"...การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นเป็นไปตามความต้องการของผู้สูงอายุ เน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สามารถขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุร่วมกับเทศบาลเมืองหนองคาย และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างดี..."
ไปหนองคายเมื่อไม่กี่วันก่อนนอกจากจะไปกราบหลวงพ่อพระใส และเดินรับอากาศหนาวแรกของปีริมน้ำโขงแถวท่าเสด็จแล้ว ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ภรรยาผมแนะนำ
“โรงเรียนชราบาล” หรือเรียกให้เต็มยศว่า “โรงเรียนชราบาล เทศบาลเมืองหนองคาย” ก็จะชัดเจนดีว่าหมายถึงที่ไหน
ผมติดตามภรรยาซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ในโครงการบริหารจัดการสื่อวัฒนธรรมชุมชน "12 พื้นที่วิจัย 44 ย่านวัฒนธรรมชุมชน" ภายใต้โครงการวิจัย "การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน" ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ย่านวิถีวัฒนธรรมชุมชน และได้มารู้จักกับโรงเรียนชราบาลแห่งนี้
ช่างเป็นโครงการที่เหมาะกับโลกยุค Aging Society หรือ “ชราชน” ยิ่งนัก
เทศบาลเมืองหนองคายได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองหนองคาย ตั้งแต่ปี 2558 จากนั้นอีก 2 ปีจึงจัดตั้งโรงเรียนชราบาลขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากผู้สูงอายุว่าอยู่บ้านเหงา อยากมีอะไรทำบ้าง
โรงเรียนชราบาลเปิดรับสมัครนักเรียนรุ่นที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 มีนักเรียน 120 คน วันที่ผมไปเยือนนักเรียนชราบาลมีถึงรุ่นที่ 8 แล้ว
นักเรียนมาโรงเรียนกันทุกวันศุกร์ มีกิจกรรมหมุนเวียนกันไปตามตารางสอนในแต่ละสัปดาห์
คุณแม่สว่างจิต หมั่นพลศรี รองผู้อำนวยการโรงเรียนชราบาลเทศบาลหนองคาย ได้บอกเล่ากิจกรรมของนักเรียนชราบาลที่นี่ไว้อย่างน่ารักว่า
“ที่โรงเรียนมีกิจกรรมมากมาย เริ่มตั้งแต่การละลายพฤติกรรม การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ทำให้นักเรียนมีความรู้ ความคิดหลายรูปแบบ มีการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ เช่น สร้อยลูกปัด ซึ่งบรรจุหลวงพ่อพระใสรุ่นปรกใบมะขามอยู่ด้านใน เสื้อมัดย้อม จำหน่ายให้กับคณะที่เดินทางมาดูงาน เงินที่ได้ก็นำไปช่วยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง”
ความรู้ที่นำมามอบให้กับนักเรียน ก็มีหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- การดูแลตัวเองของผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การป้องกันตัวเองจากโรคซึมเศร้า
- สิทธิของผู้สูงวัย
- การเตือนภัยสังคมรู้ทันสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
- ประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้
- กีฬาและนันทนาการสำหรับผู้สูงวัย อย่างการรำวงย้อนยุค
- การเล่นเกม งานประดิษฐ์ งานฝีมือ
- ดูงานนอกสถานที่
- กิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นเป็นไปตามความต้องการของผู้สูงอายุ เน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สามารถขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุร่วมกับเทศบาลเมืองหนองคาย และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างดี
ที่ผ่านมาโรงเรียนชราบาลได้สร้างความสุขให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่มากหลาย ผู้สูงอายุนอกพื้นที่อย่างผมยังสัมผัสได้
จากการประเมินพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง ร่าเริงแจ่มใส สามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นจิตอาสา เป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเพณีวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ได้อย่างน่าชื่นชม และยังเป็นพลังให้กับคนรุ่นใหม่ในการมองเห็นคุณค่าตัวตนได้เป็นอย่างดี
“นักเรียนที่นี่อยากสอบตกกันทั้งนั้น เพราะอยากเรียนต่อไปเรื่อย ๆ มาเข้าโรงเรียนชราบาลเทศบาลเมืองหนองคาย มีแต่รอยยิ้มและความสุข”
รองผอ.โรงเรียนวัย 70 ปลาย ๆ กล่าวกลั้วรอยยิ้ม
นอกจากกิจกรรมโรงเรียนชราบาลแล้ว เทศบาลเมืองหนองคายยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการวิจัยฯให้จัดกิจกรรมข้างเคียงทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีก เฉพาะตลาดนัดก็มีถึง 2 ตลาด
”ตลาดนัดชราบาล“
“ตลาดแคมโขง”
ตลาดแรกจัดเป็นประจำทุกวันพุธบริเวณสวนสาธารณะหายโศก ใกล้วัดหายโศก รวมรวมสินค้าจากฝีมือของผู้สูงอายุในเทศบาลเมืองหนองคาย โดยมีศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าโรงเรียนชราบาลเป็นหลัก
ตลาดที่สองจัดเป็นประจำทุกวันเสาร์ตั้งแต่ราวบ่ายสามเป็นต้นไป ณ ลานกิจกรรมและถนนคนเดินบริเวณริมแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณวัดหายโศกไล่ขึ้นไปถึงท่าเสด็จ ตลาดนี้เปิดกว้างสำหรับพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป
ช่วงที่ผมไป คร่อมวันจัดตลาดนัดทั้ง 2 ตลาด โดยเฉพาะเย็นวันเสาร์ที่ตลาดแคมโขง ได้ร่วมกิจกรรมรำวงกับชาวคณะโรงเรียนชราบาลหลายสิบชีวิตอายุรวมกันหลายพันปีอย่างสนุกสนาน และยังได้มีโอกาสคุยกับคุณคมศักดิ์ เอียสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนชราบาลที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับผมตามสมควร
เป็นสองสามวันที่ชีวิตสดชื่นทีเดียว
หนองคายที่วันนี้หลายคนเห็นเป็นแค่ทางผ่าน มีความสงบงามและเสน่ห์ของเมืองเล็กวัฒนธรรมใหญ่อย่างน่ามาพักผ่อนสักระยะทีเดียว
ถ้าอยู่หลายวัน จะขอลงทะเบียนไปเป็นนักเรียนเสริมของโรงเรียนชราบาลเทศบาลเมืองหนองคาย ผอ.คมศักดิ์ท่านก็ยินดีต้อนรับ
คำนูณ สิทธิสมาน
17 ธันวาคม 2567