"...ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ย. 2562 ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 47.4 จากความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคการผลิตเป็นสำคัญ โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตทรงตัว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.7 จากมุมมองเชิงบวกที่ปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตและผลประกอบการ..."
สรุปประเด็นสำคัญ
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ย. 2562 ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 47.4 จากความเชื่อมั่นที่ลดลงในภาคการผลิตเป็นสำคัญ โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตทรงตัว
- ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.7 จากมุมมองเชิงบวกที่ปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตและผลประกอบการ
ในเดือน พ.ย. 2562 ดัชนีฯ ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 47.4 จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของภาคการผลิตเป็นสำคัญ โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน สะท้อนถึงภาวะในภาคการผลิตโดยรวมที่ยังแย่ลงต่อเนื่อง นำโดยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตเคมี ปิโตรเลียม และกลุ่มยางและพลาสติกที่มีความเชื่อมั่นด้านการผลิต ผลประกอบการ และคำสั่งซื้อที่ลดลงตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอลง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป สำหรับผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิตมีความเชื่อมั่นทรงตัว โดยความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการลงทุนที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อยถูกชดเชยด้วยมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการที่ปรับลดลง
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.7 จากมุมมองเชิงบวกที่ปรับลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยดัชนีฯ ย่อยปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตและผลประกอบการ นำโดยกลุ่มก่อสร้างและกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ และองค์ประกอบส่วนใหญ่ยังอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในภาพรวมที่มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระยะต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ
• อุปสงค์ในประเทศต่ำยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจในเดือนนี้ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อของลูกค้าในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นอกจากนี้ ในภาพรวมผู้ประกอบการมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งสะท้อนจากความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานที่ปรับลดลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะในภาคการผลิต สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้ประกอบการในอีก 12 เดือนข้างหน้าใกล้เคียงกับเดือนก่อน
หมายเหตุ
ก. ธปท. จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจาก 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน โดยให้น้ำหนักเท่ากันทุกองค์ประกอบ สำหรับวิธีการคำนวณดัชนี Diffusion Index ของแต่ละองค์ประกอบเป็นดังนี้
ดัชนี = (100 x ร้อยละของผู้ตอบ “ดีขึ้น”) + (50 x ร้อยละของผู้ตอบ “คงเดิม”) + (0 x ร้อยละของผู้ตอบ “แย่ลง”)
ข. การอ่านค่า
ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน (จำนวนผู้ตอบว่าดีขึ้นมีเท่ากับจำนวนผู้ตอบว่าแย่ลง)
ดัชนี > 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน (จำนวนผู้ตอบว่าดีขึ้นมีมากกว่าจำนวนผู้ตอบว่าแย่ลง)
ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงกว่าเดือนก่อน (จำนวนผู้ตอบว่าดีขึ้นมีน้อยกว่าจำนวนผู้ตอบว่าแย่ลง)
ค. ดัชนีฯประมวลจากผลการสำรวจที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็กกลางและใหญ่ 610 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.35 ของแบบสอบถามที่ส่งออก
ง. การสำรวจเริ่มส่งแบบสอบถามในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนที่สำรวจ และรวบรวมประมวลผลในวันทำการแรกของเดือนถัดไป
ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงกว่าเดือนก่อน (จำนวนผู้ตอบว่าดีขึ้นมีน้อยกว่าจำนวนผู้ตอบว่าแย่ลง)
ค. ดัชนีฯประมวลจากผลการสำรวจที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็กกลางและใหญ่ 610 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.35 ของแบบสอบถามที่ส่งออก
ง. การสำรวจเริ่มส่งแบบสอบถามในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนที่สำรวจ และรวบรวมประมวลผลในวันทำการแรกของเดือนถัดไป
ส่วนวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย