"...ผลการเจรจาในอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ไม่ทราบ แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าถ้าจะตกลงกันได้ก็ต้องไม่เป็นไปตามเส้นเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2516 ของไทยแน่นอน และไม่เป็นไปตามเส้นไหล่ทวีป พ.ศ. 2515 ของกัมพูชาแน่นอนเช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกฝ่ายมาเป็นพิกัดกำหนดรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ไว้ตายตัวตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) และแบ่งผลประโยชน์กันไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่เป็นไปได้สูงสุดคือการตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไว้ระหว่างเส้น 2515 กับเส้น 2516 ณ จุดใดจุดหนึ่ง..."
คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ
เอาเลยครับ เป็นหน้าที่และอำนาจรวมทั้งความรับผิดชอบของท่าน
ผมขอตั้งประเด็นบ้างว่าถ้าไม่เลิก MOU 2544 เดินหน้าต่อไปตามกรอบเดิมเป๊ะ ๆ ไม่ปรับ ไม่แก้ สมมติถ้าเจรจาสำเร็จ เราจะ “ได้” และจะ “เสีย” อะไร
ย้ำว่าเป็นเรื่อง “ถ้า..” หรือ “สมมติ..” ว่าการเจรจาเดินหน้าต่อไปตามกรอบ MOU 2544 จนสำเร็จถึงขั้นสามารถมีข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชา…
ขอฟันธงว่า….
ได้สอง-เสียสาม !
“ได้หนึ่ง” - ได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
ข้อนี้ได้แน่ ๆ สมใจวัตถุประสงค์หลักของ MOU 2554 ข้อ 2 (ก) คือได้จากส่วนแบ่งในการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ผืนดินใต้ทะเลเขตไหล่ทวีปอ้างสิทธิทับซ้อนในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมไทยกัมพูชา (JDA) จำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ หรือเขตสีเหลืองในภาพประกอบ
ส่วนจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวเงินจริง ๆ เท่าไร ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และมูลค่าสัมปทานในการผลิตปิโตรเลียมที่จะเกิดขึ้นจริง
เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอน !
และนอกจากส่วนแบ่งโดยตรงแล้ว ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนึ้ที่จะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน บวกกับภาระของประชาชนในค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะลดลงระดับหนึ่ง อาจตีค่าเป็นเม็ดเงินได้อีกมากเช่นกัน
ได้ผลประโยชน์มหาศาล - พอพูดได้
“ได้สอง” - ได้ความสบายใจเต็มร้อยในเรื่องเกาะกูด
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ขัอ 2 (ข) หรือพื้นที่สีส้มในภาพประกอบ ที่กำหนดให้ต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่กัมพูชาจะต้องเสียเขตแดนทางทะเลทันทีจากเขตไหล่ทวีปที่ประกาศกฤษฎีกากำหนดไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ไม่มากก็น้อย แนว A-S-P ด้านบนที่แสดงไว้ในภาพประกอบจะเปลี่ยนไป แม้แต่เส้นเว้าอ้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U ตามผังท้าย MOU 2544 ก็จะเปลี่ยนไป โดยความเป็นได้มากที่สุดคือขยับเส้นเขตไหล่ทวีปด้านบนส่วนกลางตรงจุด S (ยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูด) และส่วนปลายทางทิศตะวันตก ณ จุด P ลงมาทางใต้พอสมควร เกาะกูดจะไม่ถูกรบกวนรุกล้ำโดยเส้นใด และยังจะมีทะเลอาณาเขตเหลืออยู่แน่
จะไม่เหลือประเด็นให้พูดถึงเกาะกูดอีกต่อไปแน่นอน
