"...เหตุการณ์ระเบิดหมู่บนเพจเจอร์ที่พกติกตัวสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบคนและบาดเจ็บอีกนับพันคนและเกิดระเบิดซ้ำขึ้นอีกเป็นระลอกที่สองจากวิทยุสื่อสาร วอล์กกี้ ทอล์กกี้ (Walkie-Talkies) ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเช่นกัน ระเบิดทั้งสองครั้ง สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้คนในเลบานอนและคนทั้งโลกอย่างยิ่งเพราะเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยการนำเพจเจอร์ขนาดเล็กดัดแปลงจนสามารถใช้ปลิดชีพและทำร้ายผู้คนได้..."
เลบานอนหรือสาธารณรัฐเลบานอน เป็นประเทศที่มีพื้นที่ 10,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับ ซีเรีย ทิศใต้ติดกับอิสราเอล ทิศตะวันตกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน(1) เลบานอนจึงถูกขนาบข้างด้วยซีเรียซึ่งปัจจุบันยังคงมีความสัมพันธ์ฉันมิตรและอิสราเอลที่ถือว่าเป็นศัตรูกันอย่างถาวร
เลบานอนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยมีด้านข้างติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึง เป็นทำเลชั้นดีสำหรับปลูก ต้นมะกอก องุ่นทำไวน์ ถั่ว ส้ม มัลเบอร์รี่ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงด้านอัญมณี เครื่องประดับที่สวยงามมาก เลบานอนยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของอารยธรรมอันรุ่งเรืองอย่าง อียิปต์ โรมัน และอาณาจักรออตโตมัน ดังนั้นจึงพบสถาปัตยกรรมในแบบฉบับอาหรับหลายแห่ง หลังจากอาณาจักรออตโตมันล่มสลายลง เลบานอนก็เป็นอิสระในช่วงสั้นๆ ก่อนตกเป็นของฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ และสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาด้วย(2) จนได้ชื่อว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”
จาก “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง” สู่สงครามกลางเมือง
ความหลากหลายทางอารยธรรมอาหรับกับตะวันตกที่เข้ามา แม้จะเป็นสีสันทางวัฒนธรรม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเช่นกัน ด้วยความที่เลบานอนเป็นรัฐที่ผสมทั้งอิทธิพลอาหรับและตะวันตก เลบานอนจึงประกอบด้วย 2 นิกายใหญ่ 2 ความเชื่อ ได้แก่ คริสเตียนนิกาย มาโรไนท์ (Maronite) กับ มุสลิมนิกายดรูสส์ (Druze) โดยที่เมืองหลวงอย่างกรุงเบรุต จะมีเส้นสีเขียวแบ่งระหว่างฝั่งตะวันออก ชุมชนชาวคริสต์(39 เปอร์เซ็นต์ของประชากร) กับฝั่งตะวันตก ชุมชนชาวมุสลิม(59.7 ของประชากร) และภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส กลุ่มชนชั้นสูงที่ครองอำนาจรัฐจะเป็นชาวคริสต์
ก่อนมอบเอกราชให้เลบานอน ฝรั่งเศสได้ช่วยชาวเลบานอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกด้วย แต่ในเนื้อหาค่อนข้างเอื้อให้ชาวคริสต์อยู่ไม่น้อย มีการกำหนดจำนวนเก้าอี้ผู้แทนสภาชาวคริสต์ให้มากกว่าชาวมุสลิม(2) สิ่งเหล่านี้จึงไม่ต่างจากมรดกบาปที่ฝรั่งเศสทิ้งไว้ให้กับเลบานอนดังเช่นที่พวกเขามอบมรดกเหล่านี้ให้กับประเทศหลายประเทศที่ตัวเองเข้าไปล่าอาณานิคม
ความขัดแย้งระหว่างนิกายได้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อมีรัฐใหม่ อิสราเอล เกิดขึ้นตอนใต้ติดกับเลบานอน ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ที่เคยอาศัยอยู่เดิม ต้องอพยพออกและย้ายมาอยู่ในเลบานอนจำนวนมาก สัดส่วนประชากรชาวมุสลิมจึงเพิ่มสูงขึ้น ความขุ่นเคืองระหว่างชาวคริสต์กับมุสลิม ประกอบกับกระแสชาตินิยมชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการเอาดินแดนเดิมกลับมา กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เลบานอนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยฝ่ายคริสต์ได้รับการสนับสนุนโดยอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายมุสลิมได้รับการสนับสนุนโดยปาเลสไตน์และซีเรีย สงครามนี้กินเวลายาวนานมากถึง 15 ปี (ปี 2518-2533) สร้างบาดแผลใหญ่ต่อเศรษฐกิจเลบานอนอย่างมาก(2)
ก่อนหน้าสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนเกิดขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่อิสราเอลก่อตั้งประเทศในปี 1948(2491) แต่ความขัดแย้งถึงจุดสูงสุดในช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1980(2523) จากความขัดแย้งรุนแรงกับอิสราเอลในปีนั้นจึงมีการจัดตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์(Hizballah) ซึ่งหมายถึง พลพรรคของพระเจ้า(Party of God) ขึ้นในเลบานอนเพื่อต่อสู้กับอิสราเอลในปี 1982(2525) นับจากการขัดแย้งครั้งแรกจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาถึง 76 ปีที่ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
เพจเจอร์มรณะ - เชื้อปะทุสงครามใหญ่
เหตุการณ์ระเบิดหมู่บนเพจเจอร์ที่พกติกตัวสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบคนและบาดเจ็บอีกนับพันคนและเกิดระเบิดซ้ำขึ้นอีกเป็นระลอกที่สองจากวิทยุสื่อสาร วอล์กกี้ ทอล์กกี้ (Walkie-Talkies) ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเช่นกัน ระเบิดทั้งสองครั้ง
สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้คนในเลบานอนและคนทั้งโลกอย่างยิ่งเพราะเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยการนำเพจเจอร์ขนาดเล็กดัดแปลงจนสามารถใช้ปลิดชีพและทำร้ายผู้คนได้
ด้วยความเป็นศัตรูคู่แค้นกันมานานกลุ่มฮิซบอลเลาะห์แถลงทันทีว่าการโจมตีอันเลวร้ายในครั้งนี้มีอิสราเอลอยู่เบื้องหลังขณะที่อิสราเอลไม่มีการแถลงใดๆก่อนที่จะมีการโจมตีด้วยอาวุธหนักในเวลาต่อมา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการระเบิดของเพจเจอร์และวิทยุสื่อสาร วอล์กกี้ ทอล์กกี้ ครั้งนี้ ไม่ใช่ฝีมือของอิสราเอล
หลังจากการระเบิดหมู่ของเพจเจอร์และวิทยุสื่อสาร วอล์กกี้ ทอล์กกี้ ไม่กี่วัน อิสราเอลเริ่มเปิดฉากโจมตีเลบานอนอย่างหนักโดยโจมตีเป้าหมายในเลบานอนครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 คน บาดเจ็บราว 2,000 คน หลายพันครอบครัวต้องอพยพ เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน การโจมตีระลอกนี้นับเป็นการโจมตีที่แผ่ขยายกินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น(3) ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วย 50 คนและผู้หญิงอีก 94 คนและอิสราเอลยังมีการโจมตีเลบานอนต่อเนื่องตลอดมา ในขณะที่การต่อสู้กับกลุ่มฮามาสก็ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องแถมยังเปิดศึกกับอิหร่านด้วย เท่ากับว่าอิสราเอลกำลังทำสงครามหลายด้านเพราะเชื่อว่าตัวเองและพันธมิตรสามารถรับมือกับฝ่ายตรงข้ามได้
