"...สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลกดูเสมือนเป็นไปไม่ได้ และยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราเรียนรู้จากสถาบันฐานแผ่นดินไทยหรือโรงพยาบาลชุมชน กับขบวนการแพทย์ชนบทไทยที่ดำเนินมากว่า 50 ปี น่าจะเห็นช่องทางที่องค์กรเพื่อมนุษยธรรมทั้งหลายในโลกจะร่วมมือกันเพื่ออุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ คือ การสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ให้เกิดขึ้นจริงกับมนุษยชาติทั่วโลก..."
1. สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลก (Complete Well-Being of Mankind Around the World) คืออุดมการณ์สูงสุดขององค์กรมนุษยธรรมทุกชนิดทั้งโลก
สุขภาวะที่สมบูรณ์ (Complete Well-Being) หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ (Spiritual หรือสุขภาวะทางปัญญา)
สุขภาวะ 3 ประเภทแรกเราพอเข้าใจและคุ้นเคยมานาน แต่คำว่า Spiritual หรือจิตวิญญาณ แม้ใช้กันมากในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วยังไม่เป็นที่เข้าใจกันโดยอัตโนมัติ การที่ระบบสุขภาพไทยเรียก Spiritual Health ว่าสุขภาวะทางปัญญา ก็มีผู้ไม่เข้าใจว่าเป็นมาอย่างไร จึงเรียกสุขภาวะทางจิตวิญญาณว่าสุขภาวะทางปัญญา
“สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” หมายถึงการเข้าถึงความจริงเหนือเรื่องเนื้อหนังร่างกาย
ร่างกายของเรา ทางพุทธเรียกว่า โลก คำว่า เหนือโลก โลกุตระ หมายถึงความจริงที่เหนือตัวตน
ตามปกติมนุษย์ยึดมั่นในตัวตนหรืออัตตา ซึ่งเป็นที่คับแคบและบีบคั้น เสมือนคนที่ถูกจำขังคุมขังอยู่ในคุก เป็นการติดคุกที่มองไม่เห็น (The Invisible Prison) เมื่อติดอยู่ในคุกย่อมเกิดความบีบคั้น เพราะเป็นที่แคบ เกิดความขัดแย้งระหว่างความจริงในระดับตัวตนและเหนือตัวตน ถ้ามีการปลดปล่อยออกจากคุกจะเกิดเสรีภาพ ทำให้เกิดความสุขที่ได้สัมผัสความจริงเหนือตัวตน ประดุจหลุดออกจากคุกที่มองไม่เห็น
การทำอะไรดี ๆ ที่มีคุณค่าเหนือตัวตน จึงมีคนเรียกคุณค่านี้ว่า Spiritual ซึ่งคนไทยแปลกันว่า จิตวิญญาณ
ในเรื่องทั้งหลายมีความจริง 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นความจริงที่ปรุงแต่งขึ้นมาจากความมีตัวตน เรียกว่าสังขตธรรม สังขตะ แปลว่าปรุงแต่ง กับความจริงอีกชุดหนึ่งที่เหนือตัวตน ไม่ผ่านการปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติที่มีอยู่เป็นนิรันดร์และไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า อสังขตธรรม การทำอะไรดี ๆ ที่มีคุณค่าเหนือตัวตน จึงเรียกกันว่า Spiritual เรียกว่า มิติทางจิตวิญญาณ
เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่หรือการงานทุกชนิด ถ้าทำด้วยความโลภ โกรธ หลง ก็หมายถึงว่าติดอยู่ในตัวตน หรืออกุศลธรรม แต่ถ้าทำเพื่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่เอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ก็ถือเป็นการเข้าถึงจิตวิญญาณหรือปัญญา ซึ่งเป็นความจริง ความดีงาม เหนือเรื่องโลก ๆ
สุขภาวะทางปัญญาจึงเกิดได้ทุกหนทุกแห่งที่มีการกระทำ ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ถ้าทำแล้วมีจิตใจสัมผัสอยู่กับความจริง ความดี ความงาม ก็จะเกิดสุขภาวะทางปัญญา
เพราะฉะนั้นถ้าทำความเข้าใจว่า สุขภาวะทางปัญญาหมายถึงอะไร ทุกคนก็กำลังสร้างสุขภาวะทางปัญญาโดยไม่รู้ตัว
