"...“วันนี้กาแฟกระจายไปทั่วทุกดอย ทุกคนก็ดื่มกาแฟ รู้แต่ว่าอะราบิก้า แต่ที่มาของกาแฟ คือ ผลงานของพระองค์ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” สุรสิทธิ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจในฐานะคนในพื้นที่ และบอกว่าการเรียนรู้เรื่องกาแฟเป็นการเรียนที่ไม่สิ้นสุด คนที่มุ่งทำงานเกี่ยวกับกาแฟ จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างจริงจังต่อไป การรู้จักรากเหง้าและความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชุมชน และเข้าใจอัตลักษณ์ของกาแฟจะทำให้กาแฟบ้านผาหมอนมีความงดงามและยั่งยืนเคียงคู่กับชุมชนอย่างแน่นอน เพราะกาแฟผาหมอนเป็นกาแฟที่ปลูกแล้วไม่ได้ให้ปุ๋ยให้ยาปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น 2 – 3 ปี เมื่อได้ผลผลิตก็เก็บไปเรื่อยๆ ถือว่าเป็นกาแฟอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มันจะมีความเด่นของมันในพื้นที่ จะมีรสชาตินุ่มไม่ค่อยเข้มและมีความหอมเชอรี่ค่อนข้างที่จะเด่น จะได้กลิ่นผลไม้และน้ำผึ้งที่ละมุนมาก ต้องค่อยๆ คั่ว ถ้าคั่วเกินไปรสชาติที่เด่นจะหายไป สุรสิทธิ์เล่าอย่างที่รู้จักและเข้าใจในเรื่องกาแฟบริเวณพื้นที่ของตนเป็นอย่างดี..."
ในปี พ.ศ.2505 กรมประชาสงเคราะห์ร่วมกับองค์การสหประชาชาติได้ทำการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก พบว่าบนดอยสูงอันเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ มีการปลูกฝิ่นเฉลี่ยครอบครัวละ 3 – 4 ไร่ และมีการปลูกสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2522 – 2523 ตัวเลขพื้นที่ปลูกฝิ่นในประเทศไทยมีสูงถึง 10 ล้านไร่ ดังจะเห็นได้ว่าในฤดูหนาวดอกฝิ่นจะบานสะพรั่งไปทั่วทั้งดอยทอดยาวกว้างไกลไปจนสุดสายตา ไม่ว่าจะเป็นดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง เชียงดาว และดอยคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมาร์และลาว ในเขตอำเภอ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้กลายเป็นทางผ่านสำคัญของการลำเลียงยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำไปสู่ที่อื่นทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณดอยสามหมื่นซึ่งเป็นป่าต้นน้ำนอกจากกลายเป็นภูเขาหัวโล้นและปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งซ่องสุมการผลิตเฮโรอีนแหล่งสำคัญอันยากแก่การปราบปรามอีกด้วย
จากปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข ทำให้ชนเผ่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น จนในที่สุดเข้าสู่วงจรเป็นผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติดไปโดยปริยาย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงหากไม่แก้ไข การตั้งโครงการหลวงจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยพระองค์เองโดยไม่ต้องรอหน่วยงานใดมาช่วยเหลือ ทั้งยังจะช่วยบูรณาการให้หน่วยงานทั้งหลายให้มาทำงานร่วมกันโดยมีพระราชดำรัสว่า
“โครงการหลวงได้เริ่มขึ้นเป็นกิจการเล็กๆ ซึ่งไม่เป็นโครงการแต่เน้นการไปเที่ยวมากกว่า คือ ไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ได้เห็นว่าควรจะช่วยประชาชนในการอาชีพ จึงนำสิ่งของไปให้เขาเพื่อที่จะพัฒนาการอาชีพของชาวบ้านต่อมาก็ได้เพิ่มขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วยและมีคนส่วนหนึ่งช่วยเพื่อที่จะให้การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ต่อมามีความร่วมมือของทางองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนรัฐบาลต่างประเทศด้วยจึงขึ้นมาเป็นโครงการที่เรียกว่า “โครงการหลวง””
