...‘ซ้องปีบ’ กับ ‘กาสะลอง’ เป็นตัวแทน ‘สีดำ’ กับ ‘สีขาว’ สื่อให้เห็นว่า คนเราวัดกันที่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ แต่จิตใจมีความสำคัญกว่า ดังนั้นตัวละครในเรื่องนี้จึงสร้างขึ้นให้เป็นฝาแฝด เพื่อให้เห็นว่า หน้าตาเหมือนกัน สวยเหมือนกัน แต่จิตใจแตกต่างกันและแตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว...
ละครย้อนภพชาติกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง นับตั้งแต่ ‘บุพเพสันนิวาส’ โด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อไม่กี่ปีมานี้...
นับแต่นั้นผู้จัดละครหลายช่องจึงต่างคัดสรรบทประพันธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้มาผลิตสู่จอแก้ว หากมิใช่ว่า ทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ใช้ไม่ได้กับ ‘กลิ่นกาสะลอง’ ที่กำลังเข้มข้นและโด่งดังในเวลานี้
‘กลิ่นกาสะลอง’ เป็นบทประพันธ์ของ ‘เนียรปาตี’ หรือ ‘พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ’ วัย 39 ปี อาจารย์และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ มีรางวัลการันตีฝีมือ รองชนะเลิศการประกวดนวนิยาย รางวัลทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2549 จากเรื่อง แป้งร่ำสารภี
ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์เรื่องอื่น ๆ ออกสู่สายตาแฟนหนังสือ ได้แก่ หมอกพรางดาว ฝากรักไว้ที่ปรายฟ้า เวิ้งราตรี และเรือนไม้หอม
ความโด่งดังของละครและนวนิยาย ทำให้ ‘พราวกระซิบ’ ต้องบินลัดฟ้าจากพระนครสู่หัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับผู้ร่ายมนต์อักษรก่อเป็นนวนิยาย ‘เนียรปาตี’
11.00 น. ณ ห้องสมุด คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ วันฝนพรำ บรรยากาศเย็นสบาย
‘เนียรปาตี’ ผู้ชายร่างเล็ก รูปลักษณ์อย่างชาวเหนือโดยแท้ ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยมิตรไมตรี พาย้อนวันวานบอกเล่าจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นนักเขียนในวันนี้ เดิมนั้นชื่นชอบการอ่านวรรณคดีมาก่อน เพราะมีเสน่ห์ในด้านการใช้ถ้อยคำภาษา ฉันทลักษณ์
ขณะที่เนื้อเรื่องมีการผสมผสานกันเกี่ยวกับชีวิต วัฒนธรรม และความคิดของผู้คน หลายเรื่องมีลักษณะแฟนตาซี นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้เห็นแนวทางที่ชอบ
เมื่อศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้มีโอกาสลองอ่านนวนิยาย ซึ่งเป็นเรื่องเล่าแบบร้อยแก้ว เขาบอกว่า คราวแรกไม่แน่ใจว่าชื่นชอบหรือไม่ แต่เพื่อนให้ยืม จึงทดลองอ่าน แม้รู้สึกว่า “ชอบ” หากไม่ถึงขั้น “หลงใหล” อย่างไรก็ตาม ทำให้เห็นว่า นวนิยายเป็นวิธีการเล่าเรื่องอีกรูปแบบหนึ่ง
“อ่านเรื่อย ๆ มาตั้งแต่นั้นมา พออ่านได้หลายเรื่องมากขึ้น อ่านงานของนักเขียนหลายท่าน จึงเริ่มเห็นแนวที่ตนเองสนใจอย่างจริงจัง จนถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่า อ่านนิยายมามากพอแล้ว จึงผันตนเองมาเป็นนักเขียนบ้าง”
