"...ความจริงที่เกิดจากความหมายแฝงนี้นอกจากมันไม่ได้มีหนึ่งเดียวแล้ว มันยังสำคัญและเป็นจริงกว่าความหมายตรงด้วย โบดิยาเรียกสิ่งที่มันเป็นจริงยิ่งกว่าตัวมันนี้ว่า Simulacrum..."
โบดิยา (Baudrillard) เป็นซ้ายใหม่อีกคนหนึ่งที่ไม่ได้เห็นด้วยกับคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ทีเดียว มาร์กซเห็นว่าโครงสร้างส่วนล่าง (base structure) เป็นรากฐานสำคัญทั้งหมดของโครงสร้างส่วนบน (super structure) มาร์กซเห็นว่าการครอบครองปัจจัยการผลิตและวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากใครครอบครองโครงสร้างส่วนล่างได้ก็จะครอบครองโครงสร้างส่วนบน คือ อำนาจรัฐและอำนาจวัฒนธรรมด้วย
โบดิยามองว่าอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไม่ได้มีเส้นแบ่งแยกกันชัดเจนอย่างนั้น!! แม้เขายังเห็นด้วยกับมาร์กซว่าอำนาจเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่เขาเห็นว่าตัวอำนาจเศรษฐกิจเองก็สามารถสร้างอำนาจที่เหนือกว่า คือ อำนาจวัฒนธรรมได้ด้วย
ขณะที่มาร์กซเห็นว่าอำนาจเศรษฐกิจอยู่ที่การผลิต (production) นั้น โบดิยาเห็นว่าอำนาจเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่การผลิต แต่อยู่ที่การบริโภค (consumption)
เมื่อมีการผลิตแล้ว การผลิตจำเป็นต้องสร้างการบริโภคตามมา เช่น ถ้าผลิตรถยนต์คันหนึ่งออกมาแล้วขายไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ระบบการผลิตหนึ่ง ๆ จึงต้องมีระบบการตลาดและการขายเพื่อกระตุ้นให้คนเกิดความต้องการบริโภค --ความเห็นของโบดิยาตรงนี้ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นเท่าใด
ส่วนสำคัญของความคิดของโบดิยาอยู่ที่เขาเห็นว่าความต้องการบริโภคดังกล่าวมิใช่เป็นความต้องการทางร่างกายที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกและนักจิตวิทยาชอบอธิบายว่าเมื่อได้รับการตอบสนองความต้องการแล้ว ความต้องการดังกล่าวจะลดน้อยถอยลง
โบดิยาเห็นตรงกันข้ามว่าความต้องการบริโภคเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ สังคมแต่ละชนชั้นเรียนรู้การบริโภคไม่เหมือนกัน เช่น ไฮโซย่อมเรียนรู้ระบบการบริโภคแตกต่างจากชาวนาหรือผู้ใช้แรงงาน
ข้อสำคัญระบบการบริโภคไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียว เช่น รถยนต์คันหนึ่ง ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การใช้สอยขับขี่เดินทาง (use value) แต่ยังเอาไปขายเป็นเงิน (exchange value) ต่อมายังเป็นการแลกเปลี่ยนทางสัญลักษณ์ระหว่างกัน (symbolic exchange) เช่น รถคันนี้สามี-ภรรยาช่วยกันดาวน์ ช่วยกันผ่อน --มันเป็นรถที่มีความหมายต่อเขาทั้งสองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นรถยนต์คันนี้ยังสามารถเป็นคุณค่าการแลกเปลี่ยนสัญญาณ (sign exchange value) หมายถึงเป็นสัญญาณที่ใช้แทนคุณค่าของสิ่งอื่น เช่น ความมั่งคั่ง ความหรูหราหรือเกียรติยศที่ได้ขับรถคันนี้และยี่ห้อนี้
การผลิตสินค้าทุก ๆ ชิ้นก่อให้เกิดระบบการบริโภค แต่ระบบการบริโภคไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา หน้าที่สำคัญของมันอยู่ที่การแลกเปลี่ยนทางสัญลักษณ์และคุณค่าการแลกเปลี่ยนสัญญาณแทนสิ่งอื่น เช่น เมื่อเราไปเดินห้าง เราได้รับสัญลักษณ์และคุณค่าการแลกเปลี่ยนสัญญาณว่ากำลังมากินบรรยากาศความหรูหรา เดินชมสินค้าที่มีสีสันที่ชอบ ไปจนถึงสัญลักษณ์ที่ทำให้เรามีความสุขและความพอใจ--แม้ว่าความจริงวันนั้น--เราจะซื้อปากกาไปเพียงด้ามเดียวก็ตาม!!
