"...สรุปก็คือ กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือของฝ่ายเวียดนามและลาวเช่นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป และเข้าข่ายนโยบายปฏิวัติแบบส่งออก จึงหาเหตุผลปฏิเสธต่อฝ่ายเวียดนามด้วยมิตรภาพว่า ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอขอบคุณ แต่ยังมุ่งหวังที่จะใช้ความพยายามปฏิวัติด้วยตนเองก่อน..."
ประเด็นหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่ยังเป็นภาพพร่ามัว คือเรื่องที่ฝ่ายปฏิวัติของเวียดนามเสนอช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ด้วยการส่งทหารมาช่วยปลดปล่อยประเทศไทย
เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เรื่องราวเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องจริง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีท่าทีอย่างไร
ช่วงปลายปี 2519 มีกระแสคลื่นนักศึกษาประชาชนทะลักเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากผลการยึดอำนาจของ กลุ่ม “สงัด-ธานินทร์” ที่มีการสังหารโหดนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่สนามหลวง
ตอนนั้น พคท. ได้ต้อนรับผู้คนเข้าสู่เขตป่าเขาจำนวนนับพันคน รวมทั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นักศึกษา กรรมกร ชาวนา นักวิชาการ จึงมีการก่อตั้งแนวร่วม ขึ้นชื่อว่า
“คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย” (กป.ชป.) โดยมี พคท. เป็นแกนกลาง มีพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ชาวนา ตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วม โดยมี คุณอุดม สีสุวรรณ กรมการเมืองของ พคท. เป็นประธาน มี อ.บุญเย็น วอทอง ผศ. ผสม เพชรจำรัส มงคล ณ นคร สมัคร ชาลีกุล เทิดภูมิ ใจดี ศรีธน ยอดกันธา ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ศรี อินทปันตี ธีรยุทธ บุญมี ร่วมเป็นกรรมการ
ตามทฤษฎีปฏิวัติ ถือว่าขณะนั้นมีแก้วสามประการครบถ้วนแล้ว คือพรรค กองทัพ และแนวร่วม เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียง พคท. และกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อมี
กป.ชป. ขึ้นมา นับเป็นแก้วดวงที่สามคือแนวร่วม ช่วงนั้นมีคำประกาศต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของนักศึกษาประชาชน ที่เข้าป่าเป็นระลอกคลื่น
ขออ้างถึง บันทึกประวัติศาสตร์ประชาชน หัวข้อ “จากเสรีไทยถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายอีสาน” ซึ่งเขียนโดย “ลุงวัฒนา” เป็นเอกสารที่เก็บไว้ในศูนย์สารนิเทศอีสาน สิรินธร
“ลุงวัฒนา” เป็นสหายนำระดับกรรมการกลางของ พคท. ในภาคอิสาน ที่ทำงานร่วมกันไปกับ “ลุงสยาม” “ลุงเจริญ” “ลุงขจัด”
ลุงวัฒนาชี้ว่า “ในขบวนของ พคท. เกิดความคิดเล็งผลเลิศกันไปต่างๆ นานา กระทั่งมีบางคนเสนอขึ้นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