เจ้าของบทประพันธ์ ‘กลิ่นกาสะลอง’ เล่าว่า ‘แต่ปางก่อน’ ของ ‘แก้วเก้า’ (คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) คือนวนิยายเล่มแรกที่เพื่อนให้ยืมทดลองอ่านวันนั้น
“รู้สึกชอบและประทับใจในเค้าโครงเรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรักของหนุ่มสาว อุปสรรคในความรัก กว่าจะสมหวังกันได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิด 3 ภพชาติ”
ใครจะรู้ว่า จาก ‘แต่ปางก่อน’ ได้กลายมาเป็นแนวทางของนักเขียนผู้นี้ เขาเห็นอย่างชัดเจนว่า ‘กลิ่นกาสะลอง’ มีแนวทางของเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องดังกล่าว
...เขาประทับใจ นั่นจึงทำให้ยึดนักเขียนชั้นครูเป็นต้นแบบในการรังสรรค์สร้างรอยอักษรเจริญรอยตามอย่างลูกศิษย์กับอาจารย์
แล้วจุดเริ่มต้นของ ‘กลิ่นกาสะลอง’ มาได้อย่างไร
“กลิ่นกาสะลองมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า เราอยากเขียนหนังสือ เนื่องจากเราอ่านนวนิยายมาหลายเรื่องแล้ว อ่านวรรณคดีมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งสมัยมัธยมศึกษาที่ได้อ่านวรรณคดีเยอะ ๆ เกิดจุดหนึ่งรู้สึกว่า อยากแต่งวรรณคดีบ้าง ซึ่งเคยประกวดคำกลอนบ้าง ไม่เชี่ยวชาญ แต่รู้สึกว่าตัวเองชอบ จนไปถึงจุดหนึ่ง อยากลองแต่งบ้าง
เหมือนเป็นการประมวลความรู้ต่าง ๆ วรรณคดีไทยมักเจอซีนแบบนี้ เรื่องแบบนี้ เช่น ตัวเอกของเรื่องเกิดมาพร้อมอภินิหารหรือปาฎิหาริย์บางอย่าง มีกาลกิณีเกิดขึ้น การกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี เข้าใจผิด เนรเทศออกจากเมือง ฝากตัวกับพระฤาษี เราจดบันทึกเขียนเป็นรายการว่า ถ้าเราต้องแต่งสักเรื่องหนึ่ง จะต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้”
‘เนียรปาตี’ ยืนยันย้ำหนักแน่นว่า ชื่นชอบกลอน แต่ไม่เชี่ยวชาญในการแต่งหลายบทยาวตลอดรอดฝั่ง ขณะที่นวนิยายน่าจะง่ายกว่า เพราะเป็นการเล่าเรื่องร้อยแก้ว มีตัวละคร ซึ่งวิธีคิดในการเขียน ‘กลิ่นกาสะลอง’ มาจากความประทับใจในหลายเรื่องข้างต้น หยิบเข้ามาใส่ในเรื่องนี้
“ผมเชื่อว่านักเขียนใหม่หลายคนอาจเริ่มต้นจากจุดนี้ พอเรามีเรื่องอะไรที่ประทับใจมาก ๆ เราก็อยากเขียนใส่ไปในเรื่องนั้น”
โดยหากย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว นวนิยายเป็นที่นิยมของนักอ่าน แต่พล็อตเรื่องแนวข้ามเวลาหรือภพชาติ อาจมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ถือเป็นแนวเรื่องที่ผู้อ่านสนใจ กระทั่งยุคปัจจุบันมีนักเขียนหน้าใหม่เกิดง่ายขึ้น ทำให้มีแนวเรื่องย้อนภพย้อนชาติเยอะมาก
ตัวเขาเองก็เหมือนกัน ‘กลิ่นกาสะลอง’ มองว่า ความเป็นแฟนตาซีน่าจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ง่ายกว่ารักโรแมนติกหรือดราม่า เพราะเริ่มเขียนสมัยเรียนในระดับอุดมศึกษา ปี 3-4 จะให้เขียนแนวรักโรแมนติก คิดว่าเราไม่ใช่คนมีประสบการณ์ความรักสวยงาม หรือแนวดราม่า อาจไม่รู้จักชีวิตมากเพียงพอ