ในระหว่างสงคราม การสื่อสารและความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้นำอิสราเอลประกาศว่าอิสราเอลไม่ได้ทำสงครามกับเลบานอน แต่จะทำสงครามกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เท่านั้น ก่อนเข้าโจมตีด้วยอาวุธหนักกองทหารอิสราเอลจึงใช้โทรศัพท์เพื่อแจ้งให้ชาวเลบานอนราว 80,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการโจมตีให้ออกจากพื้นที่และหาที่หลบภัย(4) รวมทั้งมักมีการโพสต์แจ้งเตือนผ่านโซเชียลมีเดียด้วยภาษาอาหรับก่อนการโจมตีในบางครั้งด้วย
การโจมตีอย่างรุนแรงครั้งนี้เชื่อว่าเป็นแผนของอิสราเอลที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การระเบิดของเพจเจอร์และวอล์กกี้ ทอล์กกี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งเป็นการชิมลางด้วยวิธีที่ไม่มีใครคาดคิดก่อนที่จะเข้าโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ในขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตอบโต้อย่างไม่ลดละเช่นกันและหนึ่งในเป้าหมายคือสำนักงานหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลซึ่งเรียกว่า มอสสาด(Mossad)ในเมือง เทล อาวิฟ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1949(2492) หลังจากตั้งประเทศอิสราเอลได้ปีเดียว
สงครามจิตวิทยา-สงครามเทคโนโลยี
นอกจากประหัตประหารและทำลายล้างกันด้วยอาวุธนานาชนิดแล้วความที่เป็นประเทศที่มีเขตแดนติดกันและเป็นไม้เบื่อไม้เมาระหว่างกันสงครามทางจิตวิทยาจึงได้ถูกนำมาใช้กับทั้งสองฝ่ายอยู่เสมอทั้ง การยั่วยุด้วยการปรากฎตัวตามชายแดนเพื่อสร้างความหวาดกลัว การโปรยใบปลิวเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ การใช้โทรศัพท์โทรไปหาผู้คน รวมทั้งมีการส่งข้อความจากฝ่ายหนึ่งไปยังโทรศัพท์มือถือของอีกฝ่ายหนึ่งได้สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้ได้รับข้อความดังกล่าว
ต้นเดือนกันยายนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ระเบิดจากเพจเจอร์ไม่นานชาวเลบานอนบางคนได้รับข้อความแปลกๆจากSMSบนโทรศัพท์มือถือในพื้นที่กรุงเบรุตโดยไม่ปรากฏชื่อผู้ส่งแต่เป็นเครื่องหมาย “?????..??” แทนพร้อมกับข้อความภาษาอาหรับ เป็นต้นว่า “เรามีกระสุนมากพอสำหรับทุกคนที่ต้องการ” ตามรายงานไม่ปรากฏว่าชาวเลบานอนจำนวนเท่าใดได้รับข้อความจาก SMS ทางโทรศัพท์ แต่ข่าวสารที่ผู้คนในเลบานอนได้รับมีนัยสำคัญว่าเลบานอนอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ตลอดเวลา
ในเวลาใกล้เคียงกันยังมีการส่งข้อความประเภทเดียวกันไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของผู้ที่ได้รับข้อความทาง SMS ซึ่งผู้รับเกรงว่าอาจเป็นข้อความที่มีลิงก์ที่เป็นอันตรายแฝงอยู่หากมีการคลิกเข้าไปอ่านและพวกเขาเชื่อว่าทั้งSMSและข้อความบนโซเชียลมีเดียมาจากฝ่ายอิสราเอลแน่เพราะข้อความที่ได้รับมีนัยเช่นนั้น
การส่งข้อความข่มขวัญผู้คนผ่านเครื่องมือสื่อสารจึงเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่สร้างความหวาดกลัวให้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผลและยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอิสราเอลซึ่งสามารถแทรกซึมโครงข่ายสื่อสารสาธารณะที่คนเลบานอนทั่วไปใช้งานได้อย่างไม่ยากเย็นด้วยการใช้สงครามเทคโนโลยีสื่อสารควบคู่ไปกับการโจมตีด้วยอาวุธหนัก
