"...ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เติบโตนั้น ไม่ได้ช่วยในการกระจายรายได้ หรือให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงจะมีก็แต่คนรวยเท่านั้น ที่นับวันมีแต่จะรวยขึ้นๆ ทำให้เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก..."
กล่าวไว้ในตอนที่ 1 แล้วว่าชนชั้นกลางเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพราะได้พิสูจน์ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฯลฯ ว่าชนชั้นกลางคือกลุ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ
แต่นโยบายของรัฐบาลไทยในแต่ละยุค จะให้ความสนใจกับการสร้างฐานของชนชั้นกลางให้มีความเข้มแข็งอย่างเพียงพอหรือไม่ ยังเป็นคำถาม เพราะดูเหมือนว่านโยบายของรัฐบาลมักจะเอาใจเฉพาะคนรวย หรือบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะสนใจคนชั้นกลางหรือคนจน
อาจจะเพราะไปเชื่อว่าคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งไทยและเทศเป็นผู้ที่ลงทุนหลักที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน GDP โดยเชื่อว่าเมื่อ GDP เติบโตแล้ว เศรษฐกิจก็จะดี และคนในภาคสังคมอื่นๆ จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย
แต่ว่าตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เติบโตนั้น ไม่ได้ช่วยในการกระจายรายได้ หรือให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงจะมีก็แต่คนรวยเท่านั้น ที่นับวันมีแต่จะรวยขึ้นๆ ทำให้เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
World Economic Forum เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าปีนี้ไทยได้อันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 40 จากทั้งหมด141 ประเทศ โดยลดลงจากอันดับที่ 38 ในปี 2561
ที่สำคัญคือเขาให้คะแนนความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศของเราต่ำมาก เนื่องจากตลาดในประเทศถูกผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเติบโต และขยายธุรกิจได้ยาก คนรวย บริษัทใหญ่ บริษัทต่างชาติ ได้รับประโยชน์หลักจากนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านการลงทุน สัมปทาน ภาษี รวมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคที่รองรับการลงทุน ภาษีนิติบุคคลก็อยู่ที่ 20% ทั้งยังมีวิธีการทางบัญชี เพื่อประหยัดการจ่ายภาษีให้ได้มากที่สุด
ส่วนชนชั้นกลางกลับถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่เสียภาษีหลักให้กับประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
คือเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะถูกหัก ณ ที่จ่ายทุกเดือน ภาษีรายได้ส่วนบุคคลอยู่ระดับสูงสุดอยู่ที่ 35% สูงกว่าอัตราภาษีของนิติบุคคลที่เป็น 20% และเขายังกำหนดให้คนมีเงินได้ต่อปี 4 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 35% … 4 ล้าน 100 ล้าน พันหมื่นแสนล้าน อัตราภาษีเท่ากันหมด แถมยังต้องจ่ายภาษีทางการค้า ภาษีธุรกิจ และภาษีทางอ้อมอื่นๆ ให้กับภาครัฐ รวมทั้ง VAT 7% เมื่อจับจ่ายซื้อของและบริการ
ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลาง ทั้งผู้ที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท หรือองค์กร ล้วนเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศ เป็นผู้สร้างอุปสงค์ที่เรียกว่าเป็นพลวัตของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน เพราะเป็นผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนท์ ซื้อรถยนต์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมือถือ ซื้อตู้เย็น ทีวี ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ส่งลูกเรียนหนังสือ ไปเที่ยว และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
ถ้าไม่มีชนชั้นกลาง การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่มี
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
3 พฤศจิกายน 2562
ภาพจาก Pinterest
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10219145964387205&id=1450051196
อ่านประกอบ:
ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (1)