"...กล่าวโดยสรุปแล้ว การป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาขับที่มาจากงานเลี้ยงของบริษัท ห้างร้านหรือหน่วยงานองค์กรฯ จำเป็นที่ผู้บริหารต้องกำหนดและกำกับดูแลมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าปล่อยให้พนักงานต้องรับผิดชอบประเมินตัวเองว่าไม่เมาสามารถขับรถได้ หรือพนักงานดูแลรับผิดชอบกันเอง ก็ไม่มีหลักประกันความปลอดภัย เหมือนบทเรียนความสูญเสียจากงานเลี้ยง (เหล้า) ของบริษัทหรือหน่วยงานองค์กร ที่ผ่าน ๆ มา..."
กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหลายบริษัท ห้างร้านหรือหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ จะมีงานเลี้ยงพนักงานในช่วงสิ้นปี และมักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยง โดยคาดหวังว่าถ้าเมาก็คงไม่ขับรถกลับ หรือมีคนที่ไม่เมาช่วยกันดูแลรับส่งคนเพื่อนๆ กลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ช่วยกันส่งคนเมากลับบ้านก็ทำได้เพียงบางส่วน เพราะพนักงานที่มีรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือจักรยานยนต์ เมื่อดื่มไปแล้วก็เชื่อว่าตัวเองไม่เมา ขับไหว มีบางบริษัทที่จัดงานเลี้ยงพร้อมกับเตรียมรถรับส่งพนักงานเพื่อให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่ก็มีจำนวนน้อย
นอกจากนี้งานเลี้ยงในบริษัทที่จบช่วงค่ำ ๆ หรือจนดึก หลายกรณีที่เกิดอุบัติเหตุพบว่าพนักงานก็ชวนกัน “ไปต่อ” ในสถานบันเทิงหรือแหล่งดื่มกินที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนดึกดื่นเป็นเหตุให้มีทั้งเรื่องดื่ม/เมาขับ บางกรณีก็มีหลับในร่วมด้วย และที่มักจะพบร่วมเสมอคือ “ยิ่งดื่ม ยิ่งไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย” เช่น ขับรถก็ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน๊อก
กรณีล่าสุดเมื่อเวลา 1.30 น. วันที่ 22 ธันวาคม 62 มีอุบัติเหตุที่เกิดกับพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ขับรถออกจากงานเลี้ยงปีใหม่ของบริษัท โดยรถเสียหลักชนแท่งแบริเออร์ร่างกระเด็นออกมา (ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย) และเสียชีวิต https://today.line.me/TH/pc/article/6woZ16?utm_source=lineshare
ทำไม .. งานเลี้ยงบริษัท ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ?
ปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้าเบียร์ ถูกกระบวนการตลาด การส่งเสริมการขายของธุรกิจสุราในรูปแบบต่าง ๆ สร้างภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเชื่อมโยงกับ “การฉลอง ความเป็นเพื่อน มิตรภาพ ความสนุกสนาน.. ” ส่งผลให้กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น งานเลี้ยงปีใหม่ ฉลองความสำเร็จ ฉลองรับปริญญา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นส่วนหนึ่งเสมอ ถึงขนาดที่ว่า ถ้าเถ้าแก่ไม่มีเหล้า เบียร์ ในงานเลี้ยงจะถูกพนักงานมองหรือนินทาว่า “ขี้เหนียว..”
ประกอบกับการเลี้ยงต่าง ๆ ในช่วงท้ายปี เปรียบเสมือนช่วงเวลาที่ปลดปล่อยผ่อนคลาย หลังผ่านการทำงานหนักมาตลอดทั้งปี จึงไม่เคร่งครัด อะลุ้มอล่วยให้กับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงทำให้ช่วงนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากการดื่มฉลอง การอดหลับอดนอนเร่งงานให้เสร็จก่อนหยุดยาวปีใหม่ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทั้งดื่ม/เมาขับ และหลับใน
ไม่ใช่แค่พนักงานเกิดเหตุเจ็บตาย แต่คนอื่น ๆ รับผลกระทบไปด้วย
เมื่อ 5 ปีก่อน (เวลา 01.10 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2557) ก็มีเหตุการณ์พนักงานบริษัทออกจากงานเลี้ยงบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม อมตะนคร พุ่งชนท้ายรถคุณวรพจน์ บุญช่วยเหลือ อดีตแชมป์เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 3 สมัย เสียชีวิตพร้อมภรรยาและลูกสาว โดยตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของพนักงานคนดังกล่าวได้ 128 mg% https://www.komchadluek.net/news/crime/193678
งานเลี้ยงสรรค์อื่น ๆ ก็ดื่มและนำไปสู่ความสูญเสียด้วย อย่างที่เป็นข่าวดังในกรณีนักศึกษาอาชีวะฯ ทางโรงงานเลี้ยงส่งจบฝึกงาน โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย เป็นเหตุให้คนขับรถกระบะที่เป็นพนักงานในโรงงานเมาขับ ขับเร็วจนรถเสียหลักเทกระจาดทำให้น้อง ๆ นักศึกษาอาชีวะฯ ที่ท้ายกระบะเสียชีวิตถึง 13 ศพ https://www.thaijobsgov.com/jobs/278760
เข้มกฎหมายอย่างเดียว เอาไม่อยู่ .. ต้องมีมาตรการจาก “หน่วยงาน องค์กร” มาเสริม