สินค้า สัญลักษณ์และสัญญาณ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการบริโภค สินค้าตัวใดมีอำนาจและคุณค่าทางสัญลักษณ์มากเท่าใด สินค้าตัวนั้นก็มีมูลค่าสูงเท่านั้น เช่น รถโรลส์รอย รถพอร์ซ รถเบนซ์มีสัญลักษณ์ของเกียรติยศและความหรูหรา จึงมีมูลค่าสูงกว่ารถยนต์กะบะ
ถ้าสินค้ามีเฉพาะอำนาจหน้าที่ใช้สอย สินค้าจากความหรูหราก็ขายไม่ได้ หน้าที่ของผู้ผลิตสินค้าจึงต้องการสร้างสัญลักษณ์และคุณค่าของการแลกเปลี่ยนสัญญาณ
โบดิยาเห็นว่าสัญลักษณ์เป็นอำนาจของความหมายแฝง (connotation substituted) แต่เข้ามาแทนความหมายตรง (connotation) เช่น ความหรูหราเข้ามาแทนประโยชน์ใช้สอยของรถยนต์ และมีความสำคัญกว่าความหมายตรง โดยที่มนุษย์ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ความจริงได้เลยว่าความหมายแฝงดีกว่าหรือด้อยกว่าความหมายตรงมากหรือน้อยเพียงใด
ถ้าหากมนุษย์สามารถพิสูจน์ได้ ความหมายแฝงก็หายไป เป็นผลให้ความสามารถสร้างสัญลักษณ์และส่งสัญญาณของสินค้าหายไปด้วย เมื่อนั้นระบบบริโภคของมนุษย์ในสังคมทุนนิยมก็ถึงกาลล่มสลาย
ความจริงในการบริโภคของมนุษย์จึงไม่ได้มีหนึ่งเดียวเหมือนความจริงของกฎหมายหรือวิทยาศาสตร์ มันขึ้นอยู่กับความหมายแฝงที่เกิดจากการสร้างสัญลักษณ์และการส่งสัญญาณของผู้ผลิต
ความจริงที่เกิดจากความหมายแฝงนี้นอกจากมันไม่ได้มีหนึ่งเดียวแล้ว มันยังสำคัญและเป็นจริงกว่าความหมายตรงด้วย โบดิยาเรียกสิ่งที่มันเป็นจริงยิ่งกว่าตัวมันนี้ว่า “Simulacrum”
ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่เราจึงเห็น “Simulacrum” เต็มไปหมด เช่น โลกไซเบอร์สเปคคนนั่งหน้าจอท่องเที่ยวทั่วโลกผ่านเว็บต่าง ๆ ได้เป็นวัน ๆ ไซเบอร์สเปคจึงเป็นอะไรที่สำคัญกว่าคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่พิมพ์เอกสาร หรือแอ็ปหาคู่ มีหนุ่มสาวใจดีติดต่อมาเป็นเพื่อน กระตุ้นให้เราฝันหวานจนอยากพบตัวจริง บางทีก็กลายเป็นสแกมเมอร์ --หรือเด็ก ๆ เล่นเกมอย่างสนุกสนาน อินกับตัวเอกหรือตัวโกงในเกม ราวกับว่าเกมที่เขาเล่นมีอยู่ในโลกของความเป็นจริง—มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่ขาดไม่ได้
ส่วนการเมืองไทยก็มี “Simulacrum” ไม่น้อย เพราะมีหลักง่าย ๆ ว่า ใครสร้าง “Simulacrum” ได้มากเท่าใด คนนั้นก็สร้างความจริงที่เป็นจริงยิ่งกว่าตัวมัน เขายิ่งครอบครองความจริงได้มากเท่านั้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทักษิณไปช่วยหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี--
เริ่มปราศรัย ทักษิณถามคนฟังว่ารวยขึ้นแล้วยัง? ยังจนอยู่ใช่ไหม?..ยิ่งแย่กว่าเก่าเหรอ??..ผมกลับมาแล้วนะ ผมคิดฮอดคนฟังหลายเด้อ --คิดอยู่ตลอดว่าทำยังไงให้ท่านหายจน..ปลายปีจะมีนโยบายลดหนี้ออกมาให้อีกแล้ว เงินหมื่นที่เพิ่งแจกไปนั้นเป็นแค่ก้นถุง—ยังมีอีกเยอะ!!!
นักข่าวถามว่า “แล้วชั้นสิบสี่” เป็นอย่างไร?? --อ๋อ ชั้นสิบสี่ สิบห้า สิบหก สิบเจ็ด—
นักข่าวถามว่า “แล้วนัดกันที่บ้านจันทร์กระพ้อ!!” --“อ๋อ ไม่มีอะไร กินมาม่า มาม่าอร่อยดี”!!
นักข่าวถามว่า “แล้วที่เขาร้องเรียน” –“อ๋อ ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเขาเจตนาร้องเรียนไปทำไม”??
นักข่าวถามว่า “แล้วที่ไปตกลงกับกัมพูชา”-- อ๋อ คนวิจารณ์พูดไปเรื่อย ไม่รู้เลยว่า MOU คืออะไร? ยังกล้าวิจารณ์”
คำตอบที่ทักษิณให้แก่นักข่าวย่อมไม่ใช่การให้ข้อเท็จจริงและไม่ใช่การกลบเกลื่อนอย่างที่ คนเข้าใจ แต่ที่จริงทักษิณต้องการเสนอ “Simulacrum”
ข้อเท็จจริงทั้งหลายที่ผู้คนทั้งประเทศจับตาดูอย่างใจจดใจจ่อ เช่น ตกลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องที่มีผู้ร้องให้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยเลิกการกระทำหรือไม่? ตกลงป.ป.ช.ไต่สวนถึงไหนแล้ว? โรงพยาบาลไม่ให้เวชระเบียน ป.ป.ช. ก็ได้หรือ? ก.ก.ต.จะเสนอสำนวนคำร้องครอบงำพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่? หากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีผลให้ต้องกลับไปรับโทษใหม่หรือไม่? หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีที่ทักษิณไม่ติดคุกจริงสักวันเดียวตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
“Simulacrum” ที่ส่งสัญญาณออกมานั้นที่จริงไม่ได้มีความหมายอย่างอื่นเลย-- นอกจาก “เคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องห่วง”!!!
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