"...ใช่หรือไม่ว่า อภิสิทธิ์ชนชั้น 14 ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายบนห้องพิเศษชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ตลอด 181 วัน โดยไม่ต้องถูกจำขังแม้แต่เพียงวินาทีเดียว ซึ่งปรากฏร่องรอยพิรุธตามรายทางเกลื่อนกลาดไปหมด..."
“ปรากฏการณ์อภิสิทธิ์ชนของนักโทษเด็ดขาดชั้น 14
เป็นการกดข่มและหยามหยัน
กระบวนการยุติธรรมไทย ที่ไม่เคยเกิดขึ้น
ไม่มีใครทำ ไม่มีใครกล้าทำ
และไม่มีใครอื่นสามารถทำได้”
ใครเรียนกฎหมาย ย่อมเข้าใจดีว่าตำรากฎหมายทั่วโลกเขียนไว้ตรงกันว่า รัฐเป็นเจ้าของอำนาจที่จะผดุงความยุติธรรม โดยมีศาลเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้าย ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อให้ได้ “ข้อยุติที่เป็นธรรม” สมกับคำว่า “ยุติธรรม”
แต่ดูเหมือนบุคคลชั้น 14 ไม่อยู่ในเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ซึ่งรัฐไทยได้วางระบบยุติธรรมตราไว้เป็นบทบัญญัติของประเทศไทยมายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตามพระราชกฤษฎีกาที่ 1 / 2566 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ระบุว่า
นักโทษชายเด็ดขาด ได้ยื่นทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ
“...... เมื่อถูกดำเนินคดีและศาล มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าว ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา”
แต่เนื่องจากอายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษา
“ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา...... ”
ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้”
ใช่หรือไม่ว่า อภิสิทธิ์ชนชั้น 14 ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายบนห้องพิเศษชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ตลอด 181 วัน โดยไม่ต้องถูกจำขังแม้แต่เพียงวินาทีเดียว ซึ่งปรากฏร่องรอยพิรุธตามรายทางเกลื่อนกลาดไปหมด เช่น
- กล้องวงจรปิดเสียทั้งโรงพยาบาล ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 181 วัน
- เวชระเบียนที่คนไข้ทุกคนต้องมีบันทึกไว้โดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถจัดหามาแสดงเพื่อยืนยันอาการป่วยได้
- อาการป่วย “ถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต” แต่ไม่ต้องเข้าห้องไอซียู ซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัย
- คนไปเยี่ยมไข้ระดับอดีต ผบ.ตร. ซึ่งไป 2 ครั้ง ยืนยันว่าไม่เห็นบุคคลผู้นั้นมีอาการป่วยแต่อย่างใด
ฯลฯ
อย่างน้อยมี 4 องค์กรนี้ที่มีรายงานน่าพิจารณา
1. กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ชุดก่อนหน้านี้ ที่มีนายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน กมธ. ได้เชิญบุคลากรทั้งจากกรมราชทัณฑ์ และจากโรงพยาบาลตำรวจไปชี้แจง แล้ว กมธ. มีมติว่ามีเหตุผิดปกติที่รัฐควรจะต้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ได้สรุปคำแถลง กสม. ว่า
“หากนายทักษิณ ป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤตตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษ ซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤตและสามารถช่วยตัวเองได้บ้างแล้ว......
ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อ 18 กพ. 67 เมื่อนายทักษิณออกจากห้องควบคุม ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ นายทักษิณสามารถออกเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันที โดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง.........
