"...ป.ป.ช. ระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนการเรียกรับสินบนทั่วประเทศ ช่วงปี 2564 – 2566 จำนวน 396 เรื่อง เฉลี่ยปีละ 132 เรื่องหรือเดือนละ 11 เรื่องเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นเพียง 0.01% ของการเรียกรับสินบนที่มีอยู่จริง เพราะแค่ที่เทศบาลหรือด่านลอยของตำรวจแค่จุดเดียววันเดียวก็คงมากกว่านี้แล้ว..."
ถามกันมากว่าทุกวันนี้มีคดีเจ้าหน้าที่รัฐรีดไถเรียกรับสินบนมากแค่ไหน พวกไหนโกงมากที่สุด ทำไมคนถูกข่มเหงส่วนใหญ่จึงไม่ไปร้องเรียน แล้วทำไมเราถึงปราบให้หมดไปไม่ได้
ป.ป.ช. ระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนการเรียกรับสินบนทั่วประเทศ ช่วงปี 2564 – 2566 จำนวน 396 เรื่อง เฉลี่ยปีละ 132 เรื่องหรือเดือนละ 11 เรื่องเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นเพียง 0.01% ของการเรียกรับสินบนที่มีอยู่จริง เพราะแค่ที่เทศบาลหรือด่านลอยของตำรวจแค่จุดเดียววันเดียวก็คงมากกว่านี้แล้ว
รายงานของ ป.ป.ช. ยังระบุอีกว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (7,850 แห่ง) กระทรวงมหาดไทย (อำเภอ จังหวัด กรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัด) และ ตำรวจ
หลากหลายคำเรียก “สินบน” สะท้อนความคิดของผู้คน
“คนทั่วไป” เรียก สินบน ส่วย เงินใต้โต๊ะ เงินทอน เก๋าเจี๊ยะ (เงินให้หมากิน) แปะเจี๊ยะ ค่ามองไม่เห็น
“คนโกง” เรียก ค่าอำนวยความสะดวก ค่าเร่งเวลา ค่าดำเนินการ ค่ารับรอง เจ้าหน้าที่ชอบใช้คำพูดเหล่านี้เพราะฟังเหมือนไม่ผิดกฎหมาย พวกเขารู้สึกผิดน้อยลง ลดบาปในใจ บางครั้งกลับภูมิใจการใช้อำนาจผิดๆ และเงินบาปที่ได้ เมื่อพูดว่า “ช่วยเหลือกัน”
“คำเรียกของคนไทยใจดี” เรียก สินน้ำใจ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม เงินทิป คำเรียกเฉไฉผิดกาลเทศะเช่นนี้ทำให้สังคมสับสนว่า อะไรเป็นเรื่องถูกต้อง ควรให้หรือไม่ควรให้กันแน่
ทำไมคนถูกรีดไถ เรียกสินบนไม่ไปร้องเรียน?
น่าแปลกที่ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยอมจ่ายสินบนโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่โต้แย้ง มีหลายกรณีที่ผู้จ่ายไม่รู้ตัวว่าเงินก้อนนั้นเป็นสินบน ขณะที่คนมีตำแหน่งใหญ่โตอย่างรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ต่างรู้ปัญหาดีแต่อ้างว่าเป็นเรื่องเก่า มีมานานแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ปัญหาจึงบานปลายไปเรื่อยๆ
แต่ที่แปลกกว่าคือ ทำไมคนที่ควักกระเป๋าจ่ายสินบนไม่ไปร้องเรียน? ให้จัดการคนโกง
1. คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ระบบราชการก็เป็นแบบนี้ เสียงของชาวบ้านมันไม่มีค่า ไม่มีคนสนใจ ร้องไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เดี๋ยวเรื่องก็เงียบ
2. ไม่รู้จะร้องเรียนที่ไหน ยุ่งยาก เป็นภาระ ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล
3. ไม่รู้จะหาหลักฐานอะไรไปยืนยันต่อหน่วยงานรับร้องเรียน
4. กลัวเดือดร้อน จ่ายให้จบๆ กันไป ใครๆ ก็จ่าย
5. บางกรณีเป็นเรื่องสมประโยชน์กัน จ่ายเพื่อให้ตนพ้นผิดหรือแลกกับประโยชน์บางอย่างตอบแทน ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ถ้า “ไม่มี” คอร์รัปชันแล้วพวกเขาจะอยู่ยากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้เงินซื้อความผิด ซื้อความได้เปรียบให้ตนร่ำรวยมากขึ้น ใช้เงินปูทางเป็นอภิสิทธิ์ชน คนเหล่านี้สุขสบายบนความทุกข์ของผู้อื่นมากเกินไปแล้ว
คนโกงไม่กลัวโดนเล่นงานจริงหรือ?
แน่นอนว่าเขากลัวติดคุก กลัวโดนยึดทรัพย์ ครอบครัวอับอาย แต่ยังไม่มากพอที่จะโกงต่อไป เหตุคือ
1. ทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ เพราะคนไม่กล้าร้องเรียน แม้โชคร้ายถูกจับได้หัวหน้าหรือคนในหน่วยงานก็จะช่วยเหลือกัน เพราะ “ต้องปกป้องระบบ” ปกป้องศักดิ์ศรีองค์กร สุดท้ายจึงมักโดนแค่โทษทางวินัยเล็กน้อย โดนข้อหาเบาหรือศาลสั่งให้รอลงอาญา
2. พฤติกรรมคดโกงมีมานานแล้ว ผู้ใหญ่ก็ทำ คนรุ่นเก่าโกง รุ่นน้องก็เรียนรู้วิธีโกงที่คนจับผิดยาก
3. การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ กติกาของกฎหมาย (Rule of Law) ถูกละเลย
4. ระบบราชการไม่โปร่งใส เล่นพรรเล่นพวก ระบบตรวจสอบอ่อนแอ ขาดมาตรการปกป้องผู้ร้องเรียน
5. สภาพแวดล้อมเป็นพิษ
5.1 กฎระเบียบซับซ้อนยุ่งยาก เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจได้ง่ายๆ ไร้การตรวจสอบ ดังนั้นหน่วยราชการไหนมีอำนาจมากก็มีโอกาสให้โกงมาก
5.2 เจ้าหน้าที่รัฐรายได้ไม่พอใช้จ่าย อยากร่ำรวย ต้องหาเงินส่งนายหรือสะสมไว้วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง
5.3 เอกชนที่จ่ายสินบนมีทั้งประเภทที่หยิบยื่นให้เอง จำยอมเมื่อถูกเรียก และจำใจเพราะถูกกลั่นแกล้ง
ข้อเสนอแนะ
เมื่อพูดเรื่องสินบน คนจ่ายมักอ้างว่า จะให้เลิกจ่ายก็ไปจับพวกเรียกรับสินบนให้หมด เขาไม่อยากเสียเงินอยู่แล้ว ครั้นถามคนรับสินบนก็แก้ต่างว่า ถ้าไม่มีคนเสนอสินบนให้ คอร์รัปชันย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน สรุปคือต่างชี้นิ้วตำหนิอีกฝ่ายหนึ่ง
หลายประเทศเลือกใช้วิธี Plea Bargaining คือ คนที่จ่ายสินบนจะด้วยเหตุผลใดก็ตามหากมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ ป.ป.ช. อย่างทันท่วงที ก็อาจได้รับการพิจารณาผ่อนหนักเป็นเบาตามเหมาะสม เช่น ลดจำนวนข้อหา กันเป็นพยาน มีโทษปรับรุนแรงมากแต่ไม่มีโทษทางอาญา อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเลย เป็นต้น
แน่นอนว่าเราต้องเอาคนผิดมาลงโทษทั้งทางอาญา วินัยและปกครอง แต่นั่นไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ ทางที่ดีต้องติดอาวุธประชาชนในการลงโทษคนโกง เพิ่มโซเชียลแซงชั่นหรือพลังตอบโต้ทางสังคม เช่นประชาชนร่วมมือกันไม่คบค้า ไม่ยกย่องเชิดชู ไม่อุดหนุนสินค้า ไม่ใช้บริการของธุรกิจของคนโกง สนับสนุนให้ประชาชนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) กับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ง่าย ประหยัด ปลอดภัย
วิธีที่ได้ผลยั่งยืนคือ สนับสนุนภาคเอกชนให้ร่วมมือกันฮั้วไม่จ่ายสินบน ยกย่องคนทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ตรงไปตรงมา ทุกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมร่วมมือกันสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดี (Governance) เช่น เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เป็นต้น
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)