"...หากแบ่งระดับการใช้ "กัญ" เป็น 3 ระดับคือ Hazardous use (ใช้"กัญ"ในระดับที่มีความเสี่ยงต่อผลเสียต่อสุขภาพ), Dependence (มีอาการติด"กัญ"), และ Harmful use (ใช้"กัญ"จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือสภาวะจิตใจ)..."
...ลักษณะการแสดงออกและการตัดสินใจของชนชาว"กัญ"เป็นอย่างไร?...
Evans M และคณะจากออสเตรเลียและนิวซีแลนต์ เผยแพร่ผลวิจัยใน American Journal of Addiction มีสาระใจความน่าสนใจ
หากแบ่งระดับการใช้"กัญ" เป็น 3 ระดับคือ Hazardous use (ใช้"กัญ"ในระดับที่มีความเสี่ยงต่อผลเสียต่อสุขภาพ), Dependence (มีอาการติด"กัญ"), และ Harmful use (ใช้"กัญ"จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือสภาวะจิตใจ)
คนประเภทแรก Hazardous use มักสัมพันธ์กับการมีลักษณะเป็นคนระแวดระวังสูง และมั่นใจในตนเองมากเกินกว่าคนปกติ
ถ้าเป็นประเภทที่สอง Dependence จะสัมพันธ์มีลักษณะเป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง และไม่ค่อยระแวดระวังตัว
และหากเป็นประเภทที่สาม Harmful use นั้น ที่เด่นชัดคือ ลักษณะผลัดวันประกันพรุ่ง
ในสถานการณ์จริงนั้น เป็นไปตามที่เขาศึกษาและตีแผ่ออกมาไหม ไม่รู้เหมือนกันแฮะ... ลองสังเกตกันดู
...จะป้องกันลูกหลานที่ยังอยู่ในวัยเรียนให้ห่าง"กัญ"ได้บ้างไหม?...
Bergman P และคณะ ได้ทำวิจัยโดยติดตามเด็กนักเรียนระดับมัธยมต้นไป 1 ปี พบว่า หากคุณครูได้ช่วยทำการติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองของเด็กๆ อย่างใกล้ชิด โดยส่ง text message, โทรศัพท์ หรืออีเมล์ ส่งข่าวคราวเกี่ยวกับการเข้าเรียนในชั้นเรียน พฤติกรรม เกรด ฯลฯ ทุกสัปดาห์ จะช่วยลดอัตราการเริ่มเสพ"กัญ"ได้เกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ผู้ปกครองไม่ได้รับการติดต่อจากครู
...จ่าพิชิตแชร์ข้อมูลว่า "กัญ" ทำให้ไข่ฝ่อ หำหดแล้ว เค้าลือกันว่า"กัญ"ทำให้สาวกมีพฤติกรรมเสี่ยงด้วย จะจะจะจริงเหรออออ?...
Tucker JS และคณะ ช่วยไขปัญหานี้ให้กระจ่าง
คอนเฟิร์มจ้ะ เขาพบว่าในกลุ่มเยาวชนที่มีสัมพันธ์ทางกายกับคู่นอนนั้น ไม่ว่าจะเสพ"กัญ"อย่างเดียว หรือจะเสพ"กัญ"ควบไปกับแอลกอฮอล์ก็ตาม ล้วนมีอัตราการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางน้อยกว่าเยาวชนที่ไม่เสพครับ
เราจึงไม่แปลกใจ หากจะพบว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเอดส์ ซิฟิลิส หรืออื่นๆ คงจะยากที่จะหายไปจากโลก
...เค้าโฆษณา"กัญ"ว่า เสพ"กัญ"ไม่ทำอันตรายต่อผู้อื่น จริงป่ะ?...
หุหุ ทำไม่ทำ ไม่รู้ดิ แต่รู้กันดีว่า เสพแล้วเคลิ้ม และมีคนไปขับรถขณะเคลิ้มกันมากมาย ตามที่เคยโชว์สถิติไปให้เห็นในบทความก่อนๆ แล้ว
คราวนี้ Liu Y และคณะ ทำการศึกษาขนาดใหญ่ สำแดงให้เห็นว่า คนที่เสพ"กัญ"นั้น มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสัญญาณไฟให้หยุดช้ากว่าคนไม่เสพ
คิดตามอย่างคนมีสติปัญญา ก็ลองดูว่า ถ้าบ้านเมืองที่คนมีระเบียบวินัยโคตรๆ อย่างสารขันธ์ อุบัติเหตุในท้องถนนจะเป็นอย่างไรหนอ
...หมอผิวหนังรำพึงแกมน้อยใจว่า โรคผิวหนังอ่ะ เกี่ยวกับ"กัญ"บ้างไหม?...
ง่ะ...อย่าเพิ่งน้อยใจไปครับ มีรายงานวิจัยเชิงสำรวจโดย Herriot E และคณะ เพิ่งตีพิมพ์ใน British Journal of Dermatology ชี้ให้เห็นว่า สาวก"กัญ"นั้นมีความชุกของการเกิดโรคต่อมเหงื่ออักเสบเป็นหนอง (Hidradenitis suppurativa) มากกว่ากลุ่มที่ไม่เสพ"กัญ"ราว 3 เท่า
แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า"กัญ"จะเป็นสาเหตุที่แท้ทรูสำหรับโรคนี้หรือไม่ แต่ก็ช่วยกระตุกขาให้วิจัยพิสูจน์กันต่อไป เชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะเห็นผลวิจัยมาโชว์กัน
ยัง...ยัง...ยังไม่หมด นี่แค่ตอนแรกของเดือนตุลาคม งานวิจัยมีราวสองร้อยกว่าเรื่อง ไว้ว่างๆ จะมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ
ขอให้ติดตาม "กัญ" ต่อไป...
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง :
1. Evans M et al. Cannabis, Decision‐Making, and Online Assistance Seeking. The American Journal of Addiction. September 2019. Epub ahead of print. DOI: 10.1111/ajad.12960
2. Bergman P et al. Engaging Parents to Prevent Adolescent Substance Use: A Randomized Controlled Trial. Am J Public Health. 2019 Oct;109(10):1455-1461. doi: 10.2105/AJPH.2019.305240. Epub 2019 Aug 15.
3. Tucker JS et al. Associations of Alcohol and Marijuana Use With Condom Use Among Young Adults: The Moderating Role of Partner Type. J Sex Res. 2019 Oct;56(8):957-964.
4. Liu Y et al. Is (poly-) substance use associated with impaired inhibitory control? A mega-analysis controlling for confounders. Neuroscience and Biobehavioral Reviews. 2019:105;288–304.
5. Herriot E et al. High prevalence of cannabis use among patients with hidradenitis suppurativa: results from the VERADDICT survey. British Journal of Dermatology (2019) 181, pp828–873.