"...แน่นอน สวนรถไฟมีเส้นทางจักรยานแยกออกจากเส้นทางวิ่ง มีศูนย์กีฬา เหมือนกับสวนสาธารณะอื่น ๆ แต่ที่โดดเด่นคือ เป็นสถานที่ตั้งของอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ และที่สำคัญเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ใช้เป็นสวนกิจกรรมลานธรรมะ สำหรับรองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรม..."
“พี่ทำอะไรบ้างครับ พี่เบื่อหรือยังครับ?” เป็นคำถามที่ถูกยิงรัวมาแทบทุกครั้งที่เจอน้อง ๆ ภายหลังเกษียณ โชคดีที่ผมวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมตอบคำถามเหล่านั้น ด้วยการจัดกิจกรรมทุกเช้าไปออกกำลังกายเหมือนกับตอนยังทำงานที่แบงก์ชาติ แต่ครั้นจะขับรถไปวิ่งรอบแบงก์ชาติเหมือนเช่นเคย คงจะดูแปลก ๆ เพราะระยะทางห่างไกลจากบ้านพักพอสมควร จึงเลือกไปวิ่งที่ “สวนรถไฟ” เพราะขับรถจากบ้านไปไม่ถึง 15 นาที และเป็นสวนสาธารณะที่ผมคุ้นเคยมากที่สุด ดังนั้น คำตอบกับน้อง ๆ คือ “พี่ยังตื่นแต่เช้าไปสวนรถไฟตอน 6.30 น. วิ่ง ๆ เดิน ๆ 2 รอบ ระยะทางราว 7 กิโลเมตร และแวะดื่มกาแฟที่ร้านในซอยข้างบ้าน ก่อนกลับถึงบ้าน 10.30 น. เกือบถึงเวลาทานข้าวเที่ยงแล้ว” ถือเป็นคำตอบที่พอไปได้ แต่ดีที่ไม่ถูกถามต่อว่า “แล้วตอนบ่าย พี่ทำอะไร?”
การได้มาใช้ชีวิตช่วงเช้าที่สวนรถไฟ ทำให้ที่นี่กลายเป็นบ้านหลังที่สองไปโดยปริยาย ซึ่งพวกเราหลายคนอาจไม่ทราบว่า สวนรถไฟอยู่ที่ไหน ความเป็นมาเป็นอย่างไร สัปดาห์นี้ผมจะพาพวกเรามา
รู้จักกันครับ
สวนรถไฟ แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นสนามกอล์ฟ จึงต้องใช้ความพยายามพอสมควร ในการขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้ามาปรับปรุงได้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ก่อนได้รับพระราชทานนามว่า “สวนวชิรเบญจทัศ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545
การเดินทางโดยรถยนต์เพื่อเข้ามาที่สวนรถไฟอาจจะหลงทางได้หากไม่ศึกษาเส้นทางให้ดี และอาจหลุดเข้าไปในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ หรือเลยไปสวนจตุจักรแบบไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี ผมได้เห็นการปรับปรุงพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากประตูให้รถยนต์เข้าเพียงทางเดียว จนรถติดยาวถึงปากซอย มาเป็นทางเข้า 2 ทาง แถมเป็นแบบรับบัตรอัตโนมัติ ในขณะที่ลานจอดรถสมัยก่อนมีน้อยมาก ปัจจุบันได้มีการขยายเป็นลานจอดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมจำนวนมากได้
เส้นทางวิ่งรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ 2 ข้างทางที่เติบโตมาพร้อมสนามกอล์ฟเดิม ในขณะที่เส้นทางวิ่งไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป ทำให้ต้นไม้สามารถบดบังแสงอาทิตย์ได้พอดิบพอดี ในระหว่างทางจะพบเจอ
สนามบาสเกตบอล สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง สนามยกน้ำหนัก พร้อมเจอะเจอสิ่งที่คาดไม่ถึง เช่น นกฮูกที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ นกพันธุ์หายากที่นักส่องนกจะเข้ามาเฝ้ามอง รวมถึงใบไม้เปลี่ยนสี ต้นไม้ออกดอกงามสะพรั่งมากมายหลายสี รวมทั้งดอกทานตะวันเหลืองเต็มทุ่งในช่วงฤดูกาล ดังนั้น ในการวิ่งแต่ละรอบ (ประมาณ 2.64 กิโลเมตร) จะเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติรอบตัว โดยไม่รู้สึกว่า
เหน็ดเหนื่อย แต่หากเริ่มวิ่งจากสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ต่อด้วยสวนจตุจักรและแวะเข้าไปวิ่งเส้นในที่เชื่อมไปยังหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) จะวิ่งได้ระยะทางเกือบถึง 10 กิโลเมตร
“สวนรถไฟ” หรือ “สวนวชิรเบญจทัศ”
แน่นอน สวนรถไฟมีเส้นทางจักรยานแยกออกจากเส้นทางวิ่ง มีศูนย์กีฬา เหมือนกับสวนสาธารณะอื่น ๆ แต่ที่โดดเด่นคือ เป็นสถานที่ตั้งของอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ และที่สำคัญเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ใช้เป็นสวนกิจกรรมลานธรรมะ สำหรับรองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรม
ธรรมชาติยามเช้าที่สวนรถไฟ
ต้นไม้และไม้ดอกนานาพันธุ์ภายในสวนรถไฟ
ฟังเรื่องราวของสวนรถไฟแล้ว อาจไม่แตกต่างจากสวนสาธารณะแห่งอื่น แต่เสน่ห์ของสวนรถไฟน่าจะอยู่ที่ “ซอยกลาง” ก้าวแรกที่เดินเข้าไป เป็นจุดนัดพบที่มีผู้คนรอบสารทิศ ทุกเพศ ทุกวัย จะมารวมตัวกันที่นี่ บรรยากาศ ณ จุดนั้น เป็นไปด้วยความเป็นกันเอง และหลายคนเพิ่งมาทำความรู้จักกันที่นี่
ผมสังเกตเห็นพี่คนหนึ่งที่โอภาปราศรัย ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายทุกคน และดูเหมือนว่าจะรู้จักนักวิ่งและเจ้าหน้าที่ในสวนแทบทุกคน ซึ่งผมไม่ต้องใช้เวลามากนักในการไปทำความรู้จัก พี่ท่านนี้ชื่อว่าพี่สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล (พี่แซม) เพราะพี่แซมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงานวิ่งปั่นคนตาบอด และงานวิ่ง Virtual Run ที่ผมและสมาชิกชมรมวิ่งมาราธอนแบงก์ชาติได้เคยเข้าร่วมกิจกรรมมาแล้ว
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่แซม จนรับรู้ได้ถึงความรักและความผูกพันของพี่แซมที่มีต่อสวนรถไฟ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนเกือบเป็นบ้านหลังแรกมาร่วมกว่า 10 ปี เรียกได้ว่ารู้จักแทบทุกตารางนิ้วของสวนสาธารณะแห่งนี้
โดยที่พี่แซมถือเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นักวิ่งซอยกลาง” ที่รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น สร้างสีสันให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในสวนรถไฟจนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวของพี่แซม และนักวิ่งซอยกลางเป็นอย่างไร ผมจะได้เล่าให้ฟังต่อใน weekly mail สัปดาห์หน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
9 ธันวาคม 2567
แหล่งที่มา
“สวนรถไฟ” กับ “สวนจตุจักร” คือที่เดียวกันไหม สวนไหนอยู่ตรงไหนกันแน่, Sanook On Line, 20 สิงหาคม 2567
เวลา 15:27 น. https://www.sanook.com/travel/1448819/