"...สำหรับกลุ่มที่ยอมรับว่าบัดนี้สังคมมีช้างเลี้ยงที่ขยับจากยุคช้างลากไม้ในป่า ซึ่งมีสภาพเป็นสัตว์ใช้งานหนักๆ อันตรายที่จะโดนซุงกลิ้งทับขาหัก เสี่ยงเหยียบกับระเบืดขาช้างขาด ห่างมือสัตวแพทย์ที่จะดูแลช้างอย่างมากๆ มาเป็นช้างปางคือเป็นสัตว์ใช้เพื่อกิจกรรมนันทนาการแทน มีหมอประจำปาง มีรถพยาบาลช้างกันแล้ว ก็ดูว่าสังคมจำนวนไม่น้อยจะเห็นช้าง แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยจะโฟกัสหรือเห็นควาญและคนเลี้ยง สักเท่าไหร่..."
ซีรีย์ข่าว นับแต่สัตวแพทย์ภายนอกเข้าช่วยช้างป่วย ที่ฟารม์จระเข้แห่งหนึ่งสองสามปีก่อน
ต่อด้วยข่าวความชื่นใจทั่วไทยที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายบ้านเมืองกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจับมือกับควาญและผู้รู้เรื่องช้างร่วมกันนำพลายศักดิ์สุรินทร์บินกลับไทยปีกลาย จนกลายเป็นตำนานการบินเครื่องบินยักษ์บรรทุกผู้โดยสารช้างใหญ่ที่ยังมีชีวิต
จนถึงกรณีน้ำป่าบ่าท่วมท่ามกลางการประกาศเตือนของทางการ
แต่เมื่การบริหารแผนเผชิญเหตุของปางช้างที่มีบางกรณีทำให้ผู้รับรู้ตั้งคำถามอย่างติดใจ
ตามด้วยการประกาศผ่านพื้นที่วิธีอันเป็นสาธารณะให้เจ้าภาพเจ้าของช้าง ทั้งช้างของราชการที่เคยติดบ่วงตั้งเล็กบาดเจ็บสาหัสและช้างเอกชนที่ถูกช่วยมาฝากเลี้ยงว่าโปรดเร่งไปรับช้างฝากเลี้ยงออกเหล่านี้ออกไปหาที่อยู่ใหม่หลังน้ำลด
ท่าทีที่ถูกมองคล้ายฉากสะบั้นรักในละครจึงถูกเปรียบเทียบกับการให้สัมภาษณ์อย่างระมัดระวังในเรื่องวิธีนำช้างออกจากปาง การระดมช่างระดมคนระดมควาญมาเตรียมรถขนย้าย เตรียมคอกใหม่บนรถ สำหรับเตรียมเคลื่อนย้ายช้างที่ยังไม่คุ้นกับคนที่ต้องมาพาช้างย้ายสำมะโนครัว จึงเกิดขึ้นอย่างเบรคไม่อยู่
ผู้คนแสดงความเห็น ออกอาการวิจารณ์กันกว้างขวาง
เหตุคราวนี้จึงนับเป็นการเร่งการเรียนรู้ไปด้วยกันของสังคมผ่านสื่อสาธารณะครั้งสำคัญ
ผมอยากขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจรายงานเรื่องนี้ต่อเนื่องอย่างอบอุ่นยิ่ง
ที่จริงรายงานกันมาตั้งแต่โควิดขวิดช้างแล้ว
โซเชียลมีเดีย มีเพจที่ตามวิเคราะห์และให้น้ำหนักกับกิจกรรมช่วยช้างอย่างต่อเนื่อง
คุณหมอช้างและควาญได้มีพื้นที่แสดงความรู้ เล่าถึงความระมัดระวังต่อการให้ความเห็นของฝ่ายต่างๆอย่างน่าติดตาม รวมทั้งอ้างอิงมาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่ชัดเจนแม่นยำ