การทำสงครามจิตวิทยาด้วยการส่งข้อความผ่านเครื่องมือสื่อสารไปยังผู้คนในเลบานอนไม่ใช่เรื่องใหม่ในช่วงปี 2000 ยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย คนในเลบานอนมักได้รับโทรศัพท์แปลกๆทางโทรศัพท์บ้านจากบุคคลนิรนามอยู่เสมอๆบางครั้งเสียงจากต้นทางเป็นเสียงที่ถูกบันทึกไว้ล่วงหน้าเช่นมีการสอบถามถึงนักบินอิสราเอลที่สูญหายไปในสงครามในช่วงปี1980หรือบางครั้งก่อนเกิดการโจมตีก็จะมีโทรศัพท์โทรไปตามบ้านคนทั่วๆไปพร้อมกับเสียงทักทายสั้นๆเป็นต้นว่า “ถึงชาวเลบานอนที่รัก” และหลังจากนั้นก็จะเกิดการโจมตีตามมา(5)
การระเบิดจากเพจเจอร์และวอล์กกี้ทอล์กกี้ครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนจนแทบจะไม่กล้าพกเครื่องมือสื่อสารใดๆติดตัว พร้อมกับการได้รับข้อความแปลกๆจากบุคคลนิรนามยิ่งทวีความหวาดหวั่นให้กับผู้คนจนแทบไม่อยากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้งานเพราะนอกจากเกรงว่าจะมีระเบิดแฝงมากับเครื่องมือดังกล่าวแล้วการทำลายขวัญผู้คนผ่านการส่งข้อความยิ่งทำให้คนเลบานอนใช้ชีวิตด้วยความไม่ปกติสุขและอยู่ด้วยความหวาดกลัวโดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาต่อไปแต่พวกเขาแทบไม่มีทางเลือกอื่นเพราะโทรศัพท์มือถือคือสิ่งเดียวที่ต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลายามสงครามเพื่อถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกันให้แน่ใจว่าคนในครอบครัวปลอดภัย
เทคนิคการทำสงครามของอิสราเอลกับฝ่ายตรงข้ามนอกจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายแล้วอาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วๆไปอย่างไม่คาดคิดเพราะผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนมักเห็นโดรนและเครื่องบินลาดตระเวนในบริเวณนั้นอยู่เสมอและเสียงหึ่งๆจากการบินของโดรนรวมทั้งเสียงจากเครื่องบินนอกจากจะทำให้ผู้คนเกิดอาการหวาดกลัวแล้วทั้งโดรนและเครื่องบินน่าจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนในเลบานอนอยู่ไม่มากก็น้อย
แม้ว่าคนในเลบานอนบางคนอาจเคยชินต่อเสียงโดรนและเสียงเครื่องบินแต่เชื่อว่าชาวเลบานอนจำนวนหนึ่งคงได้รับผลกระทบทางสุขภาพไม่ต่างจากผลกระทบที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับจากการปฏิบัติการระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาที่ส่งผลให้ผู้คนเกิดอาการ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและมีอาการหงุดหงิดหรือบางคนถึงขั้นสติแตกได้(6)(7)ปฏิบัติการดังกล่าวของอิสราเอลเป็นเทคนิคของการปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่คุกคามต่อฝ่ายตรงข้ามแบบหนึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติการด้วยการใช้อาวุธ
สงครามสามรูปแบบ
กองกำลังป้องกันตัวเองของอิสราเอล(The Israel Defense Forces :IDF) เป็นกองกำลังที่ประกอบด้วยกองกำลังภาคพื้นดิน กองกำลังทางอากาศและกองกำลังทางเรือ พันธกิจของ IDF คือ การปกป้องรัฐอิสราเอลนอกจากภารกิจด้านกองกำลังแล้วกองกำลังIDFยังมีหน่วยปฏิบัติการด้านไซเบอร์ (Cyberintelligence units) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้การควบคุมของ IDF
หน่วยปฏิบัติการด้านไซเบอร์ของกองกำลัง IDF ล้วนประกอบด้วยบุคลากรหัวกะทิที่เรียกกันว่า Rosh Gadol หรือ พวกสมองใหญ่ (Big brain) ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความรับผิดชอบสูงมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบที่ถูกคัดเลือกมาตั้งแต่พวกเขาอายุราว 17-18 ปีเพื่อเข้าประจำการในกองกำลัง IDF โดยมีภารกิจปฏิบัติการด้านไซเบอร์ ผู้ปกครองของเด็กในอิสราเอลจึงมักอยากให้บุตรหลานของตัวเองเข้าทำงานในหน่วยงาน IDF เป็นอันดับต้นๆในขณะที่อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญรองลงไป
เมื่อหมดวาระจากการทำงานที่ IDF คนเหล่านี้ได้เดินออกไปพร้อมกับประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมและกลายเป็นกลุ่ม Start up มากมายตามรุ่นพี่ก่อนหน้าและ Start up เหล่านี้ได้ถูกซื้อไปโดยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Facebook Microsoft Oracle PayPal ฯลฯ ด้วยมูลค่ามหาศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เหล่านี้จึงกลายเป็น ลูกสาว-ลูกชาย แห่งชาติที่อิสราเอลภูมิใจ
นายกรัฐมนตรี เนทันยาฮูของอิสราเอลเคยพูดด้วยความภูมิใจว่า อิสราเอลคือ ประเทศหนึ่งในห้าของโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเทียบเท่ากับ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา(8) ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีชั้นสูงของอิสราเอลคืออุตสาหกรรมอาวุธระดับโลก (World class weapon industry) และการสู้รบกับกองกำลังปาเลสไตน์อย่างยาวนานคือห้องทดลองชั้นดีที่อิสราเอลใช้พัฒนาอาวุธสู้กับโลกอาหรับและส่งออกขายทั่วโลก
อิสราเอลยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งในห้าของโลกที่มีการลงทุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์(Cybersecurity) จึงไม่น่าแปลกที่อิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในห้าของประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีไซเบอร์ที่ดีที่สุดของโลก(8)ความเชี่ยวชาญทางไซเบอร์ของอิสราเอลจึงสร้างความหวาดหวั่นต่อฝ่ายตรงข้ามอยู่ไม่น้อยเพราะพวกเขารู้ดีว่าความเก่งกาจในการสอดแนมของอิสราเอลนั้นมีอานุภาพมากเพียงใดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสอดแนม “เพกาซัส” (Pegasus) ซึ่งถือว่าเป็นระบบสอดแนมทางไซเบอร์ที่ทรงพลังที่สุดราวกับมีหูทิพย์ตาทิพย์และเป็นสปายแวร์(Spyware)ที่อันตรายที่สุดของโลกที่อยู่ในมือของอิสราเอลนั้นทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องคิดหนักว่าจะอุดช่องโหว่และหลีกเลี่ยงการสอดแนมจากม้าพยศติดปีกเพกาซัสตัวนี้ได้อย่างไร
กองกำลัง IDF มียุทธวิธีต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม 3 รูปแบบ ประกอบไปด้วย
- การต่อสู้ด้วยอาวุธ (Physical fight)
- การต่อสู้ทางไซเบอร์ (Cyber fight)
- การต่อสู้บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social media fight)
ทั้งการต่อสู้กันด้วยอาวุธและการต่อสู้ทางไซเบอร์ซึ่งอิสราเอลได้ต่อสู้กับแฮ็กเกอร์ของกลุ่มฮามาสตลอดมาจนเป็นรูปแบบของการต่อสู้ที่กลายเป็นเรื่องปกติของการรบระหว่างกัน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของการต่อสู้ในโลกโซเชียลมีเดียพื้นที่ของการต่อสู้ขยายวงกว้างขวางขึ้นและไม่ได้อยู่ในพื้นที่การรบที่จำกัดแต่เป็นพื้นที่ที่ขยายวงไปทั่วโลกผ่านโซเชียลมีเดีย อิสราเอลจึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีต่อสู้เป็นการใช้แคมเปญทางการตลาดเพิ่มเติมจากยุทธวิธีทางทหารเพื่อสร้างความได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นกองกำลัง IDF จึงต้องอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นที่นิยมซึ่งได้แก่ Facebook X IG Tumblr Pinterest ฯลฯ เป็นสื่อในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามบนโลกโซเชียล ในขณะที่ฝ่ายรัฐอาหรับก็ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของสงครามข้อมูลข่าวสารและใช้โซเชียลมีเดียยอดนิยมเป็นช่องทางการสื่อสารไม่แพ้กัน
สิ่งที่มักมาพร้อมกับสถานการณ์สู้รบซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหวคือการปลอมภาพหรือคลิปด้วยการใช้เทคโนโลยีประเภทAIเพื่อสาดโคลนฝ่ายตรงข้ามหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองโดยไม่รู้แหล่งที่มาและคลิปปลอมเหล่านี้มักถูกเผยแพร่เกลื่อนอยู่บนโซเชียลมีเดียซึ่งนอกจากจะกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อกันและการไม่ยอมรับของแต่ละฝ่ายแล้วยังอาจซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกทั้งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพหรือคลิปนั้นเป็นของจริงหรือไม่
กองกำลัง IDF รู้ดีว่า การเพิ่มระดับการมีส่วนร่วม(Engagement) บนโซเชียลมีเดียคือความได้เปรียบในการกระจายข้อมูลข่าวสารในวงกว้างพวกเขาจึงมักใช้เทคนิคทางจิตวิทยาโดยการให้รางวัลเล็กน้อยๆแก่ผู้ที่เข้ามาอ่านข้อความบนบล็อกต่างๆของ IDF เป็นต้นว่า หากผู้ใช้(User)รายใดเข้าไปอ่านบล็อก 10 ครั้ง ผู้ใช้คนนั้นจะได้รับเครดิตด้วยการให้สถานะเป็น ผู้เยี่ยมชมสม่ำเสมอ (Consistent badges) เป็นต้น(9)
โซเชียลมีเดียจึงถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของอิสราเอลใช้ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามและใช้ทำสงครามจิตวิทยาไปพร้อมๆกันและน่าเชื่อว่ารูปแบบการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนครั้งนี้มีรูปแบบคล้ายกับที่พวกเขาสู้รบกับพวกฮามาสแต่ที่เพิ่มความตระหนกแก่ชาวเลบานอนและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์รวมไปถึงพันธมิตรอย่างอิหร่านอย่างที่คาดไม่ถึงคือการโจมตีแบบใหม่ผ่านช่องทาง การจัดหาสินค้า การส่งมอบและการจัดเก็บของผู้ผลิตเครื่องเพจเจอร์และวิทยุวอล์กกี้ทอล์กกี้ผ่านมือที่สามที่เรียกกันว่า การโจมตีผ่านกระบวนการซับพลายเชน (Supply chain attacking)โดยมีการดัดแปลงแบตเตอรี่ให้เป็นระเบิดติดมากับเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารวอล์กกี้ทอล์กกี้และทำให้เกิดระเบิดดังที่เป็นข่าวใหญ่
“สวรรค์บนดิน” ความทรงจำในประวัติศาสตร์
สงครามไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใดในโลกล้วนแต่ คร่าชีวิตผู้คน ทำลายที่อยู่อาศัย และสิ่งก่อสร้างอันทรงคุณค่าที่มนุษย์ได้บรรจงสร้างขึ้นจนแทบไม่เป็นชิ้นดีแม้แต่ธรรมชาติอันงดงามก็ไม่พ้นการถูกทำลายจากพิษของสงคราม เลบานอนก็มิได้ต่างจากหลายประเทศในโลกที่ผ่านสงครามมาอย่างยาวนานทั้ง สงครามกลางเมืองระหว่างคนชาติเดียวกัน สงครามระหว่างเลบานอนกับอิสราเอลและความตึงเครียดกับซีเรียในบางช่วงเวลา
การที่อยู่ในความขัดแย้งและสงครามมาอย่างยืดเยื้อนอกจากจะบั่นทอนความสงบและคร่าชีวิตผู้คนแล้ว สิ่งปลูกสร้างอันงดงามมากมายที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมยุคอาณาจักรออตโตมันในศตวรรษที่19และส่งต่อมาจนถึงยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองได้ถูกทำลายเสียหายไปจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
แม้ว่าหลังจากยุติสงครามกลางเมืองได้ใน พ.ศ. 2533 ชาวเลบานอนได้ช่วยกันสร้างกรุงเบรุตซึ่งเป็นเมืองหลวงขึ้นใหม่โดยส่วนใหญ่เกิดจากแรงงานของทหารจนในที่สุดกรุงเบรุตกลับมาเป็นศูนย์กลางของตะวันออกกลางทาง ด้านการค้า แฟชั่นและสื่อโดยผู้นำประเทศในขณะนั้นใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม โดยเฉพาะการทำให้กรุงเบรุตกลับมาสวยงามน่าเที่ยวอีกครั้ง(10)แต่ปัจจุบันพบข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่ามรดกทางสถาปัตยกรรมยุคก่อนหน้ากำลังถูกทำลายและเสี่ยงที่จะสูญหายไปจากเลบานอนอย่างถาวรจนอาจเหลือไว้แต่เพียงชื่อในประวัติศาสตร์และรูปภาพเท่านั้น
ในช่วงปี1990กระทรวงวัฒนธรรมของเลบานอนได้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของเลบานอนไว้ราว 600 แห่ง มรดกเหล่านี้ส่วนหนึ่งตกทอดมาจากยุคอาณาจักรออตโตมันและยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองดินแดนแห่งนี้ อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมอันงดงามเหล่านี้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กำลังอยู่ในสภาพทรุดโทรมเสี่ยงที่จะถูกทำลาย(11) ด้วยปัจจัยต่างๆ เป็นต้นว่า
- การถูกทำลายจากจากสงครามครั้งที่ผ่านๆมารวมทั้งการถูกโจมตีจากอิสราเอลครั้งนี้ด้วย
- การขาดการเอาใจใส่ต่อการฟื้นฟูอย่างจริงจัง
- ขาดงบประมาณในการบำรุงรักษาและบูรณะจากสภาวะทางเศรษฐกิจ
- มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย เช่นไม่มีคำจัดกัดความและคุณลักษณะที่ชัดเจนของคำว่าสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดก(Heritage building) ฯลฯ
- ไม่สามารถต้านทานการรุกคืบของนายทุนที่กำลังเข้าไปยึดพื้นที่ที่เคยเป็นโบราณสถานเพื่อสร้างศูนย์การค้า ที่จอดรถและอาคารสมัยใหม่ ฯลฯ
บาดแผลจากสงครามกลางเมือง(13)
สิ่งที่ซ้ำเติมจนทำให้อาคารยุคโบราณอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญสลายครั้งใหม่คือการระเบิดครั้งใหญ่ ในกรุงเบรุตของเลบานอนซึ่งคร่าชีวิตคนไปอย่างน้อย 135 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 4,000 คน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แรงระเบิดทำให้เมืองทั้งเมืองสั่นสะเทือนเริ่มตั้งแต่เกิดไฟไหม้ที่ท่าเรือ ซึ่งในเวลาไม่นานก็เกิดกลุ่มควันคล้ายดอกเห็ดขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้ากรุงเบรุตโดยแรงระเบิดสามารถรับรู้ได้ถึงเกาะไซปรัสซึ่งห่างออกไปกว่า 240 กิโลเมตร ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนทำให้คนบนเกาะเข้าใจว่าเกิดแผ่นดินไหว(12)และทำให้ชาวเบรุตราว300,000คน กลายเป็นคนไร้บ้านไปในทันที แรงระเบิดทำให้อาคารทางประวัติศาสตร์ราว 600 แห่งได้รับความเสียหายและ 40 แห่งมีความเสี่ยงที่จะพังทลาย (13)
การระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือเบรุตเมื่อปี 2563 (14)
อาคารทางมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายจากระเบิดเมื่อปี 2563(15)
เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เลบานอน นอกจากชีวิต ทรัพย์สินและบ้านเรือนของผู้คนแล้วสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นมรดกทางการก่อสร้างอันมีคุณค่าได้ถูกทำลายและได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน ภาพที่ปรากฎสร้างความสลดหดหู่ใจแก่ชาวเลบานอนและชาวโลกเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นสิ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์กำลังถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้กำลังถูกเปลี่ยนมือขายให้กับนายทุนโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยิ่งสร้างความเจ็บปวดและเศร้าสลดให้กับคนเลบานอนเพราะพวกเขากำลังจะสูญเสียความเป็นเลบานอนซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศของเขาด้วยน้ำมือของชาวเลบานอนเอง แต่ที่หนักหนากว่านั้นคือการถูกซ้ำเติมจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งแล้วครั้งเล่ายิ่งทำให้เลบานอนอยู่ในสภาพที่บอบช้ำจนไม่อาจมีสิ่งใดมาชดเชยความสูญเสียของชีวิตผู้คนและความงดงามในอดีตที่ถูกทำลายย่อยยับจากภัยของสงครามได้
ซากปรักหักพังของตลาดยุคอาณาจักรออตโตมันที่ถูกอิสราเอลโจมตีเมื่อเดือนตุลาคม 2567(16)
คำพูดที่มักพูดกันว่า พระเจ้าได้ประทาน ภูเขาที่สวยงาม ชายหาดที่น่าประทับใจ แหล่งน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงผู้คน พื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณอันมีคุณค่า ความสร้างสรรค์และเสน่ห์น่าดึงดูดใจของผู้คนและเป็นปลายทางแห่งความฝันของคนหลายต่อหลายคนจนอาจกล่าวได้ว่า“เลบานอนคือสรรค์บนดิน”นั้นคงเป็นเพียงความทรงจำที่ไม่เหลือความเป็นอัตลักษณ์ของเลบานอนอีกต่อไปและเลบานอนจะแหลกลาญกลายเป็นฉนวนกาซาแห่งที่สองตามคำขู่ของผู้นำอิสราเอลหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์กันแทบจะวันต่อวัน ช่วงเวลานี้เลบานอนจึงอยู่ในความเสี่ยงขั้นสูงสุดที่จะกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของสงครามในตะวันออกกลางที่จะนำพาเลบานอนไปสู่ความหายนะได้ทุกขณะ
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อ้างอิงและประมวลจากแหล่งที่มาดังนี้
1.https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1c15e39c306000a00b?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870
2. https://www.bangkokbiznews.com/world/1028645
3. https://www.thaipbs.or.th/news/content/344536
4. https://www.aljazeera.com/news/2024/9/24/why-is-israel-attacking-lebanon
5. Wire, Sept, 26, 2024
6. https://wearenotnumbers.org/drones-above-gaza/
7.https://timep.org/2024/07/24/unseen-battlefront-the-psychological-tactics-in-israels-war-on-lebanon/
8. Pegasus โดย Laurent Richard และ Sandrine Rigaud
9. Like war โดย P.W. Singer และ Emerson T.Brooking
10. https://www.csdi.or.th/2019/07/lebanon-ep8/
11.https://english.alarabiya.net/perspective/2013/02/12/Lebanese-heritage-suffers-as-80-of-Beirut-s-oldest-buildings-are-demolished
12. https://www.bbc.com/thai/international-53656743
13.https://beirut-today.com/2017/09/03/beit-beirut-the-identity-and-temporal-representation-of-beirut/
14.https://www.trtworld.com/middle-east/lebanon-wakes-up-to-utter-devastation-after-beirut-blast-38660
15. https://mainichi.jp/english/articles/20200829/p2g/00m/0fe/071000c
16.https://www.aljazeera.com/gallery/2024/10/13/israeli-attacks-destroy-ottoman-era-market-in-lebanon
ภาพประกอบ
http://www.xinhuanet.com/english/2021-03/22/c_139825770.htm