“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่ง คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้พยุงตัวให้มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่า ควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ คือ ปัญหายาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่น และค้าฝิ่นได้ผลดี อันเป็นผลอย่างหนึ่ง”
เมื่อเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาในจังหวัดภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงแก้ปัญหาเบื้องต้นอันเป็นปัญหาพื้นฐานของชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ในเรื่องของการมีสัญชาติ โดยในปี พ.ศ.2506 เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ พระองค์ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกแด่ชาวเขาที่เลิกฝิ่นให้ใช้แทนบัตรประชาชนโดยเหรียญนี้มีลักษณะเป็นเหรียญห้อยคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ด้านหลังเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย และมีการตอกโค้ดหรือหมายเลขประจำตัวลงในแต่ละเหรียญ ซึ่งในเวลานั้นการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวเขาและการสำรวจสำมะโนประชากร การพิสูจน์สัญชาติ และการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ชาวไทยภูเขาเป็นไปได้ยากมาก เหรียญพระราชทานนี้จึงถือเป็นบัตรประชาชนของชาวเขาโดยพฤตินัยซึ่งในเวลานั้นมีค่ามาก แม้ในปัจจุบันบรรดาชนเผ่าต่างๆ ที่เป็นชาวไทยภูเขาจะได้รับการขึ้นทะเบียนบัตรประชาชนแล้วก็ตาม แต่ทุกคนก็ยังเก็บเหรียญพระราชทานนั้นไว้เป็นที่ระลึกตราบจนทุกวันนี้
เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือทุกปี จนในปี พ.ศ.2513 งานของพระเจ้าอยู่หัว และโครงการหลวงก็เดินหน้าต่อไป หลังจากทรงพบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นและตัดไม้ทำลายป่าจึงจะต้องพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแทนการปลูกฝิ่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี กรมพัฒนาที่ดินและคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งสถาบันวิจัยพืชเมืองหนาวได้รับพระราชทานนามว่า สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง มีภารกิจในการวิจัย และทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เช่น ไม้ผล ไม้ดอก และผักเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเมืองหนาวมาเพาะปลูกเป็นอาชีพ และพืชสำคัญที่ทรงสนับสนุนให้ปลูกแทนฝิ่น คือ กาแฟ
ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมชาวกะเหรี่ยง บ้านหนองหล่ม ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง บนดอยอินทนนท์ ซึ่งพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนัก เล่าไว้ว่า “ตอนนั้นพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาในแถบดอยอินทนนท์มาแล้วหลายหมู่บ้านเป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วท่านภีศเดชยังชวนให้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังบ้านหนองหล่ม ซึ่งต้องเดินไปตามสันดอยผ่านไปอีกหลายหมู่บ้าน ระยะทางเดินไป – กลับ ประมาณ 12 กิโลเมตร ผมเห็นว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงเหนื่อยเกินไป ผมเลยต้องทะเลาะกับท่านภีศเดชและต่อว่าท่านว่า ทำไมจะต้องให้ทั้ง 2 พระองค์เหนื่อยขนาดนั้นเพื่อไปดูกาแฟเพียง 2 - 3 ต้น” แต่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า
“แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขาปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมดยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง จึงต้องไปดูจะได้แนะนำเขาต่อไปว่าทำอย่างไรกาแฟถึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้นและทรงย้ำว่าการพัฒนาต้องเหนื่อยยาก”
พ่อพะโย่ ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองหล่มที่ได้เฝ้ารับเสด็จในครั้งนั้นเล่าว่า วันที่ท่านมาท่านว่า ขอผู้ใหญ่นำทางให้ เราจะพัฒนาดอยอินทนนท์จะสร้างโครงการหลวง กี่ปีผมก็จะมาและทุกครั้งที่ท่านมา ท่านก็จะถามว่า สบายดีมั๊ย แล้วก็เดินไปด้วยกันและก็ถ่ายรูปทุกครั้ง คิดถึงในหลวงผมเคยเดินไปกับท่าน ตั้งแต่ปี 2517 เสด็จมาหนองหล่ม ตอนนั้นผมเป็นผู้ใหญ่บ้านท่านรับสั่งว่า เราจะเข้าหาชาวบ้าน อยากรู้ว่าชาวเขาอยู่กันยังไง ผมก็บอกว่า เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็ดไก่ ทำนา ทำสวนฝิ่นด้วยแต่ไม่พอกิน มีคนจนเยอะ สมัยนั้นดอยอินทนนท์มีฝิ่นและหญ้าคา มีการเผาป่าทุกปี คนจนมาก กินฝิ่นเยอะ ขนาดรองเท้าไม่มีใส่ เสื้อผ้าก็มี ชุดเดียว ถ้าเปื้อนก็เอาไปซักแล้วก็นุ่งต่อ พระเจ้าอยู่หัวบอกว่า ไม่เป็นไรปีหน้าจะมาใหม่ เอาข้าวปลาอาหารมาให้ แล้วก็เสด็จไปดูต้นกาแฟ ผมบอกว่ามีอยู่ 2 – 3 ต้น ถวายให้ในหลวง ท่านดูต้นกาแฟและถ่ายรูป
กาแฟต้นแรกที่บ้านหนองหล่ม
ในวันนั้นชาวบ้านผาหมอนได้ถวายเมล็ดกาแฟแด่พระเจ้าอยู่หัวจำนวน 10 กิโล และจากเมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านผาหมอนทูลเกล้าฯ ถวาย ได้กลายเป็นต้นกาแฟจำนวน 1 ล้านต้น ในอีก 2 ปีต่อมา ซึ่งได้พระราชทานให้ชาวเขาทุกดอยทั่วภาคเหนือไปปลูกต่อ กลายเป็นต้นกาแฟที่เจริญงอกงามในทุกดอยมาถึงทุกวันนี้
พ่อพะโย่ ตาโร เล่าต่อไปว่า
“ตอนที่ท่านมาครั้งที่ 2 รับสั่งว่าอยากให้ปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น คือจะไปสร้างโครงการหลวงทดแทนฝิ่น กาแฟเขาปลูกกันทั้งโลก ปลูกเถอะจากกาแฟไม่กี่ต้นก็ส่งเสริมให้ปลูกขึ้นมา สมัยก่อนไม่มีกาแฟเลย พอในหลวงเข้ามาก็เพิ่มขึ้นทุกดอย ท่านบอกให้ปลูกทดแทนฝิ่น ดอยสูงๆ ที่มีฝิ่นต่อมาก็ไม่มีแล้ว ท่านบอกว่าจะเอาพืชเมืองหนาวให้ปลูก ท่านถามว่ามีที่ดินจัดสรรไหม มีแต่ที่ไม่มีน้ำ ท่านบอกว่าไม่เป็นไรจะจัดการให้ น้ำไม่มีมีแต่น้อย เดี๋ยวนี้น้ำก็มี ป่าก็มีอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อก่อนนี้มีหญ้าคา ธรรมชาติตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ป่าก็ดีกว่าแต่ก่อน น้ำเยอะ ในหลวงท่านรู้จักทำ รู้จักพัฒนา อย่างที่ในหลวงบอกว่าจะพัฒนาที่นี่ ผมก็พาท่านเดินทุกปี 6 – 7 ครั้ง เดินด้วยกันทำเศรษฐกิจพอเพียง ผมคิดถึงท่าน ท่านใจดี เอาจริงเอาจัง เดินเก่งมากบางครั้งท่านเดิน 3 ชั่วโมงจากลังกาน้อยมาผาหมอน”
พ่อพะโย่ ตาโร ตบท้ายว่า “สมัยนั้นในหลวงพูดคำว่าพัฒนา ผมไม่รู้ว่าพัฒนาแปลว่าอะไร แต่ผมเชื่อในหลวง ท่านให้ผมทำอะไร ผมก็ทำตามที่ท่านบอก”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเอา พระราชหฤทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูเขาในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะชาวไทยภูเขา ทุกดงดอยในจังหวัดภาคเหนือก็ทรงดูแลเอาพระทัยใส่แก้ปัญหาให้อย่างทั่วถึง
