อรัง ไม่ป่วย ไม่แก่ กินแล้วอยู่ได้โดยไม่หิว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ทดลองในห้องแล็บ ในหนูทดลอง และไม่ได้รับการพิสูจน์ตามมาตรฐาน
เราก็คงไม่แปลกใจอีกว่า ไม่ใช่แค่อาหารเสริมสกัดจากโน่นนี่นั่น ไวน์เอย องุ่นเอย ส้มเอย กล้วยเอย เบอรี่เอย แต่ข่าวลวงยังขยายไปได้ทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่คุณสมบัติสรรพคุณเทพเจ้าของเครื่องรางของขลัง ยาเสพติดรักษาทุกโรค ตลอดจนถึงการบ้านการเมืองต่างๆ
ที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ หากแหล่งข่าวลวงนั้นมียศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งการเมือง ตำแหน่งวิชาการ วิชาชีพที่น่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายแล้วแพร่ข่าวลวงเพื่อเงินสู่ตนเองหรือธุรกิจครอบครัว หรือพรรคพวก
ลำบากหน่อยคือ กลไกอำนวยความยุติธรรมก็ไม่สามารถก้าวเข้ามาจัดการแหล่งข่าวลวงได้อย่างทันท่วงที ทำให้สถานการณ์ข้างต้น เหยื่อทั้งหลายก็ตกเป็นเบี้ยของแหล่งแพร่ข่าวลวงเสมอมา
ประเทศฝรั่งเค้าเคยพยายามหาคำตอบว่า ใครหว่าที่มันชอบเผยแพร่ข่าวลวง?
หากไม่นับการจงใจกระทำการแพร่ข่าวลวงของหน่วยงาน องค์กร หรือประเทศแล้ว
มีการวิจัยเพื่อลองเจาะลึกระดับบุคคลดูว่า ใครกันที่ชอบแชร์ข่าวลวงนัก ลองมาดูกันครับ
Grinberg และคณะพบว่า ข่าวลวงเกี่ยวกับการเมืองในต่างประเทศนั้นมักพบเยอะอยู่ในเครือข่ายสังคมบางแพล็ตฟอร์ม เช่น ทวิตเตอร์
มีเพียงผู้ใช้เครือข่ายร้อยละ 0.1 เท่านั้นที่แพร่ข่าวลวงส่วนใหญ่ที่กระจายในสังคมถึงร้อยละ 80 และมักเป็นบุคคลที่มีลักษณะสุดโต่ง เชื่องมงายกับด้านของข่าวที่ต้องการจะเผยแพร่ และมักเป็นคนสูงอายุ
ในขณะที่ Guess และคณะ ได้ทำการวิจัยการแพร่กระจายข่าวลวงด้านการเมืองผ่านเฟซบุ๊คพบว่า คนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มจะแพร่กระจายข่าวลวงมากกว่าคนอายุน้อย (18-29 ปี) ถึง 7 เท่า
สำหรับเรื่องข่าวลวงที่เกี่ยวกับสุขภาพนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีรายงานวิชาการ/วิจัยรูปแบบต่างๆ อยู่กว่า 40 ชิ้น แต่ยังไม่กระจ่างมากนักเกี่ยวกับกลไกการแพร่ข่าวลวงระดับบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง หรือด้านสุขภาพ มีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า การจะจัดการตามจับคนร้ายที่แพร่ข้อมูลลวง ข่าวลวง จะในลักษณะของ misinformation หรือจะเป็น disinformation ก็ตาม ก็คงเป็นการยาก เพราะปัญหามีมากเกินกว่าจะจัดการได้ทั้งหมด แม้จะตั้งศูนย์ติดตามตรวจสอบไล่จับ ก็คงได้ผลแค่ระดับนึง
ที่สำคัญน่าจะเป็นการพัฒนาให้คนในสังคมรู้เท่าทันข่าวลวง ด้วยการทำให้มีความรู้ ผ่านระบบและกระบวนการเรียนรู้ที่ดี คิดวิเคราะห์เป็น และที่สำคัญกว่านั้นคือ สอนให้คนในสังคมรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่หลงไปกับกิเลส ความกลัว ความอยาก ความโกรธขึ้งหมองใจสะอิดสะเอียน ที่มักเป็นจุดอ่อนของคนซึ่งแหล่งข่าวลวงนั้นชอบนำมาใช้เป็นหลุมพรางอย่างได้ผลเสมอมา
หากทำได้ ต่อให้มีข่าวลวงมากแค่ไหน ถ้าคนไม่ไปตกหลุม ข่าวลวงก็จะหมดอายุไปโดยวงจรชีวิตของข่าวเอง
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
1. Swire-Thompson B, et al. Public health and online misinformation: Challenges and Recommendations. Annu Rev Public Health, 2020;41:14.1-14.19.
2. Dietram A, et al. Science audiences, misinformation, and fake news. PNAS, 2019;116(16):7662-9.