ในเวลาใกล้เคียงกันได้รับรายงานข่าวจากกรรมการพรรคที่ติดต่อกับฝ่ายลาวว่า ลาวเสนอให้ศูนย์กลางพรรค (ศก.) หรืออีสานเหนือ (อน.) ก็ได้ ให้เปิดทางให้กำลังของประเทศ พี่น้องเข้ามาช่วยปลดปล่อย (หมายถึงกองทัพเวียดนามและลาว) เพื่อเร่งชัยชนะของการปฏิวัติได้เร็วขึ้น มิฉะนั้นการปฏิวัติไทยก็จะประสบอุปสรรค และหากดำเนินตามแนวทางของศูนย์กลางในปัจจุบัน อีก 100 ปี ก็ไม่ได้ชัยชนะ”
ลุงวัฒนา มีบันทึกเหตุผลต่อเนื่องว่า
“ความเห็นที่ว่า ควรจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพื่อส่งผลสะเทือนต่อจิตใจผู้คนทั่วประเทศ และดึงดูดความสนใจทางสากลนั้น ดูผู้เสนอเขากระตือรือร้น แต่เมื่อเราเสนอความเห็นแย้งไปว่า ต้องมีเขตฐานที่มั่นคงจำนวนหนึ่ง และผู้จะเป็นส่วนประกอบอำนาจรัฐทั่วประเทศต้องมีเกียรติภูมิพอ มีแนวหลังพึ่งพิงในประเทศข้างเคียง หากได้ตามเงื่อนไขนี้ในขั้นต่ำก็อาจพิจารณาได้
เรื่องเอากำลังประเทศพี่น้องมาช่วยปลดปล่อย เกิดจากผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านลาวและเวียดนาม ซึ่งได้พบพูดคุยแบบทีเล่นทีจริงกับผู้ปฏิบัติงานระดับกลางและล่างของเวียดนามลาว ก็ติดความคิด
นี้เข้ามาเสนอ
เราคัดค้านความคิดนี้อย่างเด็ดเดี่ยว”
ลุงวัฒนา ชี้ให้เห็นว่า ความคิดแบบนี้ มีการส่งผ่านไปยังฝ่ายนำ แต่ก็ถูกปฏิเสธ และมีบันทึกต่อว่า
“เหตุการณ์ต่างๆ นี้เป็นช่วงระหว่างปี 2521 – 2524 องค์การนำของ อน. (อิสานเหนือ) ระยะนั้นประกอบด้วย ลุงสยาม เจริญ ปฏิ วัฒนา ประสาน ขจัด และเผด็จ”
ลุงวัฒนา ชี้ว่า
“มีปัญหาความคิดใน อน. จะยอมให้กำลังจากภายนอกประเทศเข้ามาช่วยตีปลดปล่อยพื้นที่และสร้างอำนาจรัฐ ปฏิวัติขึ้น หรือจะปฏิเสธและต่อต้าน เพราะพรรคเวียดนามและพรรคลาวได้เสนอแนวทางการปฏิวัติว่าเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบของการปฏิวัติโลก มีคนไม่น้อยเห็นคล้อยตาม เพราะมันเป็นทางลัดไปสู่หลักชัย ไม่เหนื่อยแรง แต่เราเห็นว่าหากมองในระยะยาวไกลในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว เราไม่ยอมรับความคิดนี้ได้ จึงใช้เหตุผลยืนยันโต้แย้ง เสียงส่วนใหญ่โน้มมาทางต่อต้าน ซึ่งพอทำข้อสรุปยุติได้ แต่ในทางยุทธวิธี อาศัยการถ่วงเวลาในการตอบ แต่พรรคลาวที่เป็นผู้ประสานงานก็เร่งเร้าให้ได้คำตอบที่แน่นอน ทั้งเสนอแผนการรูปธรรมมาให้ อน. พิจารณา และเสนอขอผู้นำ อน. ไปประจำที่ประเทศลาว เพื่อสะดวกในการตัดสินใจ ลุงสยามและคุณเจริญเมื่อถูกรุก เพื่อเห็นแก่มิตรภาพ จึงส่งคุณเผด็จไปประจำที่ลาว ผ่านเวลาไปร่วมปี ทางลาวเห็นว่าทาง อน. ไม่ยอมร่วมทางกับเขาแล้ว จึงใช้ท่าทีแข็งกร้าว กระทั่งใช้มาตรการรุนแรงต่อเรา ดึงกำลังทหารกองพันที่เราส่งไปให้ ศก. จำนวนไม่น้อย พร้อมยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ หยูกยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง เสื้อผ้า ของเหล่านี้หากใช้รถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกเต็มอัตรา จะใช้ราว 12-13 คัน นับเป็นการสูญเสียสินทรัพย์และวัตถุปัจจัยสงครามมากที่สุด คนจำนวน 300 กว่าคนถูกขับออกมาจากแผ่นดินลาว.....”
