"...การออกกำลังกาย หรือ Exercise จึงถือว่าเป็นกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ไม่นานมานี้ และเกิดขึ้นเฉพาะในโลกของชาวตะวันตก ในขณะที่ฝั่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ห่างไกลไม่เคยได้รู้จักคำว่า Exercise หรือปรากฏการณ์ที่อยู่ดี ๆ มีผู้คนลุกขึ้นมาวิ่ง (Jogging) บนถนนหรือสวนสาธารณะ ทั้งนี้ “Exercise” หมายถึง กิจกรรมที่ออกแบบไว้เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ต่างกับ “Play” ที่หมายถึง กิจกรรมที่ทำเพื่อความสนุกสนานและการบันเทิง ดังนั้น ศ. ลิเบอร์แมน จึงเห็นว่า การแข่งขันกีฬาเป็นการ Play มากกว่า Exercise..."
“ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที เรามาออกกำลังกายกันเถอะ !”เสียงตามสายที่เรามักได้ยินเป็นประจำ บางคนสามารถทำได้บางคนยังเลือกที่จะผัดวันประกันพรุ่ง
ทั้ง ๆ ที่ทุกคนทราบดีว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายเราอย่างไร
ผมได้รับคำแนะนำจากพี่ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เพื่อนร่วมรุ่นวัยเกษียณ ให้อ่านหนังสือเรื่อง “Exercised” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ แดเนียล ลิเบอร์แมน (Daniel Lieberman) นักชีววิทยา
สาขาวิวัฒนาการและนักมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยพี่ทิตนันทิ์บอกว่า ศ. ลิเบอร์แมน ศึกษาเรื่องการออกกำลังกายแบบเอาจริงเอาจัง ตั้งแต่ค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ถึงความเป็นมาวิวัฒนาการและรูปแบบของการออกกำลังกาย ไปจนถึงแก่นของเหตุผลที่เราต้องลงทุนลงแรงเอาชนะใจตัวเองมาออกกำลังกายกัน
ศ. ลิเบอร์แมน ลงทุนบุกไปถึงหมู่บ้านชนเผ่าฮาดซา (Hadza) ชาวชาติพันธุ์ของแทนซาเนีย ต้องเดินข้ามห้วยข้ามเขาแบบข้ามวันข้ามคืนกว่าจะไปถึงหมู่บ้าน รวมทั้งไปชมการแข่งขันไตรกีฬา
ยอดมนุษย์ ไอรอนแมน (Iron Man) ที่หมู่เกาะฮาวาย และการแข่งขันวิ่งไล่ลูกบอลถึงประเทศเม็กซิโก เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ต่อการออกกำลังกาย
หนังสือ “Exercised” เริ่มต้นด้วยบรรยากาศของการแข่งขันไอรอนแมนที่ผู้แข่งขันกว่า 10,000 คน แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เริ่มต้นด้วยการว่ายน้ำในมหาสมุทรกว่า 3.8 กิโลเมตร ต่อด้วยการ
ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และจบด้วยการวิ่งมาราธอน 42.1 กิโลเมตร ในแต่ละการแข่งขันไม่มีการหยุดพัก เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวจากชุดว่ายน้ำ ชุดปั่นจักรยานและชุดวิ่งแบบไม่ให้เสียเวลาแม้กระทั่งวินาทีเดียว ผู้ชนะเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 8 ชั่วโมง ท่ามกลางผู้ชมแน่นขนัดตั้งแต่จุดเริ่มสตาร์ทไปจนถึงเส้นชัย มีเสียงเชียร์ดังสนั่นตลอดทาง เรียกว่า เป็นการแข่งขันที่ต้องเอาชนะตัวเองสุด ๆ แต่กลายเป็นกีฬาเชิงพาณิชย์ ที่มีสปอนเซอร์เข้ามาร่วมครบถ้วน ตั้งแต่ชุดกีฬา รองเท้า จักรยาน ที่ลงทุนรายการเดียวแต่คุ้มทุน ในขณะที่การแข่งขันวิ่งราราจิปารี (Rarajipari Footrace) ที่หมู่บ้านทาราฮูมารา (Tarahumara) ประเทศเม็กซิโก เป็นกีฬาประเพณีมายาวนาน แต่ละทีมมีผู้วิ่ง 4 คน เริ่มต้นแข่งตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยคนแรกเตะลูกบอลสีส้มเล็ก ๆ ที่ทำด้วยไม้ให้เคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งแน่นอนลูกบอลกลิ้งไปไม่ได้ไกลนัก จากนั้นจึงสลับให้คนต่อมาเตะลูกบอลต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยกติกาการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องวิ่งกันแบบเอาจริงเอาจัง เพราะถ้าหากรีบวิ่งรีบเตะลูกบอลจะถูกเตะออกไปแบบไร้ทิศทาง กว่าจะถึงเส้นชัยคงใช้เวลาข้ามคืน สำหรับการแข่งระยะทาง 160 กิโลเมตร และกว่าทีมที่ชนะเลิศจะกลับเข้าถึงหมู่บ้านก็เกือบเที่ยงคืนแล้ว แต่เมื่อทุกทีมเข้าเส้นชัยจะมีการเฉลิมฉลองกัน ไม่มีเงินรางวัลหรือถ้วยรางวัล โดยที่การแข่งขันไม่ได้มีด้านเชิงพาณิชย์มาเกี่ยวข้อง[1]