จึงเห็นว่าการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพและโรงพยาบาลตำรวจ “เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องของสถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
3. แพทยสภา การประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 10 / 2567 พบว่าคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมกรณีผู้ป่วยชั้น 14 เป็นคำร้องที่มีมูล
จึงทำหนังสือถึง นายแพทย์ใหญ่ รพ. ตำรวจ ให้ชี้แจงรายละเอียดการเข้ารับการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยรายนายทักษิณ ชินวัตร โดยละเอียด โดยให้ส่งหลักฐาน การดูแลรักษา กระบวนการตรวจวินิจฉัย การขอความเห็นจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ส่งตัว เวชระเบียน บันทึกสำเนาการผ่าตัด บันทึกการให้ยาระงับความรู้สึก ความเห็นแพทย์ สำเนาการพยาบาล ภาพถ่ายรังสีวินิจฉัย ผลตรวจรังสี ผลตรวจของห้องปฏิบัติการและหลักฐานอื่นๆทั้งหมด พร้อมเจ้าหน้าที่ลงนามรับรองสำเนาเอกสารระบุเลขหน้าทั้งหมด
และให้ส่งแพทยสภา ภายใน 15 มค. 68
4. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เมื่อ 16 ธค. 67 นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า
จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ ป.ป.ช. จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดย คณะ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน
“ให้ดำเนินการไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 คน”
หน่วยงานและตัวบุคคลของทั้ง 4 องค์กรนี้ ไม่มีองค์กรใดหรือใครในองค์กรใดที่เป็นอริ เป็นการเฉพาะตัวกับใคร ไม่มีใครมีจิตอกุศลที่จะมุ่งร้ายหมายขวัญใคร ทุกคนต่างทำหน้าที่ตามบทบาทและภารกิจที่กฎหมายกำหนด เพราะหากไม่ทำหน้าที่ก็จะกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายเสียเอง
คำถาม
1. ใช่หรือไม่ว่า กรณีนักโทษเด็ดขาดชั้น 14 เกิดขึ้นได้เฉพาะกับบุคคลเหนือกฎหมายเพียงคนเดียว ที่ใครคนใดอื่นไม่อาจทำได้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้นำไปสู่ “ข้อยุติที่เป็นธรรม” ตามที่ระบบยุติธรรมประสงค์ หากแต่จะเกิดผลในทางตรงกันข้าม
2. ใช่หรือไม่ว่า จุดมุ่งหมายกรมราชทัณฑ์ในการลงโทษจำคุกกักขัง ก็เพื่อให้เกิดความหลาบจำ เพื่อยับยั้งการกระทำผิดซ้ำของคนผู้นั้น และเพื่อการตระหนักรู้ของทั่วทั้งสังคมที่จะไม่เอาเยี่ยงอย่าง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสวนทางแบบตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความมุ่งหมายของราชทัณฑ์
3. ใช่หรือไม่ว่า อหังการนี้เป็นการกดข่ม หยามหยัน กระบวนการยุติธรรมไทยที่สั่นคลอนศรัทธาของประชาชนไทยอย่างรุนแรง ต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม
4.ใช่หรือไม่ว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะกลไกยุติธรรมและกระบวนการทางการแพทย์สยบยอมให้กับความปรารถนาเฉพาะตัวของผู้เสวยประโยชน์
5.ใช่หรือไม่ว่า กรณีอภิสิทธิ์ชนแบบคนชั้น 14 เป็นความผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่านเลยให้กลายเป็นความเคยชินแบบปกติที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำที่สังคมไทย ไม่อาจทนได้
สังคมไทยมีบทเรียนกันมาแล้ว ว่าประกาศคณะปฏิวัติฉบับ 299 เป็น “กฎหมายโบดำ” เปิดทางให้ฝ่ายบริหารแทรกแซงอำนาจตุลาการ ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เหตุเกิดเมื่อปลายปี 2515 เป็นหนึ่งแรงปะทุ ที่สั่งสมนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชน กรณี 14 ตุลาคม 2516
สังคมไทยเผชิญกับ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมสุดซอยแบบลักหลับตอนตีสี่ เมื่อปลายตุลาคม 2556 นำไปสู่การต่อต้านของผู้คนนับล้านคน ที่ทำให้รัฐบาลยุคนั้นกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย และถึงกาลอวสาน
ใช่หรือไม่ว่ากรณี อภิสิทธิ์ชน ชั้น 14 ก็ดุจเดียวกัน เป็นอนันตริยกรรมต่อกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นความรุนแรงสั่งสม ที่เร่งวันปะทุ โดยรัฐบาลนั้นเองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลพวงที่ไม่พึงปรารถนา