"...ส่วนยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งดูเหมือนสำคัญกว่า คือ “War of Position” หมายถึงการต่อสู้ทางความคิด เขานำเสนอว่าก็เมื่อรัฐมีอำนาจครอบงำเราได้ เราก็ต้องค่อย ๆ รื้อมันออก ดังนั้น การสร้างความคิดใหม่ให้กับสังคม หรือที่จริงคือการรื้อถอดความคิดเก่าออก แล้วก็เปิดหูเปิดตาคนให้ “ตาสว่าง” !!..."
คาร์ล มาร์กซ (Karl Mark) ทำนายว่าการปฏิวัติกรรมาชีพจะเกิดขึ้นในยุโรป เพราะชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่จนทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันต่อสู้กับนายทุนด้วยการปฏิวัติโดยใช้กำลัง แต่จนแล้วจนรอดการปฏิวัติกรรมาชีพก็ไม่เกิด เว้นกรณีที่เลนินปฏิวัติรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพโดยตรง มาจากการต่อสู้ในแนวหน้าของมวลชนที่พรรคบอลเชวิคจัดตั้งเสียมากกว่า
ตรงนี้ทำให้ยุคหลังมาร์กซ--เกิดความคิดทางทฤษฎีใหม่ --ที่จริงก็เป็นการอธิบายความคิดของมาร์กซให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากขึ้น
ประเด็นหลัก คือ จิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพยังมีอยู่หรือไม่?? ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่คนงาน (working class) นักทฤษฎียุคหลังปรับเปลี่ยนทฤษฎีของมาร์กซในประเด็นสำคัญว่าจิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้วใช่หรือไม่?? และเพราะอะไร??
คำตอบที่ได้แปลกมาก --นักคิดยุคหลังมาร์กซทุกคนเห็นว่า
ประการแรก “การศึกษา” ต่างหากที่ทำให้คนขาดจิตสำนึกของชนชั้น เนื่องจากการศึกษาทำให้คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นนั่นเอง --รวมถึงการที่ชนชั้นคนงานสามารถเปลี่ยนสถานะตัวเองไปเป็นนายทุนน้อยได้ด้วย
ประการที่สอง ที่ใหญ่มาก คือ รัฐทุนนิยมเขาก็มีมือมีเท้า-- เขาสามารถสร้างอำนาจการครอบงำคนงานได้ --สิ่งที่คนงานมีงานทำ มีเงินใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี!!! มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการอยู่ในโอวาทของนายทุนต่างหากที่ค่อย ๆ ย่อยสลายจิตสำนึกชนชั้นกรรมาชีพ
คำอธิบายของนักคิดหลังมาร์กซ์ที่โดดเด่นมาจากกรัมชี (Gramsci) ซึ่งกลับข้างความคิดของมาร์กซ แทนที่เขาจะให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจ” เหมือนมาร์กซ เขาให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรม” หมายถึงการหล่อหลอมคนผ่านระบบการศึกษา ศาสนา การเรียนรู้ทางสังคมและประเพณี
กรัมชีแบ่งการครอบงำออกเป็น 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง คือ ครอบงำโดยใช้กำลัง เช่น คนภาคใต้บางแห่งกลัวการใช้อำนาจอย่างไม่ยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียกการครอบงำประเภทนี้ว่า “Domination”
ส่วนการครอบงำอีกอย่างเป็นการครอบงำความคิดจิตใจ ผู้คนไม่รู้สึกด้วยซ้ำไปว่าตนถูกครอบงำ อย่างหลังนี้เรียกว่า “Hegemony”
“Hegemony” จึงมักแปลเป็นภาษาไทยว่า “การครองอำนาจนำ” หมายถึงมันมีอำนาจเป็นตัวนำ (leading) ให้คนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยที่ไม่รู้สึกอะไรเลย เช่น เขาเชิญเราไปเป็นประธานกล่าวอะไรสักอย่าง เรารู้สึกว่าเป็นเกียรติ หรือพ่อแม่สอนให้เราทำอะไรสักอย่างตามประเพณีของสังคม
การครอบงำความคิดจิตใจนี้เองที่กรัมชีเห็นว่า ทำให้กรรมาชีพไม่คิดปฏิวัติ อีกทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังรุนแรงนั้นไม่ได้ผล เพราะนอกจากที่แนวหน้าของพรรคประสบความสำเร็จในรัสเซียแล้ว ก็ไม่มีที่ใดประสบความสำเร็จ จะว่าจีน คิวบา ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ ก็มาจากการรบสงครามกองโจรมากกว่าอิทธิพลทางความคิดตามลัทธิมาร์กซ
กรัมชีได้สร้างคุณูปการให้กับการเมืองโลก ตรงที่ความคิดของเขาเป็นทั้งทฤษฎีการเมืองและยุทธศาสตร์การเมืองของโลกในปัจจุบัน --ไม่มีใครตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นวิธีการของคอมมิวนิสต์!!