ถ้าทุกคนรู้ว่าสุขภาวะทางปัญญาคืออะไร และเกิดขึ้นในตัวเราเองได้ขณะที่ทุกคนทำอะไรดี ๆ เพื่อเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อธรรมชาติ ความดีก็จะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่มีอยู่แล้วในหัวใจของคนทุกคน แต่ถูกฝังลึกด้วยเรื่องราวต่าง ๆ จนมนุษย์ลืมไปว่า ตนเองมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีหรือศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่จะทำอะไรดี ๆ เหนือตัวตน ถ้ามีการสำนึกรู้ว่า ในตัวเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี แล้วพยายามรดน้ำพรวนดิน เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะงอกงามแผ่ไพศาลออกไป ทำให้โลกเกิดความร่มเย็น
เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่าร่มเย็นเป็นสุข หรือสังคมรมณีย์ คือสังคมที่เราอยู่เกิดความรมณีย์ ชื่นอกชื่นใจ จะเกิดขึ้นได้ด้วยการระลึกรู้ของมนุษย์ว่า มีความดีอยู่ในหัวใจของตนเอง และพยายามระลึกรู้ รดน้ำพรวนดินให้มันไม่แห้งตาย แต่งอกงาม มีชีวิต ปกคลุมโลกทั้งใบให้เป็นโลกแห่งความสุข
โลกแห่งความสุขรวมถึงสุขภาวะทุกมิติ เป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลก และเป็นอุดมการณ์สูงสุดขององค์กรมนุษยธรรมทุกชนิดทั่วโลก
โรงพยาบาลชุมชนนั้น แน่นอนว่าเป็นองค์กรทางมนุษยธรรม และเป็นองค์กรที่มีศักยภาพมาก เริ่มตั้งแต่ตั้งอยู่ในฐานแผ่นดินไทย เป็นองค์กรฐานแผ่นดินไทย
2. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ
ในปี ค.ศ. 1978 มีการประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลกที่สหภาพโซเวียต นำโดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชื่อ Halfdan T. Mahler ซึ่งมีชื่อเสียงมากในฐานะคนคิดเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ประชุมได้เสนอเรื่องสุขภาพถ้วนหน้า (Health for all through primary health care) ว่า สุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนภายใน ค.ศ.2000 จะเป็นไปได้ผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ และเสนอความถูกต้องดีงามของระบบสุขภาพปฐมภูมิว่า เป็นระบบสุขภาพพื้นฐานที่ทุกชาติทุกภาษาควรดำเนินการ ตอนนั้นมีการกระทุ้งใหญ่ทั่วทั้งโลกให้คิดถึงเรื่องสุขภาพปฐมภูมิ
สุขภาพปฐมภูมิ คือระบบสุขภาพเบื้องต้นหรือพื้นฐานที่คนทุกคนควรได้รับ วงการแพทย์ทุกระดับควรสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ แนวความคิดและแนวการปฏิบัติ (concept and method) เกี่ยวกับสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทยก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
การบริการพื้นฐานที่เรียกว่า บริการใกล้บ้านใกล้ใจ จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการบริบาลอย่างใกล้ชิดประดุจญาติด้วยคุณภาพสูงสุด เป็นไปได้โดยระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งมีหน่วยบริการรวมทั้งหมด 9 หน่วยในทุกตำบล ดังนี้
(1) การดูแลตนเองและครอบครัว
บริการเบื้องต้นที่ดีที่สุดที่สังคมทุกสังคมควรมี คือการที่ประชาชนและครอบครัวมีความรู้ในการดูแลตนเองอย่างดีที่สุด ระบบสุขภาพควรสนับสนุนให้การดูแลตนเองมีคุณภาพสูงสุด โดยสนับสนุนการให้ความรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การมีข้อมูล มีระบบความรู้ในคอมพิวเตอร์ติดตัว และหลังจากผ่านประสบการณ์และการวิจัยจนมีความรู้ดีอย่างทั่วถึง ก็ควรมีการทำ AI เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนและครอบครัวใช้ดูแลตนเอง
(2) ร้านขายยาใกล้บ้าน
โดยธรรมชาติมนุษย์ สิ่งแรกที่จะทำเมื่อเจ็บป่วยคือการไปซื้อยารักษาตนเองจากร้านขายยาใกล้บ้าน เพราะฉะนั้นร้านขายยาใกล้บ้านที่มีความรู้และความรับผิดชอบดีที่สุดจะช่วยให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีคุณภาพสูง ระบบสุขภาพจึงควรถือว่าร้านขายยาใกล้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ ที่จำเป็นต้องดูแลให้มีคุณภาพและความรับผิดชอบสูงสุด
