นับจากนี้การแข่งขันทางธุรกิจจะยิ่งไร้ขอบเขต จนทำให้รูปแบบการจัดทำกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติดกับกรอบคิดที่ตายตัวอีกต่อไป หากแต่ต้องอาศัยความสามารถในการสังเกตช่องว่างของโอกาสและความยืดหยุ่นในการออกแบบรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจน้อยใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม หรืออุตสาหกรรมในยุคใหม่ เช่น โทรคมนาคม ล้วนได้พบเจอกับการถูกท้าทายและถูกทำให้หยุดชะงัก (Disrupt) จากการเข้ามาของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งส่งผลให้กิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะการแข่งขันและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ
จากที่เคยสามารถยึดหลักปลาใหญ่กินปลาเล็กที่แข่งขันกันด้วยต้นทุนและความได้เปรียบ การมีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือ หลักการของปลาเร็วกินกินปลาช้าที่แข่งขันกันด้วยความคล่องตัวและการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ กลับกลายต้องมาเผชิญกับภาวะคู่แข่งที่มาทำตัว มิตรก็ไม่ใช่ ศัตรูก็ไม่เชิง (frenemy) ที่ธุรกิจทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ต้องหันมาสร้างระบบบนิเวศ (Ecosystem) ทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งรูปแบบที่เป็นพันธมิตรถาวรหรือชั่วคราว และในบางครั้งธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันในระบบนิเวศหนึ่ง อาจเป็นคู่แข่งกันในระบบนิเวศในตลาดอื่นก็เป็นได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นในหลายๆอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบนิเวศ ที่กำลังพูดอยู่นี้คืออะไร และการเข้ามาของดิจิทัลมีบทบาทอย่างไร
หากมองในภาพใหญ่ของรูปแบบธุรกิจจะหมายถึง ระบบนิเวศทางธุรกิจ ( Business Ecosystem) หรือองค์ประกอบของธุรกิจในตลาด ที่โดยพื้นฐานแล้วประกอบไปด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าหรือบริการ ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และช่องทางในการจัดจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละส่วนประกอบนี้ล้วนมีบทบาทที่แยกจากกันชัดเจน
การเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ซึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นพันธมิตรตัวกลางในการเชื่อมต่อหลายบทบาท หลายระบบ หลายภาคส่วน เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างการเข้าถึงสินค้าและบริการ รวมถึงการเข้าถึงตลาด ให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นรูปแบบของระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและข้อกังวลให้กับผู้ประกอบธุรกิจดั้งเดิม เนื่องจากดิจิทัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนสูง และเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดการติดต่อกันธุรกิจการซื้อขาย (Transaction) ได้ในคราวเดียว ย่อมมีโอกาสสูงในการต่อยอดเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเกี่ยวข้องในระบนิเวศได้ เนื่องจากสามารถผันตัวไปเป็นจุดศูนย์กลางของระบบนิเวศดิจิทัลโดยง่าย เช่น การเชื่อมต่อหรือต่อยอดไปสู่ธุรกิจการกระจายสินค้า ) หรือ การสร้างระบบซื้อขายรวมไปถึงบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์มซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งต่อธุรกิจดั้งเดิมในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร
ล่าสุดโซเชี่ยลมีเดียแพลตฟอร์ม ระดับโลกอย่าง Facebook ได้ออกมาประกาศถึงการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้านการเงิน โดยมีการออกสกุลเงินดิจิตัล (Cryptocurrency) ตระกูลใหม่ชื่อว่า Libra และเปิดตัวบริษัทย่อยCalibra ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเงินให้กับสกุลเงิน Libra โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะพร้อมใช้งานและออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2563
สำหรับตัว Libra เองถือได้ว่าเป็น สกุลเงินดิจิทัล ที่สร้างขึ้นบน Blockchain ที่ออกแบบมาให้มีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพสูง หรือที่เรียกว่า เหรียญที่มีมูลค่าคงที่ (Stable coin) เนื่องจากมีการผูกค่า กับหลากหลายสกุลเงินและหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็น Investment Grade Asset ทำให้ราคามีความผันผวนต่ำกว่า คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อื่น เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) และเป็นที่ยอมรับได้ในหลากหลายตลาด
นอกจากนี้ Facebook ยังมีการสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศ ผ่านความร่วมมือกับมากกว่า 28 บริษัท ซึ่งรวมไปถึง PayPal Visa Mastercard และยังใช้งานได้ผ่านหลากหลายแอพลิเคชั่น ด้านการสื่อสาร เช่น WhatsApp และ Messenger จนนักวิเคราะห์บางสำนักถึงกับออกมาบอกว่า Libra อาจจะกลายเป็นสกุลเงินหลักได้ในอนาคต ผ่านการใช้งานบน Facebook ซึ่งมีประมาณ 2.4 พันล้าน MAUs (Monthly Active Users)
จะเห็นได้ว่าการเดินหมากครั้งนี้ของ Facebook เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านการต่อยอดจากการมีระบบนิเวศดิจิทัล ที่เข้มแข็ง ซึ่งมีทั้งการสะสมฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การสร้างตลาดที่สามารถผลิตโดยผู้บริโภค หรือ ไม่สามารถแยกผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างชัดเจน การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายและตัวกลางที่มีเสถียรภาพ รวมไปถึงการเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถดำเนินการด้านการตลาดได้ทั้งระดับมหภาค และผ่าน Micro influencer (กลุ่มคนทั่วไปที่ชื่นชอบในการรีวิวสินค้าหรือบล็อกเกอร์ที่ผลิตคอนเท็นต์เกี่ยวกับการแนะนำสินค้า ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนไม่มากหรือผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม) และยังสามารถขายและเก็บค่าโฆษณาจากกิจกรรมเหล่านี้ได้อีกด้วย
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า การสร้าง Libra ในครั้งนี้ Facebook ไม่ได้มุ่งหวังรายได้จากการเก็งกำไร หากแต่เป็นการสร้างตัวแปรที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศ และเพิ่มโอกาสในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมใหม่ได้มากขึ้น เช่น Education หรือ Healthcare ซึ่งเราอาจต้องรอดูกันต่อไปว่ากลยุทธ์ในครั้งนี้จะออกดอกออกผลตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี นับจากนี้การแข่งขันทางธุรกิจจะยิ่งไร้ขอบเขต จนทำให้รูปแบบการจัดทำกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติดกับกรอบคิดที่ตายตัวอีกต่อไป หากแต่ต้องอาศัยความสามารถในการสังเกตช่องว่างของโอกาสและความยืดหยุ่นในการออกแบบรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพราะต่อจากนี้คู่แข่งของคุณอาจจะไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเดียวกับคุณอีกต่อไปและบริษัทต้องพร้อมที่จะคอยปรับตัวอยู่เสมอ