"...ท้ายสุด ผมคิดถึงเรื่องที่ส่งมอบให้กับรุ่นน้อง ได้ข้อสรุปว่า ไม่ได้ห่วงอะไร เชื่อมั่นว่าน้อง ๆ จะช่วยกันรักษาและสานต่อความเป็นสถาบันของชาติ และองค์กรที่ประชาชนพึ่งพิงได้ แต่เรื่องราวของแบงก์ชาติที่ก้าวย่างปีที่ 83 มีเรื่องราวที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่อยากจะจารึกไว้ จึงตัดสินใจจัดทำหนังสือ “35 ปี จับจิตใจดล ร้อยเรียงเรื่องราวรอบรั้วแบงก์ชาติ” ขึ้น โดยคัดเลือกจาก weekly mails ที่ผมเขียนมาตั้งแต่ปี 2551..."
ปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายและตื่นเต้นสำหรับผม เพราะเป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่ในทุกวันพยายามอยู่กับปัจจุบันและตั้งใจเขียน weekly mail ในทุกสัปดาห์ ตอนแรกตั้งใจจะเลิกเขียนหลังเกษียณ แต่คิดว่าการเขียนช่วยให้เราได้ศึกษาค้นคว้า และที่สำคัญทำให้เราไม่หยุดนิ่ง ยังมีเป้าหมายในชีวิตต่อไป จึงยังจะเขียนต่อไป
weekly mail ปี 2567 มีบทความที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่ผมขอนำ 4 บทความที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านแฟนพันธุ์แท้เป็นอย่างดี ดังนี้
เรื่องที่ 1 บ้านนกเขา: เรื่องเล่าชุมชนชาวบางขุนพรหม (7 พฤษภาคม 2567)
แม้ปัจจุบันสภาพถนนใต้สะพานพระราม 8 ว้าวุ่นจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่หากพวกเราสังเกตดี ๆ จะพบว่าระหว่างตึกแถว 2 หลังใต้สะพานตรงข้ามรั้วแบงก์ชาติ เป็นทางเข้าบ้าน 3 หลังที่ตั้งอยู่ด้านใน และที่โดดเด่นคือบ้านสีชมพูอ่อน 3 ชั้น ตั้งอยู่ซ้ายมือ มีกรงนกเขาแขวนที่หน้าบ้านหลายกรง เป็นที่ดึงดูดสายตาของคนที่เดินผ่าน จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวบ้านละแวกนี้ว่า “บ้านนกเขา”
ลุงกำแหง สถิตานนท์ เจ้าของบ้านวัย 85 ปี เล่าให้ฟังว่า บ้านที่อาศัยปัจจุบันได้จากการจับฉลากของลูก ๆ ทั้ง 8 คนเมื่อคุณแม่จากไป เมื่อก่อนชีวิตของลุงกำแหงดูผาดโผน คอยช่วยงานคุณแม่ ดูแลความปลอดภัยบริเวณนี้ในช่วงยุค 2499 อันธพาลครองเมือง จึงไม่ได้เรียนต่อเหมือนกับพี่น้องคนอื่น ๆ หันมาทำงานทุกอย่างแบบไม่เลือกหน้า ตั้งแต่เลี้ยงไก่ ขายว่าว เลี้ยงกล้วยไม้ มัคคุเทศก์ ไปจนถึงเล่นละครทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม นอกจากนั้น ลุงกำแหงยังเป็นนักเพาะกาย ตามรอยพี่ชายอีกด้วย
อย่างไรก็ดี อาชีพที่ทำให้ลุงกำแหงภาคภูมิใจที่สุดคงหนีไม่พ้น “การเลี้ยงนกเขาชวา” ซึ่งเกิดจากความบังเอิญที่วันหนึ่งเหลือบไปเห็นนกเขาชวาตัวหนึ่งบินมาป้วนเปี้ยนแถวเล้าไก่ ขันด้วยเสียงไพเราะ จึงใช้ท่อเป่าบรรจุลูกหินจับนกตัวดังกล่าวมาใส่กรงแขวนเลี้ยงไว้ในบ้าน ลุงกำแหงตัดสินใจเลี้ยงนกเขาชวาเพิ่มเติม พร้อมกับเรียนรู้วิธีการฝึกให้นกเขาชวาขัน ด้วยการเดินสายไปตามเวทีประกวด ก่อนตัดสินใจส่งนกตนเองเข้าประกวดจนได้รับรางวัลมากมาย แต่ที่ภูมิใจที่สุดคือ รางวัลพระราชทานประเภทนกเขาชวาเสียงใหญ่ที่ชื่อว่านก “บางขุนพรหม” ในปี 2524
