"...การที่เรารู้สึกชอบและมีความสุขด้วยตัวเอง ย่อมดีกว่าสิ่งที่มาจากคำพูดของคนอื่นเสมอ และมันจะเป็นเรื่องดี ถ้าเราเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่เพราะสังคมหรือมีคนอื่น ๆ แนะนำ ความรู้สึกก็มีเส้นทางของตัวมันเช่นกัน หากเรายังคงปกปิดและควบคุมความรู้สึกของตัวเองบ่อยเข้า มักจะทำให้เรามองโลกในแง่ร้าย แล้วเราจะไม่สามารถมองโลกในแง่ดีได้อีกเลย เพราะเส้นทางของความรู้สึกนั้น ได้โดนสกัดกั้นเอาไว้เสียแล้ว..."
สวัสดีครับ
ข่าว ภูริวัฒน์ สุวรรณมณี หรือ คิว นักร้องนำวง FridayNight to Sunday เจ้าของเพลง “ห้องนอน” ที่โด่งดัง ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองหนีโรคซึมเศร้า นับเป็นข่าวที่พวกเราจะได้ยินบ่อยมากขึ้น โรคนี้อันตรายกว่าที่คิด เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะกับคนดังในสังคมเท่านั้น แม้แต่ตัวเราหรือคนใกล้ตัวก็อาจเป็นโรคนี้ได้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 4.4 ในขณะที่ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคนในปี 2551 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 62
อาการของโรคซึมเศร้าอาจดูคล้ายกับอาการเศร้าหรือเสียใจอย่างปกติธรรมดา แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงมากกว่า ทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ โรคซึมเศร้าส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อาการเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมาก เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ้นหวัง หดหู่ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิตวิตกกังวลตลอดเวลา และที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรค อาการ และวิธีรักษา จึงเป็นสิ่งที่พวกเราควรให้ความใส่ใจ
เพื่อช่วยเหลือตัวเราเองและคนรอบข้างที่ป่วยเป็นโรคนี้ [1]
หนังสือที่แนะนำการรักษาโรคซึมเศร้ามีให้อ่านหลายเล่ม แต่ส่วนใหญ่จะเขียนโดยจิตแพทย์ แต่มีหนังสือเล่มหนึ่ง “อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี” เขียนโดย แบ๊กเซฮี [2] ที่ตัดสินใจไปบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าระดับไม่รุนแรง (mild depressive disorder) ที่ต้องทนทุกข์ทรมานมาตั้งแต่เด็ก พร้อมบันทึกบทสนทนาตั้งแต่เริ่มไปบำบัดจนกระทั่งอาการเริ่มทุเลาลง กลายเป็นหนังสือขายดีของเกาหลี สะท้อนมุมมองและความรู้สึกที่เก็บอยู่ในใจ สามารถนำมาเป็นข้อคิดให้กับผู้อ่าน แม้ว่าจะไม่มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม
แบ็กเซฮีเติบโตในครอบครัวที่ขาดความสุข พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันแทบทุกวัน มีแต่ภาพพ่อทุบตีแม่ตนเองและพี่สาว ก่อนจะทิ้งเงินค่าใช้จ่ายในบ้านให้แล้วก็ออกไปจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด แถมฐานะครอบครัวก็ไม่สู้ดีนัก อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ย่านผู้มีอันจะกินจนเห็นความแตกต่าง ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับพี่สาวก็เป็นความรักที่เหมือนกับเป็นผู้ปกครองมากกว่าความเป็นพี่น้อง เพราะวัยต่างกันมาก พี่สาวจะคอยควบคุมชีวิตของเธอแทบทุกเรื่อง มีแต่ข้อแม้ตลอดเวลา เช่น หากไม่ยอมเรียนหรือน้ำหนักขึ้น พี่ก็จะดูถูกทำให้เกิดความทุกข์ใจ จะถูกดูหมิ่นดูแคลน ในขณะที่ ในโรงเรียน จะถูกเพื่อน ๆ ตีตัวออกห่างเพราะรังเกียจที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังทางกรรมพันธุ์ และถูกล้อเลียนจนเกิดความอับอาย
