"...ที่เล่ามาเฉพาะประเด็นเดียวในวันนี้ก็เพื่อจะบอกเล่า 'อีกด้านหนึ่ง' ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกกระแสโหมกระหน่ำโจมตี ทั้ง ๆ ที่นี่คือรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อการตรวจสอบและกำกับการทำงานของฝ่ายบริหารมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านมากที่สุด บทโหมโรงเริ่มต้นผมได้ชี้ให้เห็นกันแล้วในวันเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา จากนี้ไปฝ่ายบริหารจะต้องระมัดระวังแทบทุกฝีก้าวในการทำงาน เพราะเชื่อว่าฝ่านค้านเปิดรัฐธรรมนูญจองกฐินและผ้าป่ารอเป็นระยะ ๆ ไว้แล้ว..."
ท่ามกลางกระแสโหมกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ สืบทอดอำนาจอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเราลองทำใจให้นิ่ง ค่อย ๆ คิด พิจารณา รวมทั้งอ่านด้วย จะพบด้านที่ก้าวหน้าเป็นมิติใหม่และถือเป็นการปฏิรูปการเมืองไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมตรวจสอบรัฐบาลของทั้งภาคประชาชนทั่วไปรวมทั้งภาคการเมืองในรัฐสภา
พูดง่าย ๆ ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องระมัดระวังการกระทำแทบทุกฝีก้าว
ดูการอภิปรายในประเด็นคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตลอดวันที่ 5 มิถุนายน 2562 หากรู้ที่มาที่ไปและได้อ่านรัฐธรรมนูญรวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารมาพอสมควร จะเห็นได้ว่าที่ผมพูดมาเป็นจริง
ก็เรื่อง 'มาตรฐานทางจริยธรรม' ไงครับ !
พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาแทบทุกคนจะหยิบยกประเด็นที่เราได้ยินว่า 'ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง' หรือที่หลายคนพูดกันสั้น ๆ ว่า 'มาตรา 160 (5)' หรือ 'วงเล็บ 5' อันเป็นคุณสมบัติ 1 ใน 8 ประการของรัฐมนตรี ขึ้นมากล่าวหาโจมตี
"(รัฐมนตรีต้อง) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง"
บทบัญญัตินี้ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับไหน ๆ
มาตรา 219 และ 279 รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ต้องมี 'มาตรฐานทางจริยธรรม' ที่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าอย่างไร 'ร้ายแรง' โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันยกร่าง แต่ให้ใช้บังคับแก่ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรีด้วย และให้จัดทำให้แล้วเสร็จใน 1 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
มาตรา 235 กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้มีโทษพ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดไป อันทำให้ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตลอดไป
ทั้งนี้ โดยกำหนดให้ 'ศาลฎีกา' (ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) เป็นองค์กรผู้ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินว่าใครผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวน และให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
ถือเป็นภารกิจใหม่ล่าสุดเพิ่มเติมของศาลฎีกา
โดยได้นำประเด็น 'ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง' ไปบัญญัติไว้ในคุณสมบัติ 1 ใน 8 ข้อของรัฐมนตรีในมาตรา 160 ด้วยเป็นครั้งแรก
ขณะนี้มาตรฐานทางจริยธรรมที่ว่านี้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 แล้ว เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า
"มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561"
โดยหนึ่งในฐานการกระทำที่ถือว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้่ายแรงคือ
"ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"
ข้อนี้อยู่ในหมวดที่มาตรฐานฯกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามขั้นร้ายแรง
ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการนี้ก็เข้าใจว่าเสร็จแล้วเช่นกัน
เพียงแต่ยังไม่มีตัวอย่างคดีเกิดขึ้น
นี่คือหนึ่งใน 'ของดี' ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่หลายคนทั้งในและนอกรัฐสภาก่นด่า แต่หลายคนในจำนวนนี้ก็ได้นำมาใช้เป็น 'ตัวช่วย' แทบจะเรียกได้ว่า 'ตัวช่วยหลัก' เลยละในการอภิปรายโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในรัฐสภาเมื่อวานซืน
อันที่จริง ยังมีอีกมาตรการใหม่ ๆ อีกมากในรัฐธรรมนูญนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตรวจสอบ
โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่ง 'ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร' ที่จะมีอำนาจหน้าที่เป็นเนื้อเป็นหนังมีผลต่อการเมืองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมชนิดที่จะทำให้ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลต้องเหนื่อยเพิ่มเลยละ
ไว้จะค่อยทยอยเล่าสู่กันฟัง
ที่เล่ามาเฉพาะประเด็นเดียวในวันนี้ก็เพื่อจะบอกเล่า 'อีกด้านหนึ่ง' ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกกระแสโหมกระหน่ำโจมตี ทั้ง ๆ ที่นี่คือรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อการตรวจสอบและกำกับการทำงานของฝ่ายบริหารมากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านมากที่สุด บทโหมโรงเริ่มต้นผมได้ชี้ให้เห็นกันแล้วในวันเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา จากนี้ไปฝ่ายบริหารจะต้องระมัดระวังแทบทุกฝีก้าวในการทำงาน เพราะเชื่อว่าฝ่านค้านเปิดรัฐธรรมนูญจองกฐินและผ้าป่ารอเป็นระยะ ๆ ไว้แล้ว
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/005/13.PDF
ที่มา : คำนูณ สิทธิสมาน