ครั้นอ่านตามคอมเมนต์ใต้เพจต่างๆของคนไทยที่ทยอยเข้ามาและเห็นบรรยากาศที่เปลี่ยนจากการใช้อารมณ์ดราม่าเรื่องช้าง มาเป็นเรื่องแนะความรู้ รวมถึงชี้ให้เห็นมุมอะไรเกี่ยวกับ"คนกับช้างเลี้ยง"ได้ละเอียดขึ้นมากๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
แบบนี้ ผมมองว่า พอจะแปลได้ว่า ช้างกับวัฒนธรรมร่วมสมัยในไทย สามารถอยู่ดูแลกันได้
30ปีที่ผ่านมา คนไทยไม่ถนัดในการเห็นว่าช้างบ้านแตกต่างจากช้างป่า
คือต้องมองให้เห็นมากกว่ารูปร่างหน้าตา แต่ต้องศึกษาให้เห็นวิธีที่เค้าโตขึ้นมา ว่าผ่านป่าธรรมชาติหรือผ่านปาง
เผลอๆยังเคยมีผู้ให้ความเห็นแบบคืดง่าย ว่าควรเอาช้างคืนป่าให้หมด โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าป่าไหนหรือ ที่จะรับช้างเพิ่มได้ในเมื่อช้างเดิมในป่าก็ลุยทะลุออกมาเสี่ยงปะทะกับชุมชนชายป่าบ่อยมากอยู่แล้ว
ในบางคอมเมนต์ ชี้ต่อไปด้วยว่าถ้าคิดคืนสัตว์ต่างๆสู่ป่าแล้ว มนุษย์จะทำยังไงในการคืนม้า เพราะเค้าก็มีประวัติดั้งเดิมมาจากป่าเช่นกัน
สำหรับกลุ่มที่ยอมรับว่าบัดนี้สังคมมีช้างเลี้ยงที่ขยับจากยุคช้างลากไม้ในป่า ซึ่งมีสภาพเป็นสัตว์ใช้งานหนักๆ อันตรายที่จะโดนซุงกลิ้งทับขาหัก เสี่ยงเหยียบกับระเบืดขาช้างขาด ห่างมือสัตวแพทย์ที่จะดูแลช้างอย่างมากๆ มาเป็นช้างปางคือเป็นสัตว์ใช้เพื่อกิจกรรมนันทนาการแทน มีหมอประจำปาง มีรถพยาบาลช้างกันแล้ว ก็ดูว่าสังคมจำนวนไม่น้อยจะเห็นช้าง แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยจะโฟกัสหรือเห็นควาญและคนเลี้ยง สักเท่าไหร่
เหตุการณ์ปีนี้ ทำให้มุมมองเปลี่ยนไปพอควรทีเดียว
วันนี้ เราเห็นกันชัดขึ้น ว่าคนในสังคมไทยสนใจช้าง รักช้างและไม่ถอยที่จะช่วยกันต่อไป
แต่...ต่อแม้ให้คนทั้งสังคมรักช้าง แต่เราทั้งหลายก็รับผิดชอบเลี้ยงดูแลช้างกันเองไม่ไหวหรอก ต้องมีคนที่มีอาชีพเลี้ยงช้าง ต้องมีอาชีพควาญช้างให้สืบทอดกันนะครับ
ผมจึงขอขอบคุณ"ชาวช้าง"ทั้งคนเลี้ยงช้างและคนเลี้ยงควาญ คุณหมอดูแลช้างและกลุ่มครอบครัวของพวกเขาที่สนับสนุนให้พวกเขาทำงานเรื่องช้างกันตลอดมา
ขอแสดงความยินดีกับทุกๆท่านในวงการ
วิธีเลี้ยงช้างอาจมีได้หลายปรัชญา หากยืนหยัดบนความเมตตาจริงจัง แต่ไม่ว่าจะเลือกปรัชญาใดก็ย่อมไม่อาจจะสมบูรณ์ได้ หากไม่มีผลสำเร็จจากแผนเผชิญเหตุที่พร้อมจัดการจริง
วันนี้วงการช้างเลี้ยงของไทย น่าจะเริ่มเรื่องเล่าใหม่ได้ดี เพราะเรามีเรื่องเล่าได้ทั้งความน่ารัก เล่าถึงความรัก ความกล้าหาญ ความรู้ลึก และน้ำใจของชาวช้าง
แต่สำคัญที่สุดคือ สังคมไทยสามารถเล่าถึงความอยากรู้อยากเข้าใจช้าง ความเคารพ ความรอบรู้ใหม่ๆของสังคมวัฒนธรรมเรา เกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลช้าง ด้วยความรู้