การจัดการปัญหาดื่ม/เมาขับ ให้เกิดประสิทธิผลต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีช่องว่างของการบังคับใช้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ จำนวนอุปกรณ์ตรวจวัด จำนวนจุดตรวจเมาที่มีจำกัด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และคนเมาขับก็ยังมีวิธีหาพิกัดจุดตรวจเมาเพื่อที่หลบเลี่ยง จนทำให้คนเมาไม่กลัวเพราะเชื่อว่ารอดจุดตรวจเมาได้ แต้ถ้าถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์และส่งฟ้องศาล คำพิพากษาหรือบทลงโทษของศาลก็ไม่ได้รุนแรง เพราะเกือบทั้งหมดก็เป็นโทษ “ปรับ โทษจำ-รอลงอาญา” บางรายส่งคุมประพฤติ ก็ไปรายงานตัวบริการสังคมให้ครบชั่วโมง (บางรายคิดว่าเป็นเรื่องซวย ที่วันนั้นขับไปเจอจุดตรวจเมา)
เทศกาลปีใหม่ 2562 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมคุมประพฤติ พบมีคนเมาขับที่ถูกคุมประพฤติ 8,706 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนเมาขับที่กระทำความผิดซ้ำถึง 153 ราย และมีข้าราชการ/พนักงาน รัฐวิสาหกิจ พนักงานท้องถิ่น 160 ราย (ไม่มีข้อมูลพนักงานบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ)
จะเห็นได้ว่าคนเมาขับที่มีต้นสังกัด (พนักงานบริษัท ห้างร้าน หรือกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนง.ท้องถิ่น) ถ้ากำหนดให้ “ต้นสังกัด” มีมาตรการเข้มควบคู่ไปด้วยจะส่งผลให้กลุ่มเหล่านี้ต้องชั่งน้ำหนักกับผลที่จะตามมาถ้า “เมาแล้วขับ” เพราะอาจจะไม่คุ้ม ถึงขั้นถูกวินัย ตัดเงินเดือน หรือไล่ออกจากงาน อย่างที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป อเมริกา ก็อาศัยมาตรการหน่วยงานองค์กร มาเสริมกับมาตรการกฏหมาย
ข้อพิจารณาเสนอแนะ เพื่อป้องกันความสูญเสียเพราะเมาขับจากงานเลี้ยงบริษัท
เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียของพนักงานองค์กรหรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ๆ จากปัญหาดื่ม/เมาขับ จากงานเลี้ยงบริษัท หน่วยงานองค์กร ฯ ควรมีข้อพิจารณาดังนี้
1. บริษัทห้างร้าน หน่วยงานองค์กรฯ
1.1 กรณีมีงานเลี้ยงพนักงานในองค์กร ควรพิจารณา
- เป็นงานเลี้ยงปลอดเหล้า
- ถ้าจำเป็นต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องมีมาตรการจัดการความปลอดภัยรองรับ เช่น มีรถรับส่งพนักงานกลับบ้าน มีเครื่องเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือประสานตำรวจให้การตั้งจุดตรวจเพื่อมิให้พนักงานเมาขับ เพราะจะเป็นอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ
- มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) มาร่วมจัดการความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การกำชับเรื่องการใช้อุปกรณ์นิรภัย (คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน๊อก)
1.2 มีนโยบายและข้อกำหนดมาตรการความปลอดภัยทางถนนขององค์กรที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานองค์กรรับรู้และถือปฏิบัติ เช่น ถ้าเมาขับจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี นอกจากความผิดตามกฎหมาย ยังเป็นความผิดวินัยขององค์กรและมีบทลงโทษ เช่น การทำทัณฑ์บน ตัดเงินเดือน ฯลฯ
2. นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนิคมที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “การนิคมแห่งประเทศไทย” หรือ นิคมอุตสาหกรรมของภาคเอกชน
- จัดให้มีมาตรการที่จะป้องกันมิให้มีคนเมาขับออกจากเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอื่น ๆ ของพนักงาน เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกกันน๊อก ทั้งก่อนเข้าหรือออกจากเขตนิคมฯ
- กรณีมีเหตุการณ์อุบัติเหตุ โดยเฉพาะจากเมาขับ ควรมีการสอบสวนสาเหตุเชิงลึกเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ ๆ
3. ตำรวจภูธรฯ ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ
- เพิ่มมาตรการตั้งจุดตรวจเมา ในช่วงที่มีงานเลี้ยงหน่วยงานองค์กร งานกีฬา งานสังสรรค์อื่น ๆ ที่จะมีการดื่มร่วมด้วย โดยประสานความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ
- กรณีอุบัติเหตุรุนแรง ต้องมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดคนขับขี่ทุกครั้ง เพราะจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปประกอบคดีความ รวมทั้งนำไปสู่การป้องกันแก้ไขต่อไป
- สะท้อนข้อมูลไปที่บริษัท หน่วยงานองค์กร หรือนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ทบทวนมาตรการความปลอดภัยกับพนักงานของหน่วยงาน
กล่าวโดยสรุปแล้ว การป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาขับที่มาจากงานเลี้ยงของบริษัท ห้างร้านหรือหน่วยงานองค์กรฯ จำเป็นที่ผู้บริหารต้องกำหนดและกำกับดูแลมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าปล่อยให้พนักงานต้องรับผิดชอบประเมินตัวเองว่าไม่เมาสามารถขับรถได้ หรือพนักงานดูแลรับผิดชอบกันเอง ก็ไม่มีหลักประกันความปลอดภัย เหมือนบทเรียนความสูญเสียจากงานเลี้ยง (เหล้า) ของบริษัทหรือหน่วยงานองค์กร ที่ผ่าน ๆ มา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://chobrod.com