หากจะมองว่าเป็นการได้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญยิ่งที่ประเทศเราต้องการมา 52 ปี - ก็พอพูดได้
แต่อย่าลืมว่าประเด็นนี้จบไปตั้งแต่เมื่อ 127 ปีที่แล้ว เมื่อเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 ชนิดไม่มีทางบิดเบือนเป็นอื่น ทะเลอาณาเขตของเกาะกูดก็ต้องเป็นของไทยด้วยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาอารยะประเทศยึดถือ ไม่ว่ากฎเกณฑ์ใน ค.ศ. 1907 ขณะทำสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ขณะกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป หรือที่ชัดเจนที่สุดคืออนุสัญญาสหประขาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ UNCLOS 1982 ที่ใช้ในปัจจุบัน หลังจากกัมพูชารุกล้ำด้วยการประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อพ.ศ. 2515 ประเทศไทยก็ได้ดำเนินการตอบโต้และยืนยันสิทธิอย่างแข็งขันมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ตั้งประภาคาร 6 แห่งบนเกาะกูด ส่งกำลังทหารเข้ารักษาการณ์ ไม่มีเหตุใด ๆ ให้ต้องกังวลจนต้องไปยอมสร้างนวัตกรรมกรอบการเจรจาพิสดารที่ส่งผลข้างเคียงใหม่ขึ้นมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการ “ลดระดับ” การยืนยันสิทธิของตนลงมาในระดับที่มีนัยสำคัญ
เอาละ แต่จะบอกว่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ปลอดภัยล้านเปอร์เซนต์ จะได้ไม่ต้องมีประเด็นเรื่องนี้ให้หยิบยกมากล่าวอ้างกันอีก ก็ไม่ว่ากัน
แต่อยากจะบอกว่าเป็นการได้แค่ความสบายใจในสิ่งที่แท้จริงแล้วเป็นของเรามาแต่ต้น
คำถามที่ต้องถามคือ “ราคาที่ต้องจ่าย” นั้น “คุ้ม“ กันหรือไม่ ?
หรือพูดง่ายว่า “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ ?
ก็ต้องพิจารณาข้อเสียที่ผมเห็นว่าจะตามมาอีก 3 ประการ แล้วช่วยกันคิดช่วยกันตอบ
“เสียหนึ่ง” - เสียผลประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียม
จากเหตุเดียวกับ “ได้หนึ่ง“ ข้างต้นละครับ แต่เป็น “อีกด้านหนึ่งของเหรียญ” คือส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เราอาจจะได้หลายล้านล้านบาทนั้นเกิดบนฐานของรูปพรรณสัณฐานเขตพัฒนาร่วม (JDA) ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว โดยมีเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาและไทยเป็นพิกัดกำหนดทางทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก หรือด้านซ้ายกับด้านขวาในแผนผังท้าย MOU 2544 ตามที่แสดงไว้เป็นพื้นที่สีเหลืองในภาพประกอบ แต่หากเราไม่ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา พ.ศ. 2515 ขอให้เพื่อนเรากลับไปกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ตรงตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดอธิปไตยไทยตลอดแนวตั้งแต่ส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ (ในภาพคือแนว A-S-P) ส่วนกลางและล่างจจากจุด P ลงมา จนสุดทิศใต้แล้ววกกลับทางตะวันออกไปยังชายฝั่งกัมพูชา จึงค่อยมาพิจารณาเจรจาแบ่งประโยชน์ในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่ยังเหลืออยู่ เราอาจจะได้ส่วนแบ่งมากกว่านี้ หรืออาจเป็นของเราเกือบหมด
ส่วนที่เสียไปนี้จะคิดเป็นเงินเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่ของกัมพูชา และจำนวนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่จะยังคงมีอยู่จำนวนหนึ่ง
แต่ก็เป็นหลักล้านล้านบาทแน่นอนเช่นกัน !
เสียส่วนนี้คือเสียทันที
“เสียสอง” - เสียเขตแดนทางทะเลทันที
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลบนพื้นที่อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อน 10,000 ตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือตาม MOU 2544 ขัอ 2 (ข) ที่จะต้องกระทำพร้อมกันไปชนิดแบ่งแยกจากกันไม่ได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตามข้อ 2 (ก) ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็ไม่พ้นที่ไทยจะเสียเขตแดนทางทะเลทันที ไม่มากก็น้อย
โอกาสที่จะไม่เสียมีอยู่หนทางเดียว คือกัมพูชายอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2516
ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
ตามกรอบ MOU 2544 โอกาสที่จะเป็นไปได้สูงสุดคือทั้งไทยและกัมพูชาตกลงเส้นเขตไหล่ทวีปกันใหม่เฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยเส้นที่ตกลงกันใหม่นั้นต้องไม่ลากผ่ากลางเกาะกูด ไม่ว่าจะลากผ่าน ลากเว้น หรือลากเว้าเป็นตัว U ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจุดไหนตำแหน่งใด ไทยก็จะเสียเขตแดนทางทะเลผิดไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศพระบรมราขโองการ พ.ศ. 2516 ทั้งนั้น
จะเสียเขตแดนทางทะเลครั้งนี้ไปเท่าไร กี่ตารางกิโลเมตร ไม่ทราบ เทียบและชั่งน้ำหนักกับการได้ส่วนแบ่งมหาศาลจากการได้ใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมแล้ว คุ้มกันหรือไม่ ได้คุ้มเสียหรือไม่ พึงพิจารณาด้วยข้อมูลและสติปัญญา
ประเด็นนี้เราสูญเสียทันที
ทันทีที่ตกลงเสร็จ ผ่านรัฐสภา และลงนามในหนังสือสัญญา
รัฐบาลไหนทำสำเร็จ สมาชิกรัฐสภาคนไหนลงมติเห็นชอบ เจ้าหน้าที่รัฐคนไหนบ้างมีส่วนร่วมในกระบวนการ จะได้รับเกียรติบันทึกชื่อเสียงเรียงนามไว้ในประวัติศาสตร์จดจำกันไปชั่วลูกชั่วหลานแน่นอน
ฐานเป็นผู้ตัดสินใจทำให้ประเทศไทยต้องเสียเขตแดนทางทะเล !
เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้อ่าวไทย !!
มีข้อสังเกตสำคัญชวนคิดแทรกตรงนี้ว่า หัวข้อ “ได้สอง” กับ “เสียสอง” คือการที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องตกลงยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่เฉพาะพื้นที่ส่วนเหนือละติจูด 11 องศาเหนือแทนที่เส้นเขตไหล่ทวีปเดิมที่ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2515 และ 2516 ของแต่ละประเทศนี่แหละคืออุปสรรคสำคัญที่สุดเบื้องต้นที่จะทำให้การเจรจาตามกรอบ MOU 2544 จบยาก หรือจบไม่ได้เลย
เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีแค่รัฐบาล แต่มีทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน มีทั้งประขาขน
รวมทั้งมีการเลือกตั้งด้วย !
รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาอาจเห็นด้วยเหตุด้วยผลด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจว่าการได้ใช้ปิโตรเลียมในเวลาที่เหมาะสมนั้นคุ้มค่ามหาศาลกับการแลกเปลี่ยนใด ๆ แต่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศอาจจะคิดต่างออกไปเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ต้องแลกออกไปนั้นคือ “เขตแดนทางทะเลเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ” พื้นที่จะต้องลดหดหายไปจากเส้นเขตไหล่ทวีปที่ประกาศไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 ในกรณีของกัมพูชา และ พ.ศ. 2516 ในกรณีของไทย
กัมพูชา “เปิดเกม” นี้ออกมาเองเมื่อ พ.ศ. 2515 จนประชาชนกัมพูชาจำนวนมากก็เชื่อไปแล้วว่าเกาะกูดอาจเป็นของเขาไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อปี พ.ศ. 2538 เคยมีข่าวลงในนสพ.กัมพูชาจนกระทรวงต่างประเทศของไทยต้องเชิญทูตกัมพูชามาพบ ทุกวันนี้ลองดูในโซเชี่ยลมีเดียของกัมพูชา หรือมุมมองของพรรคฝ่ายค้าน จะพบว่าไม่ง่ายนักต่อการตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชา เพราะการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 จะสำเร็จได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมก็ต่อเมื่อต้องเสียเขตแดนทางทะเลส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือ โดยยอมเบนเส้นขอบไหล่ทวีปด้านบนลงมาให้ห่างพ้นจากเกาะกูด
ที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) กำหนดเขตแดนของประเทศไว้ชัดเจน ห้ามเปลี่ยนแปลง ข้อตกลงหรือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไม่สามารถกระทำได้
ประเด็นนี้ ตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชาได้กล่าวไว้ชัดเจนในพิธีเปิดการเจรจากับฝ่ายไทยครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 ยุคนายสุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว โดยใช้คำว่าเขตแดนกัมพูชาเป็นเรื่อง Non negotiable !
แล้วกัมพูชาจะมาเจรจาตามกรอบ MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ได้อย่างไร
นี่อาจจะเป็น “ทางตัน” ที่แท้จริง !
เอาละ จบข้อสังเกตสำคัญกันไว้แค่นี้ก่อน กลับไปสู่เรื่องที่ตั้งใจพูดต่อนะ
“เสียสาม” - (อาจ)เสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต
พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตรใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ แม้ MOU 2544 ข้อ 2 (ก) จะกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งปันผลประโยชน์ ไม่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล แต่มีโอกาสที่จะต้องเจรจาในอนาคต
ไม่ว่าจะอีกกี่สิบกี่ร้อยปี
เพราะ MOU 2544 เป็นกรอบสำหรับตกลงแบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตใต้พื้นทะเลไหล่ทวีปที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงในอ่าวไทยยังมีทรัพยากรอื่น ๆ อีกมากในน้ำทะเล อาทิ ปลา สัตว์น้ำต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิในการเดินเรือ การที่พื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 16,000 ตารางกิโลเมตรยังไม่ได้แบ่งเขตแดนทางทะเลกันชัดเจน อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือข้อพิพาทในอนาคตได้
ผลการเจรจาในอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ไม่ทราบ แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าถ้าจะตกลงกันได้ก็ต้องไม่เป็นไปตามเส้นเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2516 ของไทยแน่นอน และไม่เป็นไปตามเส้นไหล่ทวีป พ.ศ. 2515 ของกัมพูชาแน่นอนเช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกฝ่ายมาเป็นพิกัดกำหนดรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ไว้ตายตัวตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) และแบ่งผลประโยชน์กันไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่เป็นไปได้สูงสุดคือการตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปไว้ระหว่างเส้น 2515 กับเส้น 2516 ณ จุดใดจุดหนึ่ง
จะเป็นจุดใด ก็ขึ้นอยู่กับเส้นเขตไหล่ทวีปใหม่เหนือเส้นละติดจูด 11 องศาเหนือที่สองประเทศตกลงกันไปก่อนแล้วตามเงื่อนไข MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะจุดไหน ที่ใด ประเทศไทยก็เสียเขตแดนทางทะเลใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ผิดไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศพระบรมราขโองการ พ.ศ. 2516 ทั้งนั้น
ลูกหลานเหลนในอนาคตคงจะได้ศึกษาชื่อเสียงเนียงนามและวิธีคิดของบรรพบุรุษของเขาที่มีส่วนร่วมตัดสินใจตามกรอบ MOU 2544 แน่
จะสรรเสริญหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือคำตอบต่อคำถามที่ว่าหากเราเดินหน้าเจรจาต่อตาม MOU 2544 จนสำเร็จลุล่วงแล้ว เราจะได้อะไร เราจะเสียอะไร ?
ส่วนจะได้คุ้มเสียหรือได้ไม่คุ้มเสีย เชิญพิจารณากัน !
ที่มา : Kamnoon Sidhisamarn