"...2. อาจเข้าข่ายว่าตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544 ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยายซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ. 1972 ด้านทิศเหนือ ซึ่งประกาศโดยกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ทั้ง ๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้นไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะ “กฎหมายปิดปาก” หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต..."
ข้อเสียของ MOU 2544
1. ไทยไม่มีประเด็นใด ๆ จะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิเหนือเกาะกูด (อย่างน้อยก็ในส่วน “ตัวเกาะ”) เพราะเกาะกูดเป็นของไทยมา 127 ปีแล้วโดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 คนไทยทุกฟากความคิดเห็นตรงกันในข้อนี้ รัฐบาลกัมพูชาเองก็เริ่มยอมรับ จึงปรากฎเส้นเว้ารอบตัวเกาะด้านทิศใต้เป็นรูปตัว U ในแผนผังประกอบ MOU 2544
2. อาจเข้าข่ายว่าตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544 ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยายซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ. 1972 ด้านทิศเหนือ ซึ่งประกกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 ทั้ง ๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้นไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะ “กฎหมายปิดปาก” หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต
หากมีวันนั้นในอนาคต อาจซ้ำรอยคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร (ภาคแรก) พ.ศ. 2505 ในอดีต
- การได้รับแผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก เมื่อปีค.ศ. 1908 แล้วไม่ทักท้วงทันที หรือในหลายปีต่อมา
- สมเด็จกระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทพระวิหารเมื่อพ.ศ. 2472 พบเห็นการชักธงชาติฝรั่งเศส แล้วไม่ทักท้วง
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการตกลง รวมทั้งพฤติกรรมพฤติกรรมการแสดงออก ของคู่กรณี มากเป็นพิเศษ
ในบางกรณีให้ความสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำตามสนธิสัญญาเสียอีก
หมายเหตุ ข้อหักล้างข้อเสียกรณีที่ 2 นี้คือประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุการรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้ว (การเข้าแก้ต่างในคดีปราสาทพระวิหาร ภาค 2 เมื่อปี 2556 เป็นการตีความคำพิพาดคดีเดิมเมื่อปี 2505) และรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสินได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 แจ้งให้ทุกหน่วยงานในทุกกระทรวงทบวงกรมทราบว่าประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกกรณี หากมีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่มีบทเกี่ยวกับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้จัดทำ “ข้อสงวนไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ“ ไว้ในทุกกรณี ให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เรื่องนี้ผมได้ยื่นกระทู้ถามสดในวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นมาตอบยืนยัน ถือเป็นการบันทึกไว้ในวุฒิสภาแล้ว
3. สารัตถะใน MOU 2544 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนของข้อตกลง คือ ส่วนบนเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และส่วนล่างเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
ส่วนบนเส้น 11 - กัมพูชาที่เสียเปรียบในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ข้อ 121 และข้ออื่น ๆ ชนิดแทบจะไม่มีประตูสู้ได้เลย เหลืออยู่ประตูเล็ก ๆ ประตูเดียวที่จะอ่างว่ากัมพูชายังไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982 กลับสามารถหยิบยกเป็นประเด็นมาต่อรองกับการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ส่วนล่างได้ โดยเป็นฝ่ายไทยเสียเองที่ยอมสละข้อได้เปรียบของประเทศตัวเอง
ส่วนล่างเส้น 11 - การกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน ทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS 1982 ที่ไทยได้เปรียบ แล้วไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตกโดยไม่หือไม่อือ
เท่ากับประเทไทยทิ้งความได้เปรียบในการเจรจาทั้งส่วนบนเส้น 11 และส่วนล่างเส้น 11 ไป
4. การยอมรับพื้นที่ส่วนล่างเส้น 11 เป็นพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด โดยนำเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ. 1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตก ทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่ไม่สมควรจะได้รับ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่สมควรจะได้รับ
5. ทำให้การเจรจาจำกัดกรอบไว้ภายใต้รูปแบบเดียว ถ้าถึงทางตัน ก็ไปต่อไม่ได้
6. หากยึดสารัตถะรูปแบบการเจรจาตาม MOU ก็เท่ากับเป็นการเจรจานอกกรอบ UNCLOS 1982 ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก 1 ใน 160 ประเทศ
ข้อดีของ MOU 2544
1. ทำให้มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน
หมายเหตุ ข้อดีที่ 1 มีข้อหักล้างที่ว่าหากกรอบการเจรจานั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ จะนับเป็นข้อดีได้หรือ
2. ลักษณะ ”ล็อกตัวเอง“ ของ MOU 2544 ที่กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนบนเส้น 11 เจรจาแบ่งเขตแดน และส่วนล่างเส้น 11 เจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม ไป “พร้อมกัน“ และ ”ไม่อาจแบ่งแยกได้” ทำให้การเจรจาไม่มีทางสำเร็จได้ง่าย ๆ
“พร้อมกัน” - to simultaneously
“ไม่อาจแบ่งแยกได้” - as an indivisible package
เพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการเจรจาแต่เรื่องปิโตรเลียม ไม่ต้องการเจรจาเรื่องเขตแดน ฝ่ายไทยแยกเป็น 2 ความคิด กระทรวงการต่างประเทศต้องการเจรจาเรื่องเขตแดนให้ลุล่วงไปด้วยชัดเจนพร้อมกันเลย อต่ฝ่ายการเมืองบางส่วนและหน่วยงานด้านพลังงานต้องการเจรจาเรื่องปิโตรเลียมให้ลุล่วงไปก่อน
เมื่อไม่สำเร็จ ประเทศไทยก็ยังไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าเขตแดน หรือปิโตรเลียม
หมายเหตุ 1 - นี่เป็น “ข้อดีในด้านกลับ” ที่พรรคพวกผู้รู้ของผมบางท่านเมื่อได้ฟังแล้วก็บอกว่านี่เป็นทำนองเดียวกับสำนวนฝรั่งที่ว่า blessing in disguise เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเอาแต่ MOU 2544 เราก็เฉยไว้ เพราะเดี๋ยวเราจะเจอ MOU ใหม่ที่ร้ายกว่าเก่า เช่นจะเจรจาเฉพาะเรื่องผลประโยชน์จากปิโตรเลียม
หมายเหตุ 2 - บางคนในฝ่ายสนับสนุนเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมตีความแบบศรีธนญชัยว่าที่ MOU 2544 ระบุให้เจรจา 2 เรื่องพร้อมกันและไม่อาจแบ่งแยกได้ ก็ไม่ได้บอกว่าต้อง ”เสรีจพร้อมกัน” นี่นา มีตรงไหนกำหนดไว้บ้าง
นำข้อเสีย 6 และข้อดี 2 มาชั่งน้ำหนักกันได้
คำนูณ สิทธิสมาน
1 พฤศจิกายน 2567
แหล่งที่มา :