เหตุการณ์ที่ทำให้ ศ. ลิเบอร์แมน ประหลาดใจคือ ในวันรุ่งขึ้น เขาออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งบนถนนนอกหมู่บ้าน สร้างความฮือฮาตื่นเต้นที่ทำให้คนในหมู่บ้านแห่กันมาชะโงกดู เพราะพวกเขาไม่เคยพบเห็นเช่นนี้มาก่อน ด้วยการวิ่งถือเป็นกิจวัตรประจำวันของคนในหมู่บ้านอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งใจใส่รองเท้า ชุดวิ่ง ใส่หมวก ออกวิ่งให้เอิกเกริกรู้กันทั่วหมู่บ้านขนาดนั้น
แต่เรื่องราวที่น่าทึ่งที่สุดคงหนีไม่พ้น การไปใช้ชีวิตกับชนเผ่าในหมู่บ้านฮาดซานานเกือบเดือนก้าวแรกที่ ศ. ลิเบอร์แมน ได้พบเห็นเมื่อเข้าไปในหมู่บ้านคือ คนในหมู่บ้านต่างนั่งยอง ๆ กันเป็นวงกลม ผู้หญิงดูแลลูก ๆ ที่นั่งอยู่แบบซุกซน ในขณะที่ผู้ชายพูดคุยกันแบบนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ดูราวกับว่าเป็นหมู่บ้านที่ว่างงาน แต่ในความเป็นจริง คนในหมู่บ้านกำลังพักผ่อนกันหลังจากที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารกันตั้งแต่หัวค่ำและเมื่อ ศ. ลิเบอร์แมน ได้เข้าไปร่วมล่าสัตว์กับพวกเขา ทราบได้ทันทีว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะออกกำลังกาย เพราะในแต่ละวันที่ต้องวิ่งไล่ล่าสัตว์กว่า 30 กิโลเมตร ถือว่าได้เผาผลาญพลังงานไปมากพอแล้ว ดังนั้น การพักผ่อนด้วยการนั่งจึงเป็นการพักผ่อนเพื่อเก็บรักษาและเสริมสร้างพลังงานก่อนออกไปล่าสัตว์ในวันรุ่งขึ้น
การออกกำลังกาย หรือ Exercise จึงถือว่าเป็นกิจกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ไม่นานมานี้ และเกิดขึ้นเฉพาะในโลกของชาวตะวันตก ในขณะที่ฝั่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ห่างไกลไม่เคยได้รู้จักคำว่า Exercise หรือปรากฏการณ์ที่อยู่ดี ๆ มีผู้คนลุกขึ้นมาวิ่ง (Jogging) บนถนนหรือสวนสาธารณะ ทั้งนี้ “Exercise” หมายถึง กิจกรรมที่ออกแบบไว้เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ต่างกับ “Play” ที่หมายถึง กิจกรรมที่ทำเพื่อความสนุกสนานและการบันเทิง ดังนั้น ศ. ลิเบอร์แมน จึงเห็นว่า การแข่งขันกีฬาเป็นการ Play มากกว่า Exercise
ทั้งนี้ ย้อนไปไม่ถึงพันปี ผู้คนไม่ได้จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์ หาพืชผลไม้ในป่า ปลูกพืช ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้พลังงานทั้งสิ้น ในขณะที่ทหารต้องฝึกฝนให้มีร่างกายแข็งแรงเพื่อเตรียมไว้สู้รบ ดังนั้น การออกกำลังกายเกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาสู่โลกตะวันตก มีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน จนทำให้ทุกอย่างดูเป็น auto ไปหมดเพียงกดปุ่ม หรือพูดสั่งการ สามารถเนรมิตให้เราได้ทั้งหมด
ศ. ลิเบอร์แมน ยังได้เขียนถึงเหตุผลที่ทำไมเราจึงยังเลือกที่จะไม่ออกกำลังกายทั้ง ๆ ที่ทราบดีถึงประโยชน์ตลอดจนเกร็ดต่าง ๆ ในการออกกำลังกาย ตอบคำถามยอดฮิต เช่น เราควรจะออกกำลังกายในรูปแบบไหน เข่าจะพังไหมหากเราวิ่งบ่อย ๆ รวมทั้ง วิวัฒนาการของการออกกำลังกายในโลกยุค AI
สัปดาห์หน้าผมจะได้เขียนขยายความต่อ แต่ขอไปอ่านให้จบก่อนนะครับ เพราะไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้สามารถเขียนเป็นหนังสือหนาได้ถึง 440 หน้า
แหล่งที่มา:
[1] Daniel Lieberman, Exercised, The Science of Physical Activity, Rest and Health, Penguin Books, 2021