(3) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
แต่ละหมู่บ้านมีผู้ได้รับการฝึกอบรมเป็นอสม. ประมาณ 10 คน เพราะฉะนั้น อสม.จึงควรเป็นหน่วยสุขภาพปฐมภูมิอีกหน่วยหนึ่ง
(4) หน่วยพยาบาลชุมชน (Community Nursing Unit)
นี่คือสิ่งใหม่ที่เสนอขึ้น และมีความสำคัญสูงสุดในระบบบริการใกล้บ้านใกล้ใจ
ในประชากรประมาณ 1,000 คน ควรมีหน่วยพยาบาลชุมชน 1 หน่วย มีกำลังคน 3 คน คือ พยาบาลวิชาชีพ 1 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กำลังพยาบาล 3 คนต่อประชากร 1,000 คน จะทำให้ดูแลทุกคนได้ใกล้ชิดประดุจญาติ โดยมีข้อมูลของประชาชนทุกคนในคอมพิวเตอร์ของหน่วยพยาบาล เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบเอว ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต ฯลฯ ข้อมูลและการดูแลใกล้ชิดจะทำให้ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของทุกคนได้ทั้งประเทศ
โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นโรค NCDs ที่พบบ่อยมาก ถ้าไม่ได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับปกติจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง ไตวาย เส้นเลือดในสมองแตก เป็นต้น การมีระบบที่จะควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ทั้งประเทศจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ให้ผลคุ้มค่า ลดภาระโรคจาก NCDs ลงจำนวนมหาศาล นอกจากนั้น หน่วยพยาบาลชุมชนยังสามารถให้บริการรักษาความเจ็บป่วยทั่วไป ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ ติดต่อสื่อสารส่งตัวไปสู่ระบบบริการที่สูงขึ้น และรับตัวกลับมาดูแลต่อเนื่องในกรณีจำเป็น
ที่ผ่านมา การส่งต่อโรงพยาบาลเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ถ้ามีพยาบาลเป็นผู้ช่วยจะทำให้การส่งต่อสะดวกขึ้นมาก เมื่อมีหน่วยพยาบาลชุมชนเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งประเทศ ทั้งชุมชนแบบเดิมและชุมชนสมัยใหม่ เช่น ชุมชนคอนโด ชุมชนบ้านจัดสรร จะทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยอาการที่พบบ่อยและรักษาง่าย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อีกต่อไป โรงพยาบาลต่าง ๆ จะลดความแออัดลง ทำให้แพทย์พยาบาลดูแลปัญหาที่เหลือด้วยประสิทธิภาพสูงขึ้น
การไปรักษาที่โรงพยาบาลมีราคาสูงมาก การมีหน่วยพยาบาลชุมชนจะทำให้ค่าใช้จ่ายของดูแลสุขภาพทั้งประเทศลดลงมหาศาล ฉะนั้นสปสช. ควรเข้ามาดูแลสนับสนุนหน่วยพยาบาลชุมชนดังกล่าว ทั้งเงินเดือนของพยาบาลและอื่น ๆ โดยระบบการเงินของหน่วยพยาบาลชุมชนอาจมีได้หลายวิธีต่าง ๆ กัน เป็นนวัตกรรมทางการเงินอย่างยิ่ง
เรื่องหน่วยพยาบาลชุมชนดังกล่าวนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทางสภาการพยาบาลก็เห็นด้วย จึงควรทดลองทำ และทำวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นเป็นอย่างดีทั่วประเทศ
(5) คลินิกแพทย์ใกล้บ้าน
ซึ่งคงจะมีน้อยแห่ง แต่ถ้ามีก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ
(6) ศูนย์การแพทย์แผนไทย
ทุกตำบลควรมีศูนย์การแพทย์แผนไทยที่เป็นวิสาหกิจชุมชน และสามารถให้บริการเบื้องต้น 3 อย่างคือ 1. นวดไทย 2. ประคบด้วยสมุนไพร 3. ขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริง
การนวดไทย ถ้าทำให้ดีจะมีประโยชน์และได้รับความนิยมมาก เพราะช่วยให้เกิดความสุขสบายในร่างกาย และฟื้นฟูสุขภาพจากการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อให้หายเร็วขึ้น การนวดและการคุยกันกระหนุงกระหนิงระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสุขภาพอย่างดีมาก คนหกล้มฟกช้ำดำเขียวถ้าได้ประคบด้วยสมุนไพรก็จะดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริง และผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมหรือองค์กรที่ได้รับการรับรอง เช่น โรงพยาบาลอภัยภูเบศร ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ราคาไม่แพง
การมีศูนย์การแพทย์แผนไทยจะช่วยลดภาระศูนย์บริการสมัยใหม่ลง และเป็นรายได้ของชุมชน
(7) รพ.สต. หรือสถานีอนามัยตำบล
ซึ่งมีอยู่แล้ว 1 ศูนย์ต่อ 1 ตำบล ช่วยดูแลสนับสนุนหน่วยบริการทั้ง 6 ที่กล่าวมาข้างต้น
(8) โรงพยาบาลชุมชน
มีอยู่อำเภอละ 1 โรงพยาบาล เป็นจุดให้บริการสูงสุดในพื้นที่อำเภอ และรับผิดชอบสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมดในอำเภอนั้น ๆ
โรงพยาบาลชุมชนควรเป็นสถาบันวิจัยระบบสุขภาพปฐมภูมิของอำเภอ โดยวิจัยให้รู้ข้อมูลอย่างทั่วถึงถึงสภาพและการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา
(9) ระบบ Digital Health
หน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมดควรติดต่อสื่อสารถึงกันด้วยระบบดิจิทัล และสามารถปรึกษาหารือหน่วยการแพทย์ที่สูงขึ้นได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Telemedicine เพิ่มคุณภาพให้บริการปฐมภูมิทุกจุดในอำเภอหนึ่ง ๆ
นี้คือระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เรียกว่า ใกล้บ้านใกล้ใจ คนไทยทุกคนได้รับบริการอย่างใกล้ชิดประดุจญาติ และมีคุณภาพสูงสุด ซึ่งน่าจะเป็นของขวัญให้ประชาชน เพื่อเป็นการฉลองการที่ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567
องค์ประกอบทั้งหมดเชื่อมโยงกันและเชื่อมโยงกับคุณภาพที่สูงขึ้น คือโรงพยาบาลชุมชน ที่ควรสามารถให้บริการทั่วไปได้อย่างดีที่สุดในอำเภอ ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาบริการนอกอำเภอ โรงพยาบาลอำเภอแต่ละอำเภอจึงควรเป็นที่ให้บริการสูงสุดของอำเภอหนึ่ง ๆ
3. บริการที่โรงพยาบาลชุมชน
โรงพยาบาลชุมชนถือเป็นสถาบันการแพทย์ที่ให้บริการสูงสุดในอำเภอหนึ่ง ๆ ควรมีความสามารถจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอำเภอได้ทุกชนิด เหมือนที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนที่จะมีการทดลองทำโรงพยาบาลบ้านแพ้วให้เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่บริหารแบบเอกชน คนบ้านแพ้วต้องไปหาบริการที่จังหวัดอื่น แต่เมื่อเป็นโรงพยาบาลสมัยใหม่ของรัฐที่บริหารแบบเอกชน โดยชุมชนเข้ามามีบทบาท สามารถทำการได้คล่องแคล่ว ประหยัดเงินได้ จนเหลือจ่ายออกไปช่วยให้บริการนอกโรงพยาบาล เช่น ส่งรถผ่าตัดตาของโรงพยาบาลออกไปให้บริการทั่วประเทศ เป็นต้น
ยิ่งโรงพยาบาลชุมชนมีความสามารถสูง ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ทั้งในอำเภอและนอกอำเภอเพิ่มขึ้น ควรมีการทดลองให้โรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนบริหารแบบเป็นโรงพยาบาลรัฐ แต่บริหารแบบเอกชน จะเท่ากับมีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศ กำลังที่เกิดขึ้นร่วมกันนี้จะมหาศาลมาก
4. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน
โรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศมีประมาณ 800 แห่ง ควรมีการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลที่สนใจและชำนาญพิเศษเรื่องใด ก็สามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแพทย์เฉพาะทางและเครือข่ายบริการพิเศษบางอย่าง เช่น เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนรักษาโรคตา เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนเพื่อปัญหาจิตเวชในชุมชน ต่าง ๆ เหล่านี้ เท่ากับเรามีสถาบันการแพทย์เฉพาะทางเกิดขึ้นในหมู่โรงพยาบาลชุมชนหลายเครือข่ายทั่วประเทศ สามารถเพิ่มคุณภาพการบริการในพื้นที่อีกเป็นทวีคูณ สมกับคำว่า “บริการใกล้บ้านใกล้ใจ คนไทยทุกคนได้รับการบริบาลอย่างใกล้ชิดประดุจญาติด้วยคุณภาพสูงสุด” ดังนี้
5. การพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่อำเภอ
การพัฒนาที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก คือการพัฒนาแบบแยกส่วน แยกเป็นเรื่อง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน การคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล
ความไม่สมดุลคือความเหลื่อมล้ำ
อะไรที่ไม่สมดุลก็จะเกิดความปั่นป่วน รุนแรง วิกฤต โกลาหล และไม่ยั่งยืน
หลักการใหญ่ของการพัฒนาคือการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทุกพื้นที่ต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ และพัฒนาทุกมิติเชื่อมโยงกัน เป็นการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการจนเกิดบูรณภาพของแผ่นดินไทย ก็จะเกิดแผ่นดินศานติสุขขึ้นทั้งประเทศ
แต่ละอำเภอควรมีการพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่ ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล ขึ้นมาจนถึงระดับอำเภอ
แต่ละอำเภอมีประมาณ 10 ตำบล แต่ละตำบลมีชุมชนประมาณ 10 ชุมชน ในแต่ละอำเภอจึงชุมชนประมาณ 100 แห่ง ทุกชุมชนควรมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ
อบต. หรือเทศบาลตำบลควรดูแลสนับสนุนให้ชุมชนในตำบลของตนพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่
ในระดับอำเภอ มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ [1] โดยให้แต่ลำเภอมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธาน เชื่อมโยงเครือข่ายทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนมาพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอให้มีความทั่วถึงและสม่ำเสมอ แต่ละอำเภอมีทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย เช่น โรงเรียน วัด ธุรกิจเอกชน ธนาคาร แต่ละอำเภอควรมีมูลนิธิอำเภอเป็นเครื่องมือที่ทุกฝ่ายในอำเภอสามารถมาร่วมกันในการพัฒนาอำเภอ ในมูลนิธิอาจตั้งเป็นสถาบันพัฒนาอำเภออย่างบูรณาการ ก็จะเกิดสถาบันพัฒนาประเทศที่มีฐานอยู่ในภาคธุรกิจเกิดขึ้นอีก 800 แห่ง ถ้าสถาบันพัฒนาอำเภอ 800 แห่งเหล่านี้ เรียนรู้จากกัน ก็จะเป็นกำลังพัฒนาประเทศอย่างมหาศาล
โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลอำเภอควรร่วมมือกับพลังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอที่กล่าวถึงข้างต้น เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาคือส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หากโรงพยาบาลอำเภอในฐานะที่เป็นสถาบันฐานแผ่นดิน สามารถเชื่อมโยงกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอำเภอทั้งอำเภอให้เป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาอย่างบูรณาการ แต่ละอำเภอก็จะกลายเป็นแผ่นดินศานติสุข
6. มหาวิชชาลัยเภอ 800 แห่ง
การพัฒนาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือการเรียนรู้ระหว่างกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ที่เรียกว่า PILA (Participatory Interactive Learning through Action) การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุดในการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ทุกมิติ และจะส่งผลให้เกิดสิ่งดี ๆ ที่เกิดได้ยากอีกมาก เช่น
• ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น
• ยิ่งทำยิ่งมีความสุขมากขึ้น เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีความเสมอภาค ไม่มีใครอยู่เหนือใคร จึงเกิดความเป็นมิตรหรือภราดรภาพ ทำให้เกิดสามัคคีธรรมและความสุข
• ในความซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน การเรียนรู้ให้รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างตามลำพังเป็นเรื่องยากลำบากมาก แต่ถ้าเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่าย ทุกคนจึงกลายเป็นคนฉลาด และฉลาดร่วมกัน
• เกิดปัญญาร่วม (collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยภาพกลุ่ม (group genius)
• ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เกิดพลังมหาศาลร่วมกัน ฟันฝ่าอุปสรรคทุกชนิดไปสู่ความสำเร็จได้
• ทุกคนมีความสุขร่วมกันประดุจบรรลุนิพพาน
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติทั้งพื้นที่อำเภอ จะทำให้อำเภอทั้งอำเภอเป็นประดุจมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ ต่างจากมหาวิทยาลัยเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้ว
คำว่า มหาวิชชาลัย เป็นคำที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ขึ้นในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก พระราชนิพนธ์เล่มนั้นมีข้อความฉกรรจ์ ๆ หลายเรื่องอันสะท้อนถึงพระราชดำริต่าง ๆ ในพระทัยของพระองค์ ซึ่งควรกล่าวว่า พระองค์ท่านเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เพราะทรงตะลอน ๆ ไปทั่วพื้นที่ประเทศไทย แม้ในสถานที่ที่เข้าถึงยากลำบาก นอกจากนั้นยังทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง คนที่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยบวกกับพุทธศาสนา จะอยู่ในฐานะที่เห็นว่า การพัฒนาที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร
ในพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ตอนหนึ่งมีข้อความว่า “คนทั้งปวงตั้งแต่พระมหาอุปราชจนถึงคนเลี้ยงม้า ล้วนตกอยู่ในโมหภูมิ” คำว่า โมหภูมิ เป็นศัพท์ทางพุทธ หมายถึงความหลงไป ความโง่เขลา การขาดปัญญา คำว่า วิชชา ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงปัญญา ส่วนความรู้ใช้คำว่า วิทยา คำว่ามหาวิทยาลัยจึงแปลได้ว่า เป็นที่อยู่แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คงทรงแลเห็นว่า การมีความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องการปัญญา จึงทรงใช้คำว่า มหาวิชชาลัย
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยตามปกติ ก็อาจเรียกว่า มหาวิทยาลัยอำเภอ แต่ที่กล่าวมานี้มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอาจสร้างความรู้ แต่ไม่ได้ร่วมเรียนรู้ในการปฏิบัติจนเกิดปัญญาหรือวิชชา เพราะฉะนั้นการพัฒนาอำเภอที่กล่าวมาทั้งหมด จะทำให้อำเภอทั้งอำเภอซึ่งมีคนประมาณ 50,000-100,000 คน เปรียบเสมือนเป็นมหาวิชชาลัยอำเภอ การมีมหาวิทยาลัยที่ดี ที่เป็นปัญญาเพิ่มขึ้น 800 แห่ง ตามจำนวนอำเภอของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
7. สถาบันฐานแผ่นดินไทย
ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ การที่คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย
เนื่องจากระบบการศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เช่น เรียนวิชาอะไร สอบวิชาอะไร ได้ปริญญาสาขาอะไร โดยไม่ได้เอาความจริงของประเทศเป็นตัวตั้ง คนไทยทั้งหมดจึงไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เมื่อไม่รู้ความจริง ก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้
การสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลง ๆ ถ้าไม่มีฐานรองรับ ประเทศไทยพัฒนาประเทศแบบสร้างพระเจดีย์จากยอด คือทำอะไรก็เอาแต่ข้างบนโดยทอดทิ้งข้างล่าง หรือปล่อยให้ข้างบนเอาเปรียบข้างล่าง จนฐานของประเทศอ่อนแอ และเกิดความนิยมผิด ๆ ฉะนั้น ถึงแม้มีองค์กรตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็มีคุณค่าหรือยึดถือคุณค่าของข้างบน แทนที่จะเรียนรู้ให้รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เช่น วัด โรงเรียน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็เรียนโดยท่องวิชา ซึ่งเป็นเรื่องของข้างบน โดยไม่สนใจความจริงและการพัฒนาจากฐานของแผ่นดินไทย หรือการสร้างพระเจดีย์จากฐาน
โรงพยาบาลชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในทุกอำเภอต้องสนใจความจริงของพื้นที่ที่ให้บริการ จึงเป็นสถานที่ที่สร้างคนไทยที่เข้าใจแผ่นดินไทย ดังที่ปรากฏว่า หมอที่ทำงานโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ มีความเข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย และสามารถเชื่อมต่อกับงานพัฒนานโยบายของประเทศ แบบที่เรียกว่า From Community to Policy หรือจากชุมชนสู่นโยบาย เช่น การสร้างองค์กรตระกูล ส. ต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นเครื่องสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สรพ. (สำนักงานรับรองคุณภาพสถานพยาบาล) สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) สพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)
หมอที่ทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางในมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่สามารถไปพัฒนานโยบายได้ เพราะไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงของแผ่นดินไทย จึงถือเป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทยที่มีความสำคัญยิ่ง และเป็นฐานของการทำงานของแพทย์ชนบท ที่ทำงานช่วยเหลือคนยากคนจน เดินทางไกลมากว่า 50 ปี จนกระทั่งขบวนการแพทย์ชนบทไทย (Rural Doctor Movement in Thailand) ได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 2567 นี้
การทำงานของแพทย์ชนบทไทยอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเดินทัพทางไกลเพื่อคนจน (Long March for the Poor) เป็นการเดินทางจากชุมชนสู่นโยบาย (From Community to Policy) ดังกล่าวแล้วข้างต้น
สถาบันฐานแผ่นดินไทยและขบวนการแพทย์ชนบทไทยที่ได้รับรางวัลแมกไซไซในปีนี้ จึงควรนับเป็นสถาบันและขบวนการที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลกดังกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มต้น
สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลกดูเสมือนเป็นไปไม่ได้ และยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราเรียนรู้จากสถาบันฐานแผ่นดินไทยหรือโรงพยาบาลชุมชน กับขบวนการแพทย์ชนบทไทยที่ดำเนินมากว่า 50 ปี น่าจะเห็นช่องทางที่องค์กรเพื่อมนุษยธรรมทั้งหลายในโลกจะร่วมมือกันเพื่ออุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ คือ การสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ให้เกิดขึ้นจริงกับมนุษยชาติทั่วโลก
ให้เป็นความจริง ความดี และความงาม ที่ประดับไว้ในแผ่นดิน
[1] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/054/1.PDF