"...หนึ่ง คนและสัตว์ที่ไม่อ้วน กินอาหารแคลอรี่น้อย มีแนวโน้มที่มีชีวิตยืนยาวกว่า สอง การศึกษาในสัตว์ ทั้งหนูและลิง มักชี้ให้เห็นประโยชน์จากการจำกัดอาหาร/อดอาหารเป็นช่วงๆ ไม่ค่อยเจอปัญหานัก สาม การวิจัยในคนนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มักศึกษาในคนอ้วน วัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ชี้ให้เห็นประโยชน์ด้านสุขภาพ และมีความปลอดภัย..."
เห็นหลายเพจแชร์เรื่องบทความนี้กันเยอะตั้งแต่หลังวันคริสตมาสเป็นต้นมา
New England Journal of Medicine ตีพิมพ์งานทบทวนวิชาการนี้เมื่อ 26 ธ.ค. 2019 นี้เอง
หากอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้สาระดังนี้
หนึ่ง คนและสัตว์ที่ไม่อ้วน กินอาหารแคลอรี่น้อย มีแนวโน้มที่มีชีวิตยืนยาวกว่า
สอง การศึกษาในสัตว์ ทั้งหนูและลิง มักชี้ให้เห็นประโยชน์จากการจำกัดอาหาร/อดอาหารเป็นช่วงๆ ไม่ค่อยเจอปัญหานัก
สาม การวิจัยในคนนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มักศึกษาในคนอ้วน วัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ชี้ให้เห็นประโยชน์ด้านสุขภาพ และมีความปลอดภัย
สี่ มีสองวิธีที่เค้าแนะนำแพทย์ในการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับคนน้ำหนักเกิน อ้วน หรือเป็นโรคเรื้อรังที่คิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ เช่น เบาหวาน เป็นต้น ได้แก่
วิธีแรก: "Time restricted diet" ทำได้หลายแนว ยกตัวอย่างเช่น
เดือนแรก กินอาหารได้ในช่วง 10 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์
เดือนที่สอง กินอาหารได้ในช่วง 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์
เดือนที่สาม กินอาหารได้ในช่วง 6 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์
และเดือนที่สี่ กินอาหารได้ในช่วง 6 ชั่วโมงทุกวัน
วิธีที่สอง: "5:2 Intermittent fasting"
เดือนแรก กินอาหารได้ไม่เกิน 1000 แคลอรี่ 1 วันต่อสัปดาห์
เดือนที่สอง กินอาหารได้ไม่เกิน 1000 แคลอรี่ 2 วันต่อสัปดาห์
เดือนที่สาม กินอาหารได้ไม่เกิน 750 แคลอรี่ 2 วันต่อสัปดาห์
และเดือนที่สี่ กินอาหารได้ไม่เกิน 500 แคลอรี่ 2 วันต่อสัปดาห์
ความท้าทายอยู่ตรงที่วิธีทั้งสองนั้นดูจะสวนกระแสสังคมบริโภคนิยม มีอาหารการกินที่ทำร้ายสุขภาพอยู่ดาษดื่น จึงต้องอาศัยความใจแข็งมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติ และความเอาใจใส่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความจริงที่ว่า คำแนะนำทั้งสองวิธีนั้นมาจากการวิจัยในคนบางช่วงอายุ อาจไม่สามารถหวังผลกับช่วงอายุอื่นๆ เช่น คนสูงอายุ เป็นต้น และมักวิจัยในระยะสั้นไม่เกิน 12 เดือน โดยยังไม่ทราบจริงๆ ว่าระยะยาวจะเกิดผลดีผลเสียอะไร
สวัสดี...
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
de Carbo R et al. Effects of Intermittent Fasting on Health, Aging, and Disease. N Engl J Med 2019;381:2541-51.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://jarm.com/