นอกจากนั้น เธอยังถูกปลูกฝังด้วยความคิดว่ามีปมด้อย ไม่สามารถจะทำในสิ่งที่คนอื่น ๆ ทำได้ เธอมักจะได้ยินแม่พูดกับตัวเองเสมอ ๆ ว่า “ฉันมันโง่” “ฉันไม่มั่นใจ” “ฉันทำไม่ได้” การที่เติบโตมาในสภาพครอบครัวและสังคมเช่นนั้น ทำให้เธอมีนิสัยรักสันโดษ และไม่เห็นคุณค่าของตัวเองและหมดกำลังใจง่าย กลายเป็นคนลังเลและขี้กลัว อาการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นโรคซึมเศร้า แบ็กเซฮี ผวาตื่นตอนตี 4 ตี 5 และร้องไห้บ่อยครั้งรับประทานอาหารได้น้อยลง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจอะไรได้ลำบาก นอกจากนั้น เธอยังเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจและละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนอื่น จึงกังวลเกี่ยวกับความคิดของคนอื่นจนเกินพอดี
บางครั้งจึงตัดสินใจแต่งเรื่องเพื่อให้ตนเองได้รับความสนใจและทำให้คนอื่นมีความสุขอาการข้างต้นเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึง การทำงานฝ่าย PR Marketing ให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จนเป็นที่มาของการตัดสินใจไปบำบัดรักษากับจิตแพทย์ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในวัย 30 ปีหนังสือ “อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี” เริ่มต้นด้วยบทสนทนาจากจิตแพทย์ซักถามประวัติของแบ็กเซฮีและจบด้วยการวินิจฉัยว่าเธอมีอาการที่เรียกว่า “Faking Bad” คือ มองตัวเองแย่กว่าความเป็นจริง
เป็นจุดเริ่มต้นของการบำบัดที่ตามมาอีกกว่า 10 ครั้ง บทสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยกันเพื่อให้แบ็กเซฮีได้ระบายความในใจออกมา โดยที่คุณหมอจะให้ข้อแนะนำเพื่อให้เธอค้นคิดหาทางออกเอง เช่น ขจัดความคิดเก่า ๆ ออกไป พร้อมเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกแทน และอย่าไปสนใจว่าใครจะคิดอย่างไรการสนทนาในตอนท้าย ๆ คุณหมอได้ให้ข้อคิดกับแบ็กเซฮีอย่างน่าสนใจว่า “การที่เรารู้สึกชอบและมีความสุขด้วยตัวเอง ย่อมดีกว่าสิ่งที่มาจากคำพูดของคนอื่นเสมอ และมันจะเป็นเรื่องดี ถ้าเราเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่เพราะสังคมหรือมีคนอื่น ๆ แนะนำ ความรู้สึกก็มีเส้นทางของตัวมันเช่นกัน หากเรายังคงปกปิดและควบคุมความรู้สึกของตัวเองบ่อยเข้า มักจะทำให้เรามองโลกในแง่ร้าย แล้วเราจะไม่สามารถมองโลกในแง่ดีได้อีกเลย เพราะเส้นทางของความรู้สึกนั้น ได้โดนสกัดกั้นเอาไว้เสียแล้ว” อาการของแบ็กเซฮีเริ่มทุเลาขึ้น รวบรวมความกล้าที่จะเผชิญกับความจริง แม้ว่าเธอยังคงต้องบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยการปรึกษากับจิตแพทย์และกินยาควบคู่กันไป เธออยากจะมีความสุข และเชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีอะไรดี ๆ ที่อยากทำในแต่ละวันเหมือนกับที่เธออยากกินต๊อกบกกี อาหารชื่อดังของเกาหลี
รณดล นุ่มนนท์
16 ธ.ค. 2562
แหล่งที่มา:
[1] HonestDocs. (2019). ทำความรู้จักกับ “โรคซึมเศร้า” โรคจิตเวชที่พบบ่อยที่สุด| HonestDocs. [online]
Available at: https://www.honestdocs.co/most-common-psychiatric-disorders [Accessed 15 Dec. 2019]
[2] แบ็กเซฮี (Baek Se-hee 백세희) อยากตาย แต่ก็อยากกินต๊อกบกกี (죽고 싶지만 떡볶이는 고 싶)
ญาณิศา จงตั้งสัจธรรม แต่ง สำนักพิมพ์ B2S Publishing
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