ทำให้เรื่องที่คิดเขียนไว้ตอนนั้นจึงมีความเป็นเรื่องที่อยากเล่าผสมผสานกับความแฟนตาซีที่อยากใส่เข้าไป แล้วเรื่องอะไรล่ะ! หนีไม่พ้น ต้องเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมทางเหนือ เพราะเราเติบโตที่ภาคเหนือ สัมผัสจนคุ้นเคย และเชื่อว่าจะสามารถถ่ายทอดออกไปได้ โดยไม่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลมากนัก
“ ‘กลิ่นกาสะลอง’ ในความรู้สึกครั้งแรก เพียงแค่อยากเขียนนวนิยายเท่านั้น โดยกำหนดเค้าโครงมาคร่าว ๆ ว่าเรื่องของเราต้องเป็นแนวย้อนภพชาติ มีปาฎิหาริย์ มีผีมาหลอก ทำให้ย้อนระลึกชาติกลับไป เลยต้องมีตัวละครพระเอก นางเอก ซึ่งตอนนั้นยังไม่นึกถึงการสร้างตัวละครต้องมีมิติไหนบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร เหมือนแค่อยากเล่าว่าคนนี้ไปเจออะไร ต้องเป็นอย่างไรต่อ พอเขียนไปได้ประมาณหนึ่ง ตีบตัน จึงหยุดเขียนอยู่แค่นั้น”
ทำให้ต้นฉบับ ‘กลิ่นกาสะลอง’ ดร๊าฟแรก มีประมาณ 14-15 หน้า ซึ่งเขาเริ่มต้นเขียน พ.ศ. 2545 ทิ้งไว้ 5 ปี ก่อนกลับมาเขียนต่ออีกใน พ.ศ.2550
เขากล่าวติดตลกว่า เรื่องแรกที่เขียน (กลิ่นกาสะลอง) กับเรื่องแรกที่เขียนจบ (แป้งร่ำสารภี) เป็นคนละเรื่องกัน
อดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า เหตุใด จึงเขียน ‘แป้งร่ำสารภี’ จบบริบูรณ์ ได้รับคำตอบว่า ขณะนั้นจะส่งเข้าประกวดรางวัลทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ 1 จึงตั้งใจต้องส่งให้ได้ ดังนั้นจึงมีเส้นตายว่า ต้องเขียนให้จบ! จากครั้งนั้นทำให้เรามีความมั่นใจขึ้นสามารถเขียนนวนิยายจบได้
เนียรปาตี สะท้อนว่า การเขียนนวนิยายไม่จบเป็นปัญหาพื้นฐานของนักเขียน ณ จุดหนึ่งทุกคนอยากเขียน แต่หลายคนไปไม่ถึงฝั่ง อาจติดขัดด้วยปัญหาต่าง ๆ กัน จึงไม่สามารถเขียนให้จบได้ ดังนั้น เมื่อเขียนจบหนึ่งเรื่อง เหมือนเป็นกำลังใจขึ้นมาว่าเราทำได้
กระทั่งงานเขียนเล่มต่อมา เลยรู้สึกเหมือนง่ายขึ้น เพราะรู้วิธีการสร้างตัวละคร การวางเหตุผล ลำดับเหตุการณ์ สร้างปมขัดแย้ง ไปสู่จุดไคลแม็กซ์ การคลี่คลายปัญหา ซึ่งนักเขียนผู้นี้ได้เรียนรู้ประสบการณ์จาก ‘แป้งร่ำสารภี’ และ ‘หมอกพรางดาว’ ซึ่งเป็นสองเรื่องแรกในชีวิตนักเขียน
เมื่อนวนิยายสองเรื่องเปิดประตูต้อนรับเขาสู่ถนนนักเขียนอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว ทำให้ชายชาวเหนือผู้นี้คิดว่า ควรหาแนวเรื่องใหม่เขียน เพื่อพิสูจน์ตัวเองเขียนแนวอื่นได้ นอกจากความรักโรแมนติกของหนุ่มสาววัยรุ่น
พลันนึกถึง ‘กลิ่นกาสะลอง’ เขียนค้างไว้ ซึ่งมีความแฟนตาซี ย้อนภพชาติ จึงหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นกันใหม่อีกรอบ
“ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นสามภพชาติ แต่เมื่อวางโครงเรื่องแล้ว เหมือนมีความคิดขยายต่อไปเรื่อย ๆ มีฉากที่อยากใส่ มีเรื่องอยากเล่าถึง จึงมาลงตัวด้วยวิธีการเล่าแบบนี้ อย่างตัวละครหาเหตุผล หาที่มาที่ไปของตัวละครแต่ละตัวว่า มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เพราะสะท้อนถึงวิธีคิดและพฤติกรรมของตัวละครนำไปสู่ความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งหลายคนได้อ่านนวนิยายแล้ว อาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมตัวละครตัวนี้ในอดีตชาติมาเจอชีวิตแบบนี้ในปัจจุบัน”
‘ซ้องปีบ’ กับ ‘กาสะลอง’ ตัวละครเอกของเรื่อง รับบทโดย ‘ญาญ่า อุรัสยา’ โดยผู้เขียนสร้างปมความขัดแย้งไว้อย่างน่าสนใจ ดึงสถาบันครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้ประพันธ์ กล่าวว่า กลิ่นกาสะลองเป็นการเขียนที่มีการซ่อนวิธีคิดหลายอย่างไว้ ซึ่งจะอ่านเพื่อความบันเทิง ไม่หาเหตุผลอะไรมากก็ได้ แต่ความจริงแล้ว ตนเองมีวิธีเขียนค่อนข้างเปิดพอสมควร หลายเรื่องหรือหลายเหตุการณ์ไม่ได้เขียนรายละเอียดจบแบบเคลียร้อยเปอร์เซนต์ แต่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อ่านจินตนาการต่อได้ตามที่อยากให้เป็นหรือเปิดช่องให้ผู้อ่านเกิดการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้
“นวนิยายจึงไม่ใช่เพียงสื่อบันเทิง แต่สามารถตั้งคำถามหรือชวนผู้อ่านขบคิดต่อจากเรื่องที่อ่านได้”
‘ซ้องปีบ’ กับ ‘กาสะลอง’ เป็นตัวแทน ‘สีดำ’ กับ ‘สีขาว’ สื่อให้เห็นว่า คนเราวัดกันที่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ แต่จิตใจมีความสำคัญกว่า ดังนั้นตัวละครในเรื่องนี้จึงสร้างขึ้นให้เป็นฝาแฝด เพื่อให้เห็นว่า หน้าตาเหมือนกัน สวยเหมือนกัน แต่จิตใจแตกต่างกันและแตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว
แล้วอะไรที่ทำให้ฝาแฝดคู่นี้แตกต่างกัน เขาอธิบายมาจากความขัดแย้งในครอบครัว พ่อแม่ไม่ค่อยลงรอยกัน เมื่อมีลูกฝาแฝด จึงแยกกันเลี้ยง ลูกพ่อกับลูกแม่ ซึ่งมีวิธีการเลี้ยงแตกต่างกัน
“ในนวนิยายเปิดไว้แค่นี้ แต่เมื่อละครออกมา และผู้ชมเกิดการถกเถียงกันว่า ทำไมพ่อไม่รักกาสะลอง ทำไมซ้องปีบร้ายขนาดนี้ มีความคิดเห็นต่าง ๆ ว่าสาเหตุอาจเกิดจากเพราะอะไร ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องหาคำตอบที่ชัดเจนสมบูรณ์ว่าเพราะอะไร แต่ทั้งหมดที่แสดงความคิดเห็นต่างพูดถึงความเป็นไปได้ทั้งนั้น การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัว ส่งผลต่อเด็กในอนาคตได้อย่างไร”
ทั้งนี้ จะเห็นว่า ‘ซ้องปีบ’ เติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของพ่อ ซึ่งพ่อเป็นผู้มีอำนาจ มีฐานะ จึงเอื้ออำนวยให้ลูกได้ทุกอย่าง ปัจจุบันเรียกว่า สปอย แต่อาจไม่มีสิ่งที่ ‘ซ้องปีบ’ ต้องการ เกี่ยวกับความรักความอบอุ่นเหมือนเป็นสายสัมพันธ์...พ่อรักซ้องปีบ...ซ้องปีบรู้ว่ารัก แต่การแสดงความรักของพ่อกับซ้องปีบ อาจเป็นเรื่องฉาบฉวย...ให้เงิน...ตามใจ
ขณะที่สิ่งที่ซ้องปีบต้องการจากแม่ กลับกลายเป็นความผูกพัน!!!