ต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ช่วงนั้นไว้ด้วยว่า
นับเริ่มแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2521 เฮง ซัมริน ผนวกกับกองทัพเวียดนามซึ่งมีกำลังเกรียงไกร ได้บุกเข้าตีกัมพุชา และยึดพนมเปญได้เมื่อต้นปี 2522 ผู้นำเขมรแดง คือพลพต และเขียวสัมพัน ที่ครองพนมเปญในเวลานั้น ถูกตีแตกกระเจิงเข้าไปอยู่ป่าอีกรอบ แสดงให้เห็นแสนยานุภาพของกองกำลังเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อเมษายน 2518 ได้ทำสงครามจรยุทธเอาชนะสหรัฐอเมริกามาได้อย่างไม่น่าเชื่อมาแล้ว
หลังจากกองทัพเวียดนามยึดพนมเปญได้เบ็ดเสร็จ เมื่อต้นปี 2522 ทำให้เกิดการแบ่งขั้วแยกข้างกัน อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
เพราะป่วยด้วยไข้มาเลเรียจากภูพานในปี 2521 ผู้เขียนกลับไปลาวอีกครั้ง และต้องไปพักรักษาตัวที่จีน ขณะที่โรงพยาบาลสนาม โรงเรียนการเมืองการทหาร สำนักต่างๆ ในลาวในเวลานั้นถูกลาวบังคับให้ออกจากพื้นที่
ผู้เขียนซึ่งอยู่ที่คุนหมิงมณฑลยูนนาน ณ บ้านใกล้ทะเลสาบ มีคุณไขแสง สุกใส คุณประสิทธิ์ ไชโย คุณอาคม สุวรรณพ และคณะรวม 15 คน ได้ไปทัศนศึกษาที่ปักกิ่ง ก่อนหน้านั้น ราวกลางปี 2522 สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ถูกสั่งปิดไปแล้ว
ขณะอยู่ที่ปักกิ่ง สหายหลี่อี้หมาง เป็นระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านวิเทศสัมพันธ์ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) มาคุยให้ฟังถึงทฤษฎีสามโลกของจีน โดยใช้ห้องประชุมในโรงแรมที่พัก
ช่วงหนึ่งของการสนทนา ผู้เขียนตั้งคำถามว่า
“เหตุใด พคจ. จึงปิดสถานีวิทยุ สปท.”
ด้วยสีหน้าที่เรียบเฉยของชายวัยราว 60 ปี เปล่งเสียงห้าวๆ ตอบว่า
“เวียดนามบุกยึดกัมพูชาแล้ว เรา(จีน) ทำสงครามสั่งสอนเวียดนามไปยกหนึ่ง เราหวังว่ากองกำลังของพลพตและเขียว สัมพัน ของกองทัพเขมรแดง จะสามารถสู้รบเอาชนะเวียดนามได้ใน 5 หรือ 10 ปีนับจากนี้ ในที่นี้ จีน (พคจ.) มีความจำเป็นต้องส่งอาวุธไปช่วยเหลือเขมรแดง โดยผ่านดินแดนไทยที่ชายแดนด้านตะวันออก ซึ่งรัฐบาลไทยโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ได้ขอร้องเราเป็นข้อแลกเปลี่ยนว่า ขอให้เราปิดสถานีวิทยุ สปท. เราจึงจำเป็นต้องขอปิดสถานีวิทยุดังกล่าว มิฉะนั้นทางการไทยก็จะไม่ยอมให้เราส่งผ่านอาวุธ”
ความสงสัยของคณะเรากระจ่างขึ้นมาทันที สปท. ปิดไปแล้ว เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั่งฟัง รับทราบ และสรุปบทเรียนได้ว่า สิ่งผู้นำจีนชี้นำว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคต่อพรรค และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน นั้น ถึงที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศนั่นเอง
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีน้ำหนักมากซึ่งพูดถึงการปฏิวัติส่งออก คือ
หนังสือ “ธง แจ่มศรี” ใต้ธงปฏิวัติ ลงบันทึก ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากคำบอกเล่าของ ธง แจ่มศรี (พ.ศ. 2464 - 2537) เขียนโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ในหน้า 435 -436 บันทึกไว้ว่า
