"...ดังนั้นถามว่า...ถ้าเราจะทำแบริเออร์จากยางพาราได้หรือไม่ ขณะนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่ทราบว่ามีงานวิจัยใดในประเทศไทยได้ทำการศึกษาหรือพัฒนาแบริเออร์ที่ทำจากยางพาราแล้วหรือยัง และถ้าผลิตออกมาแล้วจะนำออกมาใช้งานในลักษณะใด ถ้าเป็นแบริเออร์แบบที่จะเอามาป้องกันการชนของรถยนต์ ก็จะต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนที่เป็นสากล ก่อนที่จะนำมาใช้งานจริง เพื่อยืนยันว่าแบริเออร์ที่ออกแบบหรือผลิตขึ้นมาใหม่นี้จะสามารถ redirect รถให้กลับเข้าสู่ช่องจราจรได้ ไม่กระเด้งกลับ หรือชนแล้วจะไม่ทะลุข้ามหรือเหินข้ามไปชนกับวัตถุอันตรายด้านหลังแนวแบริเออร์ เราไม่สามารถนำแบริเออร์ชนิดใหม่ใดๆ มาทดลองติดตั้งบนท้องถนนเลยทันที โดยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับความเสี่ยงเป็นผู้ทดลองชนดูได้..."
วันนี้ผู้เขียนอยากจะเล่าเรื่องแบริเออร์ให้ทุกท่านทราบว่า มันคืออะไร และทำหน้าที่อะไรบนถนนที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
แบริเออร์ และ การ์ดเรล เป็นอุปกรณ์กั้นเพื่อความปลอดภัยบนถนน ที่ถูกติดตั้งไว้ข้างทาง หรือบริเวณเกาะกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ที่เสียหลักตกข้างทางหรือหลุดออกนอกถนน ไปชนกับวัตถุอันตรายอื่นๆ ด้านหลังแนวแบริเออร์ ที่ชนแล้วจะเป็นอันตรายมากกว่าการชนกับแบริเออร์ หรือ การ์ดเรล (เช่น ชนต้นไม้ เสาไฟ เสาป้าย และอื่นๆ)
หน้าที่ของแบริเออร์ หรือ การ์ดเรล คือ เมื่อรถเสียหลักตกข้างทาง จะเกิดการชนทางด้านข้างกับตัวแบริเออร์ ตัวแบริเออร์ต้องสามารถทำให้รถกลับเข้ามาสู่เลนปกติได้ หรือเรียกว่าต้อง redirect รถกลับเข้ามาสู่ช่องจราจรเดิมได้ โดยต้องไม่ทำให้รถกระเด้งสะท้อนกลับมากเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นรถจะถูกชนด้วยรถคันอื่นที่วิ่งตามหลังมา และแบริเออร์จะต้องมีความแข็งแรงเพียงพอ สามารถป้องกันรถไม่ให้พุ่งทะลุ หรือพลิกข้ามไปชนวัตถุอันตรายที่อยู่แนวด้านหลังแบริเออร์ได้
แบริเออร์มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. แบริเออร์แบบยืดหยุ่น (Flexible Barrier) คือแบริเออร์ที่เมื่อชนแล้ว จะมีระยะร่นไปด้านหลังเมื่อถูกรถชนมากหน่อย เช่น การ์ดเรลเหล็กที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย
2. แบริเออร์แบบกึ่งแข็ง (Semi-Rigid Barrier) จะมีระยะร่นน้อยกว่าแบริเออร์แบบยืดหยุ่น เพราะมีความแข็งแรงมากกว่า สามารถป้องกันการชนของรถขนาดใหญ่ได้ รูปแบบจะคล้ายการ์ดเรลเหล็กที่เราใช้กันอยู่ แต่มีความแตกต่างที่การออกแบบหน้าตัด และเสา ที่มีความแข็งแรงมากกว่า แบบนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย
3. แบริเออร์แบบแข็ง (Rigid Barrier) จะมีระยะร่นเกือบเป็นศูนย์ เหมาะสำหรับในเขตพื้นที่ที่จำกัด หรือต้องการป้องกันการชนกับวัตถุอันตรายที่อยู่ระยะใกล้หรือชิดกับขอบทาง เช่น คอนกรีตแบริเออร์ (New Jersey Type) ที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
การจะเลือกใช้แบริเออร์เพื่อป้องกันการชนนั้น จึงขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทของถนน ความเร็วของกระแสจราจร ปริมาณจราจร ปริมาณของรถขนาดใหญ่ และสภาพอันตรายข้างทาง
ส่วนแบริเออร์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นแบริเออร์พลาสติกสีส้มๆ ที่เรามักจะเห็นติดตั้งอยู่บนถนนนั้น “ไม่ใช่แบริเออร์ที่สามารถป้องกันการชนได้” แต่เป็นแบริเออร์ที่ใช้สำหรับการกำหนดเขตแนวถนน การเตือนหรือการบ่งบอกว่าเขตถนนนั้นมีกิจกรรมใดๆอยู่ เช่นเป็นเขตก่อสร้าง แบริเออร์แบบนี้มักจะเป็นการใช้งานเพียงชั่วคราว โดยมักจะมีฝาเปิดให้สามารถเติมน้ำหรือทรายเข้าไปให้เพื่อให้มีน้ำหนักพอที่จะวางอยู่บนถนนได้ แต่ก็ไม่สามารถรับแรงกระแทกจากการชนของรถยนต์ที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงได้
แบริเออร์ที่ป้องกันการชนได้ทั้ง 3 ประเภทดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น จะต้องได้รับการออกแบบ การผลิต และการทดสอบตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับได้ โดยแบริเออร์ทุกประเภทก่อนที่จะนำมาใช้งาน จะต้องผ่านการทดสอบการชนด้วยรถยนต์ ตามมาตรฐานสากล ได้แก่ มาตรฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกา (NCHRP 350 หรือ MASH) หรือ มาตรฐานจากยุโรป (EN1317) บางครั้งผู้ผลิตแบริเออร์ในประเทศอื่น ก็พยายามใช้มาตรฐานการทดสอบการชนของประเทศตัวเองในการรับรองความปลอดภัยของแบริเออร์ที่ผลิตขึ้นเอง แต่ส่วนใหญ่ก็มักไม่เป็นที่ยอมรับ สุดท้ายประเทศนั้นๆ ก็ต้องขนแบริเออร์ที่ตัวเองผลิตเอาไปทดสอบไม่ที่อเมริกาก็ยุโรป เพื่อที่จะได้ใบรับรองมาว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองนั้นมีความปลอดภัย
ดังนั้นถามว่า...ถ้าเราจะทำแบริเออร์จากยางพาราได้หรือไม่ ขณะนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่ทราบว่ามีงานวิจัยใดในประเทศไทยได้ทำการศึกษาหรือพัฒนาแบริเออร์ที่ทำจากยางพาราแล้วหรือยัง และถ้าผลิตออกมาแล้วจะนำออกมาใช้งานในลักษณะใด ถ้าเป็นแบริเออร์แบบที่จะเอามาป้องกันการชนของรถยนต์ ก็จะต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนที่เป็นสากล ก่อนที่จะนำมาใช้งานจริง เพื่อยืนยันว่าแบริเออร์ที่ออกแบบหรือผลิตขึ้นมาใหม่นี้จะสามารถ redirect รถให้กลับเข้าสู่ช่องจราจรได้ ไม่กระเด้งกลับ หรือชนแล้วจะไม่ทะลุข้ามหรือเหินข้ามไปชนกับวัตถุอันตรายด้านหลังแนวแบริเออร์ เราไม่สามารถนำแบริเออร์ชนิดใหม่ใดๆ มาทดลองติดตั้งบนท้องถนนเลยทันที โดยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับความเสี่ยงเป็นผู้ทดลองชนดูได้ เพราะนั่นหมายถึง เรานำเอาอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยมาติดตั้งบนท้องถนน เมื่อรถยนต์ชนเข้าไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และหน่วยงานทางผู้ดูแลถนนนั้น อาจถูกฟ้องร้องได้
อ่านประกอบ :
'ศักดิ์สยาม'สั่งยกเลิกลงทุนสร้างเกาะกลางถนน ให้ใช้แบริเออร์ยางพาราแทน