กรัมชีเสนอยุทธศาสตร์สำคัญว่าการเมืองในระบบรัฐสภาที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมนิยม (socialism) ต้องมีสองอย่างควบคู่กันเสมอ อย่างแรก คือ การเคลื่อนไหวมวลชน แต่ต้องมีจังหวะจะโคน --รอประตูโอกาสให้มันเปิดก่อน ค่อย ๆ วิเคราะห์สถานการณ์ไป การต่อสู้ส่วนแรกนี้เรียกว่า “War of Maneuver”
ส่วนยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งดูเหมือนสำคัญกว่า คือ “War of Position” หมายถึงการต่อสู้ทางความคิด เขานำเสนอว่าก็เมื่อรัฐมีอำนาจครอบงำเราได้ เราก็ต้องค่อย ๆ รื้อมันออก ดังนั้น การสร้างความคิดใหม่ให้กับสังคม หรือที่จริงคือการรื้อถอดความคิดเก่าออก แล้วก็เปิดหูเปิดตาคนให้ “ตาสว่าง” !!
ยุทธศาสตร์การเมืองของกรัมชีกลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของโลก จะเห็นได้ว่าเวลาเขาต่อสู้กันทางการเมืองด้วยวิธีการที่สันติ ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์กับแฮร์ริสในสหรัฐอเมริกา--หรือไม่ว่านักการเมืองที่ใด เขาก็จะสู้ทั้งการเคลื่อนไหวมวลชนและการต่อสู้ทางความคิด เช่น รู้จักจับกระแสสังคมและยกความคิดของคู่ต่อสู้มาโต้แย้ง เพื่อให้เห็นว่าความคิดของตนแตกต่างไปจากคู่ต่อสู้และดีกว่าเขาอย่างไร?? และมีมวลชนเคลื่อนไหวสนับสนุนเสมอ
ถ้าเป็นมวยถูกคู่บ้านเรา—ก็ต้องเป็นทักษิณกับธนาธร-- ต่างมีคุณลักษณะตามทฤษฎีรัฐครบเครื่อง (integral state) ของกรัมชีด้วยกัน
ด้านมวลชน ธนาธรมีนักศึกษา-อาจารย์ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าเป็นฐาน และน่าจะมีการสนับสนุนให้นักศึกษาเคลื่อนไหวอยู่บ้างไม่มากก็น้อย สไตล์มวลชนของธนาธรเป็นมวยบุก—ประเภทเดินหน้าฆ่ามัน—เปิดหน้ารบกับทหารและความอยุติธรรมอย่างไม่กลัวเกรง—และชูธงการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างก้าวกระโดด—เป็นที่สะใจแม่ยกเป็นอย่างยิ่ง!!
ส่วนด้านความคิด ธนาธรซึมลึกโดยอาศัยเครือข่าย “ฟ้าเดียวกัน” มานานหลายทศวรรษ ไม่ต้องพูดว่าความคิดที่ก้าวหน้าของธนาธรและกลุ่มของเขาสามารถเปิดโปงและปิดล้อมความคิดดั้งเดิมของสังคมไทยได้มากขนาดไหน เมื่อใดที่คนหนุ่มสาวนึกถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศจะนึกถึงธนาธร –เอาเป็นว่าไปไกลถึงขั้นเสนอให้แยกพระออกจากรัฐก็แล้วกัน!!
ส่วนทักษิณ ก็เขี้ยวลากดิน--ชนิดมังกรเรียก “พี่” --“มวลชนคนเสื้อแดง” นั่นไง --ไม่ใช่มีฐานมาจากทักษิณทั้งความคิดและการสนับสนุนของทักษิณหรือ? –ใครที่เป็นคนบอกว่าผมจะกลับมาถือธงนำหน้าคนเสื้อแดง??
ทุกวันนี้วิชามวลชนของทักษิณยังมีให้เห็น สังเกตได้เวลาทักษิณไปไหนจะมีคนมาห้อมล้อม-โอบกอด และที่ขาดไม่ได้คือ “ดอกกุหลาบสีแดง” และ “ต้องหนึ่งก้านเท่านั้น” !!! ซึ่งก็ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมต้องดอกกุหลาบสีแดงและหนึ่งก้านเท่านั้น!! –แต่การห้อมล้อมเสมือนยกยอว่าผู้นำเป็นฮีโร่!! นี้ สืบทอดมาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ และหนูปึก-แผ่น อย่างไม่ต้องสงสัย!!
ทางด้านการปิดล้อมทางความคิด--ก็แน่ละว่า ทักษิณใช้วิธีหว่านเงินเอาใจคนจน –การหว่านเงินจะ ไม่ได้ผลเลย ถ้าไม่แสดงตัวให้ชัดว่าผู้นำมีความสัมพันธ์กับการหว่านเงินและมีบุญคุณต่อประชาชน –ดังเห็นได้จากยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็แจกเงินในยุคโควิด แถมเยอะกว่าทักษิณเป็นสิบเท่า แต่คะแนนไม่ขึ้น เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่ถนัดวิชาการยกยอตัวเอง (Political Marketing) ซึ่งมีหลักใหญ่ที่สุด คือ ทำให้คนรับแจกเห็นว่าผู้นำคนนั้นเกี่ยวข้องกับการแจกเงินก้อนนั้นโดยตรง—ยิ่งเขาคิดว่าเป็นบุญคุณ อำนาจการครอบงำยิ่งสูงลิ่ว!!
ด้วยเหตุนี้ การปรากฏตัวของผู้นำ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้—ทักษิณจึงไม่อาจอยู่ข้างหลัง เพราะจะไม่สัมพันธ์กับหลักวิชาประชานิยมและการตลาดการเมือง จนกระทั่งโดนร้องเรียนนั่นแหละจึงเพลาลง—แต่ก็ใช่ว่าจะหายแซ่บหายสอย!! การปรากฏตัวของหนูปึก-แผ่นกับทีมการตลาดการเมืองของพวกเขา—มีเป็นระยะ ๆ ตามหลักวิชาเดียวกัน --คนจนรอความหวังได้เลย—เฟสต่อไปยังแจกเงินแน่นอน!!
“ทักษิณกับธนาธร” เป็นมวยถูกคู่ ทั้งคู่สามารถนำยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวมวลชนกับการปิดล้อมทางความคิดของกรัมชีมาใช้ได้โดดเด่นที่สุดในการเมืองไทย ส่วนที่ว่าใครจะชนะ—เป็นเรื่องที่น่าจะพิสูจน์ให้เห็นกันได้อีกไม่นานเกินรอ
เสียแต่คนไทยกังขาว่า “เขาจะฮั้วกันก่อน”— นะสิโยมเอ๋ย!!