"...สื่อมวลชน ควรนำเสนอข่าวทั้งข้อดีและข้อเสียของกัญชาอย่างสมดุล "แพทย์" ควรสั่งจ่ายยาในการดูแลรักษาโดยใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองตามมาตรฐานทางการแพทย์ และหากจะใช้กัญชา ต้องใช้อย่างระมัดระวัง "นักการเมือง" ควรพิจารณาและตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลตามหลักมาตรฐานทางการแพทย์ และจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยกัญชาให้กระจ่าง..."
อเมริกาก็บอกแล้วว่าข้อมูลทางการแพทย์ยังน้อยมาก ใช้ได้ในไม่กี่โรค และไม่สามารถมาแทนยามาตรฐานได้ ก็ไม่ยอมเชื่อกัน แถมไปว่าเค้าว่าเสียประโยชน์จากธุรกิจยาแผนปัจจุบัน
หน่วยงาน NICE ของอังกฤษก็บอกเช่นกัน ว่าทบทวนหลักฐานทั้งหลายแล้วก็เป็นไปตามที่ระบุไว้ข้างต้น ก็ยังทำหูทวนลม
ข่าวล่าสุดเห็นว่าไปทำเมืองกัญชานำร่อง หวังจะผลิตและแจกจ่ายให้ใช้กันตามแผนของใครก็ไม่รู้ ที่น่าสนใจคือ ฝั่งมดงานสาธารณสุขกลับเออออห่อหมกกัน ถ่ายรูปลงสื่อกันอย่างน่าภาคภูมิใจ
คำถามที่ควรถามใจของแต่ละคนให้ดีคือ ตกลงพวกท่านกำลังทำอะไรกัน?
จะผลักให้ใช้ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการแพทย์ทางเลือก หรือทั้งสองทาง?
ดูจากสิ่งที่ปรากฏในสื่อ เข้าใจว่าจะทำทั้งสองทาง เพราะเตรียมทั้งคน เงิน ของ สถานที่ และประชาสัมพันธ์กันถ้วนทั่ว
ดูจากสิ่งที่ปรากฏในสื่อ ยิ่งดูก็ยิ่งมึน ว่าตกลงใช้มาตรฐานอะไรในการดำเนินการและกำกับดูแล
หากอ้างว่าเป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อมูลวิชาการระดับสากลที่หลายต่อหลายประเทศประกาศออกมานั้น เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า มันไปต่อไม่ได้ในการใช้เพื่อดูแลรักษาแบบมาตรฐาน ใช้ได้เฉพาะที่ล้มเหลวจากการรักษามาตรฐานในโรคไม่กี่โรค นอกนั้นต้องไปวิจัยกันอีกมาก และต้องใช้เวลาเพื่อที่จะพิสูจน์
ขืนผลักให้ใช้ นั่นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน
มาคุยกันต่อโดยใช้หลักฐาน ข้อมูล ที่เห็นกันชัดๆ ในประเทศอื่น นอกจากอเมริกาและอังกฤษบ้างว่าเป็นอย่างไร...
ถ้าเป็นคนที่ใช้ชีวิตตามกิเลสและอารมณ์ โดยไม่สนเหตุผลและความจริง ก็ไม่ต้องอ่านต่อนะครับ
เยอรมันนั้นปลดล็อคกัญชาไปตั้งแต่ปี 2017
ผ่านไปสองปีก็เห็นผลกระทบในสังคม ทั้งต่อสังคมโดยรวม และต่อการดูแลรักษาทางการแพทย์ในระบบสุขภาพของเค้า
German Medical Association หรือสมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมันได้เผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อ 31 พ.ค. 2019 หลังการประชุมครั้งที่ 122 ของ German Medical Conference ที่เมือง Munster โดยมีข้อสรุปนโยบายและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ดังนี้
...ที่ประชุมขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงสรรพคุณของการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างชัดเจน ก่อนที่จะสนับสนุนให้มีการนำไปใช้จริง เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานและแสดงถึงรับผิดชอบ เนื่องจากในปัจจุบันต้องยอมรับว่าหลักฐานวิชาการทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอ...(1)
ล่าสุดในเดือนกันยายน 2019 นี้เอง สมาคมแพทย์สาขาต่างๆ ได้เผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เมื่อ 2 ก.ย. 2019 ในภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล Schmerz (2)
เนื้อความกล่าวถึงปัญหาในระบบสุขภาพของเยอรมันหลังประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2017 ที่มีความสับสนวุ่นวาย กระทบต่อมาตรฐานการดูแลรักษาทางการแพทย์
เกิดปัญหาการประชาสัมพันธ์สรรพคุณกัญชาเกินจริง ไม่ได้รับการพิสูจน์ตามมาตรฐานสากล
เกิดปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมกัญชามามีอิทธิพลต่อหมอผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการจ่ายเงินให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอิทธิพลต่อการจูงใจให้คนใช้กัญชา
ทางสมาคมแพทย์สาขาต่างๆ กว่า 8 แห่งจึงขอเรียกร้องให้
"สื่อมวลชน" ควรนำเสนอข่าวทั้งข้อดีและข้อเสียของกัญชาอย่างสมดุล
"แพทย์" ควรสั่งจ่ายยาในการดูแลรักษาโดยใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองตามมาตรฐานทางการแพทย์ และหากจะใช้กัญชา ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
"นักการเมือง" ควรพิจารณาและตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลตามหลักมาตรฐานทางการแพทย์ และจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยกัญชาให้กระจ่าง
หึหึ...ดูเยอรมัน ดูอเมริกา ดูอังกฤษ แล้วหันมาดูสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในบ้านเมืองเรา
เอ๊ะ...ความหมายของหลักฐานทางวิชาการของเราคงต่างกับต่างประเทศกระมัง?
เอ๊ะ...เค้าชี้ให้เห็นกันชัดเจนว่า มันเกิดผลกระทบอะไร และกำลังหาทางระงับยับยั้ง และปรับให้ดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ไอ้ที่เรากำลังทำนั้น มันเป็นอย่างไรหนอ?
และหากคิดจะทำวิจัยกัญชาทางการแพทย์...มาตรฐานการวิจัยระดับสากลนั้น เค้าไม่ใช่นึกอยากจะเปิดรับสมัครก็รีบทำผ่านเว็บไซต์แบบที่เราอาจเห็นผ่านตากันจากที่ไหนสักแห่งสองแห่ง รายละเอียดสำคัญของการศึกษาวิจัยต้องมี และต้องได้รับการแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบก่อนตัดสินใจสมัคร ไม่ใช่เรียกให้คนมาสมัครแล้วขอรายละเอียดส่วนตัว ทั้งบัตรประชาชน ชื่อนามสกุล โรคประจำตัว ฯลฯ เพื่อจะเอาไปวิเคราะห์และพิจารณาว่าจะเข้าได้หรือไม่
แค่ขั้นตอนแรกที่เห็นกัน ก็น่าจะไม่สอดคล้องกับหลักวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice) และหลักจริยธรรมวิจัยในมนุษย์แล้วครับ
ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดทบทวนทีมงาน และระบบการดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครับ ก่อนจะเป็นรถไฟที่ออกจากสถานีแล้วไม่มีทางกลับมา
ด้วยรักต่อทุกคน
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
1. Stärkerer Schutz des Arztes als Berufsgeheimnisträger. 122. Deutscher Ärztetag. Bundesaerztekammer (German Medical Association), 31 May 2019.
2. Hauser W et al. [Medicinal cannabis and cannabis-based medication: an appeal to physicians, journalists, health insurances, and politicians for their responsible handling]. Schmerz. 2019 Sep 2. doi: 10.1007/s00482-019-00409-0. [Epub ahead of print].
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก sanook