แม้ว่าลุงกำแหงเลิกฟักนกเขาชวาขายมาหลายปีแล้ว แต่ยังคงเก็บกรงนกไว้เป็นอย่างดี เพราะแต่ละกรงมีอัตลักษณ์ เป็นของหายาก และมีคุณค่าทางใจ ปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเพียงลำพัง ภายหลังภรรยาจากไปเมื่อ 13 ปีก่อน ด้วยการทานอาหารมื้อเดียว เดินไปตลาดนัดรวมยางทุกเช้า ทำละหมาด และนอนแต่หัวค่ำ ลุงกำแหงกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมต่อสู้ชีวิตมาโดยตลอด พร้อมค้นพบว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทำให้มีความสุข ไม่เคยปรามาสตัวเองหรือเปรียบเทียบกับพี่น้อง เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน” “บ้านนกเขา” ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผูกสัมพันธ์กับชาวแบงก์ชาติ และจะถูกเล่าขานสู่คนรุ่นหลังต่อไป
เรื่องที่ 2 โครงการผ้าป่าช่วยชาติ: หลักใจของชาติไทย (10 และ 17 มิถุนายน 2567)
จุดกำเนิดของโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2540 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ณาณสัมปันโน เจ้าอาวาส วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้ปรารภว่า “คนส่วนใหญ่มีความโลภ ฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด ลืมเนื้อลืมตัว และทุจริต เห็นแก่ตัวเอง ชาติจึงไปไม่รอด… การไปกู้เงินมากมายมหาศาลแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ทัน ต่างชาติเขาอาจมีบทบาทเข้ามากุมเศรษฐกิจหลัก ๆ ซึ่งมีผลต่อการต่อรองทางการเมือง และต่อไปอาจขยับเข้ามาควบคุมนโยบายเศรษฐกิจของบ้านเมืองเราให้เป็นเบี้ยล่างเขาได้”
คำปรารภข้างต้น ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างทยอยบริจาคเงินมาเป็นระยะ ๆ จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 มีผู้นำเงินดอลลาร์มาบริจาคจำนวน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ท่านจึงเริ่มต้นประเดิมรับบริจาคเงินดอลลาร์และทองคำอย่างเป็นทางการ พร้อมแนวคิดให้จัดตั้ง “โครงการผ้าป่าช่วยชาติ” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พร้อมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการหลวงตามหาบัว ทรงสดับพระธรรม พร้อมทรงถวายทองคำและเงิน เพื่อเป็นทุนตั้งต้น
ในโครงการผ้าป่าช่วยชาติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 ณ สวนแสงธรรม พุทธมณฑลสาย 3
แม้ว่าหลวงตามหาบัวจะประกาศปิดโครงการผ้าป่าช่วยชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 แต่ลูกศิกษ์ลูกหาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสยังศรัทธาและสานต่อเจตนารมณ์ของท่านเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 26 ปี ด้วยหลวงตามหาบัวเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี “มีคุณธรรม มีเมตตา มีการอนุเคราะห์” ทำให้ผู้คนเกิดพลังศรัทธาและความเชื่อมั่น จึงมีการส่งมอบทองคำเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศหรือคลังหลวงแล้วจำนวน 30 ครั้ง รวมทองคำแท่งบริสุทธิ์กว่า 13 ตัน หรือ 13,129.832 กิโลกรัม และเงินตราต่างประเทศจำนวน 10,457,159.63 ดอลลาร์ สรอ.
ปัจจุบัน แบงก์ชาติได้แยกสินทรัพย์ที่รับบริจาคจากโครงการนี้ไว้ชัดเจน โดยจัดอยู่ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งตามกฎหมายแล้วสามารถใช้หนุนหลังเพื่อพิมพ์ธนบัตรเท่านั้น ห้ามนำสินทรัพย์
ในบัญชีนี้ไปใช้ในกรณีอื่น จึงมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมดจะเป็นสมบัติของชาติตามเจตนารมณ์ของหลวงตาตลอดไป
แม้ว่า หลวงตามหาบัวจะมรณภาพไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 ด้วยสิริอายุ 97 ปี 77 พรรษา แต่พวกเรายังคงรำลึกถึงท่าน ไม่เพียงแต่เป็นพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใสและคำสอน
ที่ตรงไปตรงมา แต่ท่านยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลังยึดถือปฏิบัติในเรื่องความรักชาติความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เรื่องที่ 3 มุมเล็ก ๆ ที่ไม่ลับของผู้ว่าเศรษฐพุฒิ (9 กันยายน 2567)
ย้อนไป 4 ปีที่แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผมได้ต้อนรับเพื่อนร่วมงานคนใหม่มานั่งทำงานที่ห้องตรงกันข้ามเรียกว่า บ้านใกล้เรือนเคียง เพื่อนร่วมงานคนใหม่นี้ไม่ใช่คนอื่นไกล คือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ผู้ว่านก) ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน หลายคนอาจจะมองผู้ว่านกว่ามีมาดนักเรียนนอก เคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง พูดจาแบบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ทุ่มเทกับภารกิจและงานที่รับผิดชอบดูผิวเผินจะคิดว่าเป็นคนเข้าถึงยาก แต่ตลอดเวลาที่ผมได้ทำงานด้วย ผมกลับสัมผัสได้ว่า ท่านมีมุมที่น่ารักและจริงใจ มีความ caring ตรงไปตรงมา และใส่ใจในรายละเอียดของงานในทุกแง่มุม
ผมและน้อง ๆ หน้าห้องได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านถึงกิจกรรมและงานอดิเรกในช่วงชีวิตที่ผ่านมา พบว่าชีวิตของผู้ว่านกไม่ธรรมดา มีมิติมากว่าที่หลายคนคิด ทั้งกิจกรรมและงานอดิเรกที่รักและผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก ท่านเริ่มเกริ่นนำว่า ด้วยความเป็นลูกชายนักการฑูต จึงเติบโตมาท่ามกลาง “การเดินทาง” ได้มีโอกาสเรียนรู้ ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ตลอดเวลา และช่วยให้อยากลองทำในสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะการได้ไปอยู่ในประเทศที่รอบล้อมไปด้วยกลิ่นอายธรรมชาติ ทำให้ถูกปลูกฝังให้เป็นคนรักธรรมชาติ และรักสัตว์มาตั้งแต่เด็ก
ปัจจุบัน ผู้ว่านกเลี้ยงสุนัขไร้บ้านที่รับมาจากสถานสงเคราะห์สัตว์ 2 ตัว ชื่อว่า เฉาก๊วย และเต้าฮวย ซึ่งเมื่อกลับจากที่ทำงานได้เล่นกับเจ้า 2 ตัวนี้ ช่วยให้หายเหนื่อยและคลายเครียดเป็นอย่างดี นอกจากนิสัยรักสัตว์แล้วท่านยังได้รับการปลูกฝังให้รักการวาดรูป ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากญาติฝั่งคุณแม่ ผู้ว่านกเริ่มต้นวาดภาพจากหนังสือการ์ตูน ก่อนมาวาดภาพลายเส้นขาวดำ ทั้งภาพคน ทิวทัศน์ และธรรมชาติ
นอกจากนั้น ผู้ว่านกยังชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก หัดเล่นกีฬาทุกชนิดที่ใช้มือและลูก ด้วยเป็นคนถนัดมือซ้าย จึงทำให้คู่ต่อสู้จับทางลำบาก ปัจจุบันยังเล่นเทนนิสทุกสัปดาห์ เพราะสามารถช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีที่สุด เนื่องจากต้องใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการตี
แต่กิจกรรมที่ถือว่าแอบชอบมานานตั้งแต่วัยเยาว์ คือการต่อโมเดลรถ เพราะถือเป็นการฝึกฝนทั้ง art and craft ต้องวางแผนประกอบทีละส่วน พ่นสีให้กลมกลืนกัน เรียกได้ว่า มีอุปกรณ์ในการต่อครบครัน เมื่อเริ่มต่อแล้วจะลืมทุกสิ่ง ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ตรงหน้า ต่อได้เป็นชั่วโมง ๆ และหวังว่าหลังเกษียณจะได้กลับมาต่อโมเดลที่ซื้อสะสมไว้ ตอนนี้ได้เพียงพินิจพิเคราะห์โมเดลที่เคยต่อไว้
สำหรับเรื่องกาแฟ ไม่ต้องพรรณนามาก เพราะหลงรักเสน่ห์ในรสชาติและกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟมานานแล้ว จนเกือบตัดสินใจยึดอาชีพเป็นบาริสต้า ศึกษาอย่างจริงจังถึงกาแฟพันธุ์ต่าง ๆ วิธีการชง
ที่ทำให้รสชาติแตกต่างกัน นอกจากกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มที่โปรดปรานแล้ว ท่านยังมีความสนใจในเรื่องราวของเครื่องดื่มอย่างวิสกี้และไวน์ที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ในตัวเอง และมีประวัติความเป็นมายาวนานไม่ต่างกับกาแฟ
ท้ายสุด ความชอบของผู้ว่านกคงหนีไม่พ้นการเป็นหนอนหนังสือ นอกจากหนังสือด้านวิชาการแล้ว ยังชอบหนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมีจุดพลิกผันในหลายช่วงเวลาที่มีผลต่อเหตุการณ์ในตอนจบ ในขณะที่ชอบอ่านหนังสือแบบ hard copy ที่ได้อรรถรสกว่าการอ่านผ่าน e-book และจะสั่งหนังสือจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในอังกฤษที่ใช้กระดาษถนอมสายตา มีกลิ่นหอม และการออกแบบปกสวยงาม ทำให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
กิจกรรมและงานอดิเรกข้างต้นเป็นมุมหนึ่งที่ไม่ลับของผู้ว่าการ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ สะท้อนถึงความใส่ใจในทุก ๆ เรื่องที่รักและผูกพัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น บ่งบอกถึงตัวตนของท่านได้อย่างชัดเจน
เรื่องที่ 4 35 ปีกับแบงก์ชาติ: ชีวิตที่ผูกพัน (23 และ 30 กันยายน 2567)
การทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งถึง 35 ปี ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตผูกพันกับองค์กรแห่งนั้น ผมหลับตาย้อนเวลากลับไปทบทวนความทรงจำว่า รู้จักแบงก์ชาติได้อย่างไรคงต้องย้อนกลับไปสมัยเด็ก ๆ เมื่อผมและน้องชาย (ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์) นั่งรถเมล์จากนครปฐมมาที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และผ่านสี่แยกเทเวศร์และรั้วประตูหน้าวังบางขุนพรหม พร้อมได้เห็นอาคารแบงก์ชาติที่สง่างามเต็มไปด้วยเสน่ห์ และเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง “ประวัติวังบางขุนพรหม” ที่แม่ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์) ได้เขียนไว้ในโอกาสเปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ (อาคาร 2 ในปัจจุบัน) เมื่อปี 2525 ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวของแบงก์ชาติมากขึ้น
ด้วยชะตาชีวิตที่คงลิขิตไว้ ผมได้รับทุนการศึกษาต่อยอดของแบงก์ชาติไปเรียนต่อปริญญาโท และยังจำได้อย่างแม่นยำถึงวันแรกที่เข้ามารายงานตัวเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2532 เริ่มทำงานในตำแหน่ง “ผู้วิเคราะห์ผู้ช่วย” หน่วยวิเคราะห์ ส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงิน ฝ่ายการธนาคาร จากวันนั้นผมได้รับโอกาสทำงานหลายด้านทำให้ชีวิตการทำงานตื่นเต้นและได้เรียนรู้ตลอดเวลา หลังจากทำงานที่หน่วยวิเคราะห์ฯ ได้ไม่ถึงปี จึงได้รับโอกาสไปประจำที่สำนักงานตัวแทนธนาคารที่นครนิวยอร์ก ทำให้ได้เรียนรู้ทุกเรื่อง ตั้งแต่วิชาการจัดจ้าง งบประมาณ งานสนับสนุน แม้กระทั่งนิมนต์พระมาเจิมป้ายสำนักงานฯ จองรถ จองโรงแรม ไปจนถึงการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ เรียกว่าไปอย่างคุ้มค่า ได้ทราบถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เมื่อกลับมาสำนักงานใหญ่ ได้เข้าไปทำงานในห้องค้า (Dealing Room) ได้นำเสนอข่าวภาวะตลาดทุกเช้า แถมอยู่ดึกคอยลุ้นข้อมูลเศรษฐกิจ ที่ยังนึกขำตัวเองอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะพวกเราจะเฮดังลั่นเมื่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาไม่ดี ส่งผลให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น เรียกว่ามีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น
แต่ท้ายที่สุดก็เจอะเจอกับตนเอง เมื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วมดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เมื่อมรสุมผ่านพ้นไป ผมได้รับมอบหมายให้ช่วยพัฒนาตลาดพันธบัตร
ในประเทศพักหนึ่งก่อนที่จะผันชีวิตจาก “นักลงทุน” มาเป็น “ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์” ได้เรียนรู้วิทยายุทธ์ในการตรวจสอบ (ยังจำช่วงที่ออกไปตรวจสาขาธนาคารพาณิชย์ ไปตรวจนับเงินในตู้เซฟจนถึงทุกวันนี้) พร้อมกับได้รับการปลูกฝังทักษะที่สำคัญ ๆ ที่เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ การฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตมีความรอบคอบแม่นยำในหลักเกณฑ์ และทักษะด้าน soft skill โดยเฉพาะการสื่อสารโน้มน้าว ซึ่งในช่วงนั้น ผมคิดว่าจะทำงานเป็นผู้้ตรวจการฯ จนเกษียณ แต่ยังได้รับความไว้วางใจให้ไปปฏิบัติงานดูแลความเสี่ยงการเงินในปี 2552 ต้องไปอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่ายต่อคณะกรรมการธนาคาร พร้อมกับย้ายไปทำงานสายทรัพยากรบุคคล เรียนรู้เรื่อง “คน” และมาช่วยงานก่อตั้งกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ช่วยงานด้านกลยุทธ์ให้ผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล ก่อนจะได้กลับมาทำงานดูแลด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน
ภาพและความรู้สึกที่ชัดเจนเริ่มตั้งแต่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานในอดีตและปัจจุบันที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ดูแลเราตั้งแต่เราหน้าละอ่อนจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน
แม้เวลาจะล่วงเลยมา 35 ปีแล้ว แต่ผมยังยิ้มทุกครั้งเมื่อหวนกลับไปคิดถึงเวลาที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ตลอดมา แม้สรรพสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปแต่จิตวิญญาณของความเป็นคนแบงก์ชาติไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ท้ายสุด ผมคิดถึงเรื่องที่ส่งมอบให้กับรุ่นน้อง ได้ข้อสรุปว่า ไม่ได้ห่วงอะไร เชื่อมั่นว่าน้อง ๆ จะช่วยกันรักษาและสานต่อความเป็นสถาบันของชาติ และองค์กรที่ประชาชนพึ่งพิงได้ แต่เรื่องราวของแบงก์ชาติที่ก้าวย่างปีที่ 83 มีเรื่องราวที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่อยากจะจารึกไว้ จึงตัดสินใจจัดทำหนังสือ “35 ปี จับจิตใจดล ร้อยเรียงเรื่องราวรอบรั้วแบงก์ชาติ” ขึ้น โดยคัดเลือกจาก weekly mails ที่ผมเขียนมาตั้งแต่ปี 2551
พวกเราสามารถ download หนังสือผ่าน QR Code ด้านล่าง และผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้นำประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียน ได้เห็นตัวตนในปัจจุบัน และสะท้อนภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
Download หนังสือ “35 ปี จับจิตใจดล ร้อยเรียงเรื่องราวรอบรั้วแบงก์ชาติ”
https://anyflip.com/ckjzn/vlkl/
Download Weekly Mails รวมเล่มปี 2567
https://anyflip.com/homepage/ckjzn
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/