พอกล่าวถึงสถาบันครอบครัว เขาขยายความว่า ปัญหาครอบครัวเกิดได้กับทุกบ้านและทุกยุคสมัย โดยมีสาเหตุคล้ายคลึงกัน พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน มีลูกรักลูกชัง ถือเป็นปัญหาคลาสสิก อยู่ได้ทุกสมัย เพียงแต่พฤติกรรมการแสดงออกหรือผลลัพธ์ของแต่ละครอบครัวได้เจอย่อมแตกต่างกัน
‘เนียรปาตี’ กล่าวถึงนักแสดงนำอย่าง ‘ญาญ่า’ ด้วยว่า ถ้าเรื่องนี้จะต้องไปเป็นละครโทรทัศน์ ความยากจะอยู่ที่นักแสดงนำ เพราะต้องรับบทฝาแฝด คือ ‘ซ้องปีบ’ กับ ‘กาสะลอง’ แล้วยังต้องรับบท ‘พิมพ์พิศา’ หรือ ‘พริมพี่’ รวมถึง ‘พิมพ์มาดา’ ซึ่งเป็นกาสะลองมาเกิดเป็นชาติที่ 3 จะเห็นว่า มีหลากหลายคาแรกเตอร์มาก กับการที่นักแสดงคนหนึ่งต้องเล่นเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้อง
เมื่อมาเป็น ‘ญาญ่า’ กับสิ่งที่เห็นไปแล้วจนถึงตอนล่าสุด หลายคนไม่มีข้อกังขาอีกแล้ว เพราะเธอเป็นนักแสดงคุณภาพจริง ๆ จากการสวมบทบาทในเรื่องนี้ เพราะต้องแสดงเป็นคนดีสุดขั้ว ร้ายสุดขั้ว และครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะต้องทำให้คนทั้งรัก หมั่นไส้ และเกลียด คาแรกเตอร์แบบนี้เล่นยาก หากแต่สามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครแต่ละตัวได้อย่างชัดเจน
“เราไม่เห็นญาญ่าในกลิ่นกาสะลองเลย เราเห็นแต่ กาสะลอง-ซ้องปีบ-พิมพ์พิศา อยู่ในนั้น”
ทั้งยังกล่าวความรู้สึกต่อว่า หลังจากทราบว่า ‘ญาญ่า’ แคสติ้งบทบาทเหล่านี้ ความรู้สึกแรกดีใจที่ได้นักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์มาแสดงและต้องได้รับความสนใจ เพราะเธอมีฐานแฟนคลับเยอะ พร้อมกับจะเป็นบทท้าทายหนึ่งด้วย ซึ่งเราเคยดูผลงานต่าง ๆ และได้เห็นการแสดงที่เป็นบทกุ๊กกิ๊กหวานใส ดราม่า อารมณ์ เห็นมาหมดแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องให้ปล่อยของ ปล่อยประสบการณ์ทุกอย่างที่ได้สะสมมาตลอดชีวิตการแสดงทั้งหมด
“ตอนแรกรู้สึกว่า ญาญ่าต้องถูกวิจารณ์เรื่องมีหน้าตาลูกครึ่ง และยังต้องมาพูดภาษากำเมือง ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่า ละครจะพูดภาษากำเมืองหรือใช้ภาษากลางปกติ พอตัดสินใจจะพูดคำเมือง มีคนจับตามองอีกว่า จะพูดได้เหรอ เพราะหน้าตาไม่ใช่สาวเหนือแล้ว ดูไม่ไทย การพูดกำเมืองก็ยาก เราก็มองว่า นั่นคือความท้าทายที่ญาญ่าต้องฝ่าฝันไปให้ได้”
