"...คุณนเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุลำพูน เล่าให้ฟังว่าเรื่องโคม มีกันหลายชาติ ทีแรกตั้งใจว่าจะเชิญชาติอื่นจะร่วมงานเทศกาลโคมแสนดวงด้วย แต่ไม่ทันปีนี้ ทำได้แค่บอกเล่าเรื่องโคมของญี่ปุ่นไว้ระดับหนึ่ง ผมแอบนึกในใจยามอยู่ใต้แสงสีของโคมลำพูนยามค่ำคืนว่าทำให้ดีๆ ลำพูนเป็นมหานครโคมโดยแท้ และอาจเป็นนครหลวงของโคมโลกก็ได้..."
หลายวันก่อนไปแอ่วหละปูนมา
ไปเยือนเมืองเล็กๆ ที่น่ารัก และตามไปดูกิจกรรมตามย่านวัฒนธรรมชุมชนต่างๆ ในโครงการบริหารจัดการสื่อวัฒนธรรมชุมชน "12 พื้นที่วิจัย 44 ย่านวัฒนธรรมชุมชน" ภายใต้โครงการวิจัย "การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยั่งยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน" ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งภรรยาผมเป็นนักวิจัยอยู่ในโครงการนี้ด้วยคนหนึ่ง
จึงมีเรื่องดีๆ มาบอกต่อ
ตั้งแต่เด็กจนสูงวัยไปเหนือทีไรจุดหมายปลายทางก็เชียงใหม่เป็นหลัก ช่วงหลังขยับขึ้นไปเชียงราย ไม่เคยนอนค้างคืนที่ลำพูนเลย ส่วนใหญ่จะลงมาไหว้พระที่วัดพระธาตุหริภุญไชยแวบๆ
คราวนี้ไปนอนลำพูนโดยตรง 3 คืน เช่ารถขับในเมืองเพื่อความสะดวก สลับกับนั่งสามล้อถีบ
เหมือนชีวิตหลุดเข้าไปอีกภพ
โรงแรมราคาย่อมเยาว์มากเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ สะดวกสบาย แม้อยู่ริมถนนสายหลักที่จะขึ้นไปเชียงใหม่แต่ก็ใกล้กลางเมืองมาก เวลาเดินทางไปย่านวัฒนธรรมไหนๆ ให้กูเกิ้ลแมปนำทาง เวลาที่ขึ้นมาก็แค่ 2 นาที 3 นาที 5 นาที บางทีขึ้นมา 10 นาที เรายังพูดเล่นๆ กันเลยว่าโอ้โหไกลจัง
บ่ายวันหนึ่งเปลี่ยนบรรยากาศไปเยือน “ร้านหนังสือเล็กๆ” ของคุณจี๋ - บุษกร พิชยาทิตย์ ที่เชียงใหม่ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ช่วงเวลาที่อยู่ลำพูน สว่างไสวสบายตามาก ทั้งเมืองมีแต่โคม กลางถนน หน้าบ้าน ในร้านอาหาร ในวัดแทบทุกวัด โดยเฉพาะวัดพระธาตุหริภุญชัย เพราะอยู่ในช่วงเทศกาลโคมแสนดวง
โคมลำพูนเป็นโคมแขวน
โคมลำพูนได้รับการรังสรรค์มาเพื่อบูชาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุหริภุญชัย สมัยก่อนมีโคมโลหะ ต่อมามีการพัฒนาเป็นโคมแขวน นักจดหมายเหตุลำพูนได้รวบรวมภาพเก่ามาแสดงไว้รวมกับโคมล้านนาในอดีตด้วย สามารถชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ที่สุดก็พัฒนามาสู่เทศกาลโคมแสนดวง ซึ่งยังจะคงมีอยู่จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
คุณนเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุลำพูน เล่าให้ฟังว่าเรื่องโคม มีกันหลายชาติ ทีแรกตั้งใจว่าจะเชิญชาติอื่นจะร่วมงานเทศกาลโคมแสนดวงด้วย แต่ไม่ทันปีนี้ ทำได้แค่บอกเล่าเรื่องโคมของญี่ปุ่นไว้ระดับหนึ่ง ผมแอบนึกในใจยามอยู่ใต้แสงสีของโคมลำพูนยามค่ำคืนว่าทำให้ดีๆ ลำพูนเป็นมหานครโคมโดยแท้ และอาจเป็นนครหลวงของโคมโลกก็ได้
คิดถึงอาจารย์ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ นวัตกรชุมชนแห่งจังหวัดบึงกาฬ ใช้คำเปรียบเปรยบรรดาของดีชุมชมทั้งหลายให้ได้เห็นภาพมากว่า “จาก Local สู่เลอค่า”
เทศกาลโคมแสนดวงประจำปี 2567 มีมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีนี้มีจุดเด่นที่เส้นทางแขวนโคมกลางถนนที่ยาวที่สุดในโลกเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร นี่ถ้าไม่ติดที่ถนนกลางเมืองมีช่วงโค้งมาก อาจได้ระยะทางยาวกว่านี้ ที่เก๋ไปกว่านั้นและเป็นอีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของงานเทศกาลโคมแสนดวงลำพูน ก็คือกลุ่มผู้สูงอายุที่รวมตัวกันผลิตโคมส่งให้กับเทศบาลเมืองลำพูน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ของทางเทศบาลร่วมกับโครงการวิจัยที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ คนว่างงาน ได้มีอาชีพผลิตโคม โดยทางเทศบาลจะมีการประกันราคา และรับซื้อโคมทั้งหมดเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับผู้ที่เข้ามาสักการะบูชาพระธาตุที่วัดพระธาตุหริภุญชัย และพระนางจามเทวีที่อนุสาวรีย์กลางเมือง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ยังทันนะครับที่จะขึ้นไปแอ่วหละปูน
วันที่ 12 - 13 - 14 จนถึง 15 พฤศจิกายน 2567 จะเป็นไฮไลท์ของงานเลยละ มีขบวนแห่โคมแสนดวงหลายจุด ไปจบที่การถวายโคม ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย และสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
วันลอยกระทงที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จะมีการจัดเทศน์มหาชาติที่วัดพระธาตุหริภุญชัย
เล่าไม่หวาดไม่ไหว เพราะมีการจัดกิจกรรมหลายจุดทั่วเมือง
แต่เหนือกว่างานเหนือกว่ากิจกรรมใดๆ คือการที่ชีวิตเราจะได้เสมือนหลุดเข้าไปอีกภพ ได้เยียวยาจิตใจจากชีวิตคนเมืองกลับไปสู่ชีวิตชุมชน ช้า สงบ เรียบง่าย สบายๆ เสมือนได้มีเวลาในแต่ละวันมากขึ้น
ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ
คำนูณ สิทธิสมาน
9 พฤศจิกายน 2567