"...ขณะนี้ภาพพจน์ของรัฐบาลได้รับผลกระทบจาก “สนิมบุคคล” อย่างมาก จากการต่อรองตำแหน่งอย่างเอิกเกริกของบุคคลต่างๆ ทั้งการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และ การต่อรองภายในพรรคหลักของรัฐบาลเอง สนิมถัดไปที่รอถล่มรัฐบาล คือ “สนิมนโยบาย” ต่างๆของพรรคร่วมรัฐบาล หากรัฐบาลรวบรวมนโยบายที่ดี คือ ดีทั้งระยะสั้นและไม่ก่อผลเสียระยะยาว ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถสร้างผลงานได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้นและไม่เสียภาพพจน์ในระยะยาว แต่หากรัฐบาลบรรจุนโยบายที่เกิดผลเสียในระยะยาวอย่างแน่นอนไว้ในนโยบายรัฐบาล ก็จะส่งผลเชิงลบต่อภาพพจน์ของรัฐบาลในทันทีและจะทำให้เรือเหล็กรั่วและล่มได้ในอนาคตต่อไป ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้รัฐบาลและสังคมพิจารณาว่านโยบายกัญชาจะเป็น “เหล็กเคลือบกันสนิม” หรือ “สนิมนโยบาย” สำหรับรัฐบาลเหล็กลำใหม่นี้..."
ขณะนี้ว่าที่รัฐบาลที่มีชื่อว่า “รัฐบาลเรือเหล็ก” กำลังจัดทำนโยบายรัฐบาลโดยการรวบรวมนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ท่านรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม กล่าวไว้ทำนองว่า รัฐบาลเรือเหล็ก ขนสินค้าได้มากกว่าเดิม แต่ต้องระวัง “สนิมเนื้อใน” ซึ่งจะทำให้เรือพังได้
หากเราเรียนรู้จากอดีต การพังทลายของรัฐบาลหลายรัฐบาล เกิดจาก “สิ่งไม่ดี ไม่ยึดคุณธรรม ช่อโกง คอรัปชั่น ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและประชาชนส่วนใหญ่” ค่อยๆผุดโผล่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง ดังนั้นหากรัฐบาลคำนึงถึงแต่ประโยชน์ระยะสั้นไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว หรือคำนึงถึงแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่คำนึงถึงผลเสียทางสังคมระยะยาว จะถือได้ว่าเป็นการใช้เหล็กสร้างเรือที่ดูแข็งแรงภายนอกในระยะแรก แต่แท้จริงแล้วซ่อนสนิมไว้ข้างในที่รอวันจะขยายตัวขึ้นจนทำให้เรือรั่วและร่มได้ในที่สุด
ขณะนี้ภาพพจน์ของรัฐบาลได้รับผลกระทบจาก “สนิมบุคคล” อย่างมาก จากการต่อรองตำแหน่งอย่างเอิกเกริกของบุคคลต่างๆ ทั้งการต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และ การต่อรองภายในพรรคหลักของรัฐบาลเอง สนิมถัดไปที่รอถล่มรัฐบาล คือ “สนิมนโยบาย” ต่างๆของพรรคร่วมรัฐบาล หากรัฐบาลรวบรวมนโยบายที่ดี คือ ดีทั้งระยะสั้นและไม่ก่อผลเสียระยะยาว ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถสร้างผลงานได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้นและไม่เสียภาพพจน์ในระยะยาว แต่หากรัฐบาลบรรจุนโยบายที่เกิดผลเสียในระยะยาวอย่างแน่นอนไว้ในนโยบายรัฐบาล ก็จะส่งผลเชิงลบต่อภาพพจน์ของรัฐบาลในทันทีและจะทำให้เรือเหล็กรั่วและล่มได้ในอนาคตต่อไป ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้รัฐบาลและสังคมพิจารณาว่านโยบายกัญชาจะเป็น “เหล็กเคลือบกันสนิม” หรือ “สนิมนโยบาย” สำหรับรัฐบาลเหล็กลำใหม่นี้
นโยบายกัญชามีหลายรายละเอียด ได้แก่ หนึ่งนโยบายกัญชาทางการแพทย์ (Marijuana for medical purpose) สองนโยบายกัญชาเพื่อความบันเทิง(Marijuana for non-medical purpose หรือ Recreational marijuana) และ สามนโยบายกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ (Marijuana for economic)
หนึ่ง ขณะนี้ นโยบายกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยมีสถานะถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ตามพระราชบัญญัติยาเพสติดให้โทษ พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 7) ตามที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้หากกำหนดให้มีนโยบายที่ให้หน่วยงานราชการจัดให้มีบริการกัญชาทางการแพทย์ให้ทั่วถึงแก่ผู้ป่วยบางโรคหรือบางอาการที่ได้รับการพิสูจน์ทางหลักวิชาการแล้วว่าจะได้ประโยชน์จากสารสกัดจากกัญชา ซึ่งขณะนี้มีเพียงบางโรคบางอาการเท่านั้นที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว
(หมายเหตุ- การที่มีการกล่าวอ้างว่ากัญชาได้ประโยชน์ในการรักษาโรคได้อย่างกว้างขวางนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นการยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้น โดยไม่ได้นำผู้ป่วยที่ใช้กัญชาแล้วไม่ได้ผลมากล่าวถึง อีกทั้งไม่ได้กล่าวถึงผลทางจิตวิทยาที่ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเพราะมีความหวังที่จะรอดตายจากโรคมะเร็ง ซึ่งความรู้สึกมีความหวังนี้เกิดขึ้นได้จากการรับประทานสมุนไพรหรือยาอะไรก็ตามที่ผู้ป่วยเชื่อว่าจะช่วยได้(ที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า Placebo effect) อีกทั้งการใช้กัญชาแล้วทำให้นอนหลับได้และทานอาหารได้ก็เป็นฤทธิ์เสพติดของกัญชาตามปกติ ซึ่งไม่ได้เป็นฤทธิ์รักษาโรคให้หายขาดแต่ประการใด ที่สำคัญที่มักไม่ถูกกล่าวถึง คือ มีงานวิจัยจำนวนมากในระดับสากล พบว่า การใช้กัญชาก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบหลายประการ ได้แก่ การเสพติด การเกิดอุบัติเหตุจากการเมากัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะ และ การทำลายสมองของเยาวชนโดยตรงซึ่งอยู่ในช่วงกำลังขยายเส้นประสาทสมอง ตลอดจนการทำให้เกิดอาการวิกลจริตได้)
ที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาว โดยรัฐบาลจะต้องจัดให้มีระบบควบคุมที่เข้มแข็งเพียงพอไม่ปล่อยให้มีการรั่วไหลของกัญชาทางการแพทย์ไปสู่มือของผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน และควบคุมกัญชาทางการแพทย์และกัญชาทั่วไปในตลาดมืดให้ได้ เพื่อป้องกันการนำไปสู่การใช้เพื่อความบันเทิงจนเกิดการเสพติดหรือผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการเมากัญชาแล้วขับรถ เป็นต้น มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำการเปรียบเทียบระหว่างรัฐที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์แต่มีรายละเอียดการควบคุมที่แตกต่างกัน ซึ่งพบว่า รัฐที่มีการปล่อยระบบควบคุมให้หละหลวมกว่าจะทำให้เกิดการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนมากกว่า ตลอดจนการใช้กัญชาเกินขนาดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มากกว่า การควบคุมที่หละหลวมเหล่านี้ ได้แก่ การให้มีการจำหน่ายได้ในร้านขายยา การให้ผู้ป่วยปลูกเองได้ เป็นต้น หากรัฐบาลวางระบบบริการได้ดีและควบคุมการรั่วไหลได้อย่างเข้มเข็งเพียงพอ รัฐบาลก็จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการกำหนดนโยบายกัญชาทางการแพทย์เป็นนโยบายรัฐบาล
สอง นโยบายกัญชาเพื่อความบันเทิงไม่มีประโยชน์ใดๆแก่สังคมโดยรวม จะมีประโยชน์ก็แต่สำหรับธุรกิจกัญชาที่รอจ้องรับประทาน (เขมือบ) ผลประโยชน์ก้อนนี้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว ข้อมูลทางการตลาดระบุว่าธุรกิจกัญชาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคต คาดประมาณว่าภายในสิบปี ตลาดโลกของกัญชาถูกกฎหมายจะขยายตัวไปถึง 57พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2027 อีกทั้งสื่อแคนาดาระบุว่าธุรกิจบุหรี่มืออาชีพยักษ์ใหญ่ระดับโลก Marlboro ใช้เงิน 2.4 พันล้านเหรียญแคนาดาซื้อบริษัทกัญชาในประเทศแคนดาเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา การที่ประเทศแคนาดาและรัฐบางรัฐในสหรัฐอเมริกากำหนดนโยบายให้เสพกัญชาเพื่อความบันเทิงได้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้สูบกัญชาอยู่แล้วในสัดส่วนที่มาก คือ ร้อยละ 12 ในประเทศแคนาดา และ ร้อยละ 8 – 12 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยมีผู้สูบกัญชาเพียงร้อยละ 0.2 จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะกำหนดให้มีนโยบายกัญชาเพื่อความบันเทิง
ส่วน สาม นโยบายกัญชาเพื่อเศรษฐกิจตามที่เป็นข่าวรับรู้ทั่วไปนั้น คือ การจะอนุญาตให้ทุกครัวเรือนปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น จะสร้างรายได้จากการสกัดกัญชาถึงปีละ 420,000 บาทต่อครัวเรือน รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบครอบว่านโยบายนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์จริงดังนั้นหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบด้านลบอะไรที่ไม่คาดคิดตามมาบ้าง เหตุผลที่รัฐบาลควรใช้ประกอบการพิจารณาประเด็นนี้ คือ
หนึ่ง จากหลักการตลาดที่ราคาจะขึ้นกับความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เมื่อมีอุปทานมาก คือ มีคนปลูกกัญชาทั่วประเทศพร้อมกัน ราคาของกัญชาก็จะตกลงอย่างแน่นอน
สอง นโยบายนี้จะขัดกับนโยบายควบคุมยาเสพติดระดับโลกซึ่งยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดในเวทีการควบคุมยาเสพติดระดับโลก
สาม การอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้บ้านละหกต้น จะมีวิธีการควบคุมอย่างไรไม่ให้ปลูกเกินจำนวนนี้ ประเทศไทยมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตลอด เช่น การไม่สวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่จักรยานยนต์ การที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 100% ทั้งที่ผิดกฎหมาย การจำหน่ายสุราโดยไม่ติดแสตมป์ไม่เสียภาษีควบคู่ไปกับการจำหน่ายแบบติดแสตมป์เสียภาษีของสุรากลั่นชุมชน เป็นต้น
สี่ จะควบคุมไม่ให้มีการจำหน่ายกัญชาสู่ตลาดมืดได้อย่างไร เพราะการขายตลาดมืดจะสะดวกและได้เงินสดรวดเร็วกว่า
และ ห้า จะควบคุมไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนเสพติดกัญชาได้อย่างไร เนื่องจากมีกัญชาอยู่ในทุกบ้านและไม่มีค่าใช้จ่ายในการหามาใช้ บุหรี่และสุราซึ่งไม่ได้มีอยู่ในบ้านและมีกฎหมายควบคุมไม่ให้เยาวชนซื้อได้ ก็ยังมีเยาวชนเสพติดจำนวนมาก แม้แต่ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ เยาวชนยังนำมาใช้เป็นยาเสพติดได้เลยอย่าว่าแต่กัญชา ที่สำคัญคืองานวิจัยในระดับสากลพบว่ากัญชาเป็นประตูสู่การใช้สารเสพติดร้ายแรงอื่น เพียงแค่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็มีข่าวอันน่าสลดจากการเสพติดกัญชาให้เห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระยะอยู่แล้ว เช่น “สลด!พ่อบังคับลูกวัย 13 ให้คนข่มขืนแลกกัญชา” “พ่อทาสกัญชา ประสาทหลอน ฆ่าในไส้ 1 ขวบ” “หลอน!!ลูกพี้กัญชาจนผวาเกรงคนมาฆ่า แทงพ่อแม่เจ็บ” หากในอนาคตประชาชนและเด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชากันทุกครัวเรือน สังคมไทยจะหายนะขนาดไหน
เช่นเดียวกับนโยบายปลูกพืชผลเกษตรเชิงเดี่ยวอื่นๆในประเทศไทย ที่ราคาผลิตตกต่ำเมื่ออุปทานผลผลิตออกพร้อมกัน (เช่น การปลูกยางพาราทั่วประเทศ เป็นต้น) แต่คนขายปุ๋ยหรือต้นกล้าได้กำไรมหาศาลไปก่อนแล้ว นโยบายกัญชาเพื่อเศรษฐกิจนี้ ประชาชนจะมีรายได้เท่าไหร่ยังไม่แน่นอน ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมยังไม่อาจประมาณได้ แต่คาดว่าจะมีธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากรัฐบาลกำหนดให้มีนโยบายนี้ในนโยบายของรัฐบาล เชื่อได้ว่าจะเป็นหนึ่งใน “สนิมนโยบาย” ที่รอวันทำให้เรือเหล็กลำใหม่นี้จมลงอย่างแน่นอนในอนาคต
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิชาการจากแคนนาดา,
Dalla Lana School of Public Health, University of Toronto, Canada
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2019/07/17362