เขายอมรับว่า มีความห่วงใยเล็กน้อย แต่ไม่ได้วิตกกังวลมากนัก เพราะเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วจะดี ประกอบกับทุกฝ่ายพิจารณามาอย่างดีที่สุดแล้วว่า ตัดสินใจเลือกญาญ่าและพูดภาษากำเมืองตลอดทั้งเรื่อง
“ความรู้สึกนี้หายไปหมดสิ้น เมื่อตอนไปเยี่ยมกองถ่าย ได้เห็นการถ่ายทำซีนสำคัญ เป็นฉากที่ฝาแฝดต้องเข้าด้วยกัน ปะทะกัน แน่นอนว่า ในการถ่ายทำ มีข้อจำกัด เวลา สถานที่ คิวนักแสดง ได้เห็นฉากญาญ่าเล่นเป็นกาสะลอง ซึ่งเป็นคนอ่อนแอมากในซีนนั้น ต้องกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้า สวิซต์ตัวเองเป็นซ้องปีบ โหดมากในซีนเดียวกัน ต้องปะทะกัน ช่วงเวลาไม่เกิน 10 นาที เธอเล่นจากบทนี้ วิ่งไปเปลี่ยนเสื้อผ้า กลับมาเป็นอีกคนหนึ่ง ญาญ่าเป็นอีกคนหนึ่งเลย เรามองว่า ทำได้อย่างไร”
...เรามองข้ามเรื่องของหน้าตาว่าเป็นลูกครึ่งหรือไม่ เพราะคนที่จะมาเล่นบทต่าง ๆ ในเรื่อง ‘กลิ่นกาสะลอง’ ต้องดูที่ฝีมืออย่างเดียว เพราะถ้าเป็นนักแสดงไม่มีฝีมือ ไม่สามารถแยกคาแรกเตอร์และแสดงได้เด็ดขาดแบบนี้ กองถ่ายเหนื่อย...
เนียรปาตี สนทนาส่งท้าย ‘กลิ่นกาสะลอง’ อิงตามบทประพันธ์ประมาณ 85-90% ซึ่งหลายฉากในนวนิยายอาจจะเล่าอีกแบบหนึ่ง แต่ละครสามารถรวบสิ่งที่เราต้องการจะบอกในหลายซีนมาอยู่ในซีนเดียวกันได้ ต้องขอขอบคุณผู้จัดที่เคารพบทประพันธ์ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ที่เราอาจเคยได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์มาก
เหนือสิ่งอื่นใด จากกระแสละครเรื่องนี้ ทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกกับศิลปวัฒนธรรมทางเหนืออย่างมาก ทำให้คนไทยหันมาสนใจภาษาเหนือ เครื่องแต่งกายชาวเหนือ มีการสั่งจองผ้าซิ่นผ้าทอเพิ่มมากขึ้น แม้แต่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฉากหนึ่งในเรื่องนี้ มีคนรู้จักมากขึ้นและซาบซึ้งกับพันธกิจของผู้มีคุณูปการทางการแพทย์ในยุคนั้นในความพยายามวางรากฐานการแพทย์สมัยใหม่ในประเทศไทย
............................................................
กว่า 10 ปี กับการโลดแล่นในวงการของ ‘เนียรปาตี’ พิสูจน์ให้เห็นแล้วจาก ‘กลิ่นกาสะลอง’ ว่าเขาไม่ใช่นักเขียนธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นนักเขียนมือฉมัง ชายผู้รุ่งโรจน์ในวิชาชีพและพร้อมจะขยับขึ้นเป็นตำนานในถนนอักษรเส้นนี้อย่างภาคภูมิ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/