“...การเกิดขึ้นของ AI อาจจะมาทดแทนพวกเราได้บางเรื่อง แต่เราก็สามารถนำนักข่าวไปทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ หรือทำเรื่องที่สื่อทั่วไปทำไม่ได้ เช่นการทำข่าวที่มีคุณภาพมากกว่าการนำเสนอข่าวอย่างฉาบฉวย ซึ่งอาจจะดีกว่าการหยิบคลิปไวรัลมานำเสนอข่าว ไม่เช่นนั้นเราอาจจะถึงคราวล่มสลายของคนทำสื่อ หากเราไม่ปรับตัว...”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดโครงการประกวด “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2567” (Digital News Excellence Awards 2024)
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา หัวข้อ “Thailand Digital Newsroom 2025” การปรับตัว อนาคตห้องข่าวดิจิทัล ความท้าทาย ก้าวต่อไปของวงการสื่อไทย โดยได้กล่าวถึงการเข้ามาของ AI กับการทำงานของสื่อมวลชน โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เหล่าบรรณาธิการบริหาร และนักวิจัย ร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ด้วย
นายคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหารด้านข่าวสืบสวน ThaiPBS กล่าวว่า การมาของ AI เราเห็นพัฒนาการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการพูดถึงการใช้ให้ AI เขียนข่าว การผลิตภาพ ในฐานะเจ้าของกิจการอาจจะตั้งคำถามว่า การมาของ AI จะต้องปลดคนอีกหรือไม่ แต่ในฐานะคนทำข่าว เราอาจจะมีคำถามแตกต่างกันออกไป คือ เราจะวางแผนยืมมือ AI มาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับการทำข่าวที่มีคุณภาพ
“การเกิดขึ้นของ AI อาจจะมาทดแทนพวกเราได้บางเรื่อง แต่เราก็สามารถนำนักข่าวไปทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ หรือทำเรื่องที่สื่อทั่วไปทำไม่ได้ เช่นการทำข่าวที่มีคุณภาพมากกว่าการนำเสนอข่าวอย่างฉาบฉวย ซึ่งอาจจะดีกว่าการหยิบคลิปไวรัลมานำเสนอข่าว ไม่เช่นนั้นเราอาจจะถึงคราวล่มสลายของคนทำสื่อ หากเราไม่ปรับตัว” นายคณิศ
เช่นเดียวกับ นายฤทธิกร มหาคชาภรณ์ บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว วงการสื่อ เคยเผชิญกับดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้วงการสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่สำหรับปีหน้าการมาของ AI ในฐานะคนทำข่าวต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะเรียนรู้และใช้ AI อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ
“ในแง่มุมของประเด็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ภายในประเทศหรือต่างประเทศ ล้วนแต่มีกระทบวนกลับมาที่เรื่องเดียวกัน คือ เศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และในปี 2568 เราพยายามมุ่งหน้าสู่ Quality Content เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น” นายฤทธิกร กล่าว
นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD กล่าวถึงสถานการณ์ของการนำเสนอข่าวสารในยุคที่สังคมอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวสารที่สะท้อนปัญหา อย่างไรก็ตามยังมีคนคาดหวังในนำเสนอประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไปในทางที่ดีด้วย จึงเป็นโจทย์ของสื่อมวลชนที่ต้องนำสิ่งเหล่านี้มานำเสนอให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการหาวิธีนำเสนอให้เข้าถึงคนได้อย่างถูกต้อง
นางสาวณัฎฐา กล่าวว่า ทิศทางในอนาคตเราปฏิเสธ AI ไม่ได้แน่ ๆ และเชื่อว่าวงการสื่อก็ไม่เคยต้องหยุดปรับตัว เพราะหลายครั้งเราเผชิญหน้ากับพายุที่โหมกระหน่ำใส่ตลอด การมาของ AI ก็เป็นพายุอีกลูกที่กำลังเข้ามากระแทกเราอย่างหนัก เป็นโจทย์ที่แต่ละองค์กรต้องศึกษาและปรับตัวให้ทัน
นางสาวณัฏฐา กล่าวอีกว่า ในปีที่กำลังจะถึงนี้ เราเริ่มวางแผนการทำงานในเชิงลึก ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการทำงานของนักข่าว หากดูพฤติกรรมของคนรับสื่อ อาจจะเห็นว่าคนสนใจข่าวชาวบ้าน ข่าวกระแสสังคม แต่ในทางกลับกันคนยังคาดหวังให้สื่อนำเสนอประเด็นข่าวที่สะท้อนปัญหา และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม
“นอกจากการจับสัญญาณโลก สิ่งที่เราจับตาในปีหน้า คือ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ในฐานะสื่อสารมวลชนต้องนำสิ่งเหล่านี้มานำเสนอให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการหาวิธีนำเสนอให้เข้าถึงคนได้อย่างถูกต้อง” นางสาวณัฏฐา กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2568 อาจเป็นปีที่ไม่น่าสดใสของวงการสื่อ แต่เชื่อว่าพื้นที่สื่อออนไลน์ยังเป็นโอกาสที่สำคัญในการทำงาน และปัจจุบันคนต้องการสื่อที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
“คนทำข่าวอาจจะต้องตีโจทย์ให้ออกว่า คนอ่านข่าวของเราเป็นอย่างไร ในอนาคตจะเป็น Niche Market มากขึ้น เช่น ข่าวเศรษฐกิจที่เราพบว่ามีการเน้นเรื่องลงทุนมากขึ้น แต่สิ่งที่เราขาดอยู่คือ ประเด็นข่าวเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนโยบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างผลกระทบโดยตรงให้กับประชาชน” รองศาสตราจารย์ พิจิตรา กล่าว
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact (ประเทศไทย) กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตก็อาจจะมีโอกาส หากมีความคิดสร้างสรรค์และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เราเชื่อว่ายังเป็นโอกาสทองของคนทำสื่อในการครองใจคนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันเรามีองค์กรที่ต้องการสนับสนุนให้สื่อทำงานที่มีคุณภาพมากมาย เรื่องนี้เป็นโจทย์ขององค์กรสื่อที่อาจจะต้องออกแบบหน่วยงานให้รองรับทั้งการผลิตเพื่อธุรกิจ รวมถึงการรองรับหน่วยงานที่ยังทำหน้าที่สื่อสารมวลชนได้อย่างมีอิสระ
“อยากเอาใจช่วยคนทำสื่อทุกคนในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันอยากรณรงค์ให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความถูกต้อง นอกเหนือจากการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหว เราอยากให้เน้นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างสื่อกับอินฟลูเอ็นเซอร์ได้อีกด้วย” นางสาวสุภิญญา กล่าว