“ท่ามกลางกระแสปฏิวัติ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เชิญตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปร่วมงาน ครบรอบ 2 ปีแห่งการปฏิวัติ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไทยได้ส่งคุณประสิทธิ์ ตะเพียนทอง และคุณประวิง อุทัยทวีป เป็นตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาว เสนอว่านอกเหนือจากการหนุนช่วยด้านวัตถุปัจจัยและกำลังอาวุธพรรคพี่น้องทั้งสองพรรคพร้อมที่จะส่งกำลังทหารมาช่วยปฏิวัติไทยให้ได้รับชัยชนะ อาจจะมาจากหน่วยทหารลาว หรือทหารชนชาติไทยในเวียดนาม ทหารเหล่านี้จะเข้ามาช่วยการสู้รบในยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นฝ่ายกำหนด ฝ่ายเวียดนามเสนอถึงขนาดว่า การพัฒนาเร่งสร้างสังคมใหม่ของเขายังชะลอจังหวะก้าวได้ ขอให้ไทยปฏิวัติชนะเสียก่อน คุณประสิทธิ์ได้ตอบแบบ แบ่งรับแบ่งสู้ว่า จะขอนำมาหารือในคณะกรรมการพรรคฝ่ายไทยเสียก่อน คุณธง แจ่มศรี เล่าเรื่องนี้ ไว้ว่า
‘ในเรื่องเวียดนาม ที่เราไม่ยอมรับก็คือเวียดนามเสนอเราว่าเขาจะส่งทหารลาวจากชายแดนเข้ามาช่วยเราปลดปล่อย ทางชายแดนลาวกัมพูชา เราเองก็ไม่เห็นด้วย การส่งกำลังเข้ามาอย่างนี้ถึงจะเป็นลาว พอผ่านชายแดนเข้ามาปุ๊บ มวลชนเราก็ดูออกทันทีว่าไทยหรือลาว ทางจัดตั้งเราพิจารณาว่ามันมีแต่เสีย มันเหมือนกับชักศึกเข้าบ้าน พวกเราจะกลายเป็นผู้ขายชาติ อีกอย่างทางรัฐบาลถึงแม้ว่าเขาจะสู้กองทัพเวียดนามไม่ได้ก็ตามแต่เขาก็คงจะต้านยันไว้สุดฤทธิ์’
สรุปก็คือ กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือของฝ่ายเวียดนามและลาวเช่นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป และเข้าข่ายนโยบายปฏิวัติแบบส่งออก จึงหาเหตุผลปฏิเสธต่อฝ่ายเวียดนามด้วยมิตรภาพว่า ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอขอบคุณ แต่ยังมุ่งหวังที่จะใช้ความพยายามปฏิวัติด้วยตนเองก่อน
สหายประชา (แคน สาริกา) อดีตสื่ออาวุโสจากเขตงานภูสระดอกบัว เป็นคนติดตามศึกษา พคท. อย่างเกาะติดตลอดมา เล่าสู่กันฟังว่า
“ผมได้ยินมาว่า ทางฝ่ายนำของ พคท. เคยมีแนวคิดที่จะปลดปล่อยเขตน่าน ในขณะที่เวียดนามลาวก็เสนอ พคท. ช่วยปลดปล่อยภาคอิสานแล้ว ยังมีนักการเมืองและนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งพรรคดาวเขียว ขึ้นมาโดยมีฐานอยู่ที่เวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยมีแนวทางเอียงข้างลาว เวียดนาม ซึ่งก็หมายถึงโซเวียตด้วย ตอนแรกก็มีเพื่อนมิตรจำนวนหนึ่งเข้าร่วม แต่ตอนหลังก็แตกกันไป และพรรคนั้นไม่สามารถมีบทบาทอะไรที่เป็นจริงได้”
การเคลื่อนไหวของขบวนปฏิวัติไทย อาจมีคนชอบหรือมีคนชัง อาจมีคนเห็นด้วยหรือต่อต้าน อาจมีคนพอใจหรือไม่พอใจ นั่นเป็นเรื่องของมุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นไปแล้ว
เมื่อมีการเสนอทางเลือกให้นำเข้าการปฏิวัติ ฝ่ายนำของ พคท. ไม่ต้องการมีตราบาปในการขายชาติขายแผ่นดิน ไม่ได้คิดยึดอำนาจรัฐ เพื่อสถาปนาตนเองเป็นใหญ่ ไม่ต้องการเห็นประเทศพินาศไปด้วยบาดแผลแห่งสงคราม จึงปฏิเสธการปฏิวัติส่งออกไปอย่างเด็ดเดี่ยว
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเลยทีเดียว