"...หากนโยบายการเงินถูกแทรกแซงให้สนองนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก ก็จะเกิดผลเสียตามมามากมาย ตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงแรก แต่ในระยะยาวกลับสร้างปัญหาใหม่ เช่น หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อจนค่าครองชีพสูงขึ้น ตัวอย่างในกรณีของประเทศอาร์เจนตินา หลายครั้งที่รัฐบาลกดดันให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยและปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว..."
ตามที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน และสถาบันอื่นได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลถึง การแทรกแซงครอบงำจากกลุ่มการเมืองที่จะมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะได้ลงมติเห็นชอบหรือไม่ กับบุคคลที่กรรมการคัดเลือกได้เสนอให้เป็นประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอแจกแจงเหตุการณ์เลวร้ายซึ่งเป็นช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้
ตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งชาติ (บอร์ดแบงก์ชาติ) เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีความเชื่อมโยงกับการแต่งตั้งผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน นโยบายกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และมีบทบาททางตรงในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ หากได้บุคคลที่เหมาะสมก็จะเป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน แต่ขณะเดียวกันหากได้บุคคลที่มีปัญหาก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือใช้สนองนโยบายทางการเมืองที่มุ่งประโยชน์เฉพาะหน้าหรือเฉพาะกลุ่มก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาคมโลกในระยะยาว
ถึงแม้ว่าประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ได้กำหนดนโยบายดอกเบี้ยโดยตรง ไม่ได้มีหน้าที่กำกับการแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรง แต่ก็อาจรู้ล่วงหน้าว่าแบงก์ชาติจะปรับดอกเบี้ยขึ้นหรือลง หรือจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเมื่อใด เพราะอาจส่งคนของตนเข้าไปเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงินข้อมูลล่วงหน้าเหล่านี้สามารถนำไปใช้เก็งกำไรในตลาดการเงินหรือการลงทุนได้ เช่น ทำการซื้อหรือขายหุ้นล่วงหน้า (insider trading) หรือในกรณีการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้นหากรู้ก่อนก็สามารถหาประโยชน์ได้มหาศาล ตัวอย่างในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่มีข้อกังขาว่านักการเมืองและกลุ่มพวกพ้องได้ใช้ข้อมูลที่รู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท เปลี่ยนเงินบาทของตนเป็นดอลลาร์ล่วงหน้า สร้างกำไรให้ตัวเอง ขณะที่เศรษฐกิจทั้งประเทศเผชิญความเสียหายรุนแรง ประชาชนต้องแบกรับภาระหนักจากการล่มสลายของระบบการเงิน
หากนโยบายการเงินถูกแทรกแซงให้สนองนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก ก็จะเกิดผลเสียตามมามากมาย ตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงแรก แต่ในระยะยาวกลับสร้างปัญหาใหม่ เช่น หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อจนค่าครองชีพสูงขึ้น ตัวอย่างในกรณีของประเทศอาร์เจนตินา หลายครั้งที่รัฐบาลกดดันให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยและปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ในส่วนการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น นักการเมืองมักจะชอบสร้างภาพผลงานที่เกินจริง หรือปกปิดผลกระทบเชิงลบจากการทำนโยบาย เพื่อให้ได้การยอมรับและเสียงสนับสนุนจากประชาชน เช่น อ้างว่าได้ทำการสั่งแบงก์ชาติแทรกแซงเงินบาทเพื่อดันเป้าส่งออกไทยโต 15%
ประวัติในอดีตของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้เขาเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพูดเท็จเพื่อหวังผลทางการเมืองมาแล้ว และอ้างว่าเป็นการโกหกด้วยเจตนาดี หรือ "โกหกสีขาว" ซึ่งส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือไม่เพียงของรัฐบาลแต่กระทบถึงความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
ถ้ากลุ่มการเมืองมีอำนาจเหนือธนาคารแห่งประเทศไทย อาจสั่งหรือกดดันให้แบงก์ชาติรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกเพื่อให้รัฐบาลกู้เงินได้ง่ายขึ้น (monetary financing) เป็นการกระทำที่ผิดหลักสากลของวินัยการเงินการคลัง เสมือนการพิมพ์แบงค์เพิ่มปริมาณเงินตราในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือค่าเงินและวิกฤติเงินเฟ้อ (กรณี Zimbabwe ช่วง 2000s / Venezuela ช่วง 2010s / Argentina หลายครั้ง)
ส่วนอำนาจโดยตรงในการบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างประเทศที่แบงก์ชาติลงทุน ก็มีผลประโยชน์มหาศาล เช่น
(ก) ผู้หวังผลประโยชน์ สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศหรือสินทรัพย์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็งกำไรในสินทรัพย์นั้นก่อนการซื้อ-ขายได้
(ข) เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองนำเงินสำรองของประเทศมาใช้ในทางที่ผิด เช่น การนำเงินสำรองมาชำระหนี้รัฐบาล โดยสามารถแก้กฎหมายให้นำเงินสำรองไปใช้หนี้ที่กองทุน FIDF ต้องนำส่งภาครัฐแทนที่จะไปเก็บจากภาคธนาคาร เป็นการปลดล็อกเพดานการกู้ยืมของรัฐบาลให้สามารถทำนโยบายประชานิยมอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาคะแนนนิยมได้
การกระทำนี้อาจช่วยรัฐบาลในระยะสั้น แต่จะลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและอาจสร้างปัญหาในยามที่ประเทศต้องการเงินสำรองไว้รองรับวิกฤต ดังจะเห็นจากตัวอย่างในกรณีของประเทศซิมบับเว ที่รัฐบาลดึงเงินสำรองมาใช้มากเกินไป ส่งผลให้ค่าเงินล่มสลายและประชาชนประสบปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง
การนำเงินสำรองมาใช้นี้เป็นข้อเรียกร้องมาตลอดของกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการเข้าแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย โดยไม่ได้ตระหนักความเป็นจริงพื้นฐานว่าเงินสำรองเป็นของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำมาหาได้ของธุรกิจ และอีกส่วนมาจากการนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการนำออกไปใช้
นอกจากนี้ หากตำแหน่งประธานและกรรมการบอร์ดแบงก์ชาติยังมีอิทธิพลต่อกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ เช่น การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายใหญ่ได้มากขึ้น หากธุรกิจของลูกหนี้เหล่านี้ล้มเหลว ผลกระทบจะไม่จำกัดแค่บริษัทเหล่านั้น แต่จะกระจายไปถึงประชาชนทั่วไปที่ฝากเงินกับธนาคาร และอาจนำไปสู่การล้มของธนาคารทั้งระบบ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ (Subprime Mortgages) ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการเงินทั่วโลก
ประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ตำแหน่งรองผู้ว่าการ และผู้ช่วยผู้ว่าการ เปิดช่องทางให้รัฐบาลแทรกแซงการทำนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการนำผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเมืองเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรือในคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อกำหนดนโยบายตามความต้องการของกลุ่มการเมือง เช่นเดียวกับที่เห็นในวิกฤติตอนปี 2540 ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ได้รายงานข้อเท็จจริงไว้ว่า “สาเหตุที่สำคัญของวิกฤติการณ์ครั้งนั้นเกิดจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนองความต้องการของฝ่ายการเมืองขณะนั้นอย่างเต็มที่”
ประธานและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีส่วนในการดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งหากทำเรื่องนี้ในลักษณะนโยบายประชานิยมที่ไม่คำนึงถึงผลระยะยาว เช่น การอนุญาตให้พักชำระหนี้ยาวนานเกินไปจนลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงินก็จะเกิดผลเสีย เพราะบางครั้งการแก้หนี้แบบไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดหนี้เสียในระบบการเงินเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อธนาคารและผู้ฝากเงินในที่สุด
การใช้ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในทางที่ผิดไม่ได้กระทบเพียงแค่เศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความเชื่อมั่นจากต่างชาติและการลงทุนระหว่างประเทศ การมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดและโปร่งใสจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ การบริหารเงินสำรองและนโยบายการเงินต้องถูกดำเนินการด้วยความโปร่งใสและยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาวเป็นสำคัญที่สุด