ในปี พ.ศ.2530 พระองค์ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าชาวบ้านเป็นจำนวนมากเป็นโรคคอหอยพอก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกราบบังคมทูลว่า ได้เอาเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกเป็นประจำแต่ชาวบ้านไม่ยอมใช้ เพราะไม่รู้จักก็กลัวจะเป็นอันตราย จึงทรงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำเกลือเสริมไอโอดีนมาแล้วทรงแจกประชาชนด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ชาวบ้านเมื่อได้รับเกลือพระราชทานจึงยอมเชื่อว่าเกลือชนิดนี้กินได้ จึงกินอย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบันนี้ไม่มีคนป่วยโรคคอหอยพอกที่สะเมิงหรือบนดอยภูเขาสูงในจังหวัดภาคเหนืออีกเลย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนบนดอยสูงอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาช้านาน ในขณะเดียวกันก็มีรับสั่งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่โครงการหลวง อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรทุกคน ให้มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้นให้ได้และอย่าไปรังแกเขา กระแสรับสั่งที่ว่า “อย่าไปรังแกเขา” เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมพัฒนาชาวเขา ทุกผู้ทุกคนรับใส่เกล้าและปฏิบัติตามพระราชกระแสนั้นอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งทำให้ดอยทุกดอยที่มีปัญหาการตัดต้นไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้นได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นป่าต้นน้ำ และกลายเป็นที่ทำกินของประชาชนบนดอยสูงอย่างผาสุขและสงบร่มเย็น
การทุ่มเททรงงานเพื่อประโยชน์ของชาวไทยภูเขาบนดอยสูงของประเทศ โดยเฉพาะการเสด็จขึ้นลง สะเมิงอีกหลายครั้ง เพื่อทรงติดตามแก้ปัญหาเรื่องน้ำและถนนให้กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้และอยู่ดีกินดี ทำให้พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ ดังที่มีกระแสรับสั่งว่า “ฉันขึ้นลงสะเมิงอยู่หลายปี จนได้รับเชื้อไมโครพลาสม่า ซึ่งในที่สุดทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ จนเกือบจะต้องเสียชีวิต”
เชื้อไมโครพลาสม่าที่ทรงได้รับนั้นมิใช่เรื่องเล็กน้อย พระอาการของโรคพระหทัยเต้นไม่ปกติอันมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคชนิดนี้กลายเป็นโรคเรื้อรัง แม้คณะแพทย์จะพยายามเท่าใดก็ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แต่เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอดจนกระทั่งต้องทรงรับการผ่าตัด เมื่อปี พ.ศ.2538
ผลแห่งการทรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในดงดอยภูเขาสูงทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยภูเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านการศึกษาคุณภาพชีวิต และการประกอบอาชีพ ไร้ฝิ่นบนดอยที่เคยมีมากถึง 10 ล้านไร่ในอดีตไม่เหลือร่องรอยให้เห็นอีกเลย มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ของป่า พืชผักผลไม้ ไม้เมืองหนาวนาๆ ชนิด และกาแฟเข้ามาแทนที่ จนประเทศไทยได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า “เมืองไทยเป็นเมืองเดียวในโลกที่กำจัดฝิ่นได้โดยพืชชนิดต่างๆ เมืองไทยแห่งเดียวในโลกจริงๆ”
การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ทำให้โครงการควบคุมยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDCP ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ.2537 เนื่องจากโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลกที่ประสบผลสำเร็จทำให้สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่อันเป็นแหล่งต้นตอของยาเสพติดได้อย่างจริงจัง
ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2541 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวยกย่องประเทศไทยถึงความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ในที่ประชุมระดับนานาชาติเรื่องปัญหายาเสพติดของสหประชาชาติด้วย
ผลแห่งการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ในพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ปัจจุบันนี้การปลูกพืชทดแทนฝิ่นโดยเฉพาะกาแฟได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชแห่งอนาคตของประชาชนบนภูดอยของประเทศจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาออกไปทั้งในและนอกประเทศ ดังจะเห็นได้จากคำบอกเล่าของ กวีวรวัจน์ ขันดวง หนุ่มชาวไทยภูเขาเชื้อสายขมุ แห่งบ้านกำแพงหิน ตำบลเทพเสด็จ แหล่งปลูกกาแฟดีของเชียงใหม่ว่า “แต่เดิมพ่อเป็นผู้ปลูกกาแฟให้กับโครงการหลวง แต่ผมไปเรียนหนังสือต่อในเมือง ไปเรียนรู้ชีวิตจนเพียงพอแล้วจึงกลับบ้าน เพื่อมาทำเรื่องกาแฟเกษตรอินทรีย์ หลังจากปลูกกาแฟตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ไประยะหนึ่ง ก็พบว่าผลผลิตกาแฟที่ได้มีรสชาติดี คนดื่มก็พอใจในรสชาติ จึงพบว่ามาถูกทาง อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการทำกาแฟด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การคั่ว และการขาย”
กวีวรวัจน์ ขันดวง
ทุกอาทิตย์กวีวรวัจน์จะหาบกระบุง 2 ใบ พร้อมด้วยอุปกรณ์ชงกาแฟไปขายกาแฟที่ตลาดในเมืองเชียงใหม่ แล้วขายกาแฟในวิธีเปิดหมวก คนขายไม่คิดมูลค่าแล้วแต่ลูกค้าจะให้ กาแฟของกวีวรวัจน์จึงเป็นที่ถูกใจของลูกค้าเป็นอันมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นชาวญี่ปุ่นติดอกติดใจในรสชาติกาแฟเปิดหมวกมากจึงได้เชิญให้เขาเอากาแฟไปร่วมในเทศกาลกาแฟญี่ปุ่นทุกปี กวีวรวัจน์บอกว่า มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ในหลวงรัชากาลที่ 9 ท่านเสด็จไปบ้านป่าเมี่ยง (ตำบลเทพเสด็จในปัจจุบัน) ท่านบอกประชาชนว่า ให้ปลูกกาแฟ ใครๆ ก็กินกาแฟ กาแฟเป็นพืชแห่งอนาคต ผมจึงอยากให้ทุกคนมาดื่มกาแฟของผม จะได้รู้สึกซึมซับความมีชีวิต ซึมซับความเป็นธรรมชาติ และความสงบภายในใจด้วยกัน จะได้รู้ว่ากาแฟเป็นพืชแห่งอนาคตของพวกเราที่บ้านเทพเสด็จจริงๆ
ในขณะที่ ชาตรี แซ่ย่าง ชายหนุ่มบนดอยขุนช่างเคี่ยน เล่าว่า “ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ข่าวร้ายในจอโทรทัศน์ทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างมืดดำไปหมด หลังจากใช้เวลาอยู่กับตัวเองในคืนนั้น ความคิดบางอย่างก็เกิดขึ้น เขาจำได้ว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บอกว่า ชาวบ้านที่ขุนช่างเคี่ยนซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้งรับกาแฟจากพระหัตถ์ในหลวงมาปลูกในหมู่บ้าน ในหลวงบอกด้วยว่า บ้านขุนช่างเคี่ยนต้องปลูกลิ้นจี่กับกาแฟ ผมเชื่อว่าอะไรที่ในหลวงให้ไว้มันต้องดี ถ้าพระราชทานลิ้นจี่และกาแฟให้ขุนช่างเคี่ยนก็ทำให้เรามั่นใจว่าขุนช่างเคี่ยนมาถูกทางแล้วในเรื่องกาแฟ ท่านให้มาแล้วทำไมเราไม่ทำให้ดี ถ้าตั้งใจทำมันต้องดีขึ้นแน่นอน”
ชาตรี แซ่ย่าง
แล้ว ชาตรี แซ่ย่าง ก็ตัดสินใจลงไปศึกษาเรียนรู้เรื่องกาแฟอย่างจริงจังที่ศูนย์ฝึกอบรมเรื่องกาแฟ ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่วันจอดับเป็นต้นมา
ปัจจุบัน ชาตรี แซ่ย่าง เป็นเกษตรกรและผู้แปรรูปกาแฟ ขายกาแฟจากบ้านขุนช่างเคี่ยน หมู่บ้านม้งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์และอยู่ใกล้สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ชาตรี แซ่ย่าง จึงเป็นเกษตรกรชาวม้งที่ผลิตกาแฟดอยช่างเคี่ยนออกสู่ตลาดให้ได้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงใน ทุกวันนี้
เช่นเดียวกับ สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ หนุ่มกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ เกษตรกรและผู้แปรรูปกาแฟบ้านหนองหล่ม อำเภอจอมทอง ผู้สนในประวัติศาสตร์ชุมชนนับตั้งแต่ครั้งที่ในหลวงรัชากาลที่ 9 เสด็จมาทอดพระเนตรกาแฟต้นแรกที่บ้านหนองหล่ม จนต่อมาเมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านถวายได้ถูกนำไปเพาะพันธุ์เป็นกาแฟอะราบิก้าหนึ่งล้านต้น (1,000,000) แจกจ่ายไปทั่วดอยอินทนนท์ และทุกดอยในภาคเหนือของประเทศ บอกว่า
สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์
“วันนี้กาแฟกระจายไปทั่วทุกดอย ทุกคนก็ดื่มกาแฟ รู้แต่ว่าอะราบิก้า แต่ที่มาของกาแฟ คือ ผลงานของพระองค์ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” สุรสิทธิ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจในฐานะคนในพื้นที่ และบอกว่าการเรียนรู้เรื่องกาแฟเป็นการเรียนที่ไม่สิ้นสุด คนที่มุ่งทำงานเกี่ยวกับกาแฟ จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างจริงจังต่อไป การรู้จักรากเหง้าและความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชุมชน และเข้าใจอัตลักษณ์ของกาแฟจะทำให้กาแฟบ้านผาหมอนมีความงดงามและยั่งยืนเคียงคู่กับชุมชนอย่างแน่นอน เพราะกาแฟผาหมอนเป็นกาแฟที่ปลูกแล้วไม่ได้ให้ปุ๋ยให้ยาปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น 2 – 3 ปี เมื่อได้ผลผลิตก็เก็บไปเรื่อยๆ ถือว่าเป็นกาแฟอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มันจะมีความเด่นของมันในพื้นที่ จะมีรสชาตินุ่มไม่ค่อยเข้มและมีความหอมเชอรี่ค่อนข้างที่จะเด่น จะได้กลิ่นผลไม้และน้ำผึ้งที่ละมุนมาก ต้องค่อยๆ คั่ว ถ้าคั่วเกินไปรสชาติที่เด่นจะหายไป สุรสิทธิ์เล่าอย่างที่รู้จักและเข้าใจในเรื่องกาแฟบริเวณพื้นที่ของตนเป็นอย่างดี
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พื้นที่บนดอยสูงในจังหวัดภาคเหนือ ประมาณ 6 หมื่นไร่ ที่สามารถปลูกกาแฟได้เป็นผลดีในปัจจุบันนี้ทำให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทำการพัฒนากาแฟไทยในทุกรูปแบบ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ได้ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงทำการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกกาแฟเกษตรอิรทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังรับซื้อกาแฟจากวิสาหกิจชุมชนโครงการหลวงเพื่อนำมาผลิตกาแฟอเมซอนจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศปีละนับหมื่นตัน หรือแม้แต่กาแฟแบล็คแคนยอน กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง จนกระทั่งกาแฟสดยี่ห้อต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายในขณะนี้ล้วนเป็นผลผลิตของกาแฟจากยอดดอยทั้งสิ้น
ซึ่งในวันนี้โครงการกาแฟ 9 ดอยตามรอยพ่อกำลังจะสร้างชื่อเสียงของกาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถสร้างรายได้มาให้แก่เกษตรกรในที่สูงบนดงดอยของไทยอย่างทั่วถึง จนเมืองเชียงใหม่ในขณะนี้โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะเชียงใหม่เมืองกาแฟไปแล้ว
อ้างอิงจาก : หนังสือ ดื่มกาแฟ แลอดีต พิศปัจจุบัน สานอนาคต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://becommon.